Auto

จะเทศกาลไหนเราก็ไหว้รถ ทําไปทําไม ทําเพื่ออะไรกัน?

“สุทินนัง วัตถุทานัง อาสะวะ ขะยาวะหัง โหตุ” ไม่รู้ว่าขึ้นต้นเรื่องราวด้วยคาถาบทสวดแล้ว คนส่วนใหญ่ที่เคยทำพิธีไหว้รถมาไม่ว่าจะกี่ครั้งก็ตาม เชื่อว่าคงจำไม่ได้อย่างแน่นอนว่าภาษาบาลีอันนี้เป็นบทสวดตอนเริ่มพิธีไหว้รถ ซึ่งไม่ต้องไปคาดหวังว่าความหมายของบทสวดว่ามีความหมายถึงอะไร ถ้าสวดแล้วจะช่วยให้ชีวิตโชคดีมีชัยอะไรมากมายหรือเปล่า ทุกอย่างเกิดขึ้นได้เพราะ ‘ความเชื่อและศรัทธา’ เพียงเท่านั้น

ความเชื่อในเรื่องการไหว้รถไม่ใช่เรื่องประหลาดสักเท่าไหร่ ด้วยวัฒนธรรมในไทยที่มักจะมีอะไรแปลกๆ ให้เห็นจนเป็นเรื่องปกติทั่วไปตั้งแต่ยังเยาว์วัย แต่ทุกอย่างจะเปลี่ยนไปเมื่อมีการตั้งคำถามต่อสิ่งที่ทำ ว่าทําไปทําไม ทําเพื่ออะไรกัน? ในบทความนี้ทาง EQ พร้อมจะพาคุณเดินทางไปกับความเชื่อในเรื่องของการไหว้รถ

Photo credit: Yukon Lubricants

หากคุณได้สังเกตพาหนะต่างๆ ที่วิ่งอยู่บนท้องถนน ไม่ว่าจะในกรุงเทพหรือตามต่างจังหวัดก็ตาม เชื่อว่าคุณน่าจะเคยพบเจอดอกไม้ที่ติดอยู่กระจังหน้ารถ โดยไม่เกี่ยงเลยว่ารถคันนั้นจะเป็นสัญชาติอะไร ยุโรป จีน ญี่ปุ่น ไม่ว่าจะมาจากมุมโลกไหนก็ไม่อาจหนีพ้น

ตัวละครที่น่าจะเป็นจุดยึดเหนี่ยวในการไหว้รถของคนไทย คงจะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก ‘แม่ย่านาง’ ไม่รู้ว่าเขาเป็นใครมาจากไหนกันแน่ ซึ่งก็ไม่ใช่แค่รถยนต์เท่านั้นที่จะมีแม่ย่านาง จริงๆ แล้วแทบทุกอย่างที่มียานพาหนะที่ถูกใช้งานในไทยก็ล้วนมีหมด ต่อให้เรือลำเล็กหรือใหญ่ รถไฟ ตลอดจนเครื่องบินก็ยังมีแม่ย่านางอยู่กับเราเสมอ

ถ้าลองคิดวิเคราะห์หรือสังเกตดูดีๆ เราจะเห็นได้ว่าบรรดายานพาหนะต่างๆ ที่มีแม่ย่านางแถมมาให้เป็น option ล้วนเป็นพาหนะที่มีเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนกันทั้งนั้น จะมีเพียงเรือที่ได้รับการยกเว้นในเรื่องนี้ ซึ่งแม่ย่านางเรือมีตั้งแต่เรือพายลำเล็กๆ ไปจนถึงเรือใหญ่เลยทีเดียว

แม่ย่านางเกิดขึ้นมาจากเรือ

ทั้งความเชื่อตั้งแต่โบราณของชาวไทยในอดีตเกี่ยวกับเรื่องของต้นไม้ใหญ่ว่าจะมีรุกขเทวดาอาศัยอยู่ และการสร้างเรือในอดีตก็จำเป็นต้องใช้ไม้เป็นส่วนประกอบสำคัญ โดยเฉพาะ ‘เรือขุด’ ที่จะใช้ต้นไม้ทั้งต้นมาสร้างเรือ เท่ากับว่าบรรดารุกขเทวดาก็ต้องปรับตัวจากที่อยู่ในต้นไม้ใหญ่ แปรเปลี่ยนจากพื้นดินป่าเขา เดินทางมาสู่ท้องน้ำแทน ซึ่งทุกอย่างเกิดขึ้นจนกลายเป็นธรรมเนียมที่ส่งต่อกันมาเรื่อยๆ จากเรือไปสู่พาหนะต่างๆ นั่นเอง

(เรือที่ทำมาจากไม้) Photo credit: กฤษณะ กฤษณรักษ์

นอกจากความเชื่อที่ว่าแม่ย่านางเป็นการพัฒนาการมาจากบรรดารุกขเทวดาต้นไม้ใหญ่แล้ว ยังมีอีกฟากฝั่งที่บอกว่าแม่ย่านางนั้นเป็นความเชื่อจากเมืองจีน โดยเข้ามาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเลยทีเดียว ซึ่งมันได้ถูกผสมผสานกับความเชื่อของคนไทยเรื่อง ‘ขวัญ’ จนผลลัพธ์ออกมาเป็นเทพารักษ์ที่คนเรือกราบไหว้กัน

สำหรับแม่ย่านางของจีนก็จะมีชื่อเรียกอยู่หลายชื่อ แต่ชื่อที่นิยมเรียกจะเป็น ‘มาจู่’ (媽祖) โดยเป็นเทพที่เกี่ยวข้องกับท้องทะเล

แม้ฝั่งหนึ่งจะบอกว่าเกี่ยวข้องกับรุกขเทวดาในต้นไม้ใหญ่ และอีกฝั่งหนึ่งจะบอกว่าเป็นเทพทางทะเล ซึ่งไม่ว่าจะเป็นความเชื่อจากฝั่งไหนก็ตาม เราก็สามารถเห็นได้ชัดว่าแม่ย่านางเกี่ยวข้องกับเรือ

ไหว้แม่ย่านางเพื่ออะไร?

เรื่องนี้ไม่มีความซับซ้อนใดๆ การไหว้แม่ย่านางของคนส่วนใหญ่ก็เกี่ยวข้องกับเรื่องโชคลาภและความแคล้วคลาดปลอดภัยจากอุบัติเหตุต่างๆ ในเวลาที่ขับขี่ใช้งานรถนั่นล่ะ โดยเฉพาะเรื่องโชคลาภซึ่งเกี่ยวข้องกับหวยไม่มากก็น้อย หรือไม่ก็ใช้รถยนต์เป็นเครื่องมือทำมาหากินค้าขาย ประมาณว่าให้ขับขี่แล้วสร้างเงินสร้างทอง

เพราะความเชื่อที่ว่าแม่ย่านางจะช่วยคุ้มครอง ป้องกันอันตราย พร้อมกับจะให้โชคลาภกับเจ้าของรถ มันเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้คนส่วนใหญ่นิยมไหว้แม่ย่านางรถ ซึ่งนอกเหนือจากนี้ยังมีเรื่องการเจิมรถจากพระเกจิอาจารย์ต่างๆ พร้อมกับวัตถุมงคลที่เกี่ยวโยงกับเรื่องนี้แบบเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน

Photo credit: Pravit Thongsang

สำหรับในไทยดูเหมือนว่าอะไรก็ไหว้ไปเรื่อย รถถังเราก็ไหว้ เครื่องบินรบเราก็ไหว้ แม้จะไม่มีสถิติตัวเลขใดๆ ออกมายืนยัน ก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามันดีหรือไม่ดี แต่สิ่งหนึ่งที่เราจะได้ยินจากกลุ่มคนที่ไหว้ คงเป็นเรื่องความสบายใจเป็นหลัก สิ่งไหนที่ทำแล้วไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับใครและไม่ผิดกฎหมายใดๆ ก็คงไม่มีปัญหาที่จะทำนั่นล่ะ

แต่ความเชื่อในเรื่องนี้กำลังถูกท้าทาย เมื่อจำนวนของคนที่ศรัทธาลดลงไปเรื่อยๆ เพราะกลุ่มคน Gen-Y กับ Gen-Z ที่เติบโตขึ้นมาแทนคนรุ่นเก่า ซึ่งกลุ่มคนพวกนี้ไม่ได้มีมุมมองที่เหมือนเดิมอีกต่อไป โดยมองว่ารถเป็นเพียงยานพาหนะสำหรับใช้งานเท่านั้น ไม่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ มาแฝงอยู่ในน็อตล้อ ท่อไอเสีย หรือเครื่องยนต์ ทุกอย่างเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์เพียงเท่านั้น เพียงแค่ดูแลซ่อมบำรุง เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องตามคู่มือของบริษัทเป็นอันจบ

ทั้งนี้ เรามักเห็นอุบัติเหตุบนท้องถนนมากมาย โดยเฉพาะบางเหตุการณ์ที่ราวกับเป็นปาฏิหาริย์ว่ารอดมาได้อย่างไร ในอดีตที่ผ่านมา เครดิตตกเป็นของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ทำให้รอด หลวงพ่อดีบ้าง แม่ย่านางรถช่วยไว้ได้บ้าง แต่ในปัจจุบัน ทุกคนต่างรับรู้แล้วว่าระบบความปลอดภัยและเทคโนโลยีของรถยนต์นั่นล่ะ ที่ทำให้รอดมาเล่าเรื่องราวปาฏิหาริย์ที่เกิดขึ้นได้

(โครงสร้างรถยนต์ในปัจจุบันที่ช่วยคนรอดจากอุบัติเหตุ) Photo credit: TOYOTA K.MOTORS

สุดท้ายนี้ เรายังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าพิธีกรรมไหว้แม่ย่านาง จะมีความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหนตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ในวันที่บริษัทรถยนต์ชั้นนำเริ่มโชว์เทคโนโลยีการขับขี่อัตโนมัติระดับสูงที่ปล่อยออกมาให้ใช้งานแล้ว ซึ่งทุกอย่างจะถูกควบคุมด้วยระบบ AI ที่มีประสิทธิภาพสูง บทบาทหน้าที่ของคุณคือผู้โดยสารเพียงเท่านั้น และในตอนนั้น ความเชื่อเรื่องแม่ย่านางรถจะเป็นอย่างไร

เรื่องนี้ชวนให้คิดถึงหนังสือที่มีชื่อว่า ‘21 บทเรียนสำหรับศตวรรษที่ 21’ ได้กล่าวถึงศาสนากับความเชื่อที่ถูกปรับเปลี่ยนไปตามรูปแบบสังคมและวิทยาศาสตร์ ในช่วงเวลาหนึ่ง ศาสนาเป็นสิ่งที่ผู้นับถือพึ่งพาในเรื่องต่างๆ อย่างเช่นการรักษาความเจ็บป่วยเป็นต้น การสวดอ้อนวอนให้พระเจ้าช่วยเหลือจึงเป็นเรื่องปกติ แต่เมื่อเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์พัฒนาขึ้นมา ทุกคนรู้แล้วว่าการเจ็บป่วยเกิดจากอะไร ไข้หวัดเกิดจากเชื้อไวรัสอะไร และเมื่อป่วยไข้ก็ต้องไปหาหมอ ไม่ใช่พึ่งพาศาสนา เท่ากับว่าศาสนาไม่มีบทบาทในเรื่องนี้อีกต่อไป และศาสนาก็ต้องปรับตัวไปตามความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั่นเอง

อ้างอิง

สารคดี Magazine

เงินติดล้อ

silpa-mag.com