“ทุกอย่างมันเกิดขึ้นไวมาก” เป็นนิยามสั้นๆ ที่อธิบายถึงกระแสของรถยนต์ไฟฟ้าปัจจุบันในไทย ที่ความนิยมของรถยนต์ไฟฟ้าเติบโตอย่างก้าวกระโดดแบบสุดๆ จนดูเหมือนว่าสถานีชาร์จไฟเติบโตไม่ทันกับยอดขายก็ว่าได้ นอกจากนี้ ในท้องตลาดปัจจุบันก็มีรถยนต์ไฟฟ้าให้เลือกเยอะพอสมควร โดยเฉพาะรถสัญชาติจีนที่มาแบบลุยตลาดเมืองไทยไม่พักจริงๆ ในช่วงเวลานี้
แม้จะบอกว่าทุกอย่างมันเกิดขึ้นไวมาก แต่ก่อนที่ทุกอย่างจะเป็นแบบที่เราเห็นในปัจจุบัน รถยนต์ไฟฟ้าในไทยก็ใช้ระยะเวลาเดินทางมาสักพักใหญ่ๆ แล้ว ก่อนที่กระแสจะถูกจุดติดและก้าวโดดแบบในตอนนี้ ซึ่งทาง Exotic Quixotic พร้อมจะพาคุณเดินทางกลับไปในจุดเริ่มต้นของกระแสรถยนต์ไฟฟ้าในเมืองไทย
‘Carl Oppermann Electric Carriage’ ผู้มาก่อนกาล
เรื่องนี้บอกไปแล้วใครจะเชื่อว่ารถยนต์ไฟฟ้าคันแรกในไทย คุณต้องย้อนกลับไปในปี 1905 ในช่วงรัชสมัยของรัชกาลที่ 6 ซึ่งเป็นแบรนด์รถยนต์มีชื่อว่า ‘Carl Oppermann Electric Carriage’ เป็นสัญชาติอังกฤษ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของรถยนต์ไฟฟ้าในไทย แม้จะไม่ได้เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบันแม้แต่น้อย เรียกได้ว่าเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่มาก่อนกาลเป็น 100 ปี
ทั้งนี้ประเทศไทยกลับมามีรถยนต์ไฟฟ้าอีกครั้งในช่วงปี 2017 โดยบริษัทที่ริเริ่มทำตลาดไม่ใช่แบรนด์รถยนต์จากต่างประเทศ แต่เป็นแบรนด์สัญชาติไทยที่มีชื่อว่า ‘Mine Mobility’ โดยรถยนต์ไฟฟ้าถูกนำเสนอต่อหน้าสายตาผู้คนเป็นครั้งแรกที่งานมอเตอร์โชว์ พร้อมกับหายสาบสูญกันไปในช่วงเวลานั้นก็ว่าได้ เรียกได้ว่า Mine Mobility ยังไม่ได้เริ่มทำตลาดในไทยเลย
Mine Mobility ที่เกือบได้แจ้งเกิด
ถึงแม้จะยังไม่ได้เริ่มจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าในตอนนั้น แต่ก็เรียกได้ว่าแบรนด์ Mine Mobility ก็เป็นเจ้าแรกในไทยที่เข้ามาทำรถยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบัน ซึ่งในตอนนี้ Mine Mobility เพิ่งกลับมาทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าอีกครั้งหนึ่ง และโมเดลที่ทำออกมาโชว์ในตอนนั้น เรียกได้ว่าทิ้งไปหมดแล้ว โดยการกลับมาในครั้งนี้ เลือกทำเป็นรถกระบะไฟฟ้าอเนกประสงค์ออกมาแทนที่
หลังจาก Mine Mobility ได้โชว์ตัวไปเป็นเจ้าแรก แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าเจ้าที่สองในไทยก็ตามมา ซึ่งคนส่วนใหญ่น่าจะรู้จัก ‘FOMM’ อย่างแน่นอน และปัจจุบันก็ยังคงทำตลาดอยู่ แม้ในตอนนี้โมเดลที่ทำอยู่แทบจะไม่ได้รับความนิยมสักเท่าไหร่ โดย FOMM One ก็เป็นแบรนด์รถสัญชาติไทยเช่นกัน และยังมีภาพจำของคนส่วนใหญ่ว่าเป็นรถยนต์ไฟฟ้าคันจิ๋วที่สามารถลอยน้ำได้
ตอนนี้ก็สามารถเห็นได้อย่างชัดเจนแล้วว่า จุดเริ่มต้นของรถยนต์ไฟฟ้าในไทยเกิดจากบริษัทสัญชาติไทย ซึ่งในช่วงปลายปี 2018 ก็ถึงเวลาที่ค่ายใหญ่จากญี่ปุ่นจะก้าวลงมาเล่นในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าด้วย เรื่องนี้จะเป็นใครไม่ได้เลยนอกจาก ‘Nissan LEAF’ ที่มาพร้อมศักดิ์ศรีรถยนต์ไฟฟ้าที่ขายดีที่สุดในโลกของช่วงเวลาหนึ่ง
แม้ในตอนนั้น Nissan LEAF จะเคยเป็นเบอร์หนึ่งในเรื่องความนิยม แต่พอมาทำตลาดในไทย เรียกได้ว่าอะไรๆ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป ซึ่งอย่างแรกที่ต้องเจอก็คือภาษีนำเข้าที่สูงจนทำให้ Nissan LEAF มีราคาเปิดตัวอยู่ที่ 1.99 ล้านบาท (*รถประกอบจากญี่ปุ่นส่งมาขายไทย) และในช่วงเวลานั้น กระแสรถยนต์ไฟฟ้ายังมีไม่มากพอที่จะทำให้คนส่วนใหญ่สนใจ สุดท้ายก็ทำให้ Nissan LEAF ไม่ได้รับความนิยมอย่างที่ควรจะเป็น
ปัญหาหลักๆ ของรถยนต์ไฟฟ้าในช่วงเวลานั้นก็คือ ‘ราคา’
BYD ยังไม่เป็นที่จดจำใดๆ ในช่วงเวลานั้น สำหรับรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกของ ‘BYD E6’ ที่เข้ามาทำตลาดในไทยในรูปแบบรถแท็กซี่ ซึ่งเชื่อว่าใครที่อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลน่าจะเห็นเคยรถรุ่นนี้แน่นอน เพราะมีบริษัท Rizen Energy เป็นผู้จัดซื้อมาใช้งาน โดยเลือกทำเป็น ‘Taxi VIP’ ออกมาให้เช่า ซึ่งมันไม่มีอะไรที่ซับซ้อนไปมากกว่านี้
ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้นในปี 2019 หลังจากทาง MG ได้ก้าวลงมาแข่งขันในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งทางบริษัทได้เลือกใช้โมเดลที่ขายดีที่สุดอย่างทาง ‘MG ZS’ มาเปลี่ยนให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้า โดยพกพาจุดแข็งในเรื่อง ‘ราคา’ ที่ไม่ได้สูงเหมือนกับทาง Nissan และสเปกความสามารถที่วิ่งได้ต่อการชาร์จไฟ และความเร็วสูงสุดที่ทำได้ มันเพียงพอกับการเดินทางประมาณหนึ่ง
สำหรับราคาเปิดตัวของ MG ZS EV อยู่ที่ 1.19 ล้านบาท แม้ราคาจะยังคงแตะหลักล้านอยู่ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า หลายๆ คนสามารถเอื้อมถึง และในปี 2020 ทางบริษัทก็ส่งรถยนต์ไฟฟ้า ‘MG EP’ เข้ามาทำตลาดเสริม พร้อมกับราคา 9.88 แสนบาท เพิ่มโอกาสให้คนสามารถครอบครองรถยนต์ไฟฟ้าได้ง่ายขึ้น
แม้ชื่อเสียงของแบรนด์ MG จะอาการไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่ในบ้านเรา แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ารถยนต์ไฟฟ้าของบริษัทสามารถช่วยให้กอบกู้ชื่อเสียงได้พอสมควร ซึ่งในปัจจุบันทาง MG ให้น้ำหนักกับรถยนต์ไฟฟ้ามากพอสมควร เรียกได้ว่าบริษัทจะเอาดีทางนี้อย่างแน่นอน
หลังจากการมาของ MG ในตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ทำให้พูดได้ว่ารถยนต์ไฟฟ้าไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ซึ่งความหลากหลายของตลาดเพิ่มขึ้นจากเดิม และก็มีรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ ‘Wuling’ เข้ามาทำตลาดในไทยเพิ่มเติม แม้จะไม่ได้รับความนิยมสักเท่าไหร่ แต่ที่ต้องพูดถึงก็เพราะ Wuling เคยเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่ราคาถูกที่สุดนั่นเอง
ราคาจำหน่ายในไทยเริ่มต้นที่ 3.69 แสนบาท กับรถยนต์ไฟฟ้าที่ถูกออกแบบให้ใช้งานในเมืองเป็นหลัก โดยเน้นการใช้งานระยะทางสั้นๆ อย่างเช่น ขับจากบ้านไปที่ทำงาน เป็นต้น แม้ว่าราคาจำหน่ายที่ทำให้ใครๆ สามารถเป็นเจ้าของได้ไม่ยากเย็น แต่ปัญหาหลักๆ ของ Wuling ก็คือ ‘พวงมาลัยซ้าย’ เพราะเรื่องนี้เองทำให้รถไม่สามารถแจ้งเกิดได้ในไทย
ทั้งนี้จะบอกว่ากระแสรถยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งมาจาก GWM ก็ไม่ใช่เรื่องผิด หลังจากปี 2021 คนไทยก็ได้รู้จักแบรนด์รถน้องใหม่จากจีนอย่างทาง GWM ที่บริษัทเลือกจะลุยตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยด้วยแบรนด์ย่อยของบริษัทอย่างทาง ‘ORA’ โดยรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกที่เปิดตัวออกมาก็คือ ‘Good Cat’ หรือที่เรียกกันติดปากว่า ‘น้องแมว’ และด้วยดีไซน์การออกแบบที่น่ารัก ประกอบกับสเปกความสามารถกับราคาที่เหมาะสม ทำให้ความนิยมของ ORA Good Cat สามารถก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งในเรื่องยอดขายของรถยนต์ไฟฟ้าหนึ่งในไทยตั้งแต่ปลายปี 2021 ที่ผ่านมา
ถือว่าเป็นช่วงไทม์ไลน์ปัจจุบันแล้วก็ว่าได้ ครั้งนี้ถือว่าเป็นการทำตลาดอย่างเป็นทางการของ BYD ซึ่งดูคู่แข่งรถยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบันแล้วล่ะก็ นาทีคงต้องบอกว่าแบรนด์ BYD มีความพร้อมทุกด้านจริงๆ ในการลุยตลาดครั้งนี้ เอาเป็นว่าวันแรกที่เปิดให้จับจอง ‘Atto 3’ ก็เป็นกระแสให้พูดถึงอยู่หลายวัน พร้อมกับมียอดจองที่ถล่มทลายเหมือนกับแจกฟรี
‘Toyota bZ4X AWD’ สามารถทำยอดจองในไทยสูงถึง 3,356 คัน ภายในระยะเวลาเพียง 24 ชั่วโมง ด้วยศักดิ์ศรีความเป็นแบรนด์เจ้าตลาดในไทยของ Toyota ที่คนส่วนใหญ่มั่นใจในการจ่ายเงิน มันก็ไม่มีผิดแปลกอะไรที่รถยนต์ไฟฟ้าเปิดให้จับจองจะได้รับเสียงตอบรับสูงมากๆ นั่นเอง
หลังจากเปิดให้จับจอง Toyota bZ4X AWD และก็หมดโควตาไปแล้ว ล่าสุดทาง Toyota ยังไม่มีท่าทีใดๆ ที่จะเปิดให้จองซ้ำอีกรอบ และในงาน Motor Expo 2022 ทางบริษัทเลือกนำ Toyota bZ4X AWD มาโชว์ให้สัมผัสในงานแบบยังไม่เปิดให้จองเพิ่มแต่อย่างใด
นอกจากนี้ยังมีรถยนต์ไฟฟ้าหรูรุ่นต่างๆ ที่เป็นตัวผลักดันกระแสอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์เบอร์หนึ่งของโลกในปัจจุบันอย่างทาง Tesla ที่มีตัวแทนจำหน่ายเอกชนเจ้าต่างๆ เป็นผู้นำเข้ามาขาย ซึ่งล่าสุดบริษัทแม่ Tesla ก็มาลุยตลาดเมืองไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแสความนิยมของรถยนต์ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นจาก Tesla อย่างแน่นอน
ฟากฝั่ง Porsche, BMW, Mini, Mercedes-Benz และ Volvo ก็ล้วนมีรถยนต์ไฟฟ้าลุยตลาดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แม้จะไม่ส่งผลในเรื่องภาพรวมของตลาดรถไฟฟ้าสักเท่าไหร่ เนื่องจากแบรนด์รถเหล่านี้มีราคาสูงนั่นเอง ซึ่งไม่ใช่ทุกคนจะสามารถครอบครองได้เหมือนกับบรรดารถยนต์ไฟฟ้าในท้องตลาดทั่วๆ ไป แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าแบรนด์เหล่านี้เป็นตัวเลือกของรถยนต์ไฟฟ้าในท้องตลาดเช่นกัน
ในนาทีนี้ ดูเหมือนว่าแบรนด์รถยนต์ต่างๆ ในไทยล้วนให้น้ำหนักหรือจับตามองตลาดรถยนต์ไฟฟ้าก็ว่าได้ ซึ่งในงาน Motor Expo 2022 ก็เป็นอะไรที่ชัดเจนมากๆ โดยมีค่ายรถยนต์ที่มาเข้าร่วมถึง 30 ค่าย/แบรนด์ และก็มีจำนวนถึง 16 ค่ายที่นำรถยนต์ไฟฟ้ามาโชว์หรือมาขายจริงในงาน เมื่อมองเป็นสัดส่วน เรียกได้ว่าเกินครึ่งของค่ายรถยนต์มาโชว์ในงานไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งหมดนี้เป็นภาพรวมของกระแสของรถยนต์ไฟฟ้าในไทย นับตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน และรวมไปถึงอนาคตอันใกล้อีกด้วย
อ้างอิง