3 นวัตกรรมแห่งอนาคต ที่จะเข้ามายกระดับยานยนต์สำหรับผู้บริโภค

Photo credit: Theodor Vasile

“ตั้งแต่เล็กตราบจนถึงทุกวันนี้คุณเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างในยานพาหนะรถยนต์ เมื่อมองกลับไปนึกถึงประสบการณ์ครั้งยังพอมีภาพในวัยเยาว์ ความรู้สึกของคุณกับรถคงแทบจะคนละเรื่องเลยใช่ไหมเมื่อเทียบกับรถ ณ ปัจจุบัน”

นั่นคงเป็นเพราะความทะเยอทะยานของมนุษย์ ด้วยเหตุการแข่งขันยุคทุนนิยม หรือแม้กระทั้งความคิดที่จะทำให้โลกนั้น “ดีขึ้น” ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดล้วนเป็นแรงผลักดันทำให้ยานยนต์สี่ล้อเพื่อบริโภคพัฒนาจนมาเป็นทุกวันนี้ รู้ตัวอีกที! ก็จะเห็นได้ว่ารถที่เรานั่งเราขับกันอยู่แทบจะพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือไปเลยเมื่อเทียบกับครั้งแรกที่ชีวิตได้รู้จักกับยานพาหนะสี่ล้อที่เรียกว่า “รถยนต์”

Photo credit: blessthisstuff

คำถามก็คือ “มันจะเปลี่ยนไปอีกแค่ไหน?” แล้วในอีกไม่ใกล้ไม่ไกลนี้ตราบจรดที่เรายังมีลมให้ใจหรือยังไหวได้นั่งที่หลังพวงมาลัยอยู่ 10-20 ปี หรือ 30 ปีต่อจากนี้ คุณจะได้เห็นนวัตกรรมแห่งอะไรบ้างมาอยู่ในรถยนต์ บนท้องถนนจะเปลี่ยนไปจากนี้มากน้อยแค่ไหน ลองอ่านเนื้อหาข้างล่างต่อไปนี้แล้วลองนึกภาพตามว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนไปพร้อมๆ กัน

รถไฟฟ้า (Electric Vehicle) ทดแทนรถเครื่องยนต์สันดาป

แม้ในบ้านเรายังเหมือนอยู่ในสภาวะตั้งไข่ แค่เริ่มต้นมีรถ EV ออกมาจำหน่ายเพียงไม่กี่รุ่น แถมยังขาดมาตรการสนับสนุนที่ชัดเจนจากภาครัฐ อย่างไรก็ตามในภาพใหญ่จากรายงานของ Bloomberg New Energy Finance ประเมินว่า ภายในปี 2040 58% ของยอดขายรถยนต์นั่งทั่วโลกจะมาจากรถยนต์ไฟฟ้า ในขณะเดียวกันจะคิดเป็นสัดส่วนกว่า 33% ของรถยนต์ทั้งหมดบนท้องถนนทั่วโลก

Photo credit: physicsworld

ทั่วโลกพร้อมเปลี่ยนแปลง

ในขณะที่บ้านเรายังหาข้อสรุปไม่ได้ว่านี่คืออีกหนึ่งช่วงของยุคเปลี่ยนผ่านจากยุคเครื่องยนต์สันดาปก่อมลพิษ เป็นยุคยานยนต์มลพิษ 0% ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า แต่รอบข้างหรือทั่วโลก แต่ละประเทศกำลังเตรียมพร้อมแล้วที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่อนาคตที่ดีขึ้น 

อย่างนอร์เวย์ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด มีผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าแล้วกว่า 49% ของจำนวนรถทั้งหมดในประเทศ

ในอเมริกาก็ขายรถไฟฟ้าไปได้กว่า 3 แสนคันในปี 2018 ที่ให้พร้อมกับมาตรการสนับสนุนมากมายเพื่อให้คนหันมาใช้รถ EV ทางด่วยพิเศษ เงินทอน ภาษีถูก เส้นทางพิเศษสำหรับรถไฟฟ้า ฯลฯ ส่วนจีนก็ถือเป็นหนึ่งยักษ์ใหญ่ทั้งในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งตั้งแต่ปี 2011 ที่ผ่านมาก็ได้ผลิตรถ EV ไปแล้วกว่า 3 ล้านคัน อีกทั่งยังกุมอำนาจในชิ้นส่วนสำคัญของรถประเภทนี้นั่นก็คือตัวแบตเตอรี่ ด้วยการเป็นเจ้าของโรงงานผู้ผลิตเซลล์แบตฯ กว่า 2 ใน 3 ของการผลิตทั่วโลกอีกด้วย 

Photo credit: Sekretariat Nasional ASEAN

หลายๆ ประเทศในยุโรปหรือในเอเชียที่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ต่างพร้อมแล้วที่จะเข้าสู่โลกที่ “สะอาดขึ้น” ตามแนวทางที่เหมาะสมของประเทศตน ส่วนคนไทยตอนนี้ก็เพียงแค่ต้องรอให้ผู้ผลิต “ใจถึง” กล้านำรถ EV เข้ามาจำหน่ายในราคาที่จับต้องได้ ซึ่งมีออกมาให้เลือกแล้วหลายๆ รุ่น ทั้ง MG EP, Nissan LEAF หรือตัวใหม่ที่พึ่งเปิดตัวอย่าง GWM ORA GOOD CAT  

Photo credit: headlightmag

ยานยนต์ไร้คนขับ (Autonomous Car)

ภาพที่คุณเคยเห็นในหนัง SCI-FI ยุคอนาคตใกล้เข้ามาอีกขั้นกับเทคโนโลยี “ยานยนต์ไร้คนขับ” บรรรดาหลายค่ายรถยักษ์ใหญ่ทั่วโลกออกมาประกาศแล้วว่าจะพัฒนาฟีเจอร์ความล้ำนี้ให้กับรถของตัวเองและเตรียมออกจำหน่าย แต่ก็มีหลายคนยังหวั่นใจว่า ความชาญฉลาดของรถที่มากขึ้นจะให้คุณหรือโทษมากกว่ากัน 

photo credit: skhynix

เมื่อคำว่าอุบัติเหตุทางรถยนต์จะไม่ใช่เพราะตัวมนุษย์อีกต่อไป แต่จะเป็นเพราะปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ที่หากเกิดความผิดพลาด ขาดการควบคุมด้วยจิตใต้สำนึกรู้ผิดชอบชั่วดีที่เรียกว่า “Error” มันก็เหมือนเป็นภัยเงียบที่ซ่อนอยู่เกินจะคาดเดาได้เหมือนกัน

ระดับของยานยนต์ไร้คนขับถูกกำหนดขึ้นด้วยองค์กรบริหารความปลอดภัยบนท้องถนนของสหรัฐอเมริกา (NHTSA) แบ่งเป็น 6 ระดับ 0-5 โดยระดับสูงสุดคือ “ระบบอัตโนมัติโดยสมบูรณ์ที่ตัวรถยนต์ขับขี่ได้ด้วยตัวเอง” ที่หมายความว่า 

ยานยนต์ไม่จำเป็นต้องมีคนขับช่วยควบคุมรถอีกต่อไป เพียงแค่คุณโดยสารแล้วตัวรถก็จะพาคุณไปส่งที่จุดหมายปลายทางเอง ไม่ต้องมีคนขับทดแทน ไม่ต้องช่วยควบคุมพวงมาลัย หรือตัดสินใจในบางสถานการณ์ขณะที่รถวิ่งอยู่บนท้องถนน

ความสะดวกที่ควบคู่ไปกับความปลอดภัยสูงสุด

ทางผู้พัฒนาเทคโนโลยีนี้ทุกคนมีเป้าประสงค์เหมือนกันคือ เรื่องความปลอดภัยสูงสุด การกำหนดในตัวรถต้องปฎิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัดจะทำให้การเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ลดลง รวมไปถึงในเรื่องความสะดวกสบายที่มากขึ้นในการเดินทางคือ 2 เหตุผลหลักของการพัฒนาเทคโนโลยีชนิด ซึ่งหากถูกนำมาใช้ในบ้านเราที่เรื่องกฏจราจรของคนใช้รถ(บางคน) ไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุดยามขับขี่ ก็อาจต้องมีการปรับและเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ยาวไปจนถึงเรื่องของกฎหมายที่อาจต้องมีการปรับแก้ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุขึ้นระหว่างรถที่คนจริงๆ ขับกับตัวรถที่ปัญญาประดิฐ์เป็นผู้ควบคุม 

Photo credit: MOBILIDADE

AI เข้ามามีส่วนสำคัญ

เมื่อยานยนต์ไร้คนขับมี AI เป็นส่วนสำคัญในการทำงาน ตอนนี้ก็เช่นกันที่รถหลายๆ รุ่นเริ่มมีการใช้ AI เข้ามามีส่วนในการทำงานฟีเจอร์ต่างๆ ของตัวรถ ทั้งในแง่ของการขับขี่ ความปลอดภัย หรือความสะดวกสบาย

Photo credit: carsguide

ในความเป็นจริง AI ก็เริ่มเข้ามาอยู่ในรถนานแล้วในรูปแบบที่เรียกว่า ECU Electronic Control Unit ที่หลายคนเรียกว่า “สมองของรถ” ซึ่งรับข้อมูลจากเซ็นเซอร์ที่อยู่ในการทำงานของชิ้นส่วนต่างๆ แล้วมาประมวลผลแล้วส่งคำสั่งต่อการทำงานของเครื่องยนต์หรือการขับขี่

แต่ในปัจจุบันถึงก้าวต่อไปในบริบทของยานยนต์แห่งในอนาคต การประมวลผลนี้จะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิมและทำงานร่วมกับตัวรถได้มากขึ้น เพราะมีชิ้นส่วนอินพุชที่ไม่จำเป็นต้องใช้แค่เซ็นเซอร์อีกต่อไป มีกล้อง เรดาห์ และอุปกรณ์อื่นๆ ซึ่งเข้ามามีส่วนสำคัญต่อฟีเจอร์ล้ำๆ ในเรื่องการขับขี่ปลอดภัย เช่น Toyota มี Toyota Safety Sense, Honda มี Honda Sensing และ i-ACTIVSENSE ของ Mazda ซึ่งแต่ละระบบล้วนมี AI เข้ามามีส่วนสำคัญในการทำงานของฟีเจอร์ 

Photo credit: pressroom.toyota

ตัวอย่างระบบความปลอดภัยที่มีการใช้ AI เข้ามามีส่วนสำคัญในการทำงาน 

  • ระบบช่วยหยุดรถขณะถอยหลังเมื่อมีรถในจุดอับสายตา
  • ระบบช่วยเตือนเมื่อผู้ขับขี่เหนื่อยล้า  
  • ระบบเตือนเมื่อมีรถในมุมอับสายตา   
  • ระบบเตือนการชนด้านหน้า 
  • ระบบช่วยช่วยเบรก
  • ระบบควบคุมความเร็ว 
  • ระบบหน่วงพวงมาลัยให้เข้าในเลนวิ่ง
Photo credit: honda

มารอดูกันว่าอีกในอนาคตสิ่งเหล่านี้ที่ว่ามาจะมีให้เห็นกันบนท้องถนนในอีกกี่ปี บางทีก็คาดเดาได้ยาก แต่ต้องยอมรับกันว่า ตอนนี้คือช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมยานยนต์อีกครั้ง สู่การพัฒนาไปอีกขั้นมากกว่าแค่เรื่องดีไซน์สวยๆ หรือเครื่องยนต์แรงๆ อย่างในอดีต เมื่อใจความสำคัญเปลี่ยนไปแน่นอนว่าผู้พัฒนาและผู้ผลิตพยายามสร้างสิ่งใหม่ๆ เพื่อให้ตอบสนองทุกปัจจัยความต้องการของผู้ขับขี่(ผู้จ่ายเงินซื้อรถ) ความสะดวกสบาย ความปลอดภัยไปจนถึงเรื่องที่มาแรงมากคือ เรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นเงื่อนไข ทุกนวัตกรรมต่อจากนี้ก็เพื่อ ”ตอบโจทย์การใช้งานพื้นฐานสำคัญ” ของผู้ใช้รถแทบทั้งสิ้น   

Photo credit: claimsjournal