Auto

‘ยางมิชลิน’ กับ ‘มิชลินไกด์’ จุดร่วมบนความแตกต่างทางธุรกิจของบริษัทมิชลิน

‘มิชลิน’ ถ้าเราบอกชื่อไปแค่นี้ เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ต้องรู้จักชื่อนี้อย่างแน่นอน และจะคิดถึงอะไรไปไม่ได้เลยนอกจากยางรถยนต์ และรถมอเตอร์ไซค์นั่นเอง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไรเลยแม้แต่น้อย เพราะว่ายางมิชลิน (MICHELIN) อยู่คู่กับเมืองไทยมาอย่างยาวนาน และชื่อเสียงคุณภาพมาตรฐานของยางก็ถือว่าไม่เป็นสองรองใคร โดยปัจจุบันความนิยมก็ยังไม่เสื่อมคลายไปแม้แต่น้อย

ทั้งนี้ก็มีคนอีกกลุ่มที่รู้จัก ‘มิชลิน’ ที่ไม่ใช่ยางรถเช่นกัน ซึ่งที่พวกเขารู้จักจะเป็นรางวัลการันตีความอร่อย และคุณภาพของร้านอาหาร โดยชื่อเต็มๆ ของการันตีนี้ก็คือ ‘มิชลินไกด์’ (Michelin Guide) ที่จะมีการประกาศออกมาในทุกๆ ปีเป็นมาตรฐาน

เชื่อว่าใครๆ ก็ต้องสงสัยถึงความเกี่ยวข้องกันอย่างแน่นอนว่า ระหว่างยางมิชลินกับมิชลินไกด์ มันมีอะไรเกี่ยวข้องกันไหม ซึ่ง EQ มีคำตอบมาให้คุณแล้วในบทความนี้

จุดเริ่มต้นของยางมิชลิน

จุดเริ่มต้นทุกอย่างของเรื่องนี้เกิดจากสองพี่น้องชาวฝรั่งเศสที่มีชื่อว่า Édouard และ André Michelin ที่ได้ก่อตั้งบริษัทมิชลินขึ้นในปี 1889 โดยในช่วงยุคแรกของบริษัทนั้นจะผลิตภัณฑ์ยางหลายชนิด ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ล้อยางเพียงเท่านั้น แต่สิ่งที่สร้างชื่อเสียงให้บริษัทคือ ล้อยางของรถจักรยานนั่นเอง 

Édouard และ André Michelin
Photo Credit: Michelin

เพราะในช่วงเวลานั้นบรรดานักปั่นจักรยานกำลังมองหาวิธีแก้ปัญหาล้อยางแตกจากการใช้งานเป็นประจำ โดยทั้งสองพี่น้องมิชลินสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ ด้วยการพัฒนาออกแบบยางรถรุ่นใหม่ให้มีความทนทานมากขึ้น จนทำให้บริษัทมิชลินเริ่มมีชื่อเสียงขึ้นมา

ในปี 1891 ทั้งสองพี่น้องได้จดสิทธิบัตรยางรุ่นใหม่ที่ได้พัฒนาออกมา โดยเป็นยางในแบบที่เราๆ น่าจะคุ้นเคยกันนั่นล่ะ เพราะในปัจจุบันยางลักษณะนี้ก็ยังคงถูกใช้งานอยู่ ซึ่งยางแบบนี้จะมีข้อดีกว่ายางแบบเก่าอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความนุ่มนวลที่มากกว่า ให้ความสบายต่อผู้ขับขี่ได้ดีกว่ายางตันแบบเก่าที่นิยมใช้งานก่อนหน้า และเทคโนโลยีนี้เองได้ทำให้นักปั่นที่มีชื่อว่า ‘Charles Terront’ สามารถคว้าแชมป์การแข่งขันจักรยานทางไกลรายการแรกของโลกได้ในปี 1891

Charles Terront
Photo Credit: Wikipedia

ในปี 1910 บริษัทมิชลินได้สร้างนวัตกรรมสำคัญที่ปฏิวัติอุตสาหกรรมยางรถไปตลอดกาล ด้วยการเปิดตัวยางรุ่นใหม่ที่มีชื่อเรียกว่า ‘ยางเรเดียล’ ซึ่งมีความพิเศษกว่ายางรถปกติในเวลานั้นอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากโครงสร้างของยางจะมีใยเหล็กที่ประกอบอยู่ด้วย ทำให้ยางรถมีประสิทธิภาพในการใช้งานที่ดีกว่ายางไบแอสที่ใช้งานกันอยู่ก่อนหน้า และทางมิชลินก็ได้พัฒนาประสิทธิภาพของยางเรเดียลให้ดีขึ้นจนสุดท้ายในปี 1923 ก็มีการจดสิทธิบัตรยางรุ่นนี้อย่างเป็นทางการ

ทั้งนี้ยางเรเดียลที่มิชลินได้พัฒนาขึ้นมานั้น จะมีความทนทานและความแข็งแกร่งที่มากขึ้นกว่าเดิมด้วยโครงสร้างที่มีใยเหล็กเสริมเข้ามานั่นเอง และในปี 1946 เทคโนโลยียางเรเดียลก็เริ่มถูกนำมาใช้กับรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ก่อนที่จะได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในเวลาต่อมา ซึ่งนวัตกรรมนี้เป็นการวางรากฐานสำหรับการออกแบบยางเรเดียลสมัยใหม่ที่ยังคงใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันอีกด้วย

โครงสร้างยางเรเดียล
Photo Credit: Super Truck Thailand

ในปี 2000 บริษัทมิชลินก็ได้เปิดตัวเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดอย่างทาง ‘ยางรันแฟลต’ ที่จะทำให้รถสามารถขับต่อไปได้แม้ยางจะรั่ว ซึ่งคุณไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนยางทันที ยางจะสามารถใช้งานไปได้ในระยะประมาณ 80 กม. ด้วยความเร็วสูงสุดไม่เกิน 80 กม./ชม. และปัจจุบันก็กลายเป็นเทคโนโลยีทั่วไปที่ผู้คนสามารถเข้าถึงได้แล้วอีกด้วย

มิชลินไกด์ จักรวาลคู่ขนานของยางมิชลิน

Photo Credit: MichelinGuideThailand

สำหรับจุดเริ่มต้นของมิชลินไกด์ถือว่าไม่ได้แตกต่างไปจากจุดเริ่มต้นของยางมิชลินสักเท่าไร เรียกได้ว่า คลานตามกันมาเลยนั่นแหละ โดยในปี 1895 สองพี่น้องมิชลินตัดสินใจเริ่มแคมเปญการตลาดที่ดูแปลกประหลาดพอสมควร เพราะบริษัททำธุรกิจเกี่ยวข้องกับยางสำหรับพาหนะต่างๆ กลับทำหนังสือคู่มือแจกฟรีสำหรับผู้ใช้รถยนต์ในฝรั่งเศส ซึ่งคู่มือนั้นมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘มิชลินไกด์’

เนื้อหาภายในคู่มือมิชลินไกด์จะเป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็น แผนที่การเดินทาง, ข้อมูลของโรงแรมตามเส้นทางต่างๆ, ข้อมูลของร้านอาหาร รวมไปถึงข้อมูลความรู้ต่างๆ อย่าง วิธีเปลี่ยนยางรถ, แผนที่จุดเติมน้ำมัน หรือวิธีการขับรถให้ประหยัดน้ำมัน เป็นต้น ซึ่งในช่วงเริ่มต้นมันเป็นคู่มือแจกฟรี

ในปี 1920 ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ก็ได้เกิดขึ้นกับคู่มือมิชลินไกด์ เมื่อทางบริษัทตัดสินใจเปลี่ยนจากการแจกฟรี เป็นการจำหน่ายคู่มือนี้ในราคา 7 ฟรังก์ (ณ ช่วงเวลานั้น) ด้วยแนวคิดที่ว่า ‘man only truly respects what he pays for’ อีกทั้งเนื้อหาของคู่มือนี้ก็ถูกเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการรวมรายชื่อโรงแรมในเมืองปารีส, การจัดทำรายชื่อร้านอาหารตามหมวดหมู่เฉพาะ รวมไปถึงการตัดโฆษณาที่มีสปอนเซอร์ลงไว้ออกจนหมด ทำให้ดูเหมือนว่า ทุกอย่างที่เกิดขึ้นกำลังจะเข้ารูปเข้ารอยแล้วก็ว่าได้

Photo Credit: Michelin Guide

มียางมิชลินก็ต้องมีมิชลินไกด์

ถือว่าเป็นกลยุทธ์ที่ดูแปลกๆ อยู่พอสมควรที่ทางบริษัทมิชลินเลือกทำคู่มือมิชลินไกด์ออกมา เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนเดินทางด้วยรถยนต์เพิ่มขึ้น เมื่อมีการใช้รถยนต์มากขึ้น เท่ากับว่าตลาดของยางรถยนต์ก็จะใหญ่ขึ้นตามไปด้วยนั่นเอง ซึ่งคู่มือมิชลินไกด์จะเป็นตัวเร่งให้ผู้คนเลือกเดินทางท่องเที่ยวด้วยรถยนต์ และก็ยังแอบแฝงแบรนด์ยางมิชลินอยู่ในคู่มือนั้น เพราะบริษัทเลือกใช้ชื่อยาง และคู่มือเป็นชื่อเดียวกัน เชื่อว่าอย่างไรคนก็ต้องคุ้นหูคุ้นตาแน่นอนเวลาที่ต้องเปลี่ยนยางเส้นใหม่

เมื่อคู่มือมิชลินไกด์เริ่มมีอิทธิพลต่อร้านอาหารเพิ่มขึ้นแล้ว ทางบริษัทก็ยังคงจัดการเรื่องนี้ได้อย่างยอดเยี่ยม โดยทั้งสองพี่น้องได้คัดเลือกทีมนักชิมที่เป็นปริศนา ซึ่งไม่มีใครรู้จักมาร่วมงาน ทำให้ร้านอาหารไม่สามารถรู้ได้เลยว่า คนที่มากินอาหารของเขาเป็นคนของมิชลินไกด์ หรือเป็นเพียงลูกค้าธรรมดาที่มากินข้าวกันแน่

ในปี 1926 คู่มือมิชลินไกด์เริ่มมอบรางวัลแก่ร้านอาหารต่างๆ ที่ผ่านเกณฑ์ของทีมนักชิมปริศนา ซึ่งในตอนนั้นจะให้รางวัลเป็นดาวเพียง 1 ดวงเท่านั้น และในระยะเวลา 5 ปีต่อมา ก็มีการปรับจำนวนดาวเพิ่มขึ้นจาก 1 ดวงเป็น 2 และ 3 จนกลายเป็นมาตรฐานมาถึงปัจจุบัน

Photo Credit: Michelin Guide Thailand

ด้วยมาตรฐานที่สูงนี้เอง ทำให้มิชลินไกด์ยังคงความศักดิ์สิทธิ์มาได้โดยตลอด เพราะดาวที่ได้รับจะไม่คงอยู่ตลอดไป หากทางร้านอาหารไม่สามารถรักษามาตรฐานไว้ได้ ซึ่งการสูญเสียดาวอาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อร้านอาหารอย่างที่ปฏิเสธไม่ได้เลยทีเดียว

เรื่องราวทั้งหมดนี้น่าจะเป็นคำตอบที่เพียงพอถึงความเกี่ยวข้องกันระหว่างยางมิชลินกับคู่มือมิชลินไกด์ ว่าทั้ง 2 สิ่งนี้มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร ซึ่งความพิเศษของมิชลินที่ต้องพูดถึงก็คือ การรักษามาตรฐาน, คุณภาพ และความน่าเชื่อถือไว้ได้จนถึงปัจจุบัน ทั้งฝั่งของยางรถยนต์ที่ยังคงมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ออกมาอยู่เสมอ และฝั่งของมิชลินไกด์ที่รักษาศักดิ์และสิทธิ์ของการเป็นคู่มือที่คนทั่วโลกคอยติดตาม เพราะทุกครั้งที่พูดถึงร้านอาหารเจ้าของดาวมิชลิน คุณก็จะเห็นได้เลยว่า ร้านเหล่านั้นคือจุดหมายในฝันของเหล่านักชิม เช่นเดียวกับที่มิชลินเป็นยางในใจของใครหลายๆ คน 

อ้างอิง

Michelin Guide
Michelin Guide Thailand