“Streetmetal” ชาแนลของเด็กเชียงกง เปิดโลกรถซิ่งที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน

การทำงานใน “เชียงกง” คนคงมองเป็นอาชีพของการใช้แรงงาน กลิ่นเหม็นความสกปรกจากคราบน้ำมันที่เลี่ยงไม่ได้ แม้ใครจะเป็นคนที่ชื่นชอบกับการได้ไปดูอะไหล่ หาของแต่ง ชิ้นส่วนหายากก็อาจไม่ใช่สิ่งที่น่าพิสมัยสักเท่าไรหรอกจริงไหม?

แต่ถ้าเป็นแง่ของเชียงกงที่ญี่ปุ่นละ? คุณว่าน่าสนใจขึ้นไหม เพราะวันนี้เราจะพาไปคุยกับอดีต “เด็กเชียงกง” เด็ก 90 ผู้เคยเสพย์กับอารมณ์การทำงานในเชียงกงต้นตำรับแหล่งรถซิ่งแท้ๆ อย่างประเทศญี่ปุ่นมาแล้วที่ตอนนี้กลายมาเป็นเจ้าของชาแนลยูทูปในหมวดรถซิ่งที่น่าสนใจที่สุด และสายซิ่งทั้งหลายน่าจะเคยชมกันมาบ้าง “Streetmetal” กับ แบงค์ กิตติธัช เกศมณี ลองไปฟังความน่าสนใจของช่วงชีวิตเขาในตอนนั้นกันว่าจะ “มันส์” แค่ไหน อะไรคือสิ่งที่เขาได้กลับมา และกลายมาเป็น Bank Streetmetal 

นิยามของความเป็น “Streetmetal” 

ช่างภาพรถซิ่งที่ใครถ้าเคยได้เดินงานโชว์รถแต่งหลายๆ ที่ก็น่าเคยเห็นเขาคนนี้ในลุคการแต่งตัวแนวสตรีท เดินถือกล้องถ่ายรูปถ่ายวิดีโอรถสวยๆ ภายในงาน ซึ่งเขาเล่าให้ฟังเกี่ยวกับที่มาที่ไปของคำว่า “Streetmetal” ได้อย่างน่าสนใจว่า 

“คำว่า Streetmetal เริ่มต้นเลยเกิดมาจากความกวนของตัวเอง ตัวเองแต่งตัวแนวสตรีทแต่ชอบฟังเมทัล ก็สงสัยเองไงว่าทำไมคนฟังเมทัลจะแต่งแนวสตรีทไม่ได้ แล้วยิ่งพอเรามาทำเกี่ยวกับเรื่องรถ ถ่ายภาพรถ และได้ไปทำเชียงกง มันก็เลยกลายเป็นว่าตรงกับความหมายอีกด้านที่แปลตรงตัวว่า ‘ถนนสายเหล็ก’ เราเคยทำเชียงกง อะไหล่รถ ซากรถ ชื่อนี้มันคือตัวเราจริงๆ“

ช่อง Streetmetal นี่มันเป็นเรื่องรถล้วนๆ ?

“ในช่องหลักๆ เป็นรถและไลฟ์สไตล์ของตัวเองมากกว่า องค์ประกอบรถหลักๆ 80% ที่เหลือก็เป็นการท่องเที่ยวของเรา ในคอนเทนต์จะแบ่งเป็นบล็อกส่วนตัวเช่นวันนี้เอารถตัวเองไปทำอะไร ไปแต่งอะไรเพิ่ม รีวิวรถแต่งสวยๆ ที่เราชอบ และจะมีคอนเทนต์แบบตามติดคนทำอาชีพที่ทำงานเกี่ยวกับรถ 1 วัน ที่เหลือคือจะไปเที่ยวตามอู่ คือเมนหลักไงก็คือ ‘ตัวเรา’ สิ่งที่เราชอบเราสนใจ เพราะเราอยู่กับรถมาตลอดผสมไลฟ์สไตล์ตัวเองไป”

Streetmetal ขบถวงจรสู่มิติของโลกรถแต่งที่ไม่เหมือนใคร 

หากมองไปก่อนหน้านี้พวกช่องยูทูปที่พาไปดูรถซิ่ง เที่ยวอู่รถแต่ง หรือแม้กระทั่งพาไปเจาะลึกวงการรถแต่งในต่างประเทศยังมีไม่มากนัก Streetmetal ของแบงค์ได้สร้างนิยามใหม่ขึ้นมาเป็นทางเลือกเพื่อให้คนที่ชื่นชอบในรถยนต์หรือการแต่งรถได้เห็นในสิ่งที่ไม่เคยมีใครพาไปดู 

เริ่มต้นจากการเป็นช่างภาพได้พบเจอกับรถสวยๆ ในบ้านเรามากมาย การันตีได้เลยว่า “สวยไม่แพ้ชาติใดในโลก” และต่อยอดด้วยการนำเสนอในมุมมองที่แตกต่างแต่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะภายใต้ชื่อชาแนล Streetmetal ซึ่งมีผู้ติดตามกว่าแสนแอคเคาท์

“ต้องบอกจุดเริ่มต้นก่อนว่าเราชอบเห็นต่างจากคนอื่น ถ้าอยากทำช่องยูทูปกระแสหลักมาแบบนี้แบบนั้น เราก็ไม่อยากทำ ‘เราอยากแตกต่าง’ และถ้าเราชอบแบบนี้เราก็จะทำเลย” 

“ตอนเริ่มทำยูทูปก็มานั่งคิดว่าเจอรถสวยๆ เยอะตอนเป็นช่างภาพ คิดว่าถ้าทำช่องน่าจะโอเค เพราะบางทีคนเห็นแค่ภาพรถสวยๆ ที่เสร็จออกมาแล้ว แต่ไม่เห็นขั้นตอนการทำงาน และระหว่างที่เราเดินทางเช่นเราไปถ่ายรถที่ญี่ปุ่น คนเห็นแค่รถสวย โลเคชั่นสวย แต่ไม่เห็นเบื้องหลังเลยอยากลองนำเสนอในมุมมองนั้นดู เลยตัดสินใจทำช่องนี้ขึ้นมา”

ทุกความสำเร็จต้องใช้เวลาและ “จังหวะ”

“ทำยูทูปมาก็ประมาณ 3-4 ปี เริ่มหลังจากที่เราเริ่มรับงานถ่ายรูปรถนั่นแหละ เราเริ่มทำเล็กๆ น้อยๆ ก่อนจากแค่ถ่ายเบื้องหลังตัวเอง แต่ตอนนั้นไม่จริงจังอยากแค่ถ่ายแค่เบื้องหลังตัวเอง“

“เริ่มมีคนติดตามดูน่าจะช่วงพ้นปีแรก ตอนนั้นช่องของเราก็เริ่มมีจุดมุ่งหมายและเริ่มรู้ตัวแล้วว่าอยากทำแนวไหน พ่วงกับได้เปรียบตอนเราเริ่ม เราก็ได้ทำคอนเทนต์ต่างประเทศ ได้ไปถ่ายรถซิ่งที่ญี่ปุ่นพอดี เลยทำให้คอนเทนต์มีความน่าสนใจ” 

อยู่ๆ ก็กลับสู่โหมด เซียนกง ที่ญี่ปุ่นอีกครั้ง - Streetmetal

https://www.youtube.com/watch?v=wxaU4rjH178&feature=youtu.be

“พอเราเดินทางก็มีคนเข้ามาดูเลยเรื่อยๆ แต่ว่าตอนแรกต้องยอมรับว่าคนที่เข้ามาดูเราเป็นคนที่ไม่รู้จักเราเลยค่อนข้างเยอะ เพราะว่าตอนที่เราถ่ายรูปอย่างเดียวคนจะรู้จักเราคือคนที่เล่นรถเท่านั้นหรือคนที่แต่งรถค่อนข้างจะลึกแล้ว”

“พอเราทำช่องยูทูป คนดูก็จะเป็นอีกกลุ่มหนึ่งเลยที่เป็นคนชอบรถทั่วไปบ้าง เด็กที่กำลังเริ่มเล่นเริ่มแต่งรถบ้าง วงคนดูเริ่มกว้างขึ้น”

“และเพราะเรามีไลฟ์สไตล์ให้ดูด้วย และมีซีรีย์ที่ได้อธิบายเกี่ยวกับอาชีพเก่าของเราตอนทำเชียงกงที่ญี่ปุ่นซึ่งมันยังไม่มีใครทำ และคนอยากรู้ อาชีพนี้เขาทำยังไง เป็นยังไง ก็เลยทำทำให้ซีรีย์ตอนถ่ายเชียงกงนี่ยอดวิวเยอะสุด” 

เมื่อ “ประสบการณ์” คือแรงขับเคลื่อนของลมหายใจ 

แบงค์เล่าให้ฟังกับเราด้วยว่าเคยมีโอกาสได้ไปทำงานที่ญี่ปุ่นกับอาชีพ “ทำเชียงกง” เป็นเด็กตัดของ เลือกของมาขาย ซึ่งถ้าบอกว่าเป็นเชียงกงที่ญี่ปุ่นก็น่าจะทำให้คอรถซิ่งตาวาวสนใจขึ้นกันได้ไม่น้อย ออริจินัลสไตล์ในที่มาของแต่งรถซิ่งเด็กยุค 90 และแบงค์คือหนึ่งคนที่เคยได้ไปสัมผัสถึงรากเง้า ที่มา ทั้งที่เงินเดือนไม่ได้เยอะมากมายแถมงานยังหนักเอาเรื่องไม่ได้สบายเหมือนทำงานออฟฟิศ แต่เขาบอกกับเราว่า “ประสบการณ์ในชีวิตคือสิ่งที่ล้ำค่าที่สุด”    

“มันอาจจะเท่ในยุคนึงสำหรับคนเล่นรถแต่งรถคือใครจะแต่งรถ จะเอาอะไหล่ของแต่งอะไรก็นึกถึงเชียงกงไว้ก่อน เด็กยุค 90 น่าจะรู้ดี! แต่เดี๋ยวนี้อยากได้อะไรก็หาเบิกใหม่ได้หมดแล้ว คำว่าเชียงกงก็อาจขลังน้อยลงไป”

“เราตอนเด็กๆ หาของแต่งรถก็ต้องไปเดินเชียงกงไว้ก่อน พวกอะไหล่ของแต่งนี้มาจากญี่ปุ่นทั้งสิ้น ล้อ เครื่อง หัวตัด ฯลฯ เราก็มีความรู้สึกสงสัยแต่เด็กแล้วว่า คนที่ทำเชียงกงเนี่ย เขาทำอะไรกันบ้าง ? คือต้องบอกก่อนว่าพื้นฐานเราชอบประเทศญี่ปุ่นอยู่แล้วไม่เคยไป อยากไปมาก แล้วก็อยากรู้ว่าเวลาคนเขาไปทำ เขาทำอะไรบ้าง เขาใช้ชีวิตกันยังไง เราอยากไปและเราชอบรถอยู่แล้วด้วย”

“ก็มีโอกาสคือคุณพ่อรู้จักกับคุณอาซึ่งทำเชียงกงอยู่ที่ญี่ปุ่น มีโกดัง ตัดอะไหล่พวกรถใหญ่ พ่อก็เลยฝากฝังกันเข้าไป ตอนแรกยังไปๆ มาๆ จนฝั่งที่ญี่ปุ่นเปิดโกดังใหม่ จังหวะนั้นเราว่างงานพอดีเราก็เลยตัดสินใจไปเลย ตอนนั้นน่าจะจบใหม่ตอนอายุ 21-22” 

“จริงๆ ต้องบอกก่อนว่าคนที่จะได้ไปทำเชียงกงที่ญี่ปุ่นเนี่ย ต้องทำอยู่หน้าร้านก่อน 2 ปี ถึงจะยื่นเอาชื่อเข้าเพื่อทำวีซ่าได้ แล้วจะอยู่ได้ 3 เดือนสลับกลับมาทำที่ไทย 3 เดือน เขาจะแบ่งกันเป็นผลัดไปเรื่อยๆ แต่ด้วยความที่เราอยากไปเลย บวกกับญาติจดบริษัทที่โน่น เราก็ไปเลยไปอยู่ได้เดือนนึงก็ทำเรื่องขอวีซ่ายาวปีนึงเลย” 

“อยู่ที่โน่นจริงๆ 4-5 ปีเลยนะ แต่บอกก่อนว่าจริงๆ ได้เงินไม่เยอะ แต่ทำงานนี่แบบว่าหามรุ่งหามค่ำ เราเอาความสนุกเอาประสบการณ์ก็เลยไม่คิดอะไรมาก”

“หน้าที่หลักๆ ผมเป็นคนหาซื้อรถมากกว่า เพราะสกิลเราไม่ได้เริ่มมาจากเป็นช่างที่อยู่หน้าร้าน(ที่ไทย) พวกนั้นเราอาจจะสู้เขาไม่ได้ แต่เราได้เรื่องภาษาเพราะเราเรียนไว้รอแล้วตั้งแต่รู้ว่าจะได้มา ก็จะเป็นในเวย์ดูแลเรื่องการซื้อขายเป็นหลัก” 

“ทุกเช้าขับรถไปที่ Junk และไปดูว่ามีรถอะไรบ้าง เราก็จิ้มๆ กลับมาลิสต์ ส่งราคาไปเสนอให้ร้าน คันไหนราคาผ่านเราก็ไปขนรถกลับมา เช้าไปซื้อรถ บ่ายกลับมารื้อรถ หลักๆ เช้าซื้อรถ เย็นตัดรถประมาณนั้น เอาของใส่ตู้และวิ่งขนของไปขายที่เมืองอื่น ได้ทั้งเรื่องภาษา ความอดทน ได้กลายเป็นแบบยอดมนุษย์เลยก็ว่าได้ เพราะอยู่ที่โน่นต้องทำงาน แดดออก ฝนตก หิมะ ก็ต้องทำหมด” 

อะไรที่ล้ำค่าที่สุดที่ได้กลับมา ?

“ประสบการณ์ ผมเป็นคนที่แบบมองเรื่องประสบการณ์ชีวิตมาก่อนอันดับแรก มากกว่าเงิน บางทีบางอย่างเงินก็ซื้อไม่ได้“ 

ได้คุยกับแบงค์ก็ทำให้ได้ข้อคิดหลายๆ อย่าง ทั้งเรื่องการตาม Passion ของตัวเองซึ่งนำพาให้เขาได้ก้าวมาสู่จุดที่ประสบความสำเร็จ รวมถึงการมองคำว่าประสบการณ์เป็น “คุณค่ามากกว่ามูลค่า” ซึ่งเขาอาจจะเลือกทำงานออฟฟิศสบายๆ ได้เงินเดือนสูงกว่าไปทำงานที่เชียงกงญี่ปุ่นด้วยซ้ำ แต่เขาเลือกตามความชอบเพื่อเปิดรับประสบการณ์ที่หาไม่ได้ง่ายๆ และตอนนี้ประสบการณ์ที่ได้รับมาก็กำลังสร้างมูลค่าให้กับเขากลับไปได้อีกด้วยผ่านผลงาน

ติดตามและอัพเดตเรื่องราว Bank Streetmetal ได้ที่ Streetmetal Channel, Streetmatal