AT APE PRIME : เรื่องราวของความชอบ คนไม่มีเวลา และนิ้วโป้ง 

ชื่อเรื่องที่โปรยมา อาจดูเหมือนไม่ค่อยจะเข้ากันสักเท่าไหร่ แต่จริงๆ แล้วทั้งหมดคือสมการความสำเร็จที่เข้ากันอย่างไม่น่าเชื่อ ของ NFT “AT APE PRIME” หรือเจ้าลิงหน้ากวนนับร้อยตัว ของ เบียร์ – ธนกฤต แย้มสรวล ที่พวกเรา EQ ภูมิใจนำเสนอ!

รู้จัก AT APE PRIME

AT APE PRIME เป็นคอลเลคชั่นที่บอกเล่าเรื่องราวของลิง Ape ซึ่งอยู่บนดวงดาวที่แตกต่างกันไป ในปัจจุบันนี้เบียร์ปล่อยงานออกไปทั้งหมด 219 ชิ้นงานแล้ว แต่เป้าหมายสูงสุดของเฟสแรกนี้จะมี 10 Generations หรือทั้งหมด 1,000 ชิ้นเลยล่ะ 

เจ้าของผลงานเหล่านี้เล่าถึงคอนเซปต์งานคร่าวๆ ให้เราฟังว่า “พอปล่อยงานไปครบ 100 ตัวแรกที่อยู่บนดาวดวงที่หนึ่งเรียบร้อยแล้ว ผมก็ลองคิดต่อว่า ถ้าวันหนึ่งทรัพยากรบนดาวเริ่มหมด พวกเขาก็น่าจะต้องอยากเปลี่ยนดาวดวงใหม่ งานชิ้นที่ 101 – 200 ก็เลยเป็นลิงใส่ชุดอวกาศ เพื่อแสดงถึงการผจญภัยไปดาวดวงใหม่ และเริ่มมีสตอรี่มากขึ้น ส่วนงานชิ้นที่ 201 เป็นต้นไป จะเกี่ยวกับการค้นพบดาวใหม่ไปเรื่อยๆ ธีมเสื้อผ้าหรือองค์ประกอบต่างๆ ก็เปลี่ยนไปด้วย”

ความน่าสนใจคือ ส่วนใหญ่แล้วงานเกือบทุกชิ้นจะเป็นภาพนิ่ง (ยกเว้นชิ้นที่แจกฟรี) เพราะเขาตั้งใจว่าในอนาคตจะส่งภาพวาดไปให้คอลเลคเตอร์ที่อุดหนุน NFT ด้วย และกิมมิคที่เบียร์ซ่อนไว้ในคอลเลคชั่นนี้คือ Rare Item ชื่อผลงานที่ลงท้ายด้วยเลข 0 เช่น ชิ้นที่ 10 50 110 และ 160 ส่วน Super Rare Item เป็นผลงานที่ลงท้ายด้วย 00 เช่น ชิ้นที่ 100 และ 200 ซึ่งถ้าเมื่อไหร่มีโอกาสปล่อยงานครบหนึ่งพันชิ้น ก็แน่นอนว่าชิ้นที่ลงท้ายด้วย 000 ก็จะเป็นชิ้นสุดยอดของ Rare Item นั่นเอง

เส้นทางสู่การเป็น Creator

ทำความรู้จักกับผลงานกันไปแล้ว มารู้จักตัวตนของคนสร้างงานกันบ้าง ว่าทำไมเราถึงบอกว่า ‘ความชอบ’ เป็นตัวแปรแรกของสมการ AT APE PRIME

“เมื่อก่อนผมเป็นบาร์เทนเดอร์ แต่ตกงานเพราะพิษโควิด เลยมีโอกาสมาลองศึกษาการเป็นครีเอเตอร์ เพราะถึงจะไม่เคยวาดรูปขายแบบจริงจัง แต่ผมก็โตมากับงานศิลปะ ครอบครัวทำงานเกี่ยวกับศิลปะมาตลอด ทั้งแกะสลัก ทั้งวาดรูป ผมก็เลยได้ซึมซับและชอบการวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก”

คนไม่มีเวลา’ ต้นตอของเทคนิคสร้างงานไม่ซ้ำใคร 

ทำไมถึงเป็นคนไม่มีเวลาที่อยากสร้างงาน NFT และสุดท้ายคุณทำมันได้อย่างไร?  

“ตอนนี้ผมมีงานหลักเป็นพ่อบ้าน ต้องเลี้ยงลูก 2 คน วัยกำลังโตเลย ซึ่งมันคอนโทรลเวลาไม่ได้ เราต้องดูเขาเกือบทั้งวัน ไม่ค่อยมีเวลาทำอย่างอื่นหรอก แต่ก็อยากจะทำ NFT เพราะอยากให้คนที่ไม่รู้จักได้เห็นผลงานของเราบ้าง อีกอย่าง ผมมองว่าตลาดนี้คือจุดเริ่มต้นของงานศิลปะยุคใหม่ที่ไม่มีวันเสื่อมสภาพ มันทำให้ผมมีความสุขนะ เพราะเมื่อก่อนผมเคยวาดภาพลงผ้าใบ แล้วมันผุพังไปกาลตามเวลา ผมเสียดาย”

“การเป็นพ่อบ้านเนี่ย ถ้าจะมานั่งวาดรูปในไอแพดหรือโน้ตบุ๊ก คงไม่มีเวลาขนาดนั้น เพราะลูกวิ่งทั่วบ้าน เลยต้องวาดบนมือถือแทน เพื่อวาดรูปไปด้วยและวิ่งตามลูกไปด้วย ซึ่งการใช้มือถือก็มีข้อจำกัดอีกว่า ผมต้องใช้นิ้วโป้ง นิ้วเดียว ข้างเดียว ในการวาด ถึงจะสะดวกที่สุด ตอนแรกมันยากมาก ผมใช้เวลาฝึกก่อนลงสนามจริงประมาณ 1 เดือน” 

แสดงว่าเครื่องมือไม่มีผลต่อการทำงาน?

ถ้าฝึกให้คล่องมือแล้ว โทรศัพท์มือถือไม่ต้องระดับไฮเอนด์ก็วาดได้ ขอแค่มี RAM มากพอให้เครื่องไม่รวน อย่างของผม RAM อยู่ที่ 8/128 gb ครับ

Roadmap คือการทำให้มากกว่า 1,000 ชิ้น

นอกจากเทคนิคที่ไม่ซ้ำใครแล้ว AT APE PRIME ยังมีโรดแมป (Roadmap) ที่น่าสนใจอีกด้วย เพราะตรง bio ใน Paras มีการชี้แจงแบบละเอียดยิบว่าคอลเล็กชั่นนี้จะมีกี่เฟส เฟสละกี่เจเนอเรชั่น และเจเนอเรชั่นละกี่ตัว พอคิดรวมๆ ก็จะมีมากกว่า 1,000 ตัว 

“ที่โรดแมปชัดเจน ก็เพราะผมเชื่อว่าตัวเองจะสามารถทำให้คอลเลคชั่นดีขึ้นเรื่อยๆ ได้ เลยเหมือนกับว่าวางเป้าหมายไว้ก่อนว่าสักวันจะทำให้ได้ แต่คนอื่นอาจไม่ต้องมีโรดแมปละเอียดแบบผมก็ได้ แค่วางโรดแมปคร่าวๆ ให้ตัวเองมีทิศทางในการทำงาน และให้คอลเลคเตอร์เห็นความน่าสนใจของงานก็พอครับ” 

NFT ก็เหมือนเทรนด์เสื้อผ้า

แม้ว่าตอนนี้งานจะขายไปได้บางแล้ว แต่คุณก็เพิ่งเข้าสู่ตลาดคริปโตอาร์ตในช่วงที่คู่ครีเอเตอร์เยอะมาก  แถมยังเป็นช่วงที่กระแสไม่ได้ดังเปรี้ยงเหมือนปีที่ผ่านมา เรื่องพวกนี้มันบั่นทอนการทำงานหรือเปล่า?

“ไม่ครับ จริงๆ ผมแค่อยากลงขายงานเพราะชอบวาดรูป ไม่ได้ซีเรียสว่าจะต้องขายหมด และมองว่ากระแสตลาด NFT ในประเทศไทยมันก็เหมือนเทรนด์เสื้อผ้าหรือการแต่งตัว ที่จะมีช่วงดรอปบ้าง แต่เดี๋ยวก็วนกลับมาได้อีก และจะอยู่ต่อไปอีกนานครับ น่าจะนานกว่าชีวิตเราด้วย” 

“ส่วนเรื่องคู่แข่ง ผมยิ่งไม่รู้สึกว่าเป็นปัญหา เพราะคอมมูนิตี้ครีเอเตอร์ไทยดีมาก ทุกคนพร้อมแลกเปลี่ยนความรู้กัน เราถามเขา เขาถามเรา สลับกันไป ช่วยให้ต่างคนต่างพัฒนาฝีมือตัวเองไปเรื่อยๆ การได้เจอกับคนที่คุยกันรู้เรื่อง ชอบอะไรเหมือนกัน มันทำให้รู้สึกและสนุกกับงานที่ทำ ไม่ได้กังวลอะไรเลย”

ติดตามและสะสมผลงานที่สร้างจากนิ้วโป้งของคนไม่มีเวลาได้ที่ AT APE PRIME