Culture

เล่นสเก็ตฯ แบบพริ้วดี ที่ Baan Preduce 2.0 บ้านหลังใหม่ที่อบอวลไปด้วยมิตรภาพ ความฝัน บนแผ่นกระดานไม้

‘Baan Preduce’ (บ้านพรีดิ๊วซ์) อาณาจักรของคนที่ชื่นชอบและหลงรักในการเล่นสเก็ตบอร์ด ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในวงการสเก็ตฯ เพราะพวกเขาคือกลุ่มคนที่เป็นแรงผลักดันสำคัญ ที่ทำให้วงการสเก็ตบอร์ดเมืองไทยไปไกลถึงระดับโลก กับแพชชั่นบนแผ่นสเก็ตบอร์ด ที่ถูกส่งผ่านลีลาการเล่นและการทำคอนเทนต์วิดีโอตามแบบฉบับที่ไม่เหมือนใคร จนทำให้เกิด ‘Baan Preduce 2.0’ อาณาจักรแห่งใหม่ ที่เปรียบเสมือนคอมมูนิตี้ของคนรักสเก็ตบอร์ดอย่างแท้จริง

เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม ค.ศ. 2022 ที่ผ่านมา ทาง Baan Preduce ก็ได้จัดงาน grand opening ฉลองเปิดร้านสาขาใหม่ในย่านคลองเตย ทีมงาน EQ ก็ไม่พลาดที่จะแวะเข้าไปเยี่ยมชมเสียหน่อย โดยมีคุณ ‘เจน – เจนชัย มนตรีเลิศรัศมี’ director ของบ้านหลังนี้มาอาสาเป็นไกด์ พาพวกเราชมรอบๆ พร้อมพูดคุยถึงความเป็นมาของตัวร้าน การทำงานของเขากับทีม และสังคมคนสเก็ตฯ อย่างออกรสออกชาติ

จาก Baan Preduce สู่ Baan Preduce 2.0

"เราเริ่มทำแบรนด์นี้มาเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว และทำร้านสเก็ตฯ ที่สยามจนครบรอบ 16 ปี โดยเริ่มจาก ‘ไซมอน เพลโลซ์‘ (Simon Pellaux) เขามีพาร์ทเนอร์สเก็ตฯ ตอนมาเที่ยวที่เมืองไทยและเจอกับกลุ่มเด็กสเก็ตฯ อย่างพี่ ‘เก่ง จักรินทร์’ หรือ ‘เลิศ แซ่หลี’ หรือ ‘เต๋า กิจพูลลาภ’ สมัยนั้นยังใช้แผ่นสเก็ตฯ เก่าๆ เขาเลยมองว่าเด็กไทยเก่ง ฝีมือถึง แต่ไม่มีการสนับสนุนที่ดี ไซมอนก็คิดถึงโอกาสทางธุรกิจว่าเราน่าจะเปิดบริษัทสเก็ตฯ และสนับสนุนโดยตรง ซึ่งทุกคนที่ทำงานจะเป็นคนที่มีหัวคิดและเข้าใจเกี่ยวกับสเก็ตบอร์ดหมด ซึ่งสามารถทำงานได้หลายแผนก ทั้งกราฟิก วิดีโอ แผนกมีเดียและอีเวนต์ รวมทั้งฝ่ายขายที่หน้าร้าน"

“ตอนที่เราเริ่มบริษัทแรกๆ เราจะเรียกบ้านที่สาทรว่า Baan Preduce เป็นบ้านที่ไซม่อนหรือทุกคนในบริษัทอยู่ด้วยกันแบบนักสเก็ตฯ”

ความแตกต่างหรือความท้าทายในการทำงาน

"ในมุมมองของเด็กสเก็ตฯ เวลามาทำงานตรงนี้ก็จะค่อนข้างซีเรียสนิดหน่อย เพราะนักสเก็ตฯ ของเราจะมีความชิลและฟรีสไตล์มากๆ ในการทำตามตาราง แต่ในขณะเดียวกันก็ขึ้นชื่อเรื่องการผลิตคอนเทนต์วิดีโอสเก็ตฯ ความยาวประมาณ 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง โดยเราจะปล่อยทุกๆ 1-2 ปี เพื่อให้คนมาดู นอกจากนี้ก็จะมีกลุ่มแฟนคลับตัวยงที่คอยติดตามดู ซึ่งฐานแฟนคลับของเราไม่ได้อยู่แค่ในเมืองไทย แต่ยังไปไกลถึงเอเชียและเกือบทั่วโลกเลยก็ว่าได้ ยกตัวอย่างเช่น พี่เติ้ล กราฟิกของเราได้ใส่เสื้อของ Baan Preduce ตอนบินไปทำงานที่ประเทศบราซิล เด็กสเก็ตฯ ที่นั่นก็เห็นและรู้จักทีมเรา ก็เลยรู้สึกตื่นเต้นและดีใจ ที่ญี่ปุ่นเองก็มีกลุ่มแฟนคลับใหญ่ของเราด้วยครับ"

“Preduce มาจาก ‘พริ้วดี’ มันคือ สไตล์การเล่นสเก็ตฯ ซึ่งสไตล์นั้นมีผลมาก เพราะถึงแม้จะเล่นท่าเดียวกัน สไตล์ก็ทำให้ความแตกต่างเกิดขึ้นมา สไตล์ของ Preduce จึงเป็นพริ้วดี แล้ววิดีโอม้วนแรกที่ทำออกมาเมื่อประมาณ ปี ค.ศ. 2002 ชื่อ Smooth คือ ความพริ้ว ความลื่นไหล” 

ที่มาของร้าน Baan Preduce

"มาจากบ้านที่สาทรที่เราอยู่ตอนแรกๆ ซึ่งเป็นบ้านที่ใช้อยู่อาศัยจริงๆ พอขยายสาขามาที่นี่ก็เป็น Baan Preduce 2.0 ซึ่งบางครั้งก็โดนเข้าใจผิดว่าเป็นโฮสเทลหรือโรงแรม แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เหตุผลที่เราตั้งร้านที่นี่เพราะอยากให้คนมาใช้บริการ ซึ่งไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้า มีร้านขายของสเก็ตฯ มีคาเฟ่ เบเกอรี่ บาร์ แล้วก็จะมีโรงเรียนสอนสเก็ตฯ ซึ่งอยากให้คนที่มาที่นี่รู้สึกเหมือนมาบ้านเพื่อน มาเจอหน้าพวกเราแล้วก็มาแฮงเอ้าท์ เล่นสเก็ตฯ กัน บางวันก็ทำบาร์บีคิวกินกันข้างล่างตอนเลิกงาน ซึ่งพอเลิกงาน เด็กในออฟฟิศเราก็ลงไปเล่นสเก็ตฯ กันข้างล่าง"

“เราอยู่ด้วยกัน 10 กว่าคน มีห้องแยก ทำคอนเทนต์ และผลิตผลงานวิดีโอที่ Preduce มีจนถึงทุกวันนี้ พอมาถึงที่นี่เราก็อยากเรียกว่า ‘Preduce to point no2.0’ หรือก็คือ ‘พรีดิวซ์เวอร์ชั่นใหม่’ เป็นเวอร์ชั่นอัปเกรดที่มีลานและร้านสเก็ตฯ อยู่ที่เดียวกับออฟฟิศ”

จุดเปลี่ยนที่ทำให้ย้ายมาที่นี่

"เรามีแผนจะขยายบริษัทและเพิ่มจำนวนพนักงานให้มากขึ้น น่าจะมาจากช่วง 1-2 ปีที่แล้ว ที่สเก็ตบอร์ดและเซิร์ฟสเก็ตฯ เป็นกระแสค่อนข้างบูม ทำให้การขายและรายได้ของเราดีขึ้นเยอะ เราเลยมองเห็นโอกาสว่า มันอาจจะถึงเวลาแล้วที่จะขยายและหาพื้นที่จริงจัง ซึ่งเราหามาหลายเดือน เพราะอยากได้ skatepark ที่อยู่ในเมืองและเดินทางง่าย ซึ่งข้อเสียของ skatepark ในเมืองไทยคือไม่ค่อยมีลานแบบในร่ม ทั้งที่ฝนตกบ่อยมาก ทำให้ไม่มีที่เล่นในช่วงเย็น เราเลยหาที่ที่สามารถเล่นสเก็ตฯ ได้ทั้งตอนกลางวันและกลางคืน ที่สำคัญคืออยู่ในร่ม ฝนตกหนักขนาดไหนก็ยังเล่นได้อยู่ ก็เลยย้ายมาที่นี่ จากที่ไปดูมาประมาณ 2-3 แห่งแต่ยังไม่รู้สึกว่าใช่ พอเราเดินมาตรงนี้ ทั้งพาร์ทเนอร์ หุ้นส่วน และผู้กำกับก็มองหน้ากัน ทุกคนคิดว่า “ที่นี่แหละ มันใช่” เพราะเราเห็นภาพเหมือนกัน ซึ่งตอนแรก บริเวณชั้นลอยที่ลูกค้าสามารถนั่งดูสเก็ตฯ จะไม่มีหลังคา โกดังก็มีแค่เสาคั่นอยู่ตรงกลาง เราจึงต้องออกแบบใหม่เพื่อให้มันค้ำหลังคา"

คอนเซ็ปต์และความตั้งใจ

"เราตั้งใจทำตรงนี้ให้เป็นคอมมูนิตี้เลยครับ และอยากจะทำอะไรที่คืนสู่สังคม เราอยากทำสถานที่เล่นให้กับเด็กสเก็ตฯ เพราะแถวทองหล่อ พระโขนง คลองตัน เอกมัย จะมีที่เล่นยิบย่อย เพราะบ้านพวกเราก็อยู่โซนนี้กัน และเห็นโอกาสด้วยว่านี่อาจเป็นความฝันของเด็กสเก็ตฯ ทุกคน ที่อยากมี skatepark เป็นของตัวเอง พอมีโอกาสและรายได้ที่มากพอ เราก็รวมตัวกันมาทำ ซึ่งเรามีทีมสเก็ตฯ อันดับต้นๆ ของประเทศไทยที่ช่วยซัพพอร์ตกันให้ขึ้นมาถึงจุดนี้ได้"

ส่วนที่ชอบเกี่ยวกับ Preduce

"ผมชอบคาแรคเตอร์ของแต่ละคนในทีม เพราะทีมสเก็ตฯ เป็นส่วนสำคัญของบริษัทเรา คล้ายๆ กับทีมฟุตบอลหรือบาสเก็ตบอลที่แต่ละคนจะมีคาแรคเตอร์เป็นของตัวเอง มีทั้งจุดขาย สไตล์ และฝีมือ เวลาที่เราปล่อยวิดีโอออกมาในทุกๆ ปี เด็กๆ ก็จะมีแฟนคลับ"

“ประทับใจที่ทุกคนมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน กระตือรือร้น และอยากจะได้ท่าเล่น ถึงแม้คนหนึ่งจะยังเล่นไม่ลง คนที่เหลือก็จะนั่งรอเป็นชั่วโมงๆ บางวันเล่นทั้งวัน 8-9 ชั่วโมงก็ต้องเล่นกันจนกว่าจะทำได้ เราจะถ่ายจนกว่าจะเพอร์เฟกต์ 100% จนกว่าคนเล่นสเก็ตฯ ตากล้อง และผู้กำกับจะโอเค” 

โมเมนต์ดีๆ ที่ประทับใจ 

"มีเยอะมากครับ อย่างตอนออกไปถ่ายคอนเทนต์วิดีโอ เราจะตั้งงบไว้ แล้วก็จะเดินทางไปต่างประเทศเป็นเดือน ส่วนใหญ่จะไปประเทศจีน ไต้หวัน หรือญี่ปุ่น แต่ไปจีนบ่อยมาก เห็นได้จากคอนเทนต์วีดิโอที่เราทำ national resources วัตถุดิบของเขา พื้นกระเบื้องต่างๆ ก็เรียบหมด เราชอบขอบหินอ่อนของจีน เพราะเวลาสไลด์มันดี ซึ่งที่จีนมีครบหมด เราเลยคิดว่าที่นั่นทำคอนเทนต์ออกมาได้ดี ไถไปที่ไหนก็เล่นได้หมด เราจะไปเฉิงตู เซินเจิ้น ปักกิ่ง ซึ่งทำทริปและใช้เวลาถ่ายเป็นเดือน พวกเราเช่าอพาร์ตเมนต์อยู่กันแบบบ้าน Preduce เลย ตื่นเช้าออกไปเล่นสเก็ตฯ พอเสร็จก็กลับมาพักผ่อน แฮงเอ้าท์ ซึ่งการถ่ายของเราไม่มีตารางออกกอง เพราะทุกคนมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ ได้คลิปและทำคอนเทนต์ออกมา เพราะฉะนั้น บางทริปเจอฝนทั้งวัน เราก็ปรับตารางเปลี่ยนไปเล่นตอนกลางคืนแทน เล่นกันยันเช้าแล้วกลับไปนอนพักผ่อน"

ภาพของคอมมูฯ สเก็ตบอร์ดในเมืองไทย ณ ตอนนี้

"เขาเปิดกว้างขึ้นเยอะครับ จากประสบการณ์ที่เล่นมา 22 ปี ผมเห็นว่ากระแสมันมีขึ้น-ลง ทั้งบวกและลบ สมัยก่อนคนจะมองว่านักสเก็ตฯ คือเด็กสตรีท เลอะเทอะ ชอบพ่นกราฟิตี้ ฟังเพลงฮิปฮอป แต่สมัยนี้แทบจะคนละเรื่องเลย หลายคนดูแลสุขภาพกันดีมาก เพราะกีฬานี้ถูกบบรรจุในโอลิมปิกและเอเชียนเกมส์แล้ว ประเทศไทยก็มีการสนับสนุนในทิศทางที่ดี ผมเห็นบางโรงเรียนตามต่างจังหวัดหรือกรุงเทพฯ เริ่มสอนสเก็ตบอร์ดในวิชาพละ และบรรจุมันในการแข่งกีฬาประจำจังหวัด เพราะฉะนั้น เด็กสเก็ตฯ ที่อยู่ตามต่างจังหวัดก็เล่นได้ เขามีนักกีฬาตัวแทนที่สร้างผลงานและชื่อเสียงให้กับจังหวัดของตัวเองได้ ประเทศไทยเองก็มีการดึงมาแข่งขันประจำปี มีส่งไปแข่งที่ต่างประเทศด้วย ซึ่งสเก็ตฯ จะแบ่งเป็น 2 สาย คือ สายแข่งกับสายทำคอนเทนต์ ซึ่ง Preduce จะเป็นสายทำคอนเทนต์วิดีโอ"

สาเหตุที่ทำให้วงการสเก็ตบอร์ดโด่งดังในไทย

"มีหลายเหตุผล กระแสสเก็ตบอร์ดบูมมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อาจจะเป็นเพราะช่วงโควิดด้วย คนที่ว่างก็เลยอยากหากิจกรรม อยากออกกำลังกาย หาอะไรเล่นที่บ้าน สื่อเองก็มีผลมากครับ ก่อนช่วงโควิด เราได้ทำงานร่วมกับ GDH ที่ทำซีรีส์เกี่ยวกับสเก็ตฯ ขึ้นมา ชื่อ ‘Project S The Series : SOS skate ซึม ซ่า’ ซึ่งผมกับพี่เก่งที่อยู่ในทีมเป็นฝ่ายแนะนำและให้คำปรึกษา ว่าจะเขียนบทยังไงให้ออกมาสมจริง เด็กสเก็ตฯ ดูแล้วเข้าใจ ซีรีส์นั้นจะมีเรื่องเรื่องโรคซึมเศร้ากับการเล่นสเก็ตฯ และมันมีจริงในกลุ่มเด็กสเก็ตฯ ที่หลายคนเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งเขาก็ฮีลตัวเองได้เพราะเล่นสเก็ตฯ และเข้าสังคม ทำให้เจอโลกใหม่ มันก็ช่วยได้เยอะ สื่อจึงมีผลสูง ดาราเองก็ด้วย อย่าง ‘มาริโอ้ เมาเร่อ’ ที่เล่นสเก็ตฯ กับพวกเรามาตั้งแต่เด็ก เขาก็ช่วยกันดัน ช่วยกันแนะนำ"

ตัวจริงก็คือตัวจริง สเก็ตบอร์ดไม่มีวันตาย 

"แม้คนภายนอกจะมองว่ากระแสมันลดลง เราก็อยู่มานานพอที่จะรู้ว่า ถ้าเป็นตัวจริง ยังไงมันก็อยู่ได้ ซึ่งเราใหญ่พอและเป็นตัวจริง เราวางแผนดี ร่วมมือกับแบรนด์ที่ดี ปีนี้เนื่องในโอกาสที่ครบรอบ 20 ปี ก็จะคอลแลบฯ กับแบรนด์สเก็ตฯ ดังๆ ที่น่าเชื่อถือ อย่าง Girl Skateboard, G-Shock, Marshall, VANS ซึ่งเมื่อ 2 ปีที่แล้วเราเคยคอลแลบฯ กับ New Balance ที่ปล่อยรองเท้าออกมา 2 รุ่น เป็นของ Preduce ทั้งหมด ออกมาเป็น ‘หมอนขิด’ ภูมิปัญญาท้องถิ่นไทยอีสานที่มีมาแต่โบราณ เป็นเวอร์ชั่นลิมิเต็ดที่ขายเฉพาะในเอเชีย และเป็นแบรนด์แรกในเอเชียที่ทำด้วย ซึ่งในอนาคตก็จะทำร่วมกับแบรนด์อื่นอีกเรื่อยๆ"

Photo credit: Hypebeast

กระแสสเก็ตบอร์ดที่เปลี่ยนแปลง จากวันแรกที่เริ่มเปิดตัว 

"กระแสดีขึ้นจากจำนวนคนที่เล่นสเก็ตบอร์ดกันเยอะ เพราะสื่อมีผลมาก เทียบกับเมื่อก่อนที่ไม่มีสื่อจากต่างประเทศ ไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่มีโซเชียลมีเดีย เพราะฉะนั้นก็ต้องดูจากวิดีโอสเก็ตฯ ม้วนเดียว ที่ส่งต่อและก๊อบปี้กันมาจากเพื่อนๆ นั่งดูกันเป็นปี ซึ่งวิดีโอสมัยก่อนนั้นกว่าจะผ่านจากต่างประเทศมาถึงมือเราก็ใช้เวลานาน เมื่อก่อนผมต้องดูจากแม็กกาซีนว่าเขากระโดดยังไง เพราะไม่มีสื่อใหม่ให้ดู แต่เด็กสมัยนี้เก่งเร็ว พัฒนาเร็ว เพราะเขามีสื่อต่างประเทศ มีคอนเทนต์ใหม่ๆ ที่ดูได้จากมือถือ"

การประสบความสำเร็จของ Baan Preduce 

"ผมว่าเราประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งครับ แต่ในมุมมองของ Preduce เราคิดว่ามันไม่เคยพอ เพราะทันทีที่เราคิดว่าตัวเองอยู่บนจุดสูงสุด เราก็จะเริ่มพัฒนา แต่ต้องพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ ยังมีขั้นบันไดอีกเยอะที่เราไต่ขึ้นไปได้ เรายังมีความฝันของทีม ซึ่งหนึ่งในความฝันของทีมคือ skatepark ที่มีทุกอย่างในโซนนี้ และเราจะมีโปรเจกต์อื่นๆ ที่ใหญ่กว่านี้ อาจจะทำสาขาสอง เป็น Baan Preduce 2 หรือ 3 ก็เป็นไปได้"

สเก็ตบอร์ดกับวัฒนธรรมไทย 

"เด็กสเก็ตฯ ไทยเรามีมารยาท ขัดกับต่างประเทศที่การแข่งขันสูงจริงๆ เขาจะมีความแย่งชิง ใครได้ก็เอาก่อนเลย ฉวยโอกาส ตัดหน้าเวลาแข่งกัน มีการสู้ แต่เด็กไทยทุกคนมีความเกรงใจ มีความเป็นวัฒนธรรมไทยอยู่ เวลาฝรั่งมาเล่นที่เมืองไทย เขาก็จะตกใจว่าทำไมคนไทยไนซ์จังเลย พอเด็กไทยเอามารยาทตรงนี้เขามาในวงการสเก็ตฯ ข้อดีพวกนี้ก็ยังช่วยกันอยู่"

คำแนะนำสำหรับนักสเก็ตฯ มือใหม่

"น้องๆ หรือผู้ใหญ่ที่มาเริ่มใหม่ ส่วนใหญ่จะกลัวและเขินที่เข้ามาในวงการเด็กสเก็ตฯ แต่จริงๆ แล้วพวกเราเป็นมิตรมาก ทุกคนคุยดี นิสัยดีด้วย แค่อาจจะดูดุดันตอนเล่น คำแนะนำคือ ลองเลย เข้ามาเล่น มาลองซื้ออุปกรณ์ เรามีพนักงานที่ช่วยแนะนำได้ ซึ่งไม่จำเป็นว่าต้องเป็นร้าน Preduce ด้วย ซื้อที่ร้านไหนก็ได้ในประเทศไทย เพราะส่วนใหญ่จะบริการดีเหมือนกันหมด พวกเขาพร้อมที่จะสอนและถ่ายทอดความรู้ให้คนรุ่นใหม่ไปเล่นกันต่อ ถ้านับวัยของคนที่มาเล่นสเก็ตฯ จริงๆ ก็มีตั้งแต่ 3 ขวบ จนถึง 50-60 ปี บางคนมาซื้อสเก็ตบอร์ดแล้วฝึกเล่นตอนแก่ ไม่ว่าจะตัวเล็ก ผอม หรืออ้วนมากๆ ก็เล่นได้หมด ซึ่งหลายคนที่เล่นแล้วได้รับการบาดเจ็บ นั่นก็เพราะไม่ได้ถูกสอนทักษะการใช้และเล่นสเก็ตฯ จริงๆ รวมทั้งทักษะการล้ม เพราะหลายคนชอบเอามือค้ำเวลาล้ม มือก็หักกันหมด ทั้งที่ต้องเก็บคองอเข่าเวลาล้ม ซึ่งเป็นสูตรง่ายๆ ที่เวลาล้มก็ต้องกลิ้ง แทนที่จะไปฝื