Culture

‘บ้านบูรณ์’ ไม้กวาดข้าวฟ่างฝีมือเกษตรกรท้องถิ่น สวย แข็งแรง คุณภาพระดับส่งออก

Photo credit: Woot Woot Store

เมื่อพูดถึงไม้กวาด สิ่งที่คนไทยอย่างเรามักจะนึกถึงคือไม้กวาดดอกหญ้าที่อ่อนนุ่ม หรือไม้กวาดไม้ไผ่ที่แข็งพอจะกวาดเศษใบไม้ น้อยคนจะรู้ว่าประเทศไทยเองก็มีของดีอย่าง ‘ไม้กวาดข้าวฟ่าง’ ของแบรนด์ ‘บ้านบูรณ์’ ที่ปลูกโดยเกษตรกรท้องถิ่น พัฒนาจนได้มาตรฐาน และส่งออกสู่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยขั้นตอนการผลิตทั้งหมดต้องผ่านสายตาของ ‘ตูน – บูรณิตา วิวัฒนานุกุล’ ผู้ที่เข้ามาสานต่อกิจการอายุ 35 ปีของครอบครัว และทำให้ไม้กวาดข้าวฟ่างเข้าถึงง่าย ถูกใจคนรุ่นใหม่ แถมยังได้มาตรฐานทุกด้าม

ถือว่าไม่บ่อยนักที่เราจะได้เห็นธุรกิจแบบนี้เติบโตระดับอินเตอร์ แถมยังสนับสนุนชุมชนการเกษตรให้ได้มีอาชีพยั่งยืน เพราะอย่างนั้นแล้ว EQ จึงได้ต่อสายตรงหาคุณตูนที่เพิ่งกลับจากการดูงานในประเทศญี่ปุ่น และพูดคุยกันถึงไม้กวาดบ้านบูรณ์ ซึ่งกว่าจะมีวันนี้ก็ผ่านอะไรมามากมายเหมือนกัน

ไม้กวาดข้าวฟ่างที่ถูกทำขึ้นในจังหวะที่ใช่

คุณตูนเล่าให้ฟังว่า จุดเริ่มต้นนั้นมาจากการที่บริษัทรับจ้างผลิตสินค้า ‘สมบูรณ์ผล คราฟท์’ ของคุณพ่อ ‘สมบูรณ์ วิวัฒนานุกุล’ ได้รับโอกาสจากลูกค้าชาวไต้หวันจ้างวานให้ส่งออกข้าวฟ่างสำหรับทำไม้กวาด และต่อมาก็เรียนรู้งานด้านการทำไม้กวาดจากลูกค้าทั้งคนไต้หวันและญี่ปุ่น จนได้พัฒนามาเป็นผู้ผลิตไม้กวาดข้าวฟ่างเกรดส่งออก ซึ่งเดิมที สมบูรณ์ผล คราฟท์ก็เป็นธุรกิจครอบครัว โดยช่วยกันลงมือทำคนละส่วน คุณแม่ ‘เมตตา วิวัฒนานุกุล’ ที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยช่วยเรื่องการติดต่อลูกค้าต่างชาติ ปัจจุบันน้องชาย ‘บูรณ์เมตต์ วิวัฒนานุกุล’ ก็เข้ามาช่วยในส่วนนี้ด้วย ส่วนน้องสาว ‘บูรณา วิวัฒนานุกุล’ กำลังช่วยคุณพ่อดูแลแบรนด์ ‘Boon’s Hobby’ ที่ผลิตเก้าอี้ไม้ และตัวคุณตูนเองที่รับช่วงต่อของกิจการ รวมถึงสร้างแบรนด์บ้านบูรณ์ขึ้นมา

(จากซ้ายไปขวา: บูรณิตา - เมตตา - บูรณา - สมบูรณ์ - บูรณ์เมตต์ วิวัฒนานุกุล)

(ผลงานเก้าอี้ไม้ของคุณพ่อสมบูรณ์ จัดแสดงที่ Kalm Village เชียงใหม่)

“ช่วง 35 ปีที่ผ่านมา บริษัทของคุณพ่อรับจ้างผลิตสินค้าให้ผู้ซื้อมาตลอดเลยค่ะ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าต่างชาติ ตอนช่วงก่อนโควิดสักหนึ่งปี ตูนก็มาช่วยคุณพ่อสืบทอดกิจการ และได้มีโอกาสสร้างแบรนด์เป็นของตัวเองค่ะ บริบทตลาดในประเทศไทยเป็นอะไรที่คุณพ่ออยากทำอยู่แล้วด้วย พอตูนกลับมาจากต่างประเทศก็เลยได้เริ่มทำกันแบบจริงจัง มันเหมือนกึ่งๆ ได้มาสานต่อแพลนของเขาที่ก่อนหน้านี้ไม่มีคนคอยช่วย ถือว่าพวกเราได้เริ่มต้นมันขึ้นในจังหวะที่ใช่ จนเกิดเป็นแบรนด์บ้านบูรณ์ ทำมาเรื่อยๆ ก็เข้าปีที่ 3 แล้วค่ะ เวลาผ่านไปไวเหมือนกัน”

Photo credit: Woot Woot Store

“เริ่มแรกก็เอาดีไซน์ไม้กวาดกับแปรงที่มีอยู่แล้วมาปรับให้เป็นรูปแบบของเรา เพราะเท่าที่คุณพ่อเคยทำมาก็มีประมาณพันแบบได้แล้ว ตูนเอาตรงนี้มาหยิบจับในฐานะที่เป็นคนรุ่นใหม่ ทำให้มันดูเข้ากับยุคสมัยมากขึ้น เพราะตูนอยากจะลบภาพเดิมของไม้กวาดที่มักจะถูกมองว่าเหมาะสำหรับกลุ่มแม่บ้านหรือผู้หญิง และอยากให้มันเข้าถึงคนทุกเพศทุกวัย ก็เลยพยายามดึงภาพใหม่ๆ ที่คนไม่เคยเห็นเกี่ยวกับไม้กวาดขึ้นมาค่ะ อย่างการทำไม้กวาดหลากหลายรูปแบบ หลากหลายคู่สี จะสีสันจัดจ้านหรือละมุนๆ เท่ๆ ก็มี คนทุกบุคลิกจะได้สนุกกับการเลือกซื้อไปด้วย จากแต่ก่อนที่เราช่วยงานหลังบ้านและไม่เคยได้รู้ว่ากลุ่มผู้ซื้อคือใคร พอมาทำแบรนด์ตรงนี้แล้วก็ทำให้เข้าใจลูกค้ามากขึ้น ด้วยการได้มีปฏิสัมพันธ์แล้วก็รับรู้ถึงความต้องการของเขาค่ะ โดยเฉพาะกับลูกค้าชาวไทยที่ยังค่อนข้างใหม่ จากที่ก่อนหน้านี้ส่งออกไปต่างประเทศตลอด ตอนนี้ก็เก็บข้อมูลอยู่เรื่อยๆ ว่าคนในบ้านเราต้องการอะไรมากที่สุดค่ะ ดูต่อไปว่ามันจะไปไหนทิศทางไหน”

Photo credit: Woot Woot Store

กว่าจะออกมาเป็นไม้กวาดแต่ละด้าม

สิ่งหนึ่งที่นักเขียนได้เรียนรู้จากการพุดคุยกับคุณตูนครั้งนี้คือ การทำไม้กวาดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องคำนึงถึงหลายสิ่งหลายอย่าง ตั้งแต่การปลูกข้าวฟ่างที่ต้องอาศัยการดูแลเป็นอย่างมาก ไปจนถึงขั้นตอนการผลิตที่มีความประณีต ด้วยความตั้งมั่นว่าจะไม่ทำให้มาตรฐานตกแม้แต่นิดเดียว

“ไม้กวาดของเราจะใช้ข้าวฟ่างที่มาจากภาคเหนือตอนล่างกับภาคกลางตอนบน ซึ่งวัสดุที่นำมาทำไม้กวาดในไทยส่วนใหญ่จะเป็นดอกหญ้าที่หาได้ง่ายและมีอยู่เยอะ เอามาใช้ได้ง่าย ในขณะเดียวกัน ข้าวฟ่างที่ใช้ทำไม้กวาดของแบรนด์เราเป็นสายพันธุ์ Broom Corn จากญี่ปุ่น มันก็เลยต้องมีการดูแลรักษาที่ค่อนข้างละเอียด เช่น ต้องให้ปุ๋ย คอยดูสภาพอากาศ แล้วก็ต้องปลูกเป็นฤดูกาลไป ไม่สามารถปลูกได้ตลอดปี อย่างปีนี้ก็ขาดแคลนหญ้าเพราะน้ำท่วม บวกกับสถานการณ์สงครามที่ส่งผลต่อราคาปุ๋ย ทำให้ไม่สามารถผลิตรุ่น ‘Tamarino’ ที่ตัวด้ามเป็นไม้มะขามและขายดีได้ หลายคนอาจจะงงว่าทำไมถึงไม่ได้ ในเมื่อมีข้าวฟ่างอยู่ ต้องขออธิบายว่าไม้กวาดของเราแต่ละรุ่นใช้ข้าวฟ่างที่มีเกรดกับขนาดต่างกันค่ะ จำนวนสินค้าก็เลยต้องขึ้นอยู่กับผลผลิต การควบคุมคุณภาพก็เป็นเรื่องยาก งานแฮนด์เมดไม่ใช่สิ่งที่จะควบคุมให้มีความเป๊ะเท่ากันหมดได้ทุกชิ้นอยู่แล้ว แต่ไม่อยากให้ตรงนี้เป็นข้ออ้าง ตูนก็เลยจะคอยควบคุมคุณภาพของไม้กวาดแต่ละด้ามอยู่ตลอด เพื่อให้มันคงมาตรฐานที่ดีเอาไว้ พร้อมขายทั้งในและนอกประเทศ”

(Tamarino) Photo credit: Woot Woot Store

“แต่ข้อดีของข้าวฟ่างพันธุ์สำหรับทำไม้กวาดคือส่วนพู่ที่เอามาทำไม้กวาดจะเยอะกว่าเมล็ด มันให้เส้นใยที่เหนียวและคงทน เวลาใช้กวาดก็จะสามารถดีดเศษเล็กๆ ตรงร่องพื้นออกมาได้ อย่างที่ประเทศญี่ปุ่นใช้แปรงหรือไม้กวาดข้าวฟ่างในการทำความสะอาดเสื่อทาทามิ ส่วนประเทศฝั่งตะวันตกจะใช้มันในการกวาดใบไม้ตรงเฉลียงบ้าน เพราะลักษณะของข้าวฟ่างจะช่วยกวาดพวกเศษดิน ทราย หรือเศษใบไม้แห้งออกไปได้ดีค่ะ”

บ้านบูรณ์ เพิ่มพูนอาชีพให้กับชุมชนท้องถิ่น

“ข้าวฟ่างของเราปลูกโดยฝีมือเกษตรกรชาวไทยทั้งหมด ซึ่งมันก็เป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจทางเลือกที่เราสนับสนุนให้พี่ๆ ในชุมชนปลูกเป็นหลัก จะได้มีอาชีพเสริมนอกจากการปลูกข้าวโพดกับมันสำปะหลังสลับกันไปค่ะ หรืออย่างช่างฝีมือบางคนที่ปลูกลำไยซึ่งราคาไม่นิ่ง พอมาทำงานกับเราก็จะมีอีกแหล่งรายได้ ลูกหลานของเขาก็มาช่วยกันทำเพิ่ม เด็กรุ่นใหม่เริ่มเห็นคุณค่าของการทำไม้กวาดมากขึ้นในยุคนี้ที่งานหายาก”

“ตูนอยากให้อาชีพการเกษตรมีความมั่นคงสำหรับคนในชุมชน ทุกวันนี้ก็พยายามบอกพี่ๆ ที่ทำงานด้วยกันตลอดว่างานของเขาเป็นงานฝีมือ ไม่ใช่แค่การใช้แรงงาน และไม่ใช่ว่าใครก็สามารถทำได้ เพราะงานพวกนี้ต้องอาศัยความสามารถและประสบการณ์จริงๆ ค่ะ ที่สำคัญคือต้องมีความอดทนด้วย บางคนอาจจะมองว่าตัวเองเป็นคนใช้แรงงาน แต่ตูนมองว่าพวกเขาเป็นช่างฝีมือที่เป็นที่ต้องการมากกว่า อยากให้เขาภูมิใจเวลาที่ผลงานได้ไปเปิดตัวหรือออกรายการที่ไหน แล้วก็อยากให้รู้กันด้วยว่างานของเขากำลังได้รับการสนับสนุนและมีคนชื่นชมมันอยู่”

กว่าจะมาถึงจุดนี้ก็มีความยากลำบากอยู่เหมือนกัน

“ช่วงที่เข้ามาทำธุรกิจนี้ใหม่ๆ ตูนก็ไฟแรง เข้าไปดูงานตลอดทั้งปีแรกเลยค่ะ ซึ่งมันค่อนข้างต่างจากสภาพแวดล้อมเดิมที่คนเมืองอย่างเราคุ้นเคย เมื่อก่อนตูนเคยทำงานกับองค์กรใหญ่ๆ ที่มีความเป็นระบบ แต่พอมาทำงานกับชุมชนท้องถิ่นก็ต้องมีการปรับตัว แล้วก็เอนเข้าหาซะเป็นส่วนมาก ด้วยความที่พวกเขามีไลฟ์สไตล์และเทศกาลต่างๆ อย่างงานบุญ งานมงคลในหมู่บ้าน เราก็ต้องเข้าใจในวิถีชุมชน แล้วก็บาลานซ์ตรงนี้เข้ากับความต้องการของลูกค้า อีกอย่างคือทุกคนชินกับรูปแบบการทำงานที่มีมานานแล้ว ซึ่งโมเดลการทำงานของเราแต่ก่อนก็อาจจะไม่เวิร์ค ตูนก็เลยต้องนึกถึงความเป็นไปได้ให้มากๆ เช่น การใช้คอมพิวเตอร์ เราจะคาดหวังให้เขามาใช้โปรแกรมคล่องๆ ไม่ได้ ตูนก็เลยคิดหาวิธีที่จะทำให้เขาทำงานเป็นระบบกันมากขึ้นแบบเท่าที่ไหว และสามารถทำได้เรื่อยๆ อย่างการขอให้จดในกระดาษไปก่อน“

นอกจากนี้ คุณตูนก็ยังแชร์ประสบการณ์ในช่วงแรกที่วุ่นอยู่กับการเฝ้าดูงานว่า แม้จะมีแพชชั่นและสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง เมื่อไม่ค่อยได้มีเวลาพักผ่อนหรือใช้เวลากับตัวเอง ความเครียดก็ก่อตัวขึ้น และพอถึงจุดที่ทำงานมากเกินกว่าร่างกายจะรับไหว เธอก็ต้องเผชิญกับโรคปอดอักเสบก่อนจะเข้าช่วงโควิดเสียอีก ถึงอย่างนั้นคุณตูนก็หัวเราะให้กับความหลังดังว่า เพราะในวันนี้ เธอได้พบกับจุดที่รู้สึกว่าลงตัวแล้ว

“พอมีช่วงสถานการณ์โควิดเข้ามาก็ต้องเลือกอาศัยอยู่สักที่ใดที่หนึ่ง ตูนก็เลยกลับมากรุงเทพฯ และเป็นจุดที่ทำให้เริ่มฝึกบริหารงานผ่านช่องทางออนไลน์ พี่ๆ ทีมผลิตเขาไม่ใช้คอมพิวเตอร์ ก็เลยติดต่อกันผ่านไลน์เป็นส่วนใหญ่ค่ะ พอผ่านช่วงปีที่เดินทางไปมาลำบากได้ กลายเป็นว่าเราได้สร้างระบบใหม่ในการจัดการและกระจายงาน เหมือนได้เจอจุดบาลานซ์ที่เราสามารถผ่อนคลายได้บ้าง จากช่วงแรกที่ต้องไปดูงานตลอด ปีนี้ก็สลับไปดูเดือนเว้นเดือนแทน ไม่ได้อยู่เฝ้าเป็นประจำแล้วค่ะ มันเปิดไอเดียให้เราว่าต่อให้อยู่ที่อื่นก็ทำงานได้ ถึงอย่างนั้นตูนก็ยังไม่หยุดเรียนรู้แล้วก็พัฒนาตัวเองในสายงานนี้ ต้องพร้อมตั้งรับและแก้ปัญหาที่เข้ามาอยู่เสมอค่ะ”

Photo credit: Woot Woot Store

ดีไซน์ของแต่ละรุ่นที่ต้อง “สวย มีเอกลักษณ์ และใช้งานได้จริง”

“พื้นฐานของดีไซน์มาจากสิ่งที่พอจะมีอยู่แล้ว หรือก็คือตัวหลักที่เรารู้ว่าตัวไหนเน้น function อะไร อย่างไรบ้าง และส่วนตัวตูนรู้สึกสนุกกับการเล่นสีค่ะ ส่วนตัวอยากเล่นสีที่คนส่วนใหญ่ไม่คิดว่ามันจะมาอยู่บนไม้กวาด และเอามาทำให้มันดูทันสมัยมากขึ้น อย่างล่าสุดที่ออกคอลเลคชั่น ‘SpookyBooky’ ทำร่วมกับทางร้าน Late Night Dance Club ต้อนรับฮาโลวีน ในส่วนของการดีไซน์ยังมีอะไรให้เล่นอีกเยอะ แต่ก็พอจะมีข้อจำกัดอยู่บ้างเหมือนกัน เพราะไม้กวาดบางทรงอาจจะสวย แต่ใช้งานลำบาก เราพยายามคิดดีไซน์โดยไม่ลืมข้อสำคัญตรงนี้ คือต้องสวย มีเอกลักษณ์ และใช้งานได้จริง ทุกวันนี้ก็เลยทำออกมาหลายๆ รุ่นให้เหมาะกับการใช้งานและความถนัดของแต่ละคน บางคนชอบไม้กวาดเบาๆ ไว้ถือมือเดียว หรือบางคนอาจจะรู้สึกว่าแบบที่หนักๆ เข้ามือกว่า เราก็มีหลากหลายรูปแบบให้เลือกค่ะ ลูกค้าจะได้ถูกใจและใช้มันไปนานๆ”

(SpookyBooky) Photo credit: Late Night Dance Club

“ไม้กวาดที่ตูนชอบดีไซน์ของมันมากที่สุดก็คงจะเป็น ‘Tamarino’ นี่ล่ะค่ะ เพราะอย่างที่บอกไปว่าตัวด้ามเป็นไม้มะขาม และหญ้าจะเป็นสีเบจ หน้ากว้างๆ หน่อย มันสามารถใช้งานได้จริงแล้วก็ตกแต่งบ้านสวยด้วยค่ะ ส่วนแปรง ตูนชอบรุ่น ‘Trifle’ ที่ส่วนของหญ้าจะมีสามสี มีลักษณะในการมัดที่มีความเป็นสมบูรณ์ คราฟท์และบ้านบูรณ์มากๆ เพราะมันโชว์สกิลของคนทำตั้งแต่การย้อมสี ดีไซน์ และเทคนิคในการถักด้ามให้ดูประณีต ด้วยความที่มันทำยาก ก็เลยสื่อให้เห็นชัดถึงประสบการณ์ของคนทำที่สั่งสมมาหลายปีค่ะ แต่ถ้าถามถึงรุ่นที่ขายดีที่สุด ก็คงจะเป็นพวกไม้กวาดที่มีด้ามไม้ไผ่ ตูนทำทั้งแบบที่ยาว 92 ซม. กับ 133 ซม. ลูกค้าที่ผลิตส่งออกจะชอบอันที่สั้นกว่า แต่ลูกค้าคนไทยชอบแบบด้ามยาว กระแสตอบรับโดยรวมค่อนข้างดีค่ะ”

(แปรง Trifle และ ไม้กวาดด้ามไม้ไผ่) Photo credit: Woot Woot Store

สิ่งที่ได้รับจากการหันมาทำไม้กวาดอย่างจริงจัง

“ตั้งแต่ตูนมาทำแบรนด์นี้ก็ได้รู้จักตัวเองค่ะ (หัวเราะ) อาจจะไม่เกี่ยวกับธุรกิจเท่าไหร่ แต่ตูนรู้จักตัวเองในด้านของการบริหารจัดการและรับมือกับปัญหา ความเครียด คว