เวลาพูดถึงจังหวัดเชียงใหม่ นอกจากกาดหลวง รถแดง ม.เชียงใหม่ หรือดอยสุเทพ ‘คาเฟ่/ร้านกาแฟ’ ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องนึกถึง เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ประจำเชียงใหม่ก็ยังได้ ท่ามกลางหมู่มวลร้านกาแฟมากมายที่ผุดขึ้นในเชียงใหม่ ‘บาริสต้า’ เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่กลายเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน และเปรียบเสมือน ‘จอมยุทธ์’ แห่งยุทธภพร้านกาแฟ เมื่อความโด่งดัง หรือชื่อเสียงของร้าน ขึ้นอยู่กับฝีมือ และทักษะการชงกาแฟของบาริสต้าทั้งสิ้น ทว่า ในนามของ ‘แรงงาน’ บาริสต้าก็เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ถูกกดขี่มากเช่นกัน EQ คุยกับ ‘ดอย’ ตัวแทนจาก ‘สหภาพแรงงานบาริสต้า เชียงใหม่’ ถึงความเจ็บปวดของผู้รังสรรค์กาแฟแก้วสวยแสนอร่อย และเส้นทางการ ‘ทวงสิทธิ์’ ที่แรงงานทุกคนควรได้รับ แต่กลับถูกพรากไป
การทำงานที่ไม่เป็นธรรม
“เราตั้งสหภาพแรงงานบาริสต้าขึ้นมา ก็เพราะเรามองเห็นบางอย่างที่มันไม่ควรจะเป็นเรื่องปกติ ยกตัวอย่างสภาพการจ้างงานในเชียงใหม่ การที่นายจ้างจะละเมิดสิทธิแรงงานกลายเป็นเรื่องที่ปกติมาก ลูกจ้างถูกเอาเปรียบจากนายจ้าง แรงงานไม่มีอำนาจต่อรองกับสิ่งที่เขาถูกกระทำ แรงงานไม่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำ แรงงานไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ไม่มีประกันสังคม ไม่ได้เงินค่าล่วงเวลา และอีกมากมายหลายเรื่อง ซึ่งสภาพการจ้างแบบนี้มันเป็นสภาพการจ้างงานที่เลวร้ายมาก แต่เรากลับไม่มีอำนาจที่จะต่อรอง เราจึงต้องออกมาบอกว่าแบบนี้มันไม่เป็นธรรมนะ มันมีกฎหมายอยู่นะ ช่วยทำให้มันเป็นธรรมกับคนทำงานในแง่ของกฎหมายหน่อยเถอะ”
“คนทำงานรู้เรื่องเกี่ยวกับสิทธิแรงงานน้อยมาก คือการศึกษาไทยไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิเหล่านี้เลย สมมติว่ามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งผลิตบัณฑิตออกมา 100 คนต่อปี 99 คนในนั้นจะกลายไปเป็นแรงงานนะ และจะมีแค่ 1 คนเท่านั้นที่จะกลายเป็นผู้ประกอบการ หรือเจ้าของธุรกิจ แล้วทั้งหมด 99 คนที่จบออกมา ระบบการศึกษาได้ชี้ให้เขาเห็นหรือเปล่า ว่าเขามีสิทธิ์อะไรบ้างในวินาทีที่เขาก้าวเข้าไปเป็นคนในตลาดแรงงาน ไม่เลย ระบบการศึกษาไม่เคยทำให้เราได้รับรู้สิ่งนี้เลย”
“กลายเป็นว่าคนมากมายกระโดดเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นแรงงาน โดยที่ไม่รู้ว่าตัวเองมีสิทธิ์อะไรบ้าง อะไรคือสิ่งที่แรงงานควรได้รับ แต่ผมไม่ได้พูดว่านายจ้างตั้งใจจะกดขี่นะ เพราะนายจ้างบางคนก็อาจจะไม่รู้ก็ได้”
ค่าแรงขั้นต่ำที่ลูกจ้างควรได้รับ
“โดยส่วนใหญ่แล้วการจ้างงานในเชียงใหม่จะเป็น SME มันไม่ใช่อุตสาหกรรมใหญ่ๆ ที่เขาจะมีทรัพยากร หรือมีองค์ความรู้เรื่องกฎหมาย ซึ่งมันเข้าใจได้ เราจึงเริ่มต้นแบบเป็นมิตร คือ คิดว่านายจ้างเขาไม่รู้แล้วกัน ไม่เป็นไร เขาไม่รู้ เราก็ไม่รู้ แต่ตอนนี้เรารู้แล้ว และเราก็กำลังจะอธิบายให้นายจ้างฟังว่า การจ้างงานแบบยุติธรรม และถูกกฎหมายเป็นอย่างไร”
“อย่างเช่น ปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำในเชียงใหม่ วันละ 340 บาท คุณต้องคูณ 30 วันนะ แต่นายจ้างบางคนกลับบอกว่าให้ค่าแรงวันละ 350 บาท แต่จะจ่ายให้เฉพาะวันที่มาทำงาน คือ 26 วัน ซึ่งอันนี้ไม่ได้ คุณจ้างเราเป็นพนักงานประจำ แต่จะใช้กฎหมายแรงงานลูกจ้างรายวันกับเราไม่ได้สิ”
“สิ่งที่เรากำลังทำไม่ได้เข้าข่ายคำว่าเรียกร้องเลย เพราะเราจะใช้คำว่าเรียกร้องก็ต่อเมื่อมันไม่มี แล้วทำให้มี เช่นตอนนี้ค่าแรง 340 บาท แต่ผมเรียกร้องขอค่าแรง 1,000 บาท หรือวันหยุดชั่วโมงการทำงานในแต่ละสัปดาห์ของแรงงานไม่เกิน 48 ชั่วโมง คือทำงาน 6 วัน หยุด 1 วัน แต่ถ้าบอกว่าต้องให้เราทำงาน 5 วัน หยุด 2 วัน คือเพิ่มวันหยุดให้ 1 วัน อ้นนี้คือการเรียกร้อง แต่สิ่งที่เราทำอยู่คือ เราขอค่าแรงขั้นต่ำ”
“สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ไม่ใช่การเรียกร้อง หรือเป็นการดันเพดานของสังคมให้สูงขึ้น แต่เป็นการทวงสิทธิ์ที่ควรจะเป็นของลูกจ้างคืน”
การทวงสิทธิ์ที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
“ค่าแรงของบาริสต้า ซึ่งเป็นคนทำงานบริการอยู่ที่ประมาณ 9,000 – 10,000 บาท สรุปแล้วกฎหมายแรงงานยังจำเป็นอยู่ไหมนะ เราเลยเห็นถึงความสำคัญว่า ถ้าเราอยากให้กฎหมายแรงงานมีความจำเป็น ทุกคนได้รับการปฏิบัติเท่ากันหมด เราก็ต้องเริ่มต้นสร้างมาตรฐานในสังคมการจ้างงานของเชียงใหม่ และถ้าบรรยากาศในการจ้างงานในเชียงใหม่เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น คือผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยอมทำตามกฎหมาย จนทุกอย่างเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทุกคนอยู่ในระนาบเดียวกัน พอเกิดการดันเพดานอีกครั้งในอนาคต ทุกคนก็จะร่วมกันดัน นั่นคือเป้าหมายของเรา พูดอีกอย่างคือ ถ้าเราสามารถทำให้สภาพการจ้างงานในเชียงใหม่มีมาตรฐานของมันแล้ว การขยับมาตรฐานไปอีกระดับในอนาคต ก็จะทำได้ในปริมาณที่เยอะมากขึ้น”
“แต่ตอนนี้ในสหภาพแรงงานบาริสต้าก็เจอปัญหาหนึ่งอยู่ คือบางคนได้ค่าแรงเยอะแล้ว เขาพอใจกับค่าแรงขั้นต่ำตรงนั้น แต่ผมไม่พอใจนะ คือคุณได้เงินเยอะแล้ว แต่คุณต้องอย่าทิ้งคนที่ยังไม่ได้ คุณต้องช้อนคนที่ยังไม่ได้ค่าแรงขั้นต่ำขึ้นมา อย่างน้อยให้ได้ค่าแรงขั้นต่ำ คนที่ได้มากกว่าอยู่แล้ว ผมก็ดีใจด้วย แต่ใดๆ ก็ตาม คุณก็ต้องเห็นใจคนที่เขาได้น้อยกว่าด้วย เพราะถ้าเราสามารถทำให้คนที่ยังไม่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำ สามารถขึ้นมาอยู่ในระดับที่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำ หรือทำให้เขาอยู่ในระดับค่าแรงมาตรฐานแล้ว การเรียกร้องในครั้งหน้า มันจะเป็นสิ่งที่คุณก็ได้ เขาก็ได้ ผมก็ได้”
เส้นทางการต่อสู้ของสหภาพฯ
“ขั้นตอนแรกก็คือ ‘การประชาสัมพันธ์’ เพื่อให้คนรับรู้การมีอยู่ของเรา ขั้นที่สองคือ ‘การรวบรวมคนมาเป็นสมาชิกของสหภาพฯ’ ซึ่งในตอนนี้ผมก็ยังทำทั้งเรื่องการสร้างฐานการรับรู้ นัยหนึ่งคือ ผมก็ยังทวงสิทธิ์อยู่ ผมก็พาแรงงานเข้าสู่ระบบการร้องทุกข์ แล้วก็ยังทำประชาสัมพันธ์เรื่องค่าแรงขั้นต่ำ เรื่องสภาพการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรมอยู่ นอกจากนี้ก็ทำการเสนอข้อเรียกร้องด้วย สำหรับผมแล้ว ผมมองว่า ถ้าผมเสนอข้อเรียกร้องต่อผู้ประกอบการ ผมเรียกร้อง ผมก็ได้คนเดียว แต่ถ้าผมไปชวนคนอื่นมาเรียกร้องด้วย เขาก็อาจจะได้ในร้านของเขาเท่านั้น แต่อีกหลายร้อยร้านที่ไม่ได้มาเรียกร้องด้วย เขาก็จะไม่ได้ ซึ่งตรงนี้แหละที่เป็นจุดที่เราต้องให้ความสำคัญว่า เราจะสู้น้อยแล้วจบที่เรา หรือเราจะสู้ให้เกิดบรรทัดฐานของสังคม สร้างพลังให้ได้มากที่สุด”
“การเรียกร้องในระดับจุลภาคของเราคือ การไปป่วนตามกลุ่มหางานในเชียงใหม่ พยายามไปคอมเมนต์ดึงสติ คือผมไม่ได้ต้องการไปปรับความคิดของคนอื่นนะ แล้วผมก็ไม่ได้ต้องการให้นายจ้างเปลี่ยนความคิด เพราะเรายืนอยู่คนละสถานะกัน แต่ผมแค่หวังว่า ลูกจ้างที่บังเอิญได้เห็นคอมเมนต์ของผม เขาจะได้เห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นอยู่มันไม่ยุติธรรม แต่ทั้งนี้เราไม่ได้ต่อว่าคนที่เห็นแล้วยังรับงาน เพราะว่าคนเรามีความจำเป็นหลายอย่าง มีปัจจัยในชีวิตหลายๆ อย่างที่บีบบังคับให้เราต้องยอมจำนน หรือยอมรับค่าแรงที่มันกดขี่ แต่ผมหวังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในแรงงานที่อยู่ในกลุ่ม ให้เขาเห็นบ่อยๆ แล้วมันก็เป็นการสร้างแนวร่วมในกลุ่มด้วย เราอยากให้คนที่อยู่ในกลุ่มเริ่มสงสัยในสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น โดยที่เราเป็นคนจุดประกาย นี่คือ การผลักดันในหน่วยเล็กของเชียงใหม่”
4 ข้อเรียกร้องต่อภาครัฐ
“ข้อเรียกร้องระดับมหภาคหรือในหน่วยของรัฐ เราก็ทำในส่วนของ 4 ข้อเรียกร้อง ที่พวกเราในนามสหภาพฯ ต้องการให้เกิดขึ้น ข้อหนึ่งคือ ค่าแรงต้องไม่แช่แข็ง อย่างน้อยต้องมีการปรับขึ้นค่าแรง 4% ทุกปี คืออย่างน้อยค่าเงินเฟ้อ 3% กับค่าเงินขึ้น 1% ถ้าขึ้นแค่ 3% ก็เท่ากับว่า เราได้เงินเดือนเท่าเดิมทุกปี แต่การทำงานในแต่ละปี ควรจะเห็นถึงโอกาสเติบโตเพื่อเข้าข่ายงานที่มีคุณภาพ ข้อสองคือ สัญญาการจ้างงานที่เป็นธรรม หมายถึง สัญญาการจ้างงานที่ระบุขอบเขต และเวลาการทำงานที่ชัดเจน เพราะในเชียงใหม่มีปัญหาการจ้างงานที่ไม่ได้ระบุขอบเขตการทำงานที่ชัดเจน ซึ่งผมเองก็เคยเจอปัญหานี้เหมือนกัน และเมื่ออำนาจต่อรองของเราน้อย มันก็ทำให้เราไม่สามารถขัดขืนคำสั่งได้ แล้วการติ๊งต่างในข้อสัญญาว่า ‘แล้วแต่ได้รับมอบหมาย’ อันนี้มันไม่แฟร์เลย คุณก็เขียนมาให้หมดว่าอยากได้อะไร จะมอบหมายอะไร เราจะได้ตัดสินใจตั้งแต่แรก”
“ข้อที่สามคือ การรวมกลุ่มของเราต้องเป็นอิสระ ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ คือสมมติว่ามีคนมาลงทะเบียนเป็นสมาชิกสหภาพฯ ของเรา แล้วนายจ้างเขาเกิดระแคะระคาย แล้วก็เลือกปฏิบัติ หรือพยายามบอกว่า การเข้าร่วมกับสหภาพฯ นี้ จะส่งผลกระทบต่องานของเขา แบบนี้ไม่เป็นธรรม ในรัฐธรรมนูญก็บอกว่า การรวมกลุ่มของประชาชนเป็นสิ่งที่ประชาชนพึงทำได้ เพราะฉะนั้น การรวมกลุ่มของแรงงานของเรา เป็นสิทธิ์ของเรา การรวมกลุ่มต้องเป็นอิสระ และไม่ส่งผลกระทบต่องาน ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ อันนี้เป็นข้อสำคัญ”
“ข้อสุดท้าย ข้อที่สี่คือ นายจ้างต้องสนับสนุนการเพิ่ม หรือพัฒนาทักษะใหม่ๆ กล่าวคือ นายจ้างต้องสนับสนุนงบประมาณในการไปอบรม หรือพัฒนาทักษะใดๆ เช่น ผมทำงานได้ 6 เดือน นายจ้างอาจจะส่งผมไปเรียนอะไรสักอย่างที่เกี่ยวกับกาแฟ หรือถ้าทำงานครบ 2 ปี นายจ้างอาจส่งไปเรียนลาเต้อาร์ต เพราะตอนนี้ทักษะที่นายจ้างบอกว่า แรงงานคนเป็นบาริสต้าต้องมีนั้น มันกลายเป็นต้นทุนที่เราต้องแบกรับเอง เราต้องเรียนรู้เอง เป็นทักษะที่เราต้องฝึกฝนด้วยตัวเอง แต่คนที่จะได้ประโยชน์สูงสุดจากฝีมือ หรือทักษะในการทำงานของผมก็คือ นายจ้าง ดังนั้น การสนับสนุนฝึมือแรงงานจึงเป็นสิ่งสำคัญ แต่ผมเข้าใจว่า นายจ้างอาจจะรู้สึกว่าการลงทุนกับแรงงาน ถ้าเขาลาออกไป มันก็จะส่งผลกระทบต่อนายจ้างนะ ไม่สิ ถ้านายจ้างทำให้ลูกจ้างเห็นโอกาสในการเติบโตในหน้าที่การงาน เขาจะไม่ลาออก ซึ่งการทำให้ลูกจ้างเห็นโอกาสเติบโตในหน้าที่การงานนั้น ไม่ได้หมายถึงการขึ้นค่าแรงอย่างเดียว แต่มันหมายถึงการใส่ใจ หรือทำให้รู้สึกว่าเขามีความสำคัญกับองค์กร และอยากอยู่กับองค์กร”
บนเส้นทางที่ยังยาวไกล
“ในเพจมีคนกดไลก์อยู่ประมาณหนึ่ง แต่ตอนนี้เรามีสมาชิกจริงๆ ทั้งหมด 18 คน เดือนนี้ได้เพิ่มมา 2 คนเลยนะ ซึ่งเราก็มีแบบฟอร์มการลงทะเบียนเป็นสมาชิกสหภาพฯ มีทุกอย่างเรียบร้อยหมดแล้ว แต่ผมก็พยายามหาเหตุผลว่า ทำไมเขาไม่มาเข้าร่วมกับเรา ก็อาจจะเป็นเพราะเขายังไม่เชื่อสนิทใจ ว่าเราจะเป็นตัวแทนของเขาได้ไหมล่ะมั้ง มันก็เหมือนเป็นการขายของ ผมจะทำให้สหภาพฯ ดูน่าเชื่อถือ ทำงานได้ ทำงานเป็น ผมก็ต้องทำให้มันมีผลงานก่อน คือเราก็พยายามแสดงผลงานของเรานะ ว่าเรามีการเรียกร้อง มีการผลักดัน มีการช่วยเหลือในบริการต่างๆ ของสหภาพฯ เราต้องทำให้เราดูน่าเชื่อถือ เพื่อจะทำให้คนที่ยังลังเลอยู่เห็นว่า เราไม่ใช่สหภาพฯ ไก่กา ไม่ใช่ตั้งขึ้นมาเพื่อหวังกระแส หรือหวังแสง แต่เราทำจริง และไม่ต้องกลัวว่า คนที่ทำงานในสหภาพฯ จะเป็นคนอื่น เพราะผมก็ยังเป็นแรงงาน ผมยังเป็นคนชงกาแฟ เราเป็นแรงงานเหมือนกันกับพวกเขา ไว้ใจเราได้”
การเมืองคือชีวิตของทุกคน
“หลังเลือกตั้งมีความหวังขึ้นไหม ผมว่ามันให้ความรู้สึกเหมือนวันขึ้นปีใหม่ ที่รู้สึกว่า ชีวิตสดใส ร่าเริง มีความสุข แต่พอหลังวันขึ้นปีใหม่ไปสักอาทิตย์หนึ่ง เราก็กลับไปรู้สึกว่า ตัวเองยังอยู่ในเหวเหมือนเดิม คือเรามีความหวังได้นะ แต่ใดๆ ก็ตาม การที่เราจะทำอะไรสำเร็จคือ เราต้องมุ่งมั่นกับมัน ไม่ใช่แค่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน แต่เราต้องมุ่งมั่นตั้งใจตลอดทั้งปี ทั้งเทอม หรือทั้งสี่ปี ซึ่งเราก็หวังว่า การเข้ามาของรัฐบาลใหม่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทุกคนมีความหวังได้ เพราะผมก็มี แต่อย่าให้ความหวังของคุณจบลงแค่ในช่วงเลือกตั้ง เราต้องไปต่อ ขบวนการของแรงงานต้องไปต่อ คุณจะกินข้าวแค่วันแรกของปีเหรอ ก็ไม่ใช่ ดังนั้นเราต้องมุ่งมั่น ทุกเรื่องในชีวิตของเราคือ ‘การเมือง’ และการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน คนใดที่มาบอกว่า การเมืองไม่ใช่เรื่องของคุณ คุณจงตบกบาลมันได้เลย!”
ติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มสหภาพแรงงานบาริสต้า เชียงใหม่
Facebook: สหภาพแรงงานบาริสต้า เชียงใหม่