There’s Something About Beauty Pageant –
‘นางงาม’ กับคุณค่าที่สร้างขึ้นมาเพื่อ…ใคร?

ฮัลโหลชาว EQ! ไอเลิฟยู เมื่อต้นปีที่ผ่านมาหลายๆ คนคงได้เห็นผ่านตากันบ้างแล้ว สำหรับการประกวดนางงามที่สร้างเสียงฮือฮา และเรียกกระแสวิพากษ์วิจารณ์ก้องจักรวาลอย่าง Miss Universe 2022 ที่เพิ่งมงลง ‘อาร์บอนนีย์ กาเบรียล’ (R’Bonney Gabriel) นางงามจากสหรัฐอเมริกาไปหมาดๆ แต่จะสมมง หรือไม่สมมง ไม่ใช่เรื่องที่เราอยากชวนทุกคนมาคุยกันวันนี้ 

เราอยากชวนทุกคนมาคิดไปด้วยกันมากกว่าว่า ภายใต้ชื่อเสียงขององค์กรการประกวด และบริบทความงามที่เปลี่ยนไป ‘นางงาม’ ต้องเป็นกระบอกเสียงของผู้หญิงยุคใหม่ หรือเป็นภาพลักษณ์ของธุรกิจกันแน่ แล้วเราในฐานะคนดูยังต้องคาดหวังอะไรอยู่ไหม วันนี้เราจะได้ลองมาคุยกัน ชาว EQ are you ready to do this? พร้อมไหมกับการถกเรื่องภารกิจจักรวาลนี้ ถ้าพร้อมแล้วก็เริ่มกันเลย

คุณค่าของผู้หญิง กับบทบาทที่เปลี่ยนไปบนเวทีขาอ่อน

ทุกวันนี้เราจะเห็นได้ว่า เวทีประกวดนางงามพยายามปรับเปลี่ยนบริบทของการประกวด ที่ไม่ใช่แค่เพียงความงามจากรูปร่าง หน้าตา หรือกิริยาท่าทางอย่างที่เคยเป็นมาในอดีต แต่ผลักดันให้นางงามเป็นกระบอกเสียงในการสื่อสารประเด็นทางสังคม เพื่อสะท้อนให้เห็นถึง ‘คุณค่า’ ของผู้หญิงยุคใหม่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือ หนึ่งในความพยายามที่จะหักล้างภาพความล้าหลัง หรือข้อกล่าวหาที่ว่า การประกวดนางงามเป็นการกดทับผู้หญิงด้วยมาตรฐานความงามที่ไม่โอบรับความหลากหลาย และผลิตซ้ำภาพของผู้หญิงในฐานะวัตถุทางเพศ 

Photo Credit: Beauty Pageant

ตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ให้เห็นถึงความพยายามปรับเปลี่ยนมุมมองนี้คือ การที่องค์กร Miss Universe ตัดสินใจเปลี่ยนสโลแกนที่อยู่คู่การประกวดมายาวนานอย่าง ‘Confidently Beautiful’ (งดงามอย่างมั่นใจ) สู่ ‘Beautifully Confident’ (ความมั่นใจที่งดงาม) เมื่อกลางปี 2022 เพื่อตอกย้ำว่าฉันคือ องค์กรที่สนับสนุนให้ผู้หญิงมีความมั่นใจ และกล้าที่จะลงมือเปลี่ยนแปลงอนาคต

Photo Credit: New York Post / Rappler

นอกจากนี้การที่เวทีประกวดนางงามเปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงจากหลายประเทศเข้าร่วม และแสดงออกถึงอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์ ก็นับได้ว่าเป็นการแฝงนัยยะของการส่งเสริมวัฒนธรรมเอาไว้ อย่างเช่น การจัดประกวดชุดประจำชาติในทุกๆ ปี ที่เปิดพื้นที่ให้สาวงามได้นำเสนอวัฒนธรรมผ่านศิลปะการตัดเย็บ (ที่ยุคหลังๆ เริ่มแฟนตาซีมากขึ้นเรื่อยๆ จนแอบล้น) หรือกรณีของ ‘โซซีบีนี ทุนซี’ (Zozibini Tunzi) Miss Universe 2019 ที่แสดงออกถึงรากเหง้าของเธอผ่านชุดราตรีในคืนอำลาตำแหน่ง ทั้งงานลูกปัด ลายพิมพ์พื้นเมือง และเครื่องหัวที่เธอสวมแทนมงกุฎที่เราเห็นกันตามธรรมเนียมปกติ นับว่านี่คือ อีกหนึ่งการแสดงออกที่แฝงไว้ว่า องค์กรก็พยายามเปิดกว้างในเรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรมของผู้หญิงอยู่นะ

แต่ความพยายามที่กล่าวมานี้ เกิดขึ้นเพื่อสนับสนุน และสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับผู้หญิงจริงๆ หรือเป็นแค่การเสริมความน่าเชื่อถือในสายตาสปอนเซอร์ เพื่อหวังจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่องค์กรกันแน่?

เพราะนางงามก็คือ ‘ธุรกิจ’

สิ่งหนึ่งที่เราจะลืมไม่ได้เลยคือ องค์กรที่จัดประกวดนางงามนั้นเป็นองค์กรธุรกิจ และการทำธุรกิจย่อมคาดหวังผลกำไรทั้งนั้น ดังนั้นสาวงามที่ได้ครองมงกุฎในแต่ละปี ก็จะต้องก้าวขึ้นมาเป็นตัวแทนขององค์กรไม่ว่าจะรูปแบบใดก็ตาม และหน้าที่ของพวกเธอนอกจากจะสร้างความน่าเชื่อถือให้องค์กรแล้ว พวกเธอก็ต้อง ‘ทำเงิน’ ให้องค์กรด้วย เราเลยจะเห็นได้ว่าบางองค์กรนางงามจะทำงานในฐานะเซเลบริตี้, ศิลปิน, พรีเซนเตอร์สินค้า (ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์สปอนเซอร์ หรือแบรนด์ของทางองค์กรเองก็ตาม) รวมถึงการไปร่วมงานสังคม, งานเลี้ยงสังสรรค์ หรือกิจกรรมโปรโมทการท่องเที่ยว ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นบทบาทในเชิงการทำธุรกิจผ่านความงามทั้งสิ้น (เอาจริงๆ ก็เห็นได้ตั้งแต่การเดินสายขอบคุณสื่อ และสปอนเซอร์ต่างๆ หลังจบการประกวดแล้วแหละ)

Photo Credit: Pageant Circle / Miss Universe

ยกตัวอย่างเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้นก็เช่น การแตกไลน์สินค้าของ Miss Universe ในกลุ่ม ‘MU Lifestlye’ ที่มีตั้งแต่น้ำดื่มไปจนถึงเครื่องแต่งกายอย่าง เสื้อยืด และกระเป๋า ซึ่งสาวงามที่ครองมงกุฎ Miss Universe ก็จะเข้ามารับหน้าที่เป็นพรีเซนเตอร์ให้กับสินค้าเหล่านี้ (นับว่าเป็นอีกหนึ่งวิธีการสร้างแบรนด์ และรายได้ให้กับองค์กรผ่านตัวนางงาม) นอกจากนี้ Miss Universe Organization ยังมีแผนจะเปิดตัวธุรกิจในกลุ่ม Ultra Luxury อีกหลายอย่าง ซึ่งเป็นภาพสะท้อนของการเป็นองค์กรเชิงธุรกิจที่ชัดเจนมากขึ้นจากในอดีตอีกด้วย

แม้กระทั่งเวทีประกวดในระดับประเทศอย่าง Miss Universe Thailand ก็มีการแตกไลน์ผลิตภัณฑ์ความงามออกมาขายในนามบริษัท เอ็มยูที ซีเล็ค จำกัด (MUT Select) โดยใช้สาวงามผู้ครองมงกุฎในปี 2020 อย่าง ‘อแมนด้า ชาลิสา ออบดัม’ และสาวงามผู้เข้าประกวดในการพรีเซนต์สินค้า เพื่อสร้างรายได้ให้กับองค์กรเช่นกัน

พอพูดถึงนางงาม และผลประโยชน์ทางธุรกิจแล้ว ภาพที่เราเห็นชัดๆ ก็คงเป็นการขายความสวยอย่างที่พูดไปข้างบน แต่ใช่ว่าความสวยจะเป็นเพียงสิ่งเดียวเท่านั้น ที่นางงามจะใช้สร้างมูลค่าให้ตัวเธอ (และองค์กร) ได้ เพราะในบางครั้ง ‘คุณค่าทางสังคม’ ก็เป็นหนึ่งในการตลาดที่ถูกหยิบมาเพิ่มมูลค่าขององค์กรธุรกิจอยู่เสมอ (อย่างที่หลายๆ องค์กรทำโครงการ CSR กันอย่างต่อเนื่อง) นางงามในยุคปัจจุบันต้องวนอยู่กับเรื่องพวกนี้ด้วยเช่นกัน ทั้งการตอบคำถามเกี่ยวกับประเด็นทางสังคม (ที่แฝงนัยยะทางการเมืองเอาไว้เหมือนเป็นของคู่กัน) และการทำโปรเจ็กต์เพื่อสานต่อคุณค่าความดีงาม (ที่ใครคิดจะเข้าประกวดก็ควรหาทำไว้สักหนึ่งโครงการ) 

Photo Credit: Miss Universe

สิ่งเหล่านี้สร้างภาพลักษณ์ให้แก่ตัวนางงามว่าเธอคนนี้สามารถเป็นกระบอกเสียง และผู้นำทางความคิดสำหรับผู้หญิงยุคใหม่ได้ ซึ่งมันย่อมส่งผลอันดีให้กับองค์กรที่เลือกพวกเธอมาเป็นตัวแทน ทั้งยังเสริมความน่าเชื่อถือในสายตานักลงทุน พูดได้เลยว่า ต่อให้นางงามจะเป็นเรื่องของธุรกิจ แต่พวกเธอก็ยังคงต้องเป็นทั้งมาสคอตขององค์กร และเครื่องขยายเสียงให้กับความเป็นผู้หญิง โดยการสร้างภาพลักษณ์ในฐานะผู้นำของผู้หญิงยุคปัจจุบันนี้เอง ทำให้เหล่าสาวงามต้องแบกรับความคาดหวังจากคนดูเอาไว้อย่างเลี่ยงไม่ได้

‘ความคาดหวังเหนือจริง’ กับสารพัดสิ่งที่นางงามต้องแบกไว้

แน่นอนว่า ทันทีที่มงกุฎเพชรถูกสวมลงบนศีรษะสาวงามคนใดคนหนึ่ง เสี้ยววินาทีที่ภาพนั้นถูกเผยแพร่ไปทั่วทุกมุมโลก กระแสวิพากษ์วิจารณ์ย่อมตามติดตัวนางงามเหมือนเป็นเงา พร้อมความคาดหวังที่ประเดประดังเข้าหาเธอคนนั้น สารพัดเรื่องที่โลกใบนี้ต้องการได้ยินจากนางงาม ทั้งประเด็นทางสังคม การเมือง ไปจนถึงเรื่องส่วนตัวของพวกเธอ ซึ่งในหลายๆ ครั้งก็เป็นการผลักให้เหล่าสาวงามต้องแบกรับ ‘ความคาดหวังที่เกินจริง’

Photo Credit: HELLO! Magazine

อย่างกรณีล่าสุดในเดือนกุมภาพันธ์ ‘แอน’ – จักรพงษ์ จักราจุฑาทิพย์ เจ้าของ Miss Universe Organization ได้เปิดตัว Miss Universe Private Jet เครื่องบินเจ็ตส่วนตัวในการเดินทางปฎิบัติหน้าตลอดวาระ 1 ปี สำหรับสาวงามผู้ครองมงกุฎ ถึงแม้จะมีการระบุว่าทางองค์ต้องการผลักดันวาระสีเขียวในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม โดยกำลังศึกษาวิธีลดผลกระทบของเครื่องบินเจ็ตต่อสิ่งแวดล้อมอยู่ก็ตาม แต่ก็ยังมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้นบนโซเชียลมีเดียต่างๆ ถึงความเหมาะสมในการใช้ไพรเวทเจ็ตเพื่อการปฏิบัติหน้าที่นี้ เนื่องจากผลกระทบ และมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมก็ยังคงเป็นวาระใหญ่ในระดับสากล ทั้งยังเป็นหนึ่งเรื่องที่คนคาดหวังให้นางงามออกมาเป็นกระบอกเสียงอีกด้วย

Photo Credit: Greenpeace

หากเรามองในมุมของการปฏิบัติหน้าที่ เครื่องบินเจ็ตส่วนตัวย่อมเอื้อประโยชน์ต่อตารางงาน และการเดินทางไปยังที่ต่างๆ ได้มากกว่าการใช้เครื่องบินโดยสารสาธารณะ นอกจากนี้การโดยสารเครื่องบินส่วนบุคคลยังสามารถควบคุมความเป็นส่วนตัว และความปลอดภัยของนางงามได้อีกด้วย ดังนั้นถ้ามองในมุมของความจำเป็นในการใช้งาน เรื่องนี้ก็ฟังดูสมเหตุสมผลอยู่ เมื่อเราทุกคนล้วนมีความจำเป็นในชีวิตที่แตกต่างกัน

ในอีกมุมหนึ่ง หากเรามองว่านางงามก็คือ คนๆ หนึ่งเหมือนกับเรา ซึ่งมีความสนใจในประเด็นที่ต่างกันออกไปตามแต่ละบุคคล แล้วก็คงจะมีเรื่องที่สนใจเป็นพิเศษอยู่บ้าง การคาดหวัง หรือคาดคั้นให้นางงามเป็นห่วงเป็นใย และโอบรับทุกปัญหาเอาไว้อาจจะเป็น ความคาดหวังที่มากเกินไป

แต่ถึงอย่างนั้นพวกเธอก็มีพื้นที่สื่อ และเสียงที่ดังกว่าคนทั่วไปอย่างเราๆ อยู่ดี ดังนั้นการที่หลายๆ คนจะออกมาตั้งคำถาม พร้อมทั้งเรียกร้องให้นางงามใช้พื้นที่สื่อที่มีให้เป็นประโยชน์จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร แล้วก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้เช่นกันหากพวกเธอจะไม่ทำตามคำข้อเรียกร้องเหล่านั้นไปเสียทุกอย่าง ถึงแม้พวกเธอจะมีแพลตฟอร์มของตัวเองในการเป็นกระบอกเสียงให้กับสังคม แต่นางงามก็มีสิทธิ์ที่จะใช้ หรือไม่ใช่พื้นที่ตรงนั้นของพวกเธอก็ได้เช่นกัน

Photo Credit: the sharp

ประเด็นเรื่องความคาดหวังด้านการเป็นกระบอกเสียงก็ยังถือว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ ว่าเมื่อฝ่ายหนึ่งมีพื้นที่ในการใช้เสียง ย่อมถูกคาดหวังจากผู้ที่เห็นแสงแห่งความหวังเสมอ แต่ขึ้นชื่อว่านางงาม ความคาดหวังเรื่องความสวยความงามย่อมเป็นของคู่กัน และพวกเธอมักถูกคาดหวังว่าจะต้อง ‘สวยประจักษ์’ ซึ่งเป็นมาตรฐานความงามที่เกินจริง และแทบจะเป็นเรื่องปัจเจกเสียด้วยซ้ำเพราะ ไม่ว่าผลการแข่งขันจะออกมาแบบไหน คนหนึ่งคนย่อมไม่สามารถสวยงามถูกใจทุกๆ คนได้อยู่ดี

ความพยายามที่จะโอบกอดอย่างอบอุ่น (หรืออึดอัด?)

อย่างที่บอกไปข้างต้นว่าการส่งเสริมภาพลักษณ์อันดีขององค์กรย่อมทำให้เกิดความน่าเชื่อถือในการลงทุน ซ้ำยังเป็นการล้างภาพจำเก่าๆ หรือการกดทับเรื่องสิทธิของผู้หญิง ดังนั้นไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลยที่เราได้เห็นบางเวทีประกวดพยายามโอบกอดผู้หญิง และอ้าแขนรับความหลากหลาย อย่างการที่ Miss Universe กลายเป็นเวทีนางงามแรกของโลกที่พยายามจะโอบรับความเท่าเทียม และสิทธิของผู้หญิง ผ่านการเปลี่ยนกติกาเพิ่มเติมให้ผู้หญิงที่ผ่านการแต่งงาน หย่าร้าง หรือผู้หญิงข้ามเพศ สามารถเข้าร่วมประกวดได้ (ซึ่งถ้าจะพูดถึงการโอบกอดจริงๆ ก็ยังมีประเด็นเรื่องผู้พิการ และคนชายขอบกลุ่มอื่นๆ อีกภายใต้คำว่า ‘ความหลากหลาย’) โดยแอน จักรพงษ์ ให้สัมภาษณ์กับสื่อเอาไว้ว่า 

“เปิดประตูเกตเวย์ให้ แต่สุดท้ายก็ต้องไปต่อสู้กันเอง” 

Photo Credit: Prachachat

ซึ่งเป็นคำตอบที่ชวนให้คิดว่านี่คือการขยายโอกาสเพื่อโอบรับความหลากหลายจริงๆ หรือเป็นเกมธุรกิจที่ดึงดูดใจนักลงทุนกันแน่ เพราะท้ายที่สุดแล้วการเปิดประตูรับอาจไม่ใช่การโอบกอดที่แท้จริง กติกาที่ถูกเพิ่มขึ้นมานี้ก็ยังคงต้องใช้เวลา และต้องการการพิสูจน์จากทางองค์กรเองว่า มันโอบกอดความหลากหลายที่เท่าเทียมจริงๆ ไม่ใช่ใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งยังถูกบีบด้วยมาตรฐานบางอย่างที่แสดงถึงความไม่เท่ากัน (อย่างข้อจำกัดของสถานะ ‘นางสาว’ ในหลายๆ ประเทศ ก็อาจจะไม่ได้โอบรับความหลากหลายจริงๆ)  หากองค์กรสามารถพิสูจน์จุดนี้ได้ก็อาจจะถือได้ว่าเป็นก้าวที่สำคัญ และสวยงามในวงการนางงามยุคใหม่

Photo Credit: Miss International Queen Pageant / The Buzz Magazine

ทั้งนี้เราต้องไม่ลืมว่ากลุ่มคนที่ถูกเพิ่มเข้ามาจากการพยายามจะเท่าเทียมนี้ พวกเธอก็มีพื้นที่ หรือเวทีการประกวดของตัวเองอยู่แล้ว เช่น Mrs. Universe เวทีสำหรับสาวงามที่ผ่านการแต่งงานแล้ว หรือ Miss International Queen ที่เป็นเวทีประกวดสำหรับผู้หญิงข้ามเพศ เป็นต้น ซึ่งการมีเส้นทางที่โอบรับ และเป็นพื้นที่ให้แสดงตัวตนภายใต้เงื่อนไขของตัวเองอยู่แล้ว ก็อาจจะเป็นสิ่งที่องค์กรต้องกลับมาคิดว่าการ ‘พยายาม’ จะเข้าใจ และโอบกอดความหลากหลายนี้ไว้ ยังจำเป็นอยู่หรือเปล่า และพวกเขาเหล่านั้นต้องการก้าวเข้าไปอยู่ในพื้นที่แห่งการโอบกอดนี้จริงๆ หรือไม่ ก็เป็นสิ่งที่องค์กรยังต้องพิสูจน์ให้เห็นอยู่ 

Photo Credit: Miss Fabulous Thailand

เมื่อลองเปรียบเทียบกับอีกหนึ่งเวทีนางงามน้องใหม่อย่าง Miss Fabulous Thailand ที่ล่าสุดได้ผู้ชนะประจำปี 2023 เป็นที่เรียบร้อย นั่นก็คือ ‘เมญ่า ซันซัน’ กับชัยชนะที่ทลายทุกเส้นแบ่งของคำว่านางงาม และมาตรฐานความงามแบบดั้งเดิมไปโดยสิ้นเชิง เป็นอีกหนึ่งภาพสะท้อนของมิติใหม่ในการประกวดนางงามอย่างแท้จริง แต่ทั้งนี้เวที Miss Fabulous เป็นเวทีที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน และนับว่าเป็นเวทีที่สร้างขึ้นเพื่อโอบรับความหลากหลายมาแต่แรก จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะพิสูจน์ว่าองค์กรสามารถเปิดกว้างให้กับความหลากหลายได้จริงๆ ในขณะที่เวที Miss Universe เป็นเวทีที่ก่อตั้งขึ้นมากว่า 7 ทศวรรษแล้ว การจะฉีกตัวเองออกจากขนบเดิมๆ หรือภาพจำแบบเก่า ย่อมเป็นสิ่งที่ท้าทาย และต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ความเป็นไปได้นี้อยู่

ถ้าอย่างนั้นแค่ดูเอาบันเทิงก็พอแล้วไหม?

เราชวนทุกคนถกเถียงกันจนมาถึงตรงนี้แล้ว ทั้งเรื่องคุณค่าของผู้หญิง ความงาม และความเป็นธุรกิจ ดังนั้นเราลองมองในมุมที่ว่า ธุรกิจนางงาม = ธุรกิจบันเทิงอย่างหนึ่งกันบ้างดีกว่า ถ้าเป็นอย่างนั้นเราก็ดูเอาบันเทิงอย่างเดียวได้หรือเปล่า?

Photo Credit: Pageant Circle

การประกวดนางงามแต่ไหนแต่ไรมาก็เป็นเรื่องของความบันเทิง (ถึงจะแฝงการเมืองเอาไว้ แต่จริงๆ การเมืองมันก็อยู่ในทุกเรื่องมาตลอดอยู่แล้ว) และยิ่งในปัจจุบันการประกวดนางงามก็มีความเป็นโชว์มากขึ้น ทั้งดนตรี แสง สี เสียง ทุกๆ อย่างถูกออกแบบมาเพื่ออรรถรสในการรับชมทั้งสิ้น ดังนั้นการดูนางงามเอามัน เอาบันเทิงเหมือนดูกีฬาชนิดหนึ่ง (หลายๆ คนก็เรียกการประกวดนางงามว่าเป็น ‘Beauty Olympic’ อยู่แล้ว) ก็คงไม่ผิด หรือติดขัดตรงไหน เพราะในปัจจุบัน เรามีสื่อบันเทิงมากมายที่รองรับความต้องการของคนหลากหลายกลุ่ม เวทีนางงามก็อาจจะเป็นหนึ่งกลุ่มย่อยสำหรับใครที่อยากเสพความม่วน ความจอยจากการประชันกันของเหล่าสาวงามเพียงเท่านี้ก็ได้ไหม? 

ในปัจจุบันที่ใครๆ ก็สามารถออกมาเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของตัวเองได้ การเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงอาจไม่ใช่ปัจจัยที่สร้างอิมแพกให้กับการเรียกร้องทางสังคมได้เท่ากับบุคคลที่เข้าใจ และสื่อสารประเด็นเหล่านั้นได้อย่างถูกต้อง ครบถ้วนจริงๆ หรือคนที่ต้องเจอกับปัญหานั้นจริงๆ ซึ่งคนที่เข้าใจ และมองเห็นปัญหายังต้องรอพึ่งพาเสียงของคนดังอยู่อีกหรือ?

ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ผ่านมุมมองที่แตกต่างหลากหลาย มีทั้งฝั่งที่อยากแบนการประกวดนางงาม เพราะลดทอนคุณค่าของผู้หญิง กดทับผู้หญิงด้วยมาตรฐานความงามแบบเกินจริง แถมยังส่งเสริมอภิสิทธิ์ความงาม (Beauty Privileges) และฝั่งที่มองว่า อย่างน้อยที่สุดการประกวดนางงามก็เป็นทางเลือกให้ผู้หญิงคนหนึ่ง ได้ตัดสินใจกับเส้นทางชีวิตของตัวเอง ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องปิดกันพื้นที่นี้ และสังคมยังมีทางเลือกอีกหลากหลายสำหรับผู้หญิง ใช่ว่าประกวดไม่ได้ หรือไม่ชนะแล้วจะไม่มีเส้นทางให้ผู้หญิงประสบความสำเร็จ

ท้ายที่สุดแล้ว จะมีต่อหรือพอแค่นี้ก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกัน แต่สิ่งสำคัญคือ ก่อนจะตัดสินอะไรเราได้พิจารณามันอย่างรอบด้านแล้วหรือยัง วันนี้เราแค่ต้องการจะหยิบยกมุมมองต่างๆ ของการประกวดนางงามมาชวนให้ชาว EQ ได้คิดไปพร้อมกัน หลังจากนี้แต่ละคนจะตกผลึกออกมาอย่างไร ก็เป็นเรื่องของมุมมองส่วนบุคคล ที่จะเปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็นถึงเรื่องการประกวดนางงามอย่างสร้างสรรค์ต่อไป 

อ้างอิง
The New Times
E TIMES
HELLO! Magazine
Workpoint Today
Khaosod
MGR Online
Thairath
The Momentum