"อาจารย์" สู่ "นักพัฒนาชุมชนท่องเที่ยว" กับ วิษณุ ปัญญายงค์

"ชุมชนเข้มแข็ง - ชุมชนยั่งยืน" หลายคนคงคุ้นเคยกับคำนี้ แต่คนที่จะเข้าใจความหมายได้เป็นอย่างดี คือ คนที่ลงมือทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ เพื่อต่อยอดองค์ความรู้ เสริมทักษะอาชีพ และช่วยสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนอย่าง "นักพัฒนาชุมชน" อีกหนึ่งบทบาทของ นุ วิษณุ ปัญญายงค์ (Wisanu Panyayong) อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ที่เป็นมากกว่าอาจารย์ เพราะนอกจากการสอนนักศึกษา การพัฒนาชุมชนเพื่อการท่องเที่ยว ก็เป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญที่เขาภาคภูมิใจในความเป็นบุรีรัมย์มากที่สุด

บทบาทหน้าที่อาจารย์และนักวิชาการ ที่ต้องทำงาน 4 ด้านหลัก คือ การสอน บริหารงานด้านวิชาการ ด้านการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม และการทำวิจัย ผสมผสานกับการท่องเที่ยวที่เป็นความชื่นชอบส่วนตัวเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน การทำงานกับชุมชนจึงเป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้เขาอยากขับเคลื่อน ช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหาให้กับชุมชน เพราะชุมชนเปรียบเสมือนบ้าน พ่อแม่ปู่ย่าตายายที่นั่นจึงเปรียบเสมือนญาติผู้ใหญ่ที่เขารักและเคารพ จึงทำให้เขาอยากพัฒนาชุมชนด้วยความจริงใจ

‘บุรีรัมย์’ ดินแดนเขมรโบราณที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม

"บุรีรัมย์ คือ อีสานใต้ ติดชายแดนเขมร ด้วยวัฒนธรรมเขมรโบราณ ที่โดดเด่นเรื่องการแต่งกาย อาหารการกิน การละเล่น และขนบธรรมเนียมประเพณีที่แตกต่าง เราเด่นเรื่อง 'กันตรึม' ที่ขับร้องเป็นภาษาเขมร เป็นแม่บทของเพลง และการละเล่นพื้นบ้าน 'พิธีโจลมะม็วด' ประเพณีการละเล่นเพื่อรักษาคนเจ็บไข้ได้ป่วยในสมัยก่อน โดยรักษาทางใจ เพื่อสร้างกำลังใจและพลังใจผ่านพิธีกรรม เรื่องราวของวัฒนธรรม ที่มีความหลากหลายชาติพันธุ์ทั้งขะแม ไทยเดิ้ง ส่วย ลาว อย่างตัวผมเองพ่อแม่พูดภาษาเขมร ตอนเป็นเด็กเคยมองว่าคนเขมรล้าสมัย พอมาสัมผัสจริงๆ เขาคือคนสร้างปราสาท ซึ่งคือเสน่ห์ที่เรารู้สึกรักและผูกพันธ์ กับวิถีดั้งเดิมและความหลากหลายของคนบุรีรัมย์"

สองโครงการหลักที่เขาภาคภูมิใจ จากการนำวัฒนธรรมและวิถีของคนในชุมชนมาประยุกต์ใช้ได้จริง จนออกมาในรูปแบบกิจกรรมการท่องเที่ยวคือ  โครงการท่องเที่ยวภูเขาไฟจังหวัดบุรีรัมย์ ที่จะชูโรงภูเขาไฟทั้ง 6 ลูก และชุมชนบริเวณโดยรอบ โดยดึงจุดเด่นและเสน่ห์ของแต่ละชุมชน บวกกับป่าและเขา สิ่งที่หลายๆ คนมองข้ามไป ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่คนในชุมชนและหน่อยงานต่างๆ ให้ความสนใจ และ โครงการการท่องเที่ยวชุมชนโบราณ ที่นำเอาความโบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยทราวดีซึ่งเป็นเสน่ห์และมนต์ขลัง ซึ่งได้ดึงชุมชนที่มีความเก่าแก่ ที่โดดเด่นและแตกต่าง และยังมีเศษซากอารยธรรมเก่าแก่หลงเหลืออยู่ โดยนำเสนอในรูปแบบการท่องเที่ยวชุมชนโบราณ ซึ่งทั้ง 2 โครงการนี้ได้ทำการทดสอบเส้นทางและดำเนินการไปบางส่วนแล้ว อีกไม่นานเราคงได้เห็นจังหวัดบุรีรัมย์เป็นจังหวัดท่องเที่ยวลำดับต้นๆ ในแถบอีสานใต้แน่นอน

การทำงานกับชุมชนไม่ง่าย

"เราไม่ได้ลงพื้นที่ครั้งเดียวแล้วเขาเปิดใจให้เลย เขาจะดูว่ามากี่ครั้งและทำอะไรบ้าง ไปขั้นต่ำเกือบสิบรอบ และช่วงแรกๆ เจอปฏิเสธและไม่ให้ความร่วมมือ เขาจะตั้งข้อสังเกตกับเราว่า การอบรม พัฒนาความรู้ มีสิ่งที่จับต้องได้และเกิดรายได้จริงคืออะไร เพราะสิ่งที่เขาขาดคือ 'การปฏิบัติ' เราเลยต้องลงมือทำและทำให้เขาเห็นจริงๆ พอเราเปิดเผยและจริงใจกับเขา เขาก็เริ่มเห็นความตั้งใจจริงของเรา ทำให้เขาเห็น ให้เขาเชื่อใจ และไว้ใจเรา เพราะการทำงานกับชุมชนไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยความจริงใจ ความโปร่งใส"

อุปสรรคและการจัดการ

"ปัญหาเกิดขึ้นทุกขั้นตอนและทุกวัน ยิ่งทำงานเยอะยิ่งมีปัญหา ปัญหาส่วนตัวคือ การจัดการเรื่องเวลาการสอน และตอนนี้มหาวิทยาลัยเริ่มวิกฤติ (เลิกจ้างอาจารย์) ปริมาณนักศึกษาที่มาเรียนน้อยลง ต้องหางานอื่นมาทดแทน ปัญหาจากการทำงานกับคน โดยเฉพาะเรื่องการสื่อสาร ชาวบ้านบางคนมีแนวคิดหรือมุมมองที่ต่างจากเรา อยากทำและจัดการคนเดียว อยากได้ผลประโยชน์คนเดียว ซึ่งตอนนี้ชุมชนหลายๆ พื้นที่ประสบกับปัญหานี้ โจทย์ใหญ่คือ ทำยังไงให้คนในชุมชนเห็นว่า สิ่งที่เราร่วมกันทำคือการกระจายรายได้กับชุมชนอย่างเป็นธรรม เพื่อให้ทุกคนในชุมชนได้ประโยชน์อย่างสูงสุด เราพยายามเอาแนวคิดนี้ไปปลูกฝังชุมชน"

แก้ปัญหาชุมชนด้วยวัฒนธรรม

"บุรีรัมย์เป็นจังหวัดอันดับต้นๆ ที่ยากจน ปัญหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องปากท้อง เรื่องรายได้ โดยมหาวิทยาลัยให้โจทย์คือ ทำยังไงก็ได้ที่ทำให้ชุมชนมีรายได้ โดยเราไม่ได้ไปปรับเปลี่ยนอะไร แค่ไปค้นหาหนทางวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาที่มีอยู่ ผ่านกิจกรรมการท่องเที่ยว โดยเราจะต้องนำและทำให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น เพราะชุมชนมีทุนเดิมที่ดีอยู่แล้ว คือ วัฒนธรรมและทรัพยากร เราสามารถเอามาต่อยอด และพัฒนาเป็นกิจกรรม รวมทั้งผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ นี่คือส่วนที่เราไปช่วยพัฒนา เผยแพร่ และประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ชุมชนมีรายได้"

“ชุมชนเริ่มไว้ใจเรา เพราะเขาเองก็พยายามแก้ไขปัญหามาตลอด แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ พออาจารย์สองคนเข้ามา ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนจริงๆ”

ช่วยแก้ปัญหาเรื่องข้าว     

"เราโดดเด่นเรื่องการผลิตข้าวอินทรีย์ แต่ปีนี้ข้าวขายไม่ได้ขาย เพราะเป็นช่วงโควิด และถูกโรงสีกดราคาทำให้ขาดทุน เราเลยคิดเครื่องมือที่จะช่วยชุมชนและทำการตลาดให้ โดยทดลองตลาดประมาณ 1 เดือน ตอนนี้ยอดสั่งซื้อเกือบตันแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ชุมชนกำลังลงขัน เพื่อซื้อโรงสี แปรรูปข้าว และขายเอง เพราะก่อนหน้านี้พวกเขาอาศัยโรงสีเอกชน ทำให้พวกเขาเริ่มแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง ซึ่งมันคือ การระเบิดจากข้างใน เราแค่เหมือนไปสะกิดต่อมที่อยากให้เขาลุกขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง"

คนในชุมชนรักบ้านเกิดของตัวเองมากยิ่งขึ้น

"ยกตัวอย่างชุมชนบ้านบุ ชุมชนเขมรโบราณ ที่เราไปดึงเรื่องวงดนตรีกันตรึม ภาษาเขมร บ้านโบราณที่ยังมีให้เห็น เขาก็เริ่มให้ความสำคัญกับบ้านของตัวเอง พอเราถ่ายรูปวิถีวัฒนธรรมที่เป็นความดั้งเดิมเหล่านั้น ชาวบ้านเริ่มสนใจ เริ่มโพส เริ่มแชร์ในสิ่งที่เราทำ เลยคิดว่า ทุกคนรักบ้านเกิดของตนเอง และอยากให้บ้านเกิดของเขาพัฒนาไปในทิศทางที่ดี พอเราเอาวัฒนธรรมไปเผยแพร่ให้คนอื่นๆ รับรู้ บวกกับกลไกเรื่องการบริหารจัดการ การกระจายรายได้ ตอนนี้แทบไม่ต้องทำอะไร แค่เสนอแนะและให้แนวคิดเขาก็จะลุกขึ้นมาจัดการเอง ทำให้เขาเห็นคุณค่าของตัวเองและมีทัศนคติที่ดีต่อชุมชน"

เนื่องจากชุมชนเป็นชุมชนวิถีเกษตร และยังดำรงวิถีวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมโควิดจึงส่งผลกระทบต่อคนในชุมชนและชุมชนน้อยมาก

สิ่งที่คาดหวัง

"หลายๆ ชุมชน ยังเป็นชุมชนที่อยู่ต้นน้ำ เราพาเขาเดิน พาเขาทำทุกสิ่งทุกอย่าง ซึ่งต้องอาศัยระยะเวลา เชื่อว่า สักวันเขาจะจัดการบริหารได้เอง และบางชุมชนก็อยู่ปลายน้ำแล้ว เรื่องเดียวที่หวังคือ อยากให้ 'ชุมชนยั่งยืน' สามารถเรียนรู้ แก้ไข และจัดการในชุมชนได้ด้วยตนเอง สามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะ 'ชุมชนเข้มแข็ง' จะสามารถจัดสรรทรัพยากรในชุมชนของเขาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่ได้ทั้งเงินและความสุข" 

ถ้าให้นิยามจังหวัดบุรีรัมย์

"บุรีรัมย์ คือ เมืองแห่งมนต์ขลังและมนต์เสน่ห์ ความโบราณความเก่าแก่ของปราสาท และเมืองโบราณ มาแล้วจะรู้ อยู่แล้วจะรัก เราอาจไม่มีภูเขาสวย ไม่ได้เป็นจังหวัดที่ทุกคนอยากจะมาเที่ยว แต่วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของผู้คน เป็นสิ่งที่น่าสนใจและอยากให้ทุกคนได้มาสัมผัส เพราะหลายๆ คน ที่มาเพราะคนในชุมชน ที่ง่ายๆ ซื่อๆ สบายๆ เสน่ห์ของคนบุรีรัมย์ คืออีกสิ่งที่น่าสนใจ" 

ใครอยากไปเที่ยวบุรีรัมย์ในรูปแบบใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิมและติดต่อได้ที่ วิษณุ ปัญญายงค์ และ ภูเขาไฟบุรีรัมย์