Culture

แม่จีน: ความดาร์กเบื้องหลังกลุ่มแฟนด้อมที่ใหญ่ที่สุดในโลก

Photo credit: Seoul Beats

เมื่อครั้งที่ “ลิซ่า - ลลิษา มโนบาล” ออกอัลบั้มเดี่ยว เราคงเห็นพลังของ ‘แม่จีน’ หรือกลุ่มแฟนคลับของลิซ่าในประเทศจีนกันไปแล้ว กับปรากฎการณ์การกว้านซื้อบิลบอร์ดยักษ์รอบเมือง ยิ่งใหญ่กว่าการโปรโมตจากทางค่ายต้นสังกัดของตัวศิลปินเองเสียอีก

https://www.youtube.com/watch?v=T7jkjqFXPRs

นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ของสิ่งที่แม่จีนประทานให้กับไอดอลของพวกเขา เพราะตอนนี้จีนได้กลายเป็นฐานแฟนด้อมที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่สนับสนุนศิลปินหลากหลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ด้วยกำลังคนและกำลังทรัพย์ที่มีมหาศาล จนกลายเป็นว่าศิลปินคนไหนๆ ก็อยากจะมีฐานแฟนคลับหรือสามารถสร้างสื่อเสียงในประเทศจีนให้ได้ 

แต่ถึงอย่างนั้นก็ดูเหมือนว่าวัฒนธรรมและการเติบโตของแฟนด้อมในจีนกำลังถูกทางการจับตาและควบคุมอย่างหนัก เช่นเดียวกันด้วยเหตุดราม่าและพฤติกรรมฉาวที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง จนน่าสนใจว่านี่อาจจะเป็นจุดจบของวัฒนธรรมแฟนด้อมในจีนหรือเปล่า

เศรษฐกิจของแฟนดอมในประเทศจีน

จากข้อมูลของ Global Times บอกไว้ว่า 15% ของคนรุ่นใหม่ที่เกิดหลังปี 2000 ในประเทศจีน ใช้เงินมากกว่า 5,000 หยวน (25,000 บาท) ในการสนับสนุนศิลปินที่ชื่นชอบ นอกจากนี้ คนรุ่นใหม่ที่อายุต่ำกว่า 18 ปีที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตนประเทศจีน มีจำนวนประมาณ 8% จาก 183 ล้านคน พวกเขาล้วนใช้เงินสนับสนุนศิลปินที่ตนเองชื่นชอบไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อบัตรคอนเสิร์ตหรือแฟนมีต ซื้อของสะสม ของที่ระลึก หรือระดมทุนนำไปทำแคมเปญต่างๆ เช่น ซื้อบิลบอร์ดเพื่ออวยพรวันเกิด และรายงานยังบอกอีกด้วยว่าแฟนคลับเหล่านี้พร้อมที่จะจ่ายเดือนละ 15-75 ดอลลาร์สหรัฐให้แก่อะไรก็ตามเพื่อเป็นการสนับสนุนศิลปินที่เขาชื่นชอบ 

Photo credit: Marketing to China

พลังทางเศรษฐกิจของแฟนด้อมแม่จีนทั้งหลายนี้ เป็นข่าวให้เราได้อ่านอยู่บ่อยๆ อย่างเช่นในปี 2019 แบรนด์เครื่องสำอาง Estee Lauder ได้จ้าง “เซียวจ้าน” (肖战) สมาชิกวงไอดอลชาย “X NINE” และเป็นที่รู้จักจากบทบาทในละครเรื่อง ‘ฮ่องเต้ที่รัก’ เขาได้มาเป็นพรีเซนเตอร์ในแคมเปญพิเศษของ Single’s Day (วันที่ 11 เดือน 11/วันเฉลิมฉลองความโสด) ที่แบรนด์ต่างๆ ในจีนมักจะจัดโปรโมชันชุดใหญ่ ทำให้ Estee Lauder มียอดขายกว่า 40 ล้านหยวนใน 1 ชั่วโมง ทางแบรนด์ Origins เอ

ก็ได้จ้าง “หวังอี้ป๋อ” (王一博) ที่โด่งดังจากรายการเต้น “Street Dance of China” และซีรีส์ “ปรมาจารย์ลัทธิมาร” (The Untamed) มาเป็นพรีเซนเตอร์เช่นเดียวกัน และสามารถทำยอดขายได้มากกว่า 30 ล้านหยวนภายใน 1 ชั่วโมง 

Photo credit: Harper’s Bazaar SG 

นี่ยังไม่นับไอดอลระดับโลกอย่าง “ลิซ่า” กับการเป็นพรีเซนเตอร์ให้แบรนด์ระดับโลกอย่าง Celine หรือ “แจ็กสัน หวัง” (王嘉爾) กับแบรนด์ Armani และ Fendi เพราะแม่จีนนั้นเวลา ‘ทุ่ม’ เขาทุ่มกันสุดตัว แถมยังแข่งกันบลัฟว่าใครเปย์มากกว่าหรือทำสถิติได้มากกว่ากันอีกด้วย นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมแบรนด์ทั้งหลายจึงวิ่งหาพรีเซนเตอร์ที่เป็นไอดอลและมีแฟนคลับจำนวนมากในประเทศจีน

Photo credit: Daman

จากข้อมูลงานวิจัยเรื่อง “White Paper On Idol Industrial and Fan Economy in 2019” กล่าวว่าตลาดแฟนคลับในประเทศจีนมีมูลค่าสูงถึง 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเติบโตแบบก้าวกระโดดจากปี 2019 มายังปี 2020 ถึง 60% และในปีนี้คาดว่าจะเติบโตสูงถึง 21,600 ล้านดอลลาร์หสรัฐ 

นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมแฟนด้อมถึงมีอิทธิพลต่อทั้งตัวศิลปินและแบรนด์อย่างมากในปัจจุบัน

เงินเยอะ ปัญหาแยะ

ปัญหาของแฟนด้อมในประเทศจีนเริ่มกลายเป็นที่จับตามองของสังคมในหลายเรื่อง เริ่มตั้งแต่การทุ่มโหวตในรายการประกวดไอดอล “Youth with You 3” ซึ่งปรากฏภาพข่าวว่ามีกลุ่มแฟนคลับรวมเงินกันซื้อนมกล่องจำนวนมหาศาล ซึ่งเป็นสปอนเซอร์ของรายการกล่องแล้วมาเทนมทิ้งให้หมดเพื่อจะเอาเพียงแค่ QR codes ที่แถมกับนมทุกกล่อง นำไปโหวตให้กับผู้เข้าแข่งขันที่แฟนด้อมนั้นชื่นชอบและเชียร์อยู่ เหตุการณ์กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในจีนเป็นอย่างมาก ทั้งเรื่องพฤติกรรมแฟนคลับ ระบบในการโหวต วัฒนธรรมของแฟนด้อมที่กลับกลายเป็นว่าใครมีแฟนคลับมาก ทุ่มเงินได้มากก็ชนะไป มันจึงกลายเป็นเรื่องของระบบ เงิน และสปอนเซอร์เพียงเท่านั้น

Photo credit: Onehallyu

นอกจากนี้ยังมีเรื่องการทะเลาะเบาะแว้งและคุกคามกันในโซเชียลมีเดียอีกด้วย โดยเหตุกการณ์ที่อาจจะเป็นฟางสองเส้นสุดท้ายที่ทำให้เกิดการปฏิวัติวัฒนธรรมแฟนคลับในประเทศจีน นั่นก็คือแฟนฟิกชั่นของเซียวจ้านและหวังอี้ป๋อ ที่ไอดอลระดับท็อปของจีนทั้งสองคนถูกนำเอาคาแรคเตอร์มาเขียนเป็นแฟนฟิกในเชิงวาย จนทำให้แฟนคลับของเซียวจ้านไม่พอใจ กดดันจนสำนักพิมพ์จนต้องถอดแฟนฟิกชั่นเรื่องนั้นออกจากระบบ กลุ่มที่รณรงค์เรื่อง LGBTQ+ ในจีนเองก็โกรธและเกิดการเคลื่อนไหวให้แบนเซียวจ้าน จึงเกิดเป็นศึกระหว่างแฟนคลับของเซียวจ้านและกลุ่มต่างๆ ในโซเชียลมีเดียของจีน ที่ลุกลามใหญ่โตไปจนถึงขั้นที่แฟนคลับเซียวจ้านตามรุกรานขู่ฆ่าขู่ทำร้ายกลุ่มขั้วตรงข้าม

Photo credit: Quora

และฟางเส้นสุดท้ายก็คือกรณีของ “คริส วู”​ หรือ “อู๋อี้ฝาน” (吴亦凡) นักร้องที่ถูกจับกุมในข้อหาล่วงละเมิดทางเพศ แต่แฟนคลับกลับให้กำลังใจและโทษเหยื่อ (ซึ่งมีมากกว่าหนึ่งคนและเป็นผู้เยาว์) ไปจนถึงมีข้อความในโซเชียลที่พยายามจะชวนกันไปแหกคุกเพื่อช่วยคริสออกมา จนกลายเป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างใหญ่โตว่าความคิดเช่นนี้ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาในกลุ่มคนรุ่นใหม่หรือกลุ่มแฟนคลับของศิลปินได้อย่างไร 

“หวยจึงมาออกที่ทางการจีนได้ลุกขึ้นมาออกกฎ

ปฏิวัติวัฒนธรรมแฟนด้อมครั้งใหญ่”

ปฏิวัติวัฒนธรรมแฟนด้อม หรือ ควบคุมโซเชียลมีเดียและวงการบันเทิง? 

ปลายปีที่ผ่านมา สำนักงานบริหารไซเบอร์สเปซแห่งประเทศจีน (Cyberspace Administration of China : CAC) ได้ออกประกาศสิ่งที่เรียกว่า “มาตรการชิงหล่าง” (清朗-饭圈乱象整治) เพื่อควบคุมแฟนด้อมในโซเชียลมีเดียโดยเฉพาะ สิ่งที่น่าสนใจของมาตรการนี้ก็คือ การยกเลิกชาร์ตการจัดอันดับความนิยมของเหล่าศิลปินดารา ทางการมองว่าหากยกเลิกการแข่งขันกันได้ ก็จะอาจจะช่วยลดความพยายามในการใช้เงินเข้าแทรกแซงเรื่องต่างๆ ของบรรดาแฟนด้อม และนอกจากนั้นยังห้ามไม่ให้มีการ “ใช้เงินเพื่อโหวต” ในรายการวาไรตี้ออนไลน์ที่เกิดขึ้นใหม่อีกด้วย เพื่อป้องกันปัญหาเรื่องทุ่มโหวตอย่างกรณีนมกล่องที่ผ่านมา 

นอกจากนั้น ในส่วนของแฟนด้อมของศิลปินต่างๆ ที่มีในโซเชียลมีเดียจีนก็โดนเต็มๆ ทั้งห้ามชักชวนให้มีการระดมทุน กวาดล้างกลุ่มต่างๆ ในโซเชียลที่เป็นกลุ่มพูดคุยเรื่องอื้อฉาวของศิลปินดารา กลุ่มรวมตัวกันปั่นยอดต่างๆ รวมถึงกลุ่มแฟนคลับที่รวมตัวกันเพื่อสนับสนุนศิลปิน ซึ่งจะต้องได้รับการอนุญาตหรือรับรองจากทางสตูดิโอของศิลปินดาราก่อนด้วย เรียกได้ว่านี่คือการเข้ามาสอดส่องและวางกฎระเบียบอย่างเข้มงวดและเต็มที่ของทางการจีนครั้งแรกในวัฒนธรรมไอดอลบนแพลตฟอร์มออนไลน์ 

ไม่เพียงแค่กลุ่มแฟนคลับเท่านั้นที่ถูกควบคุมอย่างเข้มงวด แต่วงการบันเทิงจีนก็โดนหางเลขไปด้วย ทั้งการห้ามเผยแพร่รายการเรียลลิตี้โชว์เฟ้นหาดาราศิลปินไอดอล ห้ามไม่ให้มีเด็กอายุต่ำกว่าเกณฑ์เข้าร่วมรายการวาไรตี้และเรียลลิตี้โชว์ นอกจากนี้ หากเป็นรายการที่มีการเปิดให้โหวตก็ต้องมีมาตรการที่โปร่งใส ป้องกันการทุ่มโหวตอีกด้วย

Photo credit: True ID

ยิ่งไปกว่านั้น ยังกำหนดมาตรฐานใหม่ขึ้นมาไม่ว่าจะเป็นรายการบันเทิงของจีน ที่จะต้องสร้างสรรค์และส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมจีน ต่อต้านแนวคิดทุนนิยม ไม่นำเสนอความหรูหราร่ำรวยฟุ้งเฟ้อ (ก่อนหน้านี้ยูทูบเบอร์รายการประเภทกินจุก็โดยสอยร่วงไปหมดแล้ว) และยังต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสังคมวัฒนธรรมจีน ที่สำคัญคือการแสดงความคิดเห็นต่างๆ ผ่านสื่อบันเทิง ซึ่งต้องมีการควบคุมให้อยู่ในแนวทางที่ถูกที่ควรในสายตาของทางการจีน

แน่นอนว่าการเข้ามาควบคุมของรัฐอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในครั้งนี้ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของวัฒนธรรมแฟนด้อมในประเทศจีน ซึ่งอาจจะหยุดชะงัก ไม่เติบโต หรือแม้แต่เงียบหายไปเลย กับการสั่นคลอนเศรษฐกิจที่เรียกว่า ‘Fan economy’ ที่กำลังเติบโตมหาศาล จนทำให้แบรนด์ทั้งหลายต้องแตะเบรกว่าแล้วจะเอายังไงกันต่อ ในขณะเดียวกัน มันก็นำมาสู่ประเด็นที่ใหญ่ไปกว่านั้น ซึ่งก็คือทุกอย่างต้องกลายเป็น ‘จีน’ ในแบบที่รัฐอยากให้เป็น 

อ้างอิง

Xinhua Net

Sup China

Sage Journals

Global Times