Life

มองเชียงใหม่ในมุมที่ต่างออกไป กับ ‘อาจารย์ภู’ ผู้ออกแบบความสัมพันธ์ ระหว่าง 'คน' กับ 'พื้นที่' ผ่านวิชาสถาปัตย์อย่างสร้างสรรค์

“วิชาสถาปัตย์ที่ดีต้องพัฒนาเมืองอย่างสร้างสรรค์ได้จริง” คือ ประโยคแรกๆ ที่ผู้เขียนนึกถึงหลังจากสัมภาษณ์ ‘อาจารย์ภู – จิรันธนิน กิติกา’ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ซึ่งเป็นทั้งอาจารย์ นักพัฒนา นักออกแบบ นักต่อรอง และเป็นอีกหลายๆ บทบาท เพื่อให้จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของตนเองมีมุมมองใหม่ที่น่าสนใจ โดยพร้อมจะขับเคลื่อนและสร้างแรงบันดาลใจ ผ่านนักศึกษา คนในพื้นที่ และชุมชนอย่างยั่งยืน

“เราตั้งโจทย์ชีวิตว่าอยากต่อยอดความรู้ด้านสถาปัตย์ ซึ่งเชียงใหม่เป็นเมืองมหา’ลัย การเป็นอาจารย์เลยน่าจะเป็นอีกโจทย์ที่ทำให้เราอยู่เชียงใหม่ได้”

จุดเปลี่ยนที่ทำให้อยากพัฒนาเมืองอย่างสร้างสรรค์

"การไปเรียนโท-เอกที่ญี่ปุ่นทำให้เราได้ความรู้ความเข้าใจด้านสถาปัตยกรรมใหม่ๆ เราเห็นว่าสถาปัตยกรรมไม่ได้เป็นแค่อาคาร แต่มันเกี่ยวข้องกับระดับเมืองและชุมชน ตัวอาคาร และผู้คน ซึ่งทั้งหมดมันเชื่อมโยงเข้าหากัน วิชาชีพเรามันจึงมีความหมายกับเมือง เวลาไปญี่ปุ่นก็จะเห็นเมืองที่มันมีอิฐ มีภูมิทัศน์ที่สวยงาม ซึ่งผ่านการออกแบบที่ไม่ได้เกิดจากความบังเอิญ มันคือการพัฒนาไปเรื่อยๆ โดยใช้สถาปัตย์เป็นเครื่องมือ เราจะเห็นผังเมืองที่ดี การวางผังชุมชนที่ดี การออกแบบอาคารที่ดี ลงไปถึงสเกลที่เป็นเรื่องของคน วิชาชีพเราจึงเป็นประโยชน์ต่อการออกแบบเมือง พออยู่ญี่ปุ่นเราจะคิดถึงบ้านเกิดที่เชียงใหม่ตลอดเลยว่า บ้านเรามีต้นทุนที่ไม่ได้ต่างกันเลย ความคิดนี้ทำให้เรากลับมาที่เชียงใหม่ มาเป็นอาจารย์ที่มองเมืองแบบใหม่ คือเอาต้นทุนของเมืองเป็นโจทย์ให้กับสถาปัตย์และโจทย์ในการเรียน มันเลยนำพาผมออกมาทำงานเมืองมากมาย"

“ผมคิดว่าความแตกต่างเป็นคุณสมบัติของมนุษย์ พอเรามีมายาคติกับอาชีพอาจารย์ว่าจะต้องมีภาพลักษณ์หรือบุคลิกภาพชุดเดียว ต้องขรึม สุภาพ มีมาดวิชาการ มันเลยทำให้เราจองจำความหมายของอาจารย์ไป” 

ผมพยายามบอกตัวเองว่าเป็น "คนชื่อภูที่ทำอาชีพอาจารย์" ไม่ได้เป็นอาจารย์ภู 

"ผมคิดว่าอาจารย์ทุกคนไม่เหมือนกัน พยายามไม่ฝืนใจตัวเองในตำแหน่งและหน้าที่ที่เราเดินเข้าเลือกใช้ อาชีพอาจารย์สถาปัตย์ คือคนให้ความรู้ สร้างโอกาสให้นักศึกษา และแลกเปลี่ยนกัน เราทำหน้าที่ให้ความรู้และการแลกเปลี่ยนบนพื้นที่ให้ดีที่สุด ด้วยทุกอย่างที่เราเป็น เราเลยไม่ได้จำกัดว่า เป็นแค่อาจารย์ในช่วงเวลาทำงาน แล้วนอกเวลาจะเป็นตัวเอง แต่ผมจะเดินเข้าไปในอาชีพที่รู้สึกว่าใช่ เพราะทุกอันคือแพชชั่นของเรา เราเข้าไปในห้องเรียนแล้วรู้สึกว่าเต็มที่และอยากให้ อยากได้รับ อยากแลกเปลี่ยน จบออกมานอกห้องก็เชื่อมโยงเมืองมาเป็นความรู้ ผมเลยรู้สึกว่าตัวตนของเราสำคัญในทุกๆ อาชีพ"

“การซื้อเสื้อผ้าก็เหมือนซื้อสื่อการสอน เราแต่งตัวไปสอนอย่างมีความสุข เพราะอยากให้ทุกคนเข้าใจยุคสมัยของสถาปัตย์”

วิชาสถาปัตยกรรมในแบบฉบับอาจารย์ภู

"ผมสอนอยู่ 2 วิชาหลัก คือ ‘ปรัชญา ทฤษฎี และประวัติศาสตร์ทางสถาปัตยกรรม’ วิชานี้จะสอนประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมตั้งแต่สมัยใหม่ไปจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นแพชชั่นแรกๆ ของผม เพราะผมต้องการให้ทุกคนเข้าใจประวัติศาสตร์ทางสถาปัตย์แบบสนุกๆ มันคือการศึกษาภูมิหลังของสังคม การเมือง ศิลปะ แฟชั่น ที่มันเป็นสถาปัตย์ ผมใช้แพชชั่นกับวิชานี้มาก เพราะแต่งตัวไปสอน เอาดนตรี เอาหนัง เอาศิลปะ เข้าไปเพื่อให้ทุกคนเข้าใจบริบทของเวลานั้น ทำให้เราเข้าใจว่า การได้มาของสถาปัตยกรรมแต่ละยุคสมัยไม่ได้เกิดจากการคิดเองเออเอง แต่มันมาจากบริบททางสังคม การเมือง ดนตรี ศิลปะ อีกวิชาคือ ‘วิชาสตูดิโอออกแบบสถาปัตย์’ ซึ่งผมเบื่อโจทย์จำลองมากๆ ก็เลยพานักศึกษาไปเมืองจริงๆ ที่ทั้งเหม็น ร้อน รก ไร้ระเบียบ แล้วก็ดึง 2 ประเด็นที่คิดว่าใหม่ในการทำงานสถาปัตย์คือ วัฒนธรรมท้องถนน (Street Culture) เพราะผมคิดว่าสถาปนิกชอบเอาตัวเองตัดขาดจากความเป็นจริง ชอบงานเนี้ยบ งานสวยงาม แต่งานของผมถูกคิดจากคนกับพื้นที่ นิยามสถาปัตกรรมของผมคือ ความสัมพันธ์ของคนกับพื้นที่ ไม่ใช่อาคารในสเกลอะไรก็ได้ เราจะได้เอาความรู้จริงๆ ของเมืองไปใช้ อันนั้นเป็นแพชชั่นในการออกแบบที่ทำให้ผมได้ศึกษา เจอชุมชน เจอผู้คน เจอประเด็นในเมืองมากขึ้น”

เพราะการแต่งตัวคือเครื่องมือในการต่อรอง

"ผมชอบการแต่งตัวอยู่แล้ว เรารู้สึกว่าการแต่งตัวคือเครื่องมือในการอยู่ร่วมกับสังคม ถ้าเราไม่ต้องการต่อรองอะไรเลย เราก็แต่งตัวตามสมัยนิยม แต่ถ้าเราต้องการใช้เครื่องมือเพื่อเปิดเผยและต่อรองจุดยืนบางอย่าง หรือความเชื่อบางอย่าง บางคนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ชาวกระเหรี่ยง หรือปกาเกอะญอ เขาก็ใส่ชุดท้องถิ่นเพื่อแสดงตัวตน เสื้อผ้าจึงเป็นเครื่องมือต่อรองความเป็นตัวเอง และผมรู้สึกสนุกกับการใช้เครื่องมือนี้ในชีวิตประจำวัน พอเรียนสถาปัตย์และสอนสถาปัตย์ เราก็ได้เห็นว่า แต่ละยุคสมัย แต่ละดีไซเนอร์ สี และรูปทรงของเสื้อผ้า สามารถใช้สื่อสารและเปิดประเด็นการออกแบบได้ด้วย"

“ผมไม่ได้มองตัวเองว่าแฟชั่น ผมเป็นนักต่อรอง ที่พยายามต่อรองความหมายของอาจารย์ และต่อรองความรู้ทางสถาปัตย์ให้เห็นว่าโลกมันกลม ผู้คน เสื้อผ้า สังคม ศิลปะ และสถาปัตย์ มันเป็นเรื่องเดียวกัน”

แฟชั่นที่ทำให้คนเข้าถึงและดูเรียบง่าย

"ส่วนใหญ่ไม่มีใครรู้ว่าผมเป็นอาจารย์ (หัวเราะ) เขาคงคิดว่าเป็นอีเวนต์ออร์แกไนเซอร์หรือดีไซน์เนอร์ เพราะผมค่อนข้างเป็นตัวของตัวเอง แต่ผมว่านี่คือข้อดีที่ทำให้เขารู้สึกว่าเราไม่ได้มีระดับ ทำให้มันดูเรียบง่าย บางทีก็มีการหยอกล้อกัน ผมรู้สึกว่าคนไทยชอบแซวกัน น้องเสื้อส้ม น้องผมแดง ผมก็จะหันไปมองเขาด้วยรอยยิ้ม ผมอยากต่อรองความหมายระหว่างนักวิชาการกับอาจารย์ เพราะเราถูกจองจำจากความเรียบร้อยและความสุภาพ ซึ่งบางทีก็ทำให้เราห่างจากความเป็นจริงของผู้คน มันทำให้อึดอัด ผมว่าคนที่ถือสิ่งเหล่านั้นมันเหนื่อยนะ ต้องตื่นมารีดเสื้อผ้าและทำตัวเนี้ยบตลอดเวลา ดังนั้น เสื้อผ้าหรือแฟชั่นที่ผมใช้ มันขึ้นอยู่กับบริบทของวันนั้น”

“ตอนปีแรกที่เข้ามาสอน ผมอยากเล่าเรื่องพังค์ เลยแต่งตัวพังค์ลายสก๊อต ทำผมทรงโมฮอว์ก มีเด็กปี 2 ทักว่าเหมือนผ้าปูโต๊ะ และเขาก็หัวเราะกัน ถามว่าเสียเซลฟ์ไหม ก็รู้สึกนิดนึง แต่เรามีจุดยืนและมีความหมาย ก็เลยถ่ายรูปและโพสต์ลงเฟสบุ๊ก รูปนั้นเลยกลายเป็นไวรัล” 

เพราะไม่เกิดการยอมรับ การเป็นตัวเองจึงยาก

"คนไม่เข้าใจในการแต่งตัวของเรา เขาไม่รู้ว่าเราแต่งไปเพราะอะไร แต่พอมีคนแชร์โพสต์นั้นหลักพัน มันก็ทำให้ผมเป็นที่รู้จักในแวดวงคนเชียงใหม่ หลังจากนั้นก็ได้ไปเดินแบบเสื้อผ้าที่มีความเชื่อคล้ายกับเรา เหมือนได้รับการต้อนรับกลับบ้านอีกครั้ง หลังจากหายไปอยู่ญี่ปุ่นนาน 5-6 ปี กับสังคมที่เปลี่ยนไป จากที่จะกดทับเวลาผมแต่งตัว ทั้งแซว ทั้งด่า ซึ่งตัวเราในตอนวัยรุ่นซึ่งต้องการการยอมรับก็รู้สึกเสียใจว่าไม่ชอบสิ่งที่มานำเสนอเหรอ พอแก่ตัวและได้ไปอยู่มาหลายที่ ทั้งอเมริกา ญี่ปุ่น ผมเห็นได้เลยว่าทุกคนชื่นชอบความแปลก แต่คนไทยชอบแซวหรือติฉิน มันเลยทำให้คนไม่กล้าเป็นตัวเองและไม่กล้าแปลก แวดวงดีไซน์ของประเทศไทยก็เลยมีลักษณะคล้ายๆ กัน หลายคนต้องการการเป็นที่ยอมรับมากกว่าการเป็นตัวเอง"

“นักศึกษาเขาสนุกกับเรา แต่ช่วงปีแรกจะไม่ค่อยมีใครเข้าใจผมเท่าไหร่ ส่วนใหญ่ผมจะสอนปี 3 กับปี 5 แต่คนอื่นก็จะงงกับเราว่า ทำไมตานี่ใส่แดงทั้งตัวมา ทำไมต้องแต่งตัวแบบในยุคมิลลิเนียมมาสอน ทำไมวันนี้ร็อกหรือป๊อบจัง แต่คนที่อยู่ในคลาสผมจะเข้าใจว่ามันคือเรื่องที่ผมจะพูด และบริบทที่จะสอน”

วิธีก้าวข้ามผ่านการถูกบุลลี่

"การบุลลี่คือ การใช้คำพูดดูถูก การมองในเชิงลบ ใช้เพื่อหว่านล้อมและทำร้ายกัน ผมว่าการใช้คำพูดมาทำร้ายกันนั้นไม่ดีในทุกมิติ เพราะเป็นการบอกว่า ความคิดเห็นหรือสิ่งๆ นั้นผิด ทั้งที่เราเป็นมนุษย์ เราต้องเคารพสิทธิของแต่ละคน สิทธิขั้นพื้นฐานคือการเป็นตัวเอง ถ้าเราเคารพกัน ทุกคนก็จะเคารพกัน มันเป็นจิตสำนึกสาธารณะชุดแรกของคน ในประเทศเราค่อนข้างจะยาก เพราะเราไม่มีจิตสำนึกสาธารณะ เราไม่มีพื้นที่สาธารณะและไม่มีความเป็นสาธารณะ แต่สิ่งที่ผมต่อรองได้คือเขาไม่ใช่เรา นั่นคือสิ่งที่เขาคิด ไม่ใช่ผม สิ่งที่เขาคิดและกระทำกับเรา ถ้ามันไม่ได้เป็นประโยชน์ก็คืนเขาไป ไม่ต้องคิด เพราะถ้าถือไว้มันก็จะทำร้ายเรา ไม่ต้องเก็บกลับมา ฉะนั้น ผมคิดว่าอะไรที่คนสื่อสารมา และเรารู้สึกว่าไม่มีประโยชน์ ก็ไม่ต้องไปแคร์มัน"

วิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์อยู่ในทุกพื้นที่ 

“ผมคือคนทำงานสถาปัตยกรรมหลัก ที่ทำอาคาร ทำบ้าน ทำตึก มันคือ เรื่องของ 'คน กับ พื้นที่ และ อาคาร' อาคารจึงสัมพันธ์กับคนมากๆ เพราะเราใช้อยู่ ใช้กิน ใช้สื่อสาร ใช้แสดงความสัมพันธ์ในแต่ละยุคสมัย เราจะติดกับดักกับประเภทอาคาร เช่น บ้าน มีหลังคาหลายรูปทรงที่กันแดดได้ ห้องนอนไม่จำเป็นต้องขนาดเดียวกัน เพียงแค่เข้าใจบริบทของคนรอบข้างและในชุมชน เราก็สามารถออกแบบอาคารให้มันดีขึ้นได้ ถ้าเราถอดวิชาชีพนี้ออกมา เราจะเห็นได้ว่า นักออกแบบเมือง ออกแบบอาคาร หรือ ออกแบบสถาปนิก มีความสำคัญมากๆ ในการเชื่อมโยงผู้คน ชุมชน และเมือง ในวิชาชีพของผม เราคือคนตรงกลางที่ออกแบบความสัมพันธ์ระหว่างคนกับพื้นที่ในหลายๆ รูปแบบ"

“เวลาคนจีนมาเชียงใหม่ เราชอบพูดกันว่าเขาเดินไม่เป็นที่เป็นทาง ไม่รักษากฎ แต่ลองมองดูสิว่าเมืองเราไม่มีทางเดินที่เรียบร้อย ไม่มีแกนวัดที่สวยงาม เขาเลยใช้พื้นที่สะเปะสะปะ มีพื้นที่เกย พื้นที่แปรดิน พื้นที่ยื่นและต่อรอง นี่คือความสัมพันธ์ของคนกับเมืองที่สถาปนิกไม่ได้ออกแบบ”

เพราะการพัฒนาเมืองไม่ใช่หน้าที่ของใคร แต่เป็นหน้าที่ของทุกคน

"ผมทำงานกับชุมชน ทำงานเมือง ผมไม่ได้ทำเพราะต้องทำ แต่ทำเพราะผมเป็นคนเชียงใหม่และอยากเห็นเมืองเชียงใหม่ที่ดีขึ้น ดังนั้น ผมใช้กำลังและความรู้ของที่มีตอนนี้มาทำงานให้กับเมือง นี่คือเป้าหมายของการมีชีวิตของผู้คน เราเกิดมาเพื่อส่งต่อให้รุ่นลูกรุ่นหลานได้ดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะเราส่งต่อสิ่งดีๆ เราต้องเป็นประชาชนที่ตื่นรู้ เป็นคนที่ขับเคลื่อน ใช้ความรู้และสัมมาอาชีพที่มีในการขับเคลื่อน แล้วเมืองพวกนี้จะดีขึ้นเอง การพัฒนาเมืองไม่ใช่หน้าที่ของนักการเมืองเพียงอย่างเดียว มันคือเราทุกคน เราแค่เป็นตัวอย่างให้คนเห็นว่า อาจารย์ที่แต่งตัวเป็นผีบ้า คนเชียงใหม่ 1 คน นักวิชาการ สถาปนิก ก็ทำงานเมืองได้"

“ผมว่าการเข้าเรียนในมหา’ลัยไม่ได้มาเพื่อเอาความรู้แล้วออกไป มันต้องเข้ามาเพื่อที่จะทดลอง เป็นตัวเอง เพื่อหางาน หาเงิน หาชีวิตที่มีความสุขในอนาคตได้ด้วยตัวเอง ดังนั้น เราต้องเติมให้กัน”

ฟีดแบ็กจากลูกศิษย์

"เขาบอกว่าผมเต็มที่กับการสอนและโปรเจ็กต์มากๆ เขารู้สึกว่า การที่อาจารย์ให้ความสนใจและเติมไฟให้ตลอดเวลาเพื่อไม่ให้หมดหวัง ทำให้เขารู้สึกว่าอยากจะทำมันให้ดี รู้สึกว่ามีคนรอดูผลงาน มีคนที่เดินข้างเขา ผมเป็นอาจารย์ที่คอยอยู่ข้างๆ และเติมไฟ หาความเป็นไปได้อื่นๆ ไม่ลดทอนความเป็นตัวเอง  และเราไม่ได้มองเขาว่าเป็นนักศึกษา แต่เขาจะเป็นตัวเองที่มีความรู้ต่อยอดจากเรา เพราะโลกไม่ได้ต้องการอาจารย์ภูคนที่ 2 โลกต้องการนักศึกษาคนใหม่ๆ ที่สร้างความรู้ใหม่ๆ ให้กับเมือง แต่เขาต้องต่อยอดจากความรู้ที่เรียนมาให้ได้มากกว่าเรา เพราะโลกนี้ต้องมีมหาวิทยาลัย โรงเรียนออกแบบ และโรงเรียนสถาปนิกต่อไป โรงเรียนต้องเป็นพื้นที่ให้โอกาส และผมพยายามสร้างโอกาสให้นักศึกษาเยอะมาก เช่น เวิร์กชอปกับต่างชาติ สร้างความสัมพันธ์ต่างๆ ในการทำงานเมือง มีความรู้อะไรก็ตามให้เขาพยายามสร้างพอร์ต มันไม่ได้เป็นแค่แฟ้มเอกสาร แต่เป็นตัวสร้างประสบการณ์ เพราะโลกนี้ต้องการซอฟต์สกิล คือสถาปนิกที่เป็นทางเชื่อมระหว่างผู้คนและเมือง ประเด็นของชุมชนต่างๆ ที่ออกมาเป็นงานดีไซน์บ้าง โอกาสจึงเป็นสิ่งที่ผมสร้างให้กับนักเรียน และผมอยากให้โอกาสพวกเขาในฐานะที่เรามาเจอกัน ในพื้นที่ที่เรียกว่ามหาวิทยาลัย"

“ผมพยายามบอกกับนักศึกษาตลอดว่า โอกาสการเป็นนักเรียนมันคุ้มค่ามาก เพราะเป็นช่วงเวลาที่เราโง่ได้ ไม่รู้ได้ แล้วก็เป็นช่วงเวลาที่มีคนคุ้มกันเต็มไปหมดเลย เราควรใช้ช่วงอายุของการเป็นนักศึกษาสถาปัตย์ 5 ปีนี้ให้คุ้มค่า เรียนรู้จากสิ่งที่ไม่รู้ เพราะหลังจากนั้นคือชีวิตจริง เราต้องรับเอง เล่นเอง เจ็บเอง”

ตั้งโจทย์และประเด็นให้ได้ก่อนลงพื้นที่

"ผมไม่ได้มองว่าตัวเองให้อะไรกับชุมชน แต่มองว่าเมืองมีประเด็นอะไร ผมสามารถที่จะตั้งคำตอบได้ถ้าไม่ลงชุมชนก่อน เพราะแต่ละเมืองจะผลิตโจทย์มาให้ และเรารู้ว่าจะออกแบบอะไร ผมรู้สึกว่าได้ทำงานร่วมกันกับชุมชนมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นงานสเกลเล็กหรือใหญ่ ผมรู้สึกว่ามันเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างผมกับชุมชน ภาคประชาสังคม ผู้คน และผู้ประกอบการตลอดเวลา ดังนั้น ในงานที่ผมทำ ผมไม่ได้ติดกับดักว่าออกมาต้องเป็นอะไร อย่างเก้าอี้ 1 ตัวที่ร่วมกันออกแบบกับคุณป้า ผมว่านั่นมันเป็นดีไซน์และคำตอบแล้ว หรือความทรงจำที่ออกมาเป็นหนังสือที่เขียนร่วมกับคนในชุมชน นี่ก็คือการบันทึกประวัติศาสตร์ ผ่านภูมิทัศน์ทางสถาปัตย์ แม้กระทั่งการเดินพาคนชมเมืองก็คือการนำเสนอพื้นที่เมือง และสิ่งที่ปรากฎบนพื้นที่ทางสังคมเมือง แม้กระทั่งการออกแบบเทศกาลที่เพิ่งทำไปอย่าง ‘คนข้าวยาคู’ ผมพยายามจับมือระหว่างภาคประชาคม ที่ร่วมกันระหว่างภาคประชาสังคมและผู้ประกอบการ เพื่อให้ชุมชนมันปรากฏตัวขึ้นมา พยายามดึงเทศกาลขึ้นมาให้คนได้ทำงานร่วมกัน เกิดพื้นที่ และความหมายใหม่ๆ ให้กับเมืองได้ มันคือการทำงานเชิงร่วมมืออย่างมีส่วนร่วม"

สิ่งที่เห็นได้ชัดจากการใช้วิชาสถาปัตยกรรมเข้ามาทำงาน หรือเชื่อมโยงกับผู้คนและสังคม

"สเกลของมนุษย์และผู้คน งานสถาปัตย์จะออกมามีความหมายกับเมืองมากกว่าแค่ชิ้นงานในกระดาษ พื้นที่ที่มีความหมาย เช่น ละแวกบ้านตรงนี้เป็นละแวกที่ต้องคุ้มครอง ก็เป็นข้อมูลใหม่ของเมือง หรือเจดีย์เหล่านี้เกี่ยวข้องยังไง เครือข่ายมันเป็นยังไง เป็นความรู้เชิงผังชุมชน ความรู้เรื่องประวัติศาสตร์เมือง มันก็จะออกมาเป็นความรู้ทางสถาปัตย์ เช่น ผังเมืองเก่าเป็นยังไง ภูมิทัศน์ทางประวัติศาสตร์อยู่ตรงไหน การพัฒนาเมืองสมัยใหม่ทำให้เมืองเปลี่ยนรูปยังไง หรือแม้กระทั่งต่อยอดกลายเป็นแบรนดิ้ง เช่น เวลาทำเทศกาล ทำอีเวนต์กับเมือง เราดึงสถาปัตย์บางอย่างมาเป็นเครื่องหมายและความรู้ เช่น แกนวัด ซุ้มประตู เราใช้สถาปัตย์ออกมานำเสนอในด้านที่ไม่มีอัตลักษณ์ อย่างช้างม่อยก็เป็นย่านที่มีอัตลักษณ์ร่วมสมัยเยอะมาก ทั้งตึกแถว อาคารประวัติศาสตร์ อาคาร Co-Working Space ผู้คนที่เป็น Digital Nomad ซึ่งแต่ละเมือง แต่ละมุมก็มีโจทย์ที่แตกต่างกัน ดังนั้น ความรู้ทางสถาปัตย์ถูกต่อยอดให้กลายเป็นการออกแบบเชิงบูรณาการ ซึ่งเป็นทั้งงานดีไซน์นิทรรศการ งานความรู้วิชาการ ความรู้ที่เป็นหนังสือ แม้กระทั่งอีเวนต์ที่จัดทำเพื่อสร้างความหมายของลานสาธารณะและพื้นที่ทางสังคม"

 

ความท้าทายการทำงานร่วมกัน ระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า

"ทั้งคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ ต่างมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกัน แต่ผมไม่อยากเหมารวมว่าอายุแบบนี้คิดเท่านั้น ผมถือว่าทุกคนที่มาทำงานกับผมเป็นคนที่ตื่นรู้และเป็นประชากรเชิงรุกมากๆ พวกเขาอยากทำอะไรให้กับเมือง แต่กับดักของมันจะมีอยู่ 2 แบบ คนที่ทำงานในอดีตก็จะโตมากับโครงสร้างที่แข็งแกร่งและต้องต่อรอง คนที่มีอายุเยอะกว่าก็จะทำงานแบบใช้อารมณ์นำหน้า เล่นกับการดีลกับผู้ใหญ่ องค์กร และสื่อ เขาจะต่อรองเป็นผู้ตรงข้ามมากๆ ซึ่งอันนี้เป็นวิธีคิดแบบเจเนอเรชั่นที่เก่าแล้ว แต่การทำงานกับคนรุ่นใหม่มันน่าสนใจ เพราะต่างคนต่างอยู่และเคลื่อนไหวด้วยประเด็นเดียวกัน แค่ยังไม่สามารถจับกลุ่มกันเป็นก้อนได้ คนรุ่นใหม่ไม่ได้มองว่าทุกอย่างเป็นปัญหา เพราะเขามองว่ามันเป็นไปได้ แต่ข้อเสียคือ เขาขาดต้นทุนของความรู้ หรือการทำงานของเขาจะปุ๊ปปั๊บ และทำงานเป็นจุดๆ แต่คนรุ่นเก่าจะทำงานเป็นพื้นที่ใหญ่ๆ เล่นกับพลังงานใหญ่ๆ เห็นผลทางกายภาพมากกว่า"

“การทำงานกับทั้งคนเก่าและใหม่ ผมรู้สึกว่ามันคือการสร้างเครือข่ายเพื่อให้เกิดสิ่งที่เป็นไปได้ บางงานอาจต้องให้คนรุ่นเก่านำ คนรุ่นใหม่ซัพพอร์ต บางงานอาจต้องให้คนรุ่นใหม่นำ คนรุ่นเก่าซัพพอร์ต”

ฟีดแบคของทั้งคนรุ่นใหม่และรุ่นเก่า

"ผมได้ยินทั้งที่ดีและไม่ดี การที่เรามีความสุขกับคำชมอย่างเดียว มันก็จะเกินจริงไปหน่อย อย่างการทำงานย่านต่างๆ ในภาคประชาสังคม เราจะขับเคลื่อนผ่านประเด็นศิลปะ วัฒนธรรม ความจริงแท้ของเมือง พอได้ลงเข้าไปในมิติของคนในชุมชนจริงๆ ก็รู้เลยว่า ศิลปะวัฒนธรรมบางชุดเป็นข้ออ้างของรัฐ ขับเคลื่อนผ่านเครื่องมือโดยปราศจากผู้คน แต่ตัวผู้คนต่างหากที่เป็นความหมายของเมือง ดังนั้น หลังจาก 1-2 ปีแรกที่ผมลงพื้นที่ ผมเปลี่ยนมุมมองไปตามหาผู้คนที่เห็นเขาน้อยลง ไปดูว่าผู้คนที่ผลิตต้นทุนเก่าไปไหนหมด ดังนั้นก็จะเห็นว่า ผู้คนมีประเด็นที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละยุคสมัย คำชมจากการทำงานที่ประสบความสำเร็จก็มีเยอะ แต่ละงานเราต้องถ่อมตัวเองให้ได้ว่ามีข้อเสียอย่างไร ในฝั่งของคนรุ่นใหม่ ส่วนใหญ่จะชื่นชอบความเป็นไปได้ของงานเมืองต่างๆ เพราะเขามีส่วนร่วมและเป็นผู้คิดด้วย แต่ข้อเสียคือ การทำเมืองอย่างเป็นเครือข่ายหลายๆ คนจำเป็นต้องใช้กลุ่มคนมาเปิดประเด็นและแชร์ร่วมกัน จึงจำเป็นต้องถ่อมตัวเพื่อดูว่าอะไรคือข้อดีและข้อเสีย เพื่อให้งานพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ" 

จุดต่างระหว่าง ‘เชียงใหม่’ กับ ‘กรุงเทพฯ’

"เชียงใหม่อาจด้อยกว่ากรุงเทพฯ ในเรื่องที่การปกครองตัวเองไม่ได้ ด้วยต้นทุนทางเศรษฐกิจที่น้อยกว่า แต่ต้นทุนที่เรามีไม่แพ้คนอื่นเลยคือ ต้นทุนทางวัฒนธรรมของผู้คน คนเชียงใหม่มีลักษณะที่เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ทางสังคม และภูมิทัศน์เมืองที่ทำให้เราเป็นคนที่มีรสนิยมกับธรรมชาติ มีสุนทรียะกับการกินการอยู่ มีความเรียบง่ายที่ค่อนข้างต๊ะต่อนยอน เพราะหาได้ยากที่จะมีเมืองในโลกที่นั่งกินกาแฟทั้งวัน คนในเมืองสนใจการแต่งตัว วัยรุ่นมีพื้นที่การปรากฎตัว เรามีต้นทุนของดนตรี อาหาร และธรรมชาติที่ดี นั่นคือจุดเด่นของเรา เชียงใหม่เป็นเมืองที่มีชาติพันธุ์และมีคนพลัดถิ่นมาตั้งแต่ไหนแต่ไร มีผู้คนที่เข้ามาเรียนหนังสือ มีชาวต่างชาติที่เป็น Digital Nomad เป็นความหลากหลายและเป็นต้นทุนที่ดีมาก เชียงใหม่ไม่ได้แช่แข็งวัฒนธรรมตัวเอง เพราะเรามีวัฒนธรรมที่แข็งแกร่งมากๆ ซึ่งเกิดจากผู้คน"

โปรเจ็กต์ที่จะทำงานร่วมกับชุมชนหรือย่านอื่นๆ

"ที่ทำอยู่ตอนนี้คือโปรเจ็กต์ ’เชียงใหม่ เมืองแห่งการเรียนรู้’ (Chiang Mai Learning City) ซึ่งงานวิจัยนี้ผมถือมาปีที่ 2 แล้ว เพราะอยากต่อยอดต้นทุนของเมืองใหม่จากชุมชนให้สว่างขึ้นมา และกลายเป็นต้นทุนที่ปกป้องผู้คน เราออกแบบจากความจริงของเมือง จากการใช้จริงๆ ของผู้คนที่อาศัยอยู่ เอามาออกแบบเมืองให้ได้ ช้างม่อยคือหนึ่งในชุมชนที่เราลงพื้นที่ แต่ไม่ได้ทำแค่นี้ เราจะสร้างย่านที่เรียกว่าเศรษฐกิจละแวกบ้านมาให้ได้ โดยเชื่อมชุมชนช้างม่อย ชุมชนล่ามช้าง ชุมชนควรค่าม้า เพื่อเป็นต้นแบบเศรษฐกิจละแวกบ้าน ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่อยากทำให้เมืองต่อเนื่องกันในเรื่องระบบนิเวศการเรียนรู้เมือง คนที่มาเชียงใหม่ก็ไปเอาประสบการณ์การเรียนรู้จากผู้คน ชุมชน ประเพณี และความร่วมสมัยของแต่ละเมือง แต่ละชุมชน ภาพใหญ่ที่จะทำคือพยายามขยายให้ใหญ่ระดับเมือง ทำให้คนเดินจากท่ารถช้างเผือก เดินผ่านควรค่าม้า เที่ยวล่ามช้าง ไปช้างม่อย แล้วไปออกขนส่งมวลชนที่เป็นกาดหลวง พยายามทำถนนวัฒนธรรมขึ้นมาให้ได้ พยายามเชื่อมต่อชุมชนเมืองตรงนี้ให้กลายเป็นเศรษฐกิจต้นแบบ เศรษฐกิจละแวกบ้าน และต้นทุนทางวัฒนธรรม นี่คือสิ่งที่กำลังทำอยู่สำหรับปีนี้และปีหน้า สิ่งที่พยายามทำตลอดคือ สร้างโจทย์ใหม่ๆ ของเมืองและออกแบบร่วมกัน ตอนนี้ผมย้ายตัวเองมาอยู่ในเมืองเก่าแล้ว เพราะอยากอยู่บ้านในเมืองที่เดินไปไหนก็ได้ เป็นส่วนหนึ่งของคนจัดกิจกรรมและเทศกาลเมือง อีกอันหนึ่งที่ผมอยากทำคือหามิตรสหายมาร่วมทำถนนเส้นสิงหราชให้มันน่าเดิน แต่ทำในภาคของเอกชนครับ"

อุปสรรคคือความท้าทาย

"ไม่มีทางที่ทำงานแล้วจะไม่มีอุปสรรค แต่ว่าผมเปลี่ยนมันเป็นความท้าทาย ปัญหาที่เจอในการทำงานคือการสื่อสาร เพราะแต่ละคนจะมีความเข้าใจและประสบการณ์ที่ต่างกัน เวลาคุยเรื่องอะไรผมจะเร็ว แต่ต้องอาศัยการอธิบายเพื่อให้คนบางกลุ่มเข้าใจภาพที่มันจะเป็นไปได้ ที่สำคัญคือ ต้องทำให้เห็นก่อนว่ามันเป็นไปได้ การสื่อสารและความไม่เข้าใจเลยถูกแก้ด้วยการทำให้เห็น ซึ่งผมมองว่านี่คือยุคสมัยของการเปลี่ยนผ่าน การที่เราเจออุปสรรคและพยายามหาคำตอบ เวลามีอุปสรรคมันไม่เห็นน่ากลัวเลย เพราะเป็นเรื่องที่ต้องเจออยู่แล้ว"

การเมืองท้องถิ่นที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานกับชุมชน

"การเมืองที่เจอมันน่าสนใจนะ ถ้าพูดตรงๆ ตอนนี้ผู้คนต่างคนต่างอยู่กันเยอะ คนที่อยู่ไม่เข้าใจในหน้าที่ของตนเอง แม้กระทั่งคนที่ดูแลหน้าที่ของเรา เขาไม่ได้ทำงานตามเจตจำนงค์ในสิ่งที่มันควรจะเป็น เช่น รัฐ หรือ องค์กรรัฐต่างๆ หน้าที่ของคนทำงานเมืองคือการยกระดับคนที่อยู่ เราอยากอยู่เมืองแบบไหนก็ต้องส่งเสียง มีผู้คนและเครือข่ายที่ทำให้เราอยู่อย่างนั้นได้ ฉะนั้น การเมืองที่เกิดขึ้นเกิดจากแต่ละกลุ่มคนมีประเด็นการขับเคลื่อนที่แตกต่างกัน มันเลยทำให้เรื่องๆ หนึ่งเกิดขึ้นหลายมิติ ทั้งที่มันเป็นเรื่องเดียวกัน"

“การเมืองท้องถิ่นทำให้ผู้คนและพื้นที่ต่างคนต่างอยู่ ซึ่งจริงๆ แล้วมันควรจะหันหน้าเข้าหากัน เพรามันคือเมืองเดียวกัน ควรจับมือเชื่อมโยงกัน ไม่ได้บังคับให้คิดเหมือนกัน แต่ให้ทุกคนสามารถเชื่อมต่อและเชื่อมโยง เพื่อยกระดับเมืองไปพร้อมๆ กัน”

“ผู้คนตรงนั้นต้องเป็นผู้ร่วมคิดร่วมทำ เพราะผมไม่ได้เป็นฮีโร่ แต่การพูดคุยและความเข้าใจจะทำให้เราสามารถผลิตโจทย์และสมมติฐานของงานชุมชนนั้นได้”

หัวใจสำคัญของการทำงานออกแบบเชิงสร้างสรรค์

"ผมเข้าไปในชุมชนเพราะตั้งใจจะทำกลไกการอยู่ร่วมกันระหว่างคนในชุมชน ผู้ประกอบการ และย่านนั้นๆ คนข้าวยาคูจึงเป็นหนึ่งในแซนด์บ็อกซ์ของการทำงานเชิงรุกเพื่อสร้างกลไกของผู้คน มันไม่ได้หมายความว่าเราต้องการทำงานที่ยิ่งใหญ่ แต่ผลงานเกิดจากการทำงานร่วมกัน เพราะฉะนั้น ในงานคนข้าวยาคูที่ผ่านมาก็จะมีทั้ง ไซคีเดลิค ดีเจ ตู้คาราโอเกะ แมปปิ้ง ทุกอย่างที่พูดมาคือการตีความหมายใหม่ของวัด เพราะวัดเป็นพื้นที่สาธารณะ ผู้คนมันก็เปลี่ยนไปแล้ว มองงานจากพื้นที่ขนทรายเป็นพื้นที่จัดแสดงงาน ผู้คนช้างม่อยทั้งคนใหม่และคนเก่าช่วยกันประกอบให้เกิดสิ่งนั้นขึ้นมา ผมไม่มีคำตอบ แค่รู้ว่ากระบวนการคือการคิดร่วม คำตอบคือการบูรณาการความเป็นไปได้ให้เกิดขึ้น ซึ่งผมเป็นสถาปนิก และจะมองว่ามันคือการรื้อเพื่อสร้างความหมายใหม่ให้แก่พื้นที่เมือง ชุมชน วัด"

“เพราะเมืองไม่ได้เป็นของคนรุ่นใหม่อย่างเดียว แต่เป็นของคนรุ่นเก่าด้วย เราต้องเซฟทั้งอดีตและอนาคต ผู้คนในเมืองจึงเป็นผู้ตัดสินใจและเป็นอีกหนึ่งความหวัง ให้ได้แรงบันดาลใจและออกมาทำงานเพื่อเมือง”

ความคาดหวังทั้งการเป็นอาจารย์และการทำงานกับชุมชน 

“คาดหวังอยู่สองอย่างคือ หนึ่ง ให้ทุกคนเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ต่อตัวเมือง เพราะผมรู้สึกว่าบางทีเราก็ติดกับดักของเมืองอนุรักษ์ เมืองประเพณี เมืองประวัติศาสตร์มากเกินไป จนทำให้คนที่ถือมันเหนื่อยนะ ต้องทำให้มันเก่า เป็นบ้านไม้ หรือกลับไปในอดีตตลอดเวลามันเหนื่อย เพราะทุกอย่างมันเปลี่ยนไปแล้ว และอยากให้มองเมืองเป็นเมืองวัฒนธรรม ซึ่งคือเมืองที่เราใช้ แล้วเราจะอยู่ในเมืองได้อย่างมีความสุข ไม่ได้อยู่กับมันอย่างจัดตั้ง หรือต้องแต่งชุดเมืองในวันศุกร์วันเดียว แต่เราแต่งเพราะเรารู้สึกสบาย หาซื้อง่าย ราคาถูกและเราภูมิใจ ความเป็นไปได้เหล่านี้เกิดขึ้นจากผู้คนและวัฒนธรรมเลย เพราะวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่บอกให้เราทำและใช้อยู่จริง อันที่สองคือ ผู้คนที่เข้ามาทำงานเมือง ผมรู้สึกว่าทุกคนชอบรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่ามากพอในการขับเคลื่อนเมือง ซึ่งไม่จริง ผมไม่ได้เก่งกว่าใครเลย ไม่ได้มาจากตระกูลใหญ่ ไม่ได้ร่ำรวยหรือเป็นอาจารย์ที่มีอำนาจ แต่ผมคือคนที่ไม่ยอมให้เมืองเราเป็นเหมือนเดิม อยากให้ทุกคนที่ทำงานกับผมคือคนตัวเล็กเหมือนกันและต่างเติมพลังให้กัน เราจะช่วยกันเพื่อให้เมืองนี้เป็นเมืองของผู้คน อยากให้เกิดแรงบันดาลใจและมีผู้คนทำงานเมืองออกมาเรื่อยๆ"

“เราจะไม่ได้มาเชียงใหม่เพราะเทศกาลหรือมาถ่ายรูป แต่เรามาเพราะผูกพันและต้องการนำประสบการณ์ ณ ช่วงเวลานั้นจากผู้คนที่เรารู้จักและมีความสัมพันธ์ด้วย ผมอยากให้เชียงใหม่เป็นเหมือนบ้านของทุกคน ที่มาแล้วรู้จักเพื่อนคนใหม่ มาแล้วผูกพัน มาแล้วอยากกลับมาช่วยอีก อยากมาอยู่อีก มันต้องเป็นเมืองที่ดี”

หน้าตาของเชียงใหม่ (สร้างสรรค์) ที่คาดเดาไว้ในอีก 10 ปีข้างหน้า

"มันคงสนุกขึ้น มีสีสันมากขึ้นแน่นอน อีกหน่อยเราจะสามารถตั้งเมืองเชียงใหม่ที่สร้างสรรค์ครับ แต่โจทย์คือในแต่ละชุมชน แต่ละย่านจะมีอัตลักษณ์ของตัวเอง จะมีผู้คนของตัวเองที่แข็งแกร่ง ที่ผลิตวัฒนธรรมขึ้นมาเรื่อยๆ ครับ ทุกชุมชนและทุกย่านจะเห็นความเป็นไปได้จากงานเมืองมากมาย แล้วผู้คนในเชียงใหม่จะกลับมาช่วยเหลือเมืองตัวเอง และมีความหวังเพื่อให้ชุมชนนั้นอยู่ได้ ชุมชนจะเจริญและชุ่มชื้น โดยที่คนตรงนั้นจะเป็นผู้พัฒนาเอง และดึงรัฐเข้ามาทำงานร่วม เกิดภาคประชาสังคมในหลากหลายวัย เพศ ภาษา ชาติพันธุ์ ทำงานร่วมกัน เมืองสร้างสรรค์ของเชียงใหม่ ไม่ต้องติดกับดักไปที่เมืองหลวง แต่สร้างเครือข่ายของตัวเอง ดีลกับปูซานหรือเมืองวัฒนธรรมมัณฑะเลย์ เว้ คือเราเป็นเครือข่ายกับทั้งโลกนี้ได้แล้ว" 

ติดตาม ‘อาจารย์ภู’ ได้ที่

Facebook: Chiang Mai Learning City

Instagram: phuwakitika