Culture

สหภาพแรงงานสร้างสรรค์: ว่าด้วยการรวมตัวของ ‘ฟรีแลนซ์’ เพื่อความฝันที่แข็งแกร่งยิ่งกว่าเดิม

บทวิเคราะห์เรื่องตลาดฟรีแลนซ์ในประเทศไทย โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ตลาดฟรีแลนซ์ไทยมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องราว 3.9% ต่อปี โดยในปี 2561 มีมูลค่าประมาณ 4.8 แสนล้านบาท และมีจำนวนฟรีแลนซ์ราว 1.9 ล้านคนต่อปี ต่อมาในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 หรือระหว่างการระบาดของโรคโควิด-19 จำนวนฟรีแลนซ์ที่ลงทะเบียนกับเว็บไซต์ Fastwork มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด หรือกว่า 2.3 เท่าเมื่อเทียบกับในช่วงปี 2559 - 2562 ซึ่งการประกาศรับงานบน Fastwork ล้วนแล้วแต่เป็นงานที่อยู่ใน ‘อุตสาหกรรมสร้างสรรค์’ ทั้งสิ้น 

ในขณะที่ ‘งานฟรีแลนซ์’ ​ถูกมองว่าเป็นอาชีพที่ให้ความอิสระกับผู้ทำงาน จะอยู่ที่ไหน หรือเมื่อไรก็สามารถทำงาน และได้เงิน ถือว่าเป็นความยืดหยุ่นของชีวิตตามไลฟ์สไตล์ Work-Life Balance ที่กำลังฮิตในปัจจุบัน ทว่า คนทำงานในนามฟรีแลนซ์กลับไม่ได้รับการคุ้มครองในฐานะแรงงานที่มีสิทธิ์จะได้รับการดูแลจากนายจ้าง และรัฐ คล้ายเป็นการผลักภาระให้พวกเขาต้อง ‘ดูแลตัวเอง’ ไม่ได้ค่าตอบแทนที่คุ้มค่ากับงานที่ทำ และนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่

Photo Credit: Jeanne Tanwarat

หากการรวมตัวก่อให้เกิดอำนาจ อาชีพฟรีแลนซ์ก็อาจถูกสรรค์สร้างมาให้เป็นแรงงานที่ไร้อาวุธ จนไม่สามารถลุกขึ้นมาต่อรองต่อสู้ และเรียกร้องสิทธิที่พวกเขาพึงมีได้ EQ คุยกับ ‘จีน’ – ธัญวรัตม์ สมบัติวัฒนา ฟรีแลนซ์ โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ และส่วนหนึ่งของสหภาพแรงงานสร้างสรรค์แห่งประเทศไทย (Creative Workers Union Thailand หรือ CUT) สหภาพที่ชวนแรงงานผู้สร้างสรรค์โลกใบนี้ มาเปลี่ยนแปลงชีวิตคนทำงานสื่อ ศิลปะ วัฒนธรรม และงานสร้างสรรค์ เพื่อสร้างความเท่าเทียมยุติธรรมให้กับทุกคนในสังคม 

แรงงานสร้างสรรค์คือใคร?

“คำว่าแรงงานสร้างสรรค์มีหลายนิยาม ถ้าจะเอาในแนวทางที่สุดโต่งไปเลย ก็จะนับว่า แรงงานทุกคนคือ แรงงานสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ คนขับแท็กซี่ หรือพนักงานใน BTS ทุกคนล้วนกำลังสร้างสรรค์โลกใบนี้อยู่ในรูปแบบต่างๆ ด้วยแรงงานของเขา แต่ตัวสหภาพแรงงานสร้างสรรค์ยังไม่ได้วางตัวสุดโต่งขนาดนั้น ตอนนี้เราจึงนิยามแรงงานสร้างสรรค์ว่าเป็นบุคคลที่อยู่ในงานด้านสื่อ ศิลปะ วัฒนธรรม และงานสร้างสรรค์ทั้งหมด แบ่งออกเป็น 7 สาขา คือ หนังสือและสิ่งพิมพ์, สื่อและมัลติมีเดีย, ทัศนศิลป์, ดนตรี, ห้องสมุด มรดก และพิพิธภัณธ์, สถาปัตยกรรมและการออกแบบ และการศึกษา ซึ่งในตอนนี้เรามีสมาชิกแล้วทั้งหมด 721 คน”

Photo Credit: CUT สหภาพแรงงานสร้างสรรค์

สหภาพแรงงานสร้างสรรค์เริ่มต้นได้อย่างไร?

“สหภาพเริ่มต้นจาก 2 คน คือ อิง (ไชยวัฒน์ วรรณโคตร) กับไนล์ (เกศนคร พจนวรพงษ์) ซึ่งอิงเป็นนักนโยบาย ส่วนไนล์เป็นนักเขียนการ์ตูน ทั้งคู่เป็นคนทำงานการเมืองเหมือนกัน แต่พอหลังจากที่เขาทำงานการเมืองไปสักพัก ไนล์ซึ่งเป็นนักวาดก็เจอรูปแบบการจ้างงานที่ค่อนข้างเอาเปรียบเขาในหลายรูปแบบ เขาจึงมีความคิดที่อยากจะทำสหภาพขึ้นมา พอดีกับอิงที่นอกจากจะเป็นนักนโยบายแล้ว ก็ยังเป็นนักสหภาพที่มีความรู้เรื่องสหภาพ และทำงานกับขบวนการแรงงานมาอย่างยาวนาน เขาเลยรวมตัวกัน แล้วก็เริ่มทำสหภาพแรงงานสร้างสรรค์ขึ้นมา จากนั้นก็เริ่มเดินสายไปคุยกับคนในแวดวงต่างๆ เช่น ภาพยนตร์ สื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งจีนก็เข้ามาในช่วงที่เขามาคุยกับคนทำภาพยนตร์นี่แหละ”

Photo Credit: CUT สหภาพแรงงานสร้างสรรค์

อะไรคือความเจ็บปวดของฟรีแลนซ์?

“ปัญหาร่วมกันของแรงงานสรางสรรค์คือเรื่องสัญญาจ้าง”

“พอพูดเรื่องสัญญาจ้าง มันกลับเป็นเหมือนเรื่องที่น่าเบื่อ แต่จริงๆ ไม่ใช่เลย มันเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะมันมากับความมั่นคงของการจ้างงาน ถ้าเราทำงานในบริษัท หรือในโรงงานก็แล้วแต่ การที่เรามีสัญญาจ้าง เรามีเอกสารรับรองทางกฎหมายว่า สภาพการจ้างงานของเราจะเป็นธรรม แล้วเราจะได้รับค่าจ้างตรงเวลา เราจะได้รับการคุ้มครองสิทธิ์อะไรบ้างในการจ้างงานนี้ แต่คนทำงานสร้างสรรค์ หรือถ้ากว้างไปอีกนิดก็คือ คนทำงานอิสระ ซึ่งถือว่ามีเยอะมากในตลาดงานตอนนี้ กลับไม่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายในการจ้างงาน เพราะว่าไม่มีการทำสัญญาจ้าง แล้วก็ไม่สามารถรวมตัวกันเป็นสหภาพได้ด้วย จึงทำให้คนกลุ่มนี้เป็นแรงงานที่มีความเปราะบาง”

Photo Credit: CUT สหภาพแรงงานสร้างสรรค์

ทำไมการรวมตัวกันถึงเป็นเรื่องยาก?

“เหตุผลที่แรงงานตั้งสหภาพไม่ได้ มี 2 ส่วน ส่วนแรกคือ เรื่องกฎหมาย คือพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ที่อนุญาตให้แรงงานตั้งสหภาพได้แค่สองรูปแบบ นั่นคือ สหภาพแรงงานนายจ้างคนเดียวกัน (House Union หรือ Company Union) และสหภาพแรงงานประเภทกิจการเดียวกัน (Industrial Union) แต่ยังไม่มีสหภาพแรงงานทั่วไป (General Union) ที่สามารถรวมกันข้ามอุตสาหกรรมได้ เมื่อเป็นแบบนี้ เราจึงไม่สามารถไปจดจัดตั้งสหภาพตามกฎหมายได้ ซึ่งถ้าเราสามารถทำได้ มันก็จะมีความคุ้มครองที่มากับกฎหมายอีก แปลว่า สหภาพที่ไม่ได้ตั้งตามกฎหมายดังกล่าว จึงเป็นสหภาพที่ไม่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย” 

“ส่วนที่สองคือ เรื่องของวัฒนธรรม ที่การทำงานสหภาพอาจจะหายไปจากความคุ้นชินทางวัฒนธรรมของคน รวมไปถึงว่าเราอยู่ในสังคมวัฒนธรรมหลักที่เป็นเสรีนิยมใหม่ (Neoliberalism) แล้วยิ่งเป็นศิลปิน ก็ยิ่งมีความคิดว่า เราต้องสร้างตัวเอง มีความเป็นปัจเจกชนนิยมสูง ความคิดเรื่องการรวมตัวจึงไม่ค่อยได้รับความนิยม หรือไม่ค่อยเป็นที่รู้จักเท่าไร ทำให้ในเชิงวัฒนธรรมมีความลำบากเหมือนกันในการรวมตัว และอีกปัจจัยที่ทำให้มันยากคือ พอเป็นแรงงานอิสระแปลว่า เราไม่ได้อยู่ด้วยกันทุกวัน ไม่เหมือนคนที่ทำงานในโรงงานเดียวกัน หรือในสำนักงานเดียวกัน ที่เขาจะเจอกันทุกวัน ไปกินข้าวกลางวันด้วยกัน ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ก็รวมตัวกันได้ง่ายกว่า เพราะเขามีคนที่เชื่อใจได้ เขาชวนกัน หรือโน้มน้าวกันและกันได้ แต่พอเป็นฟรีแลนซ์ เป็นแรงงานอิสระ เราจะไม่ค่อยได้เจอกัน ซึ่งอันนี้ก็มีส่วนที่ทำให้ยากด้วย”​

Photo Credit: CUT สหภาพแรงงานสร้างสรรค์

ข้อเรียกร้องในนามของคนทำหนังมีอะไรบ้าง?

“ตัวจีนเป็นคนทำหนัง เราได้เข้ามาร่วมกับสหภาพตอนหลัง แต่สิ่งที่น่าสนใจมากคือ เมื่อสหภาพแรงงานสร้างสรรค์เริ่มประกาศรับสมาชิก เปอร์เซ็นต์ของคนที่สมัครเข้ามาสูงที่สุดคือ ‘คนทำหนัง’ คือในทั้งหมด 700 กว่าคน เป็นคนที่อยู่ในสาขาสื่อ และมัลติมีเดียประมาณ 270 - 280 คน และส่วนใหญ่เป็นคนทำงานกองถ่าย เหตุผลเป็นเพราะ มันมีสภาพการทำงานที่ค่อนข้างหนัก และเอาเปรียบมาก คนก็เลยมีความโกรธ หรือเขาเริ่มรู้แล้วว่า สิ่งที่เป็นอยู่มันไม่ถูกต้อง แต่ก่อนหน้านี้อาจจะไม่มีทางออก ไม่รู้ว่าต้องแก้ไขอย่างไร เพื่อให้สภาพการจ้างงานมันดีขึ้น พอมีสหภาพแรงงานสร้างสรรค์เกิดขึ้นมา เขาก็เลยเห็นว่า อันนี้อาจจะเป็นทางออกของเขาได้ คนก็เลยมาสมัครเป็นสมาชิกกันเยอะ” 

“หลักการของการทำสหภาพคือ ข้อเรียกร้องของสหภาพต้องมาจากสมาชิก และข้อเรียกร้องของคนทำหนังมีอยู่ 4 ข้อด้วยกัน ข้อหนึ่งคือ ชั่วโมงการทำงานเด็ก เด็กในกองถ่ายไม่ได้รับการคุ้มครองในเรื่องชั่วโมงการทำงาน ซึ่งมันมีผลกระทบต่อพัฒนาการ หรือสร้างบาดแผลทางใจให้กับเขา ข้อสองคือ ชั่วโมงการทำงาน เรื่องของการลดชั่วโมงการทำงาน เพราะชั่วโมงการทำงานของกองถ่ายบางประเภทยาวนานมาก อย่างพวกซีรีส์ ที่มีชั่วโมงการทำงานยาวถึง 16 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งอันนี้เป็นข้อเรียกร้องที่สำคัญของเรา ข้อสามคือ เรื่องความปลอดภัยในกองถ่าย ในกองถ่ายมีการทำงานที่เกือบเหมือนไซต์ก่อสร้างเลย นั่นคือมีการขึ้นเครนต่างๆ แต่กลับไม่มีการดูแลเรื่องความปลอดภัย ทำให้เกิดอุบัติเหตุในกองถ่าย เช่น มีคนตกจากที่สูง หรือเรื่องชั่วโมงการทำงานที่อาจส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุได้ และข้อสี่คือ สัญญาจ้างที่เป็นธรรม ให้การจ้างงานทั้งหมดของกองถ่ายมีการทำสัญญาจ้าง และสัญญาจ้างนั้นต้องเป็นธรรมกับแรงงาน”

Photo Credit: CUT สหภาพแรงงานสร้างสรรค์

ความสำเร็จของสหภาพแรงงานสร้างสรรค์คืออะไร?

“ต้องบอกว่ามันเป็นงานระยะยาว การทำงานในสังคมทุนนิยมได้อย่างแข็งแรง อย่างไรก็ต้องมีสหภาพ ดังนั้น เป้าหมายสำคัญของสหภาพแรงงานสร้างสรรค์คือ การสร้างวัฒนธรรมการรวมตัวให้เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรม แล้วก็ทำให้มันกลายเป็นองค์ระยะยาว ที่เป็นแหล่งอำนาจให้กับแรงงาน เป็นเครื่องมือที่เขาสามารถใช้ต่อรองกับนายจ้าง และกับอุตสาหกรรมได้ และหน้าที่หนึ่งของสหภาพคือ การไปทำให้คนเขาอยากรวมตัวกัน ไปทำให้เขารู้ถึงอำนาจของตัวเอง แล้วก็รวมตัวกันเองขึ้นมา ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มมีการรวมตัวกันเองขึ้นแล้วในวงการภาพยนตร์ เริ่มเห็นการรวมตัวกันเองของทีมเสียง ที่เขารวมตัวกันแล้วตั้งเพจขึ้นมาพูดเรื่องค่าแรง มีการรวมตัวของคนเขียนบทเพื่อจัดตั้งเป็นองค์กรของเขาเอง มีคนตัดต่อที่เขาคุยกันมานานแล้ว และล่าสุดก็เห็นมีนักแสดง ที่เขาเริ่มคุยกันว่า อยากรวมตัวกัน” 

“และความสำเร็จหนึ่งของอุตสาหกรรมภาพยนตร์คือ หลังจากเราส่งข้อเรียกร้อง 4 ข้อให้กับทางกรรมาธิการ มันก็ทำให้เกิดการรับรู้มากขึ้นในวงการ คือก่อนหน้านี้ไม่มีการคุยกันอย่างเปิดเผยขนาดนี้ อย่างเรื่องสภาพการจ้างงานที่มันแย่ 16 ชั่วโมงคือรับไม่ได้ แต่หลังจากเริ่มทำแคมเปญ ก็เริ่มกลายเป็นความรู้สึกร่วมของคนทั้งวงการว่า 16 ชั่วโมงนี้ไม่โอเค จีนเคยฟังทอล์กของผู้ประกอบการท่านหนึ่ง เขาก็บอกว่า เขาเห็นด้วยกับเรา และพยายามคุยกับนายทุนของเขาให้เพิ่มงบ เพื่อที่เขาจะสามารถลดชั่วโมงการทำงานได้ มันเป็นเหมือนการตระหนักรู้ร่วมของคนในวงการว่ามันไม่โอเค เราต้องทำอย่างไรก็ได้ ด้วยตำแหน่งแห่งหนที่เรามีในอุตสาหกรรมนี้ เพื่อให้สภาพการจ้างงานดีขึ้น จีนว่าอันนี้คือความสำเร็จที่สำคัญในช่วงปีที่ผ่านมา”

Photo Credit: CUT สหภาพแรงงานสร้างสรรค์

ต้องกลัวอำนาจทุนใหญ่ไหม?

“เรื่องนายทุนถือเป็นคำถามที่สำคัญ ส่วนตัวจีนไม่กลัว คนรุ่นใหญ่ก็ยังไม่ค่อยรู้ว่าจะเจออะไรบ้าง คือเราจินตนาการไม่ออกว่า สิ่งที่เราจะเจอมันจะเป็นอย่างไร ก็เลยทำให้เราไม่ค่อยกลัวเท่าไร แต่ก็มีรุ่นพี่ที่เขาเคยพยายามรวมตัวกัน เขาก็บอกให้เราระวัง เพราะพอมันเริ่มไปสั่นคลอนอำนาจของคนที่เขากุมอำนาจอยู่มากๆ บางทีมันก็จะมีอะไรสะท้อนกลับมา และนี่ก็อาจจะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้คนรวมตัวกันยากด้วย แต่จีนคิดว่ามันเป็นเรื่องของการต้องทำให้การรวมตัวเป็นเรื่องของคนส่วนใหญ่ ถ้าเราเป็นคนส่วนน้อยไม่กี่คนที่ลุกขึ้นสู้ เราก็จะกลัว แต่ถ้าเรารู้สึกว่า เรามีเพื่อนมากมาย เราทั้งหมดกำลังทำเพื่อชีวิตที่ดีของพวกเราอยู่ มันก็น่าจะทำให้ความกลัวนั้นน้อยลง แต่ก็เป็นความท้าทายที่สำคัญเหมือนกัน ที่ต้องทำให้คนรู้สึกว่ามีเพื่อน และเราสามารถลุกขึ้นสู้ได้ แล้วเราก็จะไม่ล้มเพียงคนเดียว” 

ติดตามความเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานสร้างสรรค์ และจีนได้ที่

Facebook: CUT สหภาพแรงงานสร้างสรรค์ และ Jeanne Tanwarat

อ้างอิง

Suan Sunandha International School of Art
BLT Bangkok