Culture

ความรัก ความเศร้า และชีวิตที่สูญสิ้นความเป็นคน ของ ‘ดาไซ โอซามุ’

จริงอยู่ที่เมื่อถึงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี จะเป็นช่วงเวลาที่หันไปทางไหนก็จะเห็นสีแดงกับชมพู เหมือนถูกห้อมล้อมด้วยบรรยากาศอิ่มเอม คล้ายกับว่าได้กลิ่นความรักฟุ้งกระจายไปทั่วทั้งเมือง 

ไหนๆ เดือนนี้ก็มีแต่คนพูดถึงเรื่องความรักที่สมหวัง แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเมื่อมีรักก็ต้องมีทุกข์ มีสมหวังก็ต้องมีผิดหวัง มีจุดเริ่มต้นความรักที่พบกับจุดจบที่ไม่สวยงาม ไปจนถึงความรักที่เต็มไปด้วยความเจ็บปวดรวดร้าว ซึ่งเป็นสิ่งที่ใครๆ ต่างต้องเคยสัมผัสความรู้สึกเหล่านี้อย่างน้อยสักหนึ่งครั้งในชีวิต 

Photo Credit: wikipedia

เช่นเดียวกับ ดาไซ โอซามุ (Dazai Osamu) ชายที่สร้างชื่อจากงานเขียนหลายเล่มทั้งเมียชายชั่ว (Villon's Wife) อาทิตย์สิ้นแสง (The Setting Sun) และสูญสิ้นความเป็นคน (No Longer Human) ผลงานส่วนใหญ่ของเขาเล่าถึงอารมณ์ความรู้สึก และชีวิตที่เต็มไปด้วยเฉดสีแบบต่างๆ ของตัวละครเอก ที่กลายเป็นว่าเมื่อมองไปยังชีวิตจริงของเขา ดาไซนำประสบการณ์ส่วนตัวมาเป็นแรงบันดาลใจในผลงานหลายเรื่อง ที่เผยให้เห็นว่าชีวิตของเขาพบกับความเจ็บปวดรวดร้าว เต็มไปด้วยความเละเทะล้มเหลวกว่าตัวละครในงานเขียนหลายเท่าตัวนัก

Photo Credit: paperyard / the momentum / maruma

‘ดาไซ’ กับ ‘โยโซ’ นั้นเหมือนจนแยกออกจากกันไม่ได้

จากการวิเคราะห์ของนักวิชาการ นักวิเคราะห์ และนักอ่านทั่วไป หลายคนมองตรงกันว่าเมื่อนำผลงานมาสเตอร์พีซอย่าง ‘สูญสิ้นความเป็นคน’ ที่ดาไซ โอซามุ เป็นผู้เขียน มาพิจารณาเข้ากับคำบอกเล่าของเพื่อนๆ ชายผู้นี้ได้สอดแทรกชีวิตจริงของตัวเองไว้ในตัวละครหลักของหนังสือสูญสิ้นความเป็นคนที่ชื่อ โอบะ โยโซ (Yozo Oba) แทบจะทุกช่วงของชีวิตเขาเลยก็ว่าได้ 

Photo Credit: wikipedia

หลายคนอาจไม่รู้ว่า ดาไซ โอซามุ คือนามปากกา และชื่อจริงๆ ของเขาคือ ชูจิ สึชิมะ (Shuji Tsushima) ชายที่เกิดเมื่อปี 1909 จากครอบครัวชนชั้นกลางค่อนไปทางสูงในจังหวัดอาโอโมริ พ่อของเขาอยู่ในแวดวงการเมืองญี่ปุ่น ส่วนแม่ร่างกายอ่อนแอ ป่วยง่าย และมีอาการเจ็บปวดเรื้อรังหลังคลอดลูกคนที่ 11 ทำให้ชีวิตวัยเด็กส่วนใหญ่ของเขาโตมากับคนรับใช้ของตระกูล 

ร่างกายของชูจิก็ไม่ค่อยแข็งแรงเหมือนผู้เป็นแม่ เขาเป็นหนอนหนังสือที่ชอบหมกตัวอยู่ในห้อง ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่านหนังสือของ อะคุตะงาวะ ริวโนะสุเกะ (Akutagawa Ryunosuke) ราชาเรื่องสั้นที่มีผลงานโด่งดังอย่าง ‘ราโชมอน’ 

ชีวิตของโยโซก็ไม่ต่างกันเลย เพราะบุคลิกในหนังสือเขียนไว้ว่า ‘ผมเป็นคนขี้โรคตั้งแต่เด็ก’ และมีสมาชิกในครอบครัวราวสิบคนเหมือนกัน เขาเป็นเด็กหนุ่มที่เกิดมาพร้อมความเพียบพร้อมทั้งหน้าตา ความรู้ ฐานะ ทว่าจิตใจของเขาเอาแต่หมกมุ่นกับการมีอยู่และการกระทำของมนุษย์ ชอบคิดว่ามนุษย์ดีแต่ใส่หน้ากากเข้าหากัน บางครั้งมนุษย์ก็ทำบางอย่างที่ไม่อยากทำเพื่อผลประโยชน์ ตั้งคำถามถึงการกระทำต่างๆ ของผู้คน หลายครั้งเขารู้สึกรังเกียจและไม่เข้าใจการมีอยู่ของมนุษย์เอาเสียมากๆ 

“แม้แต่กับคนในครอบครัว ผมก็เดาไม่ออกสักนิดว่าพวกเขามีความทุกข์แค่ไหน หรือมีชีวิตอยู่โดยคิดถึงอะไรบ้าง ผมเป็นแบบนี้มาตั้งแต่สมัยเด็ก ได้แต่หวาดกลัว ไม่อาจทนต่อบรรยากาศน่าอึดอัดในบ้าน”

ดาไซ โอซามุ (ด้านขวาแถวยืน) และพี่น้องผู้ชาย
Photo Credit: BSD biophile tumblr

แม้ในหัวจะเต็มไปด้วยความสงสัย แต่บุคลิกภายนอกของโยโซเป็นหนุ่มอารมณ์ขัน มีเสน่ห์ มีเพื่อนฝูงมากมาย เป็นที่ชื่นชอบในหมู่ผู้หญิง แต่จริงๆ แล้วการเก็บงำความไม่เข้าใจเอาไว้เพียงคนเดียวมากขึ้นเรื่อยๆ อาจคล้ายกับระเบิดเวลาที่รอให้ตัวเลขเดินถอยหลังจนถึงเลขศูนย์ และระเบิดทุกอย่างที่อยู่ตรงหน้าไปพร้อมกับตัวเขา เพราะเวลาโยโซอยู่คนเดียวจะรู้สึกเจ็บปวด ทรมาน และคิดถึงความตายอยู่บ่อยครั้ง

“ตอนนั้นผมสามารถสวมบทตัวตลกได้แนบเนียนแล้ว พูดอีกอย่างคือ รู้ตัวอีกทีผมก็กลายเป็นเด็กซึ่งไม่พูดความจริงแม้แต่คำเดียว”

“หากลองดูรูปที่ถ่ายกับครอบครัวในสมัยนั้น จะพบว่าในขณะที่คนอื่นๆ วางสีหน้าจริงจัง ผมกลับแสยะยิ้มประหลาดอยู่คนเดียวทุกครั้ง นี่คือหนึ่งในโฉมหน้าตัวตลกตัวน้อยแสนเศร้าที่ผมเคยแสดง”

ดาไซ โอซามุ (คนที่ 2 จากซ้าย) และครอบครัว
Photo Credit: BSD biophile tumblr

กลับมาทางฝั่งของชูจิอีกครั้ง เมื่อโตขึ้นเขาได้เข้าศึกษาต่อในด้านวรรณกรรม กล่าวกันว่าชูจิมีผลงานเรื่องสั้นมากถึงสองร้อยชิ้น เพราะพยายามสร้างสรรค์ผลงานให้ได้เหมือนอย่างริวโนะสุเกะ คล้ายกับว่าตอนนั้นชูจิเต็มไปด้วยแรงบันดาลใจ มีความหวัง และมีความฝัน จนกระทั่งทุกอย่างเริ่มเปลี่ยนไปเมื่อรู้ข่าวว่าริวโนะสุเกะซึ่งนักเขียนต้นแบบของเขา จากโลกนี้ไปด้วยการทำอัตวินิบาตกรรม 

ประเด็นการฆ่าตัวตายของโยโซก็ดันไปบรรจบกับช่วงชีวิตหนึ่งของชูจิ เพราะหลังทั่วประเทศลงข่าวการตายของริวโนะสุเกะ เด็กหนุ่มที่เปี่ยมด้วยพลังเปลี่ยนไปจากเดิม ไม่จับปากกาเขียนงานเหมือนก่อน ไม่เข้าเรียน ออกเที่ยวกลางคืนบ่อยขึ้น มีความสัมพันธ์กับหญิงโสเภณีและเกอิชาหลายคน สุดท้ายต้องถูกไล่ออกจากมหาวิทยาลัย และพยายามฆ่าตัวตายด้วยการกินยานอนหลับเกินขนาด แต่ไม่สำเร็จ

นักวิเคราะห์หลายคนมองว่าชูจิได้บอกเล่าเรื่องการพยายามฆ่าตัวตายครั้งแรกลงในผลงานตัวเองเช่นกัน แต่เขียนไว้สั้นๆ ในช่วงก่อนพบกับเกอิชาหญิง ทว่าข้อสันนิษฐานนี้ก็ยังไม่ได้รับการยืนยันว่าถูกต้องหรือไม่ร้อยเปอร์เซนต์ แต่มันก็ช่างเข้าเค้าเสียเหลือเกิน

“ในที่สุดผมตัดสินใจหนี แต่หนีแล้วกลับไม่รู้สึกดีขึ้น ผมจึงตกลงใจเลือกความตาย”

การพยายามฆ่าตัวตายครั้งแรกทำให้ครอบครัวเฝ้าดูเขาอย่างใกล้ชิดมากขึ้น ในปี 1930 ชูจิกลับเข้าเรียนอีกครั้งในมหาวิทยาลัยโตเกียว และมีความสัมพันธ์กับเกอิชาคนหนึ่ง ก่อนทั้งคู่ตกลงกันว่าจะฆ่าตัวตายพร้อมกันด้วยการเดินลงทะเล กลายเป็นว่าชาวประมงแถวนั้นพบเห็นและช่วยชีวิตเด็กหนุ่มได้ ทว่าเกอิชารายนั้นจมน้ำตายไปเสียแล้ว 

การพยายามฆ่าตัวตายครั้งที่สองของชูจิ สอดคล้องกับเนื้อเรื่องในสูญสิ้นความเป็นคนอีกครั้ง เพราะสาวเกอิชาในหนังสือที่ชื่อซึเนะโกะ ก็มีเรื่องราวคล้ายกับสาวเกอิชาในความสัมพันธ์จริงๆ ของชูจิ 

“คืนนั้นเราสองคนกระโดดลงทะเลคามากุระ ฝ่ายหญิงถอดโอบิออกมาพับวางไว้บนชะง่อนหิน โดยบอกว่าขอยืมของเพื่อนที่คาเฟ่มา ผมจึงถอดเสื้อคลุมวางไว้ด้วยกัน แล้วกระโดดลงน้ำกับเธอ… ผู้หญิงตาย ส่วนผมกลับรอด”

Photo Credit: BSD biophile tumblr

หลังจากนั้นชูจิได้แต่งงานครั้งแรกกับฮัตสึโยะ สาวเกอิชาคนใหม่ที่เขามีความสัมพันธ์ด้วย และเริ่มใช้ชื่อ ‘ดาไซ โอซามุ’ อย่างเป็นทางการ และกลับมาทำในสิ่งที่เขารักคือการเริ่มเขียนหนังสือ

เขาคือชายผู้ล้มเหลวในทุกความสัมพันธ์ 

หลังผ่านอะไรมามากพอสมควร ดาไซเขียนเรื่องสั้นได้หลายเรื่อง ผลงานของเขาเริ่มเป็นที่พูดถึงในหมู่นักอ่าน แต่ระหว่างเขียนงานเขามักดื่มไปด้วย และดื่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนมีอาการพิษสุราเรื้อรัง ควบคู่กับการพบว่าเขาไม่ได้แค่ติดเหล้า แต่ติดมอร์ฟีน ยาแก้ปวด และเจ็บป่วยเพราะวัณโรค

เช่นเดียวกับโยโซ ตัวละครนี้ก็มีนิสัยไม่ต่างจากดาไซ ตอนนั้นดาไซยังเป็นนักเขียนที่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ส่วนโยโซก็เป็นนักวาดการ์ตูนที่ไม่อาจเรียกตัวเองว่าเป็นศิลปินได้เต็มปาก และติดมอร์ฟีนเหมือนกับดาไซ 

“จากที่เคยคิดจะฉีดแค่วันละเข็มเดียว ปริมาณที่ใช้เริ่มกลายเป็นสองเข็มและสี่เข็มในที่สุด ตอนนั้นผมตกอยู่ในสภาพทำงานไม่ได้เลยถ้าขาดมอร์ฟีน”

จนกระทั่งในปี 1935 ดาไซพยายามฆ่าตัวตายครั้งที่สามด้วยการแขวนคอ แต่ก็ล้มเหลวเหมือนครั้งก่อนๆ อาการของเขาไม่สู้ดีนัก จนในปีถัดมา ดาไซถูกนำตัวส่งสถานบำบัดทางจิตเพื่อรักษาอาการติดสุราและสารเสพติด แต่พอออกมาได้ทราบข่าวร้ายว่า ในระหว่างเขารักษาตัว ภรรยาของเขาไปมีสัมพันธ์กับชายคนอื่น ดาไซจึงพยายามฆ่าตัวตายพร้อมกับภรรยา คราวนี้ทั้งคู่เลือกกินยานอนหลับเกินขนาด และก็ล้มเหลวอีกครั้ง ภรรยาของโยโซก็ไปมีสัมพันธ์กับชายอื่นเหมือนกัน ก่อนความสัมพันธ์ของทั้งสองจะจบลงด้วยการแยกทาง

“ผมรินน้ำใส่แก้วโดยระวังไม่ให้เกิดเสียง ค่อยๆ แกะกล่องแล้วเทยาทั้งหมดเข้าปาก ยกน้ำขึ้นดื่มจนหมดแก้วอย่างใจเย็น จากนั้นจึงปิดไฟเข้านอน…ผมหมดสติไปสามวัน หมอลงความเห็นว่าเป็นการกินยาเกินขนาดโดยไม่ได้ตั้งใจ จึงไม่แจ้งตำรวจ”

เหตุการณ์ช่วงที่ดาไซเข้ารับการรักษาในสถานบำบัดทางจิต ก็ถูกเอ่ยถึงในผลงานของเขา เพราะคนรอบข้างที่ทนเห็นสภาพของเขาไม่ไหว ตัดสินใจช่วยกันนำส่งเข้าสถานบำบัด โดยอ้างว่าจะพาไปรักษาวัณโรค การกระทำนี้ส่งผลต่อจิตใจของดาไซมาก เพราะในสูญสิ้นความเป็นคน ตัวละครโยโซเอื้อนเอ่ยในใจว่า 

“...ขึ้นรถมากับเขาโดยไม่ลืมไตร่ตรองหรือขัดขืน จนกระทั่งถูกพามายังที่แห่งนี้แล้วถูกตัดสินว่าเป็นคนบ้า ต่อให้กลับออกไปเดี๋ยวนี้ ผมก็คงไม่พ้นถูกตอกหน้าผากประทับตราเป็นคนบ้า… ไม่สิ… เป็นเศษมนุษย์อยู่ดี ตกต่ำเกินกว่าจะเรียกตัวเองว่ามนุษย์”

“ผมสูญสิ้นความเป็นคนโดยสมบูรณ์”

นอกจากการพยายามทำอัตวินิบาตกรรมล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำอีก ชีวิตรักของเขาก็พังทลายอีกครั้งเมื่อฮัตสึโยะขอแยกทาง ดาไซเริ่มมีความสัมพันธ์ครั้งใหม่กับผู้หญิงอีกคนที่ชื่อว่าอิชิฮาระ มิจิโกะ (Ishihara Michiko) ก่อนจะมีลูกด้วยกัน 3 คน ที่หลายคนมองว่าชีวิตของเขาอาจเข้าที่เข้าทางมากขึ้นเมื่อมีลูกๆ อยู่รอบตัว 

ดาไซ โอซามุ และอิชิฮาระ มิจิโกะ
Photo Credit: wikipedia

ทว่าดาไซยังคงมีอาการติดเหล้าเหมือนเดิม และมีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับ โอตะ ชิซึโกะ (Ota Shizuko) หญิงสาวที่มีความรู้เรื่องการเขียนนิยาย ที่มักจะคอยให้คำแนะนำดีๆ กับดาไซเสมอ และเขายังมีความสัมพันธ์กับแม่หม้ายอีกคนชื่อ ยามาซากิ โทมิเอะ (Yamazaki Tomie)

โอตะ ชิซึโกะ / ยามาซากิ โทมิเอะ

Photo Credit: wikipedia / wikipedia

ใครๆ ก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่าดาไซหลงใหลได้ปลื้มกับเธอเอามากๆ จนยอมทิ้งภรรยาและชู้รักคนก่อนมาอยู่กินกับชู้รักคนใหม่

ช่วงเวลาที่อยู่กับโทมิเอะ ดาไซหมกมุ่นอยู่กับการเขียนหนังสือสูญสิ้นความเป็นคน แต่ระหว่างนั้นอาการของเขาทรุดหนักลงเรื่อยๆ จะคาดว่าน่าจะอยู่ได้อีกไม่นาน ซึ่งความเจ็บปวดจากโรคเรื้อรังหลายอย่างก็ปรากฏอยู่ในหนังสือเช่นกัน 

“ยิ่งโหมทำงาน ผมต้องใช้ยาในปริมาณที่มากขึ้น จนกระทั่งค่ายาที่ค้างจ่ายคุณนายไว้เพิ่มจำนวนเป็นหนี้ก้อนโต เห็นหน้าผมทีไร คุณนายก็มักมีน้ำตาเอ่อคลอ ผมเองก็ร่ำไห้เช่นกัน …จนกระทั่งวันหนึ่ง ผมตัดสินใจเด็ดขาดว่าหลังฟ้ามืดจะฉีดยาทีเดียวสิบเข็ม แล้วกระโดดลงแม่น้ำให้สิ้นเรื่องสิ้นราวเสียที…”

หลังใช้เวลานานกว่าห้าเดือน สูญสิ้นความเป็นคนก็เดินทางมาถึงฉากจบ กลายเป็นนิยายเรื่องสุดท้ายที่เขาเขียนได้จนจบ 

เสมือนกับว่าเขาปลดเปลื้องพันธนาการ ดาไซเริ่มหยิบกระดาษหลายแผ่นขึ้นมา จรดปากกาเขียนพินัยกรรมและเขียนจดหมายถึงครอบครัว จากนั้นจึงเดินไปริมแม่น้ำกับหญิงหม้ายที่เขาหลงรัก แล้วกระโดดลงน้ำไปพร้อมกัน  

หลังความพยายามล้มเหลวมาตลอดชีวิต ในที่สุดดาไซวัย 38 ปี ผู้เจ็บป่วยทางจิตใจอย่างหนัก ก็สามารถทำอัตวินิบาตกรรมได้สำเร็จ 

Photo Credit: Yabai

ชีวิตระทมของ ดาไซ โอซามุ ในมุมมองของคนรุ่นหลัง

ชีวิตของเขาถูกคนรุ่นหลังพูดถึงเป็นวงกว้าง ทั้งในมุมเห็นอกเห็นใจ ชื่นชมในการสร้างสรรค์ผลงานยอดเยี่ยมท่ามกลางสภาพแวดล้อมและสภาพจิตใจย่ำแย่ บ้างก็มองว่าเขาเป็นตัวอย่างมนุษย์ที่ไม่ควรคบหา เพราะชายคนนี้ได้คร่าชีวิตผู้หญิงใกล้ตัวถึงสองคน และยังเป็นคนที่นอกใจคนรักซ้ำๆ โดยไม่ยี่หระกับการกระทำของตัวเอง

มีความคิดเห็นน่าสนใจมองว่า ดาไซ โอซามุ มีความคิดความอ่านและมีพฤติกรรมเหมือนกับคนที่เป็น ‘โรคซึมเศร้า’ แต่ในช่วงเวลาที่เขามีชีวิตอยู่ ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคซึมเศร้ายังมีไม่มากเท่ากับปัจจุบัน เขาจึงกลาย�