Culture

82 District: ย่านครีเอทีฟแห่งใหม่ในเจริญกรุง เพื่อการสร้างสรรค์ไม่รู้จบ

เมื่อบริษัทขยายตัว ก็ทำให้ต้องขยายออฟฟิศเพื่อรองรับพนักงานที่มากขึ้น หลังจากตระเวนไปหลายโลเคชั่นทั่วกรุงเทพฯ สุดท้าย ‘Trimode Studio’ ก็ตัดสินใจลงหลักปักฐาน ณ ตึกเก่า 5 ชั้น บริเวณหน้าปากซอยเจริญกรุง 82 และนั่นคือจุดเริ่มต้นดีไซน์สตูดิโอของ Trimode ที่มี DNA ของบริษัทอยู่ทุกตารางนิ้วของออฟฟิศ พร้อมขยับขยายให้เป็นพื้นที่ไลฟ์สไตล์สำหรับคนรุ่นใหม่ ภายใต้ชื่อ ‘82 District’ เปลี่ยนให้ย่านเจริญกรุง 82 ที่เคยเงียบเหงา ให้กลายเป็นครีเอทีฟสเปซแห่งใหม่ พร้อมให้ทุกคนได้ไปสัมผัสกัน

EQ ไม่พลาดที่จะไปลัดเลาะดูความว้าวของงานออกแบบในคาเฟ่ ‘Tangible’ กับ ‘Void’ และร้านน้องใหม่อย่าง ‘Happieland’ ภายในย่าน 82 District แห่งนี้ ที่ถ่ายทอดความเป็น Trimode ได้อย่างสมบูรณ์แบบ พร้อมพูดคุยแบบ exclusive กับ 3 ดีไซน์เนอร์ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ‘นิ – ชินภานุ อธิชาธนบดี’ ‘หงส์ – ภิรดา เสนีวงศ์’ และ ‘หยก – ภารดี เสนีวงศ์’ ถึงไอเดียการเปลี่ยนพื้นที่เหงาๆ ให้มีคุณค่าและสามารถสร้างรายได้

เจริญกรุง 82 และเสน่ห์ที่อยากให้ทุกคนได้สัมผัส

พอได้ยินคำว่า ‘เจริญกรุง’ หลายคนคงคิดถึงย่านที่เต็มไปด้วยร้านรวงสุดคูล อันเป็นจุดหมายของคนรุ่นใหม่ในยุคนี้ แต่นั่นไม่ใช่ภาพของเจริญกรุง 82 ซึ่งอยู่อีกฟากฝั่งของถนนเจริญกรุงที่ทุกคนรู้จัก แต่ Trimode ก็มองเห็นเสน่ห์ที่ซ่อนตัวอยู่ในพื้นที่เล็กๆ แห่งนี้ พวกเขาเชื่อว่า งานดีไซน์จะช่วยสร้างคุณค่าและทำให้พื้นที่เงียบเหงาแห่งนี้กลายเป็นย่านสุดชิคแห่งใหม่บนถนนเจริญกรุงได้

“ด้วยตัวตนของ Trimode แล้ว เราชอบที่จะสร้างคุณค่าจากสิ่งที่คนทั่วไปไม่ให้คุณค่า คนทั่วไปอาจจะให้คุณค่าในวัสดุหรืออะไรที่รู้สึกว่าเป็นค่านิยมพื้นฐานของคนส่วนใหญ่ ว่านี่คือสิ่งที่มีคุณค่าและราคาแพง แต่เราชอบเอาสิ่งที่คนอื่นไม่เห็นค่าหรือมองข้ามไป กลับมาพลิกใหม่ให้มันมีคุณค่า ไม่ได้วัดด้วยตัวเงิน มันเลยเหมือนกับว่า ย่านนี้ไม่มีอะไร ซึ่งนั่นแหละคือเสน่ห์ เรามองว่ามันเป็นขุมทรัพย์ เราชอบปั้นย่านที่รกร้างว่างเปล่า หรืออาคารร้างบ้านเก่า มาทำให้เกิดคุณค่าใหม่”

“เราเชื่อว่าเวลามีที่รกร้างว่างเปล่า ถ้าเอาดีไซน์เนอร์หรือศิลปินไปหยอดก็มักจะมีสิ่งใหม่ๆ ตามเข้ามา และนั่นคือคุณค่าที่มีเสน่ห์ เราต้องการสร้างย่านที่ยังไม่เป็นที่รู้จักให้เป็นจุดหมาย ให้คนได้รู้สึกว่ามันเจ๋ง แล้วสร้างความรู้สึกเหมือนเวลาไปต่างประเทศที่พอเราเดินไปเจออาคารปิดร้างอยู่ ไม่ได้มีป้ายบอกทางเข้า แต่พอมีคนแล้วเราลองตามเข้าไปดู สรุปข้างในเป็นร้านที่ซ่อนอยู่ มันเป็นอะไรที่เจ๋งจริงๆ และเราก็อยากเอาความรู้สึกที่เคยไปเจอมาแล้วประทับใจ กลับมาสร้างที่บ้านเราเองบ้าง ร้านที่ไม่ได้บอกว่าเป็นร้านอะไร ให้คนที่เห็นอะไรบางอย่างในตัวมันเดินเข้ามา”

‘82 District’ พื้นที่สร้างสรรค์สำหรับทุกคน

ตรงตึกเก่าหน้าปากซอยเจริญกรุง 82 ที่โครงสร้าง โลเคชั่น และมู้ดแอนด์โทน ยังคงไว้ซึ่งตัวตนและความเป็น Trimode จึงทำให้ทุกคนลงความเห็น เลือกตึกนี้ให้เป็นออฟฟิศแห่งใหม่ พร้อมกับพยายามจะทำให้ ‘งานออกแบบ’ ที่อาจจะดูเป็นงานเฉพาะทางเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของไอเดียที่อยาก ‘ทดลอง’ เปลี่ยนพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้งานให้คนทั่วไปเข้าถึงได้ เช่นเดียวกับทำความรู้จัก Trimode ไปด้วยในตัว

“เราใช้สิ่งที่เข้าถึงง่ายที่สุดในการเสพงานดีไซน์และศิลปะ ก็คือผ่านตัวกลางอย่างคาเฟ่และรีเทล เป็นตัวเชื่อมง่ายๆ ที่คนสามารถเข้ามาสู่พื้นที่ศิลปะได้ด้วยกาแฟแก้วเดียว ตอนแรกเราจัด installation art สำหรับเทศกาล Bangkok Design Week แล้วก็มีเครื่องทำกาแฟอยู่ มันก็เลยเข้ากันพอดี ทีนี้พอเทศกาลจบ แต่ลูกค้ากับกาแฟไม่จบ เหมือนเขาติดใจและบอกต่อ ทำให้มีคนอยากมาดู ก็เลยกลายเป็นการเปิดร้านที่จริงจังไปเลย”

“จุดเริ่มต้นคือตรงนั้น แล้วมันก็ค่อนข้างแปลกแยกกับสังคมเหมือนกัน เพราะในเมืองจะมีร้านโน้นร้านนี้เต็มไปหมด คนก็จะสงสัยว่าทำไมเราถึงมาเปิดร้านกาแฟตรงนี้ล่ะ แต่เนื่องจากอาคารนี้เป็นดีไซน์สตูดิโอของเรา มันก็เปิดได้ ซึ่งในตอนแรก เราก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะมีคนมาหรือเปล่า แต่พอเริ่มขายได้ เราก็คิดว่าควรจะครีเอทอะไรที่มากกว่าการเป็นดีไซน์สตูดิโอ จึงเกิดเป็นคาเฟ่ ส่วนอาคารอีกฝั่งที่เอาไว้เก็บของ เราก็ปรับเปลี่ยนให้มันสามารถทำรายได้ขึ้นมา โดยการหาจุดเด่นจุดด้อยของมัน ก็เลยเกิดเป็น 82 Distirct”

ร้านรวงที่สื่อสารกับคนด้วยงานดีไซน์

เพราะเชื่อว่าความคิดสร้างสรรค์และงานดีไซน์จะสามารถสื่อสารกับคนในสังคมได้ 82 District จึงประกอบไปด้วยร้านต่างๆ ที่มีความแตกต่างกัน แต่อัดแน่นด้วยประสบการณ์บางอย่างที่ผู้มาเยือนจะได้รับ เช่นเดียวกับการออกแบบและงานดีไซน์ที่จะเชื่อมโยงกับทุกคนได้อย่างง่ายดาย

“เราไม่ได้ทำสินค้าแนวยัดเยียดหรือทำการตลาดกันจริงจัง แต่เน้นที่ความสร้างสรรค์ แล้วสินค้ามันจะขายได้เอง เราไม่ใช่สเปซหรือการสร้างประสบการณ์ที่ให้คนเข้าไป แล้วเขาจะสามารถเข้าใจได้โดยง่าย แต่สเปซของเราจะมีเชิงความคิด มโนภาพ มีเชิงเรื่องเล่าที่เมื่อเข้ามาแล้วต้องเกิดการตีความ แล้วจะได้อะไรกลับไปมากกว่าภาพที่เห็น มันจะเป็นเรื่องของความรู้สึก ประสบการณ์อะไรบางอย่างที่เป็นจุดร่วม เราเป็นแนวทางเลือกที่อยากจะนำเสนอกระแสใหม่ๆ สู่สังคม”

“ความท้าทายของเราคือการที่ไม่มีความท้าทาย เพราะเราไม่มีกรอบอะไรเลยในการทำงาน เหมือนกับว่าเราระดมความคิดกันแล้ว และสิ่งนี้คือสิ่งที่อยากสื่อสารสู่สังคม เราทุกคนพร้อมและเชื่อมั่นว่าอยากจะสื่อสาร เราชอบที่จะให้คนชมและด่ามากกว่าเดินผ่านไป นี่คือหลักของเรา การเดินผ่านไปหมายถึงว่ามันไม่เกิดความสนใจใดๆ แต่ถ้าเขาชมหรือด่า แปลว่าเราได้ทำอะไรที่ถูกต้องแล้ว เรารู้สึกมีความสุขที่มีคนด่าหรือต่อว่างานในเชิงศิลปะ

อีกความท้าทายหนึ่งก็คือ มันไม่มีอะไรที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เรารู้สึกว่าทุกอย่างขึ้นอยู่กับมุมมองที่เราอยากนำเสนอและสื่อสารออกไปมากกว่า เพราะโลกทุกวันนี้เชื่อมกันหมด มันไม่ใช่แค่ภาพลักษณ์หรือรูปแบบเพียงอย่างเดียว”

‘Tangible’ ร้านกาแฟไอเดียล้ำเพื่อโลกที่ยั่งยืน

ด้านหลังประตูสีดำขนาดใหญ่หน้าตึกบริษัท Trimode คือร้านกาแฟชื่อว่า ‘Tangible’ ที่สร้างขึ้นภายใต้คอนเซ็ปต์ ‘พื้นที่ที่ไม่เสร็จสิ้น’ เพื่อเปิดความคิดสร้างสรรค์ของผู้มาเยือน โดยใช้ความมีพลัง ความดิบเถื่อน และความเนี้ยบ มาเป็นจุดแข็งของงานดีไซน์ในตัวร้าน

“ตอนปลายปี ค.ศ. 2019 เป็นช่วงที่ pm2.5 เยอะมาก เราก็ตีความว่ามนุษย์เริ่มขาดอิสรภาพกับธรรมชาติ โดยหลักการพื้นฐานแล้ว เวลาเราเปิดหน้าต่างออกไปก็จะรู้สึกว่าข้างนอกสดชื่น แต่ตอนนั้นเป็นสภาวะที่เราไม่อยากเปิดหน้าต่าง แล้วถ้าปล่อยไว้แบบนี้ต่อไป เด็กๆ รุ่นใหม่หรือนักเรียนนักศึกษาก็จะไม่สามารถไปทัศนศึกษาตามป่าเขาได้แล้ว เราต้องสร้างตึกครอบป่าเอาไว้ ก็เลยคิดว่าจะนำภาพธรรมชาติที่ต้องอยู่ในพื้นที่ปิดมาเล่น บวกกับเราทำงานเกี่ยวกับ design exhibition งานก่อสร้าง งานตกแต่งภายใน เราเห็นว่าทุกวันนี้ขยะถูกสร้างขึ้นมาเยอะมาก จึงเกิดเป็นไอเดียที่ว่า ถ้าจะสร้างงานที่เป็นซีนหลักของร้านนี้ วัสดุต่างๆ ที่เราโยนออกไปข้างนอกจะต้องเป็นธรรมชาติ ไม่ต้องผ่านกระบวนการแปรรูปอีกครั้ง มันเลยกลายเป็นหินกับทราย”

“อีกเรื่องหนึ่งคือการไม่ให้ความหมายกับวัตถุ เช่น เก้าอี้ รูปแบบของเก้าอี้มักจะชี้นำให้เราเข้าใจว่ามันมีไว้สำหรับนั่ง ฉะนั้น เมื่อหมดคุณค่าของการนั่ง มันก็จะกลายเป็นขยะ เราจึงพยายามไม่ให้ความหมาย เพื่อที่ว่ามันอาจจะกลายเป็นอย่างอื่นที่มีคุณค่าใหม่ได้ ถ้าเอาไปติดผนังก็จะกลายเป็นชั้นวางของ ดีไซน์ต่างๆ ในร้านจึงถูกออกแบบให้เรียบและมีหลายฟังก์ชัน”

‘Void’ สำรวจหัวใจด้วยงานดีไซน์ที่ไม่เหมือนใคร

ฝั่งตรงข้ามของตึกสำนักงาน Trimode คืออาคารเก็บของที่ไม่ได้ใช้งาน เมื่อมองเห็นความเป็นไปได้ของการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ ร้าน ‘Void’ ที่มีสโลแกน ‘House of Creative Event’ จึงถือกำเนิดขึ้น พร้อมกับการทดลองต่างๆ ของนักออกแบบ ที่ทำให้สเปซของร้านสามารถตีความและสร้างประสบการณ์บางอย่างให้กับทุกคนที่ได้ก้าวเท้าเข้ามาด้านใน

“เพราะมันเป็นพื้นที่เก็บของมาก่อน ทุกอย่างก็เลยเป็นข้อจำกัดที่เรามองเห็นข้อด้อยเต็มไปหมด เช่น คานเตี้ย เพดานเตี้ย พื้นที่มีความซับซ้อน ไม่เป็นรูปสี่เหลี่ยมที่ชัดเจน เราก็เลยมองเข้าไป แล้วก็ทำความเข้าใจกับมัน สิ่งที่เรารู้สึกว่ามันให้ความรู้สึกนุ่มนวลและเป็นเอกลักษณ์ ก็คือ indirect light ที่เข้ามาทางหน้าต่าง เราจึงพยายามขยายให้สิ่งนั้นเป็นจุดเด่นของร้าน Void ก็เหมือนพื้นที่ว่างที่พร้อมจะถูกสร้างสรรค์ จากนั้นเราก็มองไปว่า มนุษย์ให้ความหมายหรือเห็นคุณค่าของอะไรร่วมกันในเชิงของแสง จึงได้ข้อสรุปว่า ช่วงพระอาทิตย์ขึ้นและตกเป็นเวลาที่มนุษย์ทุกคนไขว่คว้ามัน เป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่เดี๋ยวก็หายไปตามธรรมชาติ เราก็เลยคิดว่า ถ้างั้นลองขยายมันให้ไร้กาลเวลาเลยดีไหม คนที่เข้ามาก็จะเจอกับ golden hour แบบยาวนานทั้งวัน”

“รูปทรงกลมที่ยืนหยัดอยู่ตรงกลางได้รับแรงบันดาลใจมาจากช่วงที่มีทั้ง pm2.5 และโควิด-19 เรารู้ว่าทุกคนรู้สึกอัดแน่นในจิตใจ แต่ไม่สามารถพูดออกมาได้ เพราะเป็นสภาวะที่เจอทั้งสองอย่างนี้พร้อมๆ กัน เราสื่อสารมันออกมาเป็นลูกทรงกลมขนาดใหญ่ที่อัดแน่นอยู่ในร้าน เวลาที่เปิดประตูเข้ามาก็จะสัมผัสได้ถึงสภาวะกดดัน มันเป็นเสียงตะโกนโห่ร้องที่กึกก้องอยู่ในใจของทุกคน แต่ขยายให้เป็นรูปธรรม ซึ่งพอเราใช้งานมันไปสักพัก พื้นที่ก็จะทำงาน จริงๆ แล้วถ้าเราไม่ได้มองมันเป็นปัญหาที่อัดแน่น เราก็จะอยู่กับมันได้ แล้วฟังก์ชันของมันก็ยังคงอยู่ คือจะสามารถเป็นตัวกั้นที่สร้างพื้นที่ส่วนตัวให้กับแต่ละคนได้เหมือนกัน”

‘Happieland’ ร้านน้องใหม่แห่งย่าน 82 District

เพราะมีความสนใจในสรรพคุณของ ‘น้ำมันกัญชา’ และมีประสบการณ์ทดลองใช้เพื่อช่วยรักษาอาการนอนหลับไม่เพียงพอ นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของร้าน ‘Happieland’ ร้านค้าน้องใหม่ของ 82 District ที่มีไอเดียและการออกแบบไม่เหมือนใคร

“Happieland จะเป็นเหมือนสภาวะที่เรารู้สึก high และล่องลอย อย่างร้าน Void จะยังรู้สึกเหมือนอยู่บนพื้นดิน เห็นแสงแดด ในขณะที่ Tangible ก็พูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม ความยั่งยืนต่างๆ แต่ Happieland จะเป็นช่วงเวลาที่เรายืนอยู่ระหว่างชั้นบรรยากาศกับเมฆ มันเป็นการยืนอยู่ในสภาวะเหนือเมฆ แล้วก็มีการทดลองการสับเปลี่ยนกระจก ให้เกิดสภาวะการดีดตัวขึ้นของพื้น เวลาเราเข้าไปยืนก็จะรู้สึกว่าอยู่สูงกว่าพื้น โดยใช้หลักการสะท้อนของวัตถุมาเล่น”

แม้จะเป็นร้านน้องใหม่ Happieland ก็มีลูกเล่นและอัดแน่นด้วยไอเดียสร้างสรรค์ ไม่ต่างจากร้านอื่นๆ ที่อยู่ในย่าน 82 District แห่งนี้เลย เรียกได้ว่าย่านครีเอทีฟ ณ ปากซอยเจริญกรุง 82 แห่งนี้ ล้วนเต็มไปด้วยพื้นที่คูลๆ ที่คองานดีไซน์ไม่ควรพลาดด้วย�