Art

‘Eyedropper Fill’ – ทีมออกแบบประสบการณ์สุดสร้างสรรค์ที่อยากให้ทุกคนมีหัวใจที่แข็งแรง

ใครที่ชอบติดตามงานศิลปะสายสร้างสรรค์ หรือสนใจงานกลุ่มสารคดีอาจจะคุ้นชื่อของ ‘Eyedropper Fill’ อยู่บ้าง ในฐานะทีมที่สร้างผลงานคุณภาพมากมาย ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์สารคดีเรื่อง ‘School Town King แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน’ ที่กวาดรางวัลมาหลายเวที รวมถึงอีเวนต์เกี่ยวกับสุขภาพจิตที่มีดีไซน์น่าดึงดูด และสามารถทำงานกับความคิดรวมถึงอารมณ์ความรู้สึกของผู้ร่วมงานได้เป็นอย่างดี เช่น โปรเจกต์ CONNE(X)T HOMECOMIMG เป็นต้น วันนี้ EQ จึงชวน ‘เบสท์’ – วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย และ ‘นัท’ – นันทวัฒน์ จรัสเรืองนิล มาบอกเล่าตัวตน เอกลักษณ์ วิธีคิด และประสบการณ์การทำงานผ่าน 4 โปรเจกต์ในบทสนทนาครั้งนี้ ซึ่งจะทำให้เห็นรูปแบบการทำงานที่แตกต่างไม่เหมือนใครแต่ใส่ใจในรายละเอียด และผลลัพธ์ของงานอยู่เสมอ

Eyedropper Fill: สายตาที่ปรับเปลี่ยนตามมุมมองที่เปลี่ยนแปลง 

บทสนทนาในครั้งนี้เริ่มต้นจากเรื่องทั่วไปของ ‘เบสท์’ และ ‘นัท’ ซึ่งเป็นเพื่อนกันตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย ทั้งคู่เรียนออกแบบมาด้วยกัน และมีความชื่นชอบบางอย่างร่วมกัน จึงรวมตัวกันทำงานสร้างสรรค์ที่ไม่ซ้ำใครและเชื่อในความเป็นตัวเอง จนออกมาเป็นโปรเจกต์ต่างๆ ที่ได้รับความสนใจจากผู้คนหลากหลายแขนง

นัท: เราเรียนด้วยกันที่ Communication Design ของ School of Architecture and Design ที่พระจอมเกล้าธนบุรี เริ่มทำงานกันตั้งแต่ปี 2-3 ตอนแรกฟอร์มทีมกัน 4 คน โดยมีจุดร่วมคือ พวกเราชอบภาพเคลื่อนไหว อย่างเราชอบแอนิเมชั่น เบสท์ชอบหนัง ชอบถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอ แล้วเพื่อนอีกสองคนชอบโมชัทนกราฟิก 3D 2D เลยอยากรวมตัวทำอะไรบางอย่างด้วยกัน

เบสท์: เราสองคนเรียนออกแบบ แล้วที่บ้านไม่เชื่อเรื่องอาชีพด้านศิลปะ เลยต้องพรูฟให้เห็นว่า เรียนทางนี้ก็หาเงินเลี้ยงชีพได้นะ นี่คือแรงผลักดันตอนเด็กๆ ส่วนที่ใช้ชื่อ Eyedropper Fill เพราะตอนนั้นทำงานเรื่องการมอง สนใจตรงที่มนุษย์ใช้ตาเยอะมากในการรับรู้โลก ไม่เหมือนสัตว์ที่จะใช้กลิ่นผสมกับภาพ เลยคิดว่าเอาชื่ออะไรดีที่เกี่ยวกับการมอง แล้วก็เจอเอฟเฟ็กต์ใน After effect ชื่อ Eyedropper Fill ก็คุยกับเพื่อนโหวตกันว่าเอาอันนี้แหละ เราชอบความหมาย เพราะคำนี้ต่อให้รีแบรนด์กี่ครั้ง คำว่า ‘ตา’ ก็ยังใช้ได้ในหลายความหมาย อย่างตอนนี้ทำประเด็นเชิงสังคม ก็เหมือนพาคนไปเห็นโลกที่คนอื่นไม่เห็น เป็นเรื่องราว หรือความรู้สึกที่คนยังไม่เคยรับรู้ เลยเป็นโชคดีของชื่อนี้ที่ต่อให้เราเปลี่ยนมุมมองในการทำงานมันก็ยังใช้งานได้ดีอยู่

นัท: ตอนแรกเราตั้งคำถามกันเองก่อนว่า เรียนทางนี้จะหาเงินได้ไหม อยากลองทำงาน อยากเห็นว่าคนข้างนอกที่ทำงานในสายงานนี้ทำอะไรกันอยู่ แล้วก็มีเรื่องครอบครัวแบบที่เบสท์บอก คือเบสท์ ตอนปี1 มันเข้าสถาปัตย์ ซึ่งเป็นอาชีพออกแบบที่พ่อแม่เข้าใจ และรู้ว่าหาเงินได้ แต่พอย้ายมาสาขาออกแบบนิเทศศิลป์เลยต้องสู้ ต้องทำให้เขาเห็นว่า หาเงินได้เหมือนกัน

เบสท์: ตอนม.6 สมัยไม่มียูทูบจะมีเว็บที่มี MV ไฟล์ 360p แนวทดลองให้ดู เราดูแล้วรู้สึกว่า ไม่ได้อยากเรียนสถาปัตย์ เราอยากเล่าเรื่อง เพราะชอบหนังมาตั้งแต่เด็กๆ แต่ไม่ได้คิดว่าตัวเองจะเป็นผู้กำกับนะ สนใจพวกภาพเคลื่อนไหวที่ประกอบเพลง เลยถามรุ่นพี่ว่า Communication Design เรียนอะไรกัน รุ่นพี่ก็บอกว่าเรียนทำโมชั่น ทำ MV ก็เลยขออาจารย์ย้ายภาค ช่วงที่เริ่มทำงานตอนแรกทำภาพเคลื่อนไหวในคอนเสิร์ต เป็นภาพที่เล่าเนื้อหาของเพลง คล้ายๆ MV ขนาดย่อม หลังจากนั้นก็มูฟไปทำ MV เต็มตัว จะมีอยู่ช่วงหนึ่งประมาณ 5 ปีที่ทำ MV ไปเกือบ 30-40 ตัวเลย

นัท: การทำงานของ Eyedropper Fill ตัดพีเรียดเป็นช่วงละประมาณ 5 ปี ตอนปี 2010 เริ่มทำวิชวล แล้วก็ทำ MV มาเรื่อยๆ ทำจนรู้สึกอิ่มตัวรวมถึงความสนใจอาจจะเปลี่ยนด้วย ตอนแรกที่สนใจพวก Moving Image อยากทำให้ไปไกลระดับโลก ให้เห็นว่าในไทยก็มีกลุ่มหนึ่งที่ทำงานแนวนี้ แต่นั่นแหละ ทำไปทำมาด้วยระบบต่างๆ ทางคอมเมอร์เชียลที่ค่อนข้างแรง แล้วเราเปลี่ยนอะไรไม่ได้ ก็เลยรู้สึกว่าอิ่มจากตรงนั้น พร้อมกับที่เห็นทางใหม่พอดี เริ่มอยากทำงานที่ออกจากสกรีนบ้าง เลยย้ายไปทำพวก Art Installation แล้วก็กลายเป็นพวกอีเวนต์อย่างที่หลายคนเห็นกันใน 5 ปีหลัง ซึ่งช่วงท้ายที่ยังทำงาน MV เราเบื่อมากอยากทำอะไรที่มันสนุกเลยไปทำ MV กับสายอินดี้ มีวง Part-Time Musicians เพลง ‘The Haunted House’ แล้วก็เพลง ‘น้ำค้าง’ ของ Desktop error เป็นงานที่ทำแล้วทดลองเกี่ยวกับวิธีการนำเสนอภาพที่จะออกมาอย่างตั้งใจมากๆ อยากพิสูจน์ และบอกทุกคนว่าทำอันนี้มันยากนะเว้ย เลยถ่ายเก็บเบื้องหลังกันเองอีกทีเหมือนสารคดี

“พอปล่อยออกมาก็มีเด็กที่เรียนฟิล์มให้ความสนใจประมาณหนึ่ง กลายเป็นว่า พวกเราได้ไปเป็นวิทยากรณ์พูดให้น้องๆ ฟัง ก็รู้สึกว่า เออ แสดงว่าทางนี้มันไปต่อได้” – นัท

เบสท์: วิธีที่เรามองภาพเคลื่อนไหวไม่ได้มาจากวิธีคิดแบบเด็กเรียนฟิล์ม เราเลยไม่ได้คิดบทอะไรเลย แต่คิดบนพื้นฐานการทดลองประสบการณ์ด้านภาพ ตอนที่ทำ MV น้ำค้าง เราเอาโปรเจกเตอร์ฉายลงน้ำแล้วเอากระจกรองในตู้ปลาให้สะท้อนเข้าสกรีน แล้วเอากล้องถ่ายอีกที เหมือนไปถ่ายผลลัพธ์ของภาพที่เกิดขึ้น ตอนนั้นทำกันอยู่ในห้องแล้วรู้สึกว่ามันสวยและแปลกมาก เลยนึกภาพว่าถ้ามีห้องที่ฉายภาพอะไรบางอย่างแล้วมีคนเอามือไปเล่นน้ำแล้วเกิดเป็นเงาพรายน้ำในห้องน่าจะสวย กับอีกงานคือ เราเอากำยานที่จุดตามวัดมาใช้ ตอนนั้นไม่ค่อยมีงบแต่อยากฉายภาพที่มีม่านควันลอยขึ้นมา ก็ไปตามร้านแล้วดูว่ามีอะไรจุดแล้วได้ควันที่ชัดพอบ้าง พอเอามาถ่ายปรากฏว่า มันออกมาเวิร์กมาก คิดว่า ถ้าเอาภาพไปฉายแล้วมีควันด้วย น่าจะเกิดประสบการณ์บางอย่าง นี่เลยเป็นจุดที่ทำให้เรามูฟมาทำงานนอกสกรีน เริ่มจากทำ Art Installation ก่อน แล้วหลังปี 2015-2019 ก็เป็นช่วงที่ไม่ได้ทำวิดีโอแล้วหันมาทำอีเวนต์แทน คือตอนเรียนดีไซน์เหมือนได้เรียนทุกอย่าง แต่เราไม่เชี่ยวชาญสักอย่าง เรารู้ว่าซาวน์ทำหน้าที่ยังไงกับคน งานภาพยนตร์เป็น Time-based ภาพนิ่งทำงานแบบซิงเกิลโมเมนต์ เราเลยใช้ทุกอย่างเป็นเครื่องมือ อยู่ที่ว่าโปรเจกต์นั้นเขาต้องการอะไร แล้วจะเอาอะไรไปนำเสนอให้เขา

School Town King : ชีวิตจริงที่ไม่เหมือนภาพในสื่อ

ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของเด็กสองคนคือ บุ๊ก และนนท์ที่มีความฝันอยากเป็นแร็ปเปอร์ โดยมีคอนฟลิกต์อยู่ที่ความฝันกับระบบการศึกษาที่ไปด้วยกันไม่ได้ ขณะเดียวกันสารคดีเรื่องนี้ก็ฉายภาพให้เห็นปัญหาอันซับซ้อนที่ซ่อนตัวอยู่ในชุมชนคลองเตย และประเด็นความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่แทรกซึมอยู่ ซึ่งดำเนินไปพร้อมกับปัญหาของระบบการศึกษาอย่างไม่อาจแยกจากกันได้ ซึ่งโปรเจกต์นี้เป็นผลงานที่พัฒนาต่อเนื่องมาจากโครงการ Connext Klongtoey ที่เกิดขึ้นมาก่อน แต่เพราะปัญหาที่มองเห็นตรงหน้ายังไม่สิ้นสุด และเด็กสองคนนี้ยังคงมีความฝันที่อยากไปให้ถึง Eyedropper Fill จึงเลือกไปต่อกับน้องๆ และติดตามชีวิตของพวกเขาจนเกิดเป็นผลงานชิ้นนี้ขึ้นมา

เบสท์: โดยส่วนตัวเราไม่ได้จำกัดว่าต้องทำสื่ออย่างใดอย่างหนึ่งไปตลอด ที่ผ่านมา 10 ปีมันคือการเรียนรู้ทักษะจากเครื่องมือในการสื่อสารว่า ทำงานอย่างไร อีเวนต์ทำอย่างไร เหมือนเห็นอุปกรณ์ในห้องเครื่องมือแล้วก็เรียนรู้จนหมดสิบปี ผลที่เกิดขึ้นตามมาคือ เราคุยกันเรื่องงานออกแบบลดน้อยลง แต่สิ่งที่คุยกันเยอะขึ้นคือประเด็นที่หงุดหงิดกับสังคม ในช่วงที่ทำงานคอมเมอร์เชียล จะมีบางโปรเจกต์ที่ทำกับสื่อที่มีเนื้อหาเข้มข้นมากในสายสังคม แล้วเราเห็นเอฟเฟ็กต์คนละโลกกันเลยซึ่งมันอิมแพกมาก บวกกับที่เราเองก็อึดอัดกับเรื่องเหล่านี้ในสังคม ทำให้รู้สึกว่า ไม่อยากทำงานคอมเมอร์เชียลแล้ว ก็คุยกันว่าเป็นไปได้ไหมที่จะทรานส์ฟอร์มความรู้ที่ได้มาจากการทำงานพวกนี้เพื่อนำไปสื่อสารประเด็นทางสังคม นั่นเลยเป็นเหตุผลที่เราลงทุนเงินจากบริษัทส่วนหนึ่งไปกับการทำ School Town King 

นัท: ตั้งแต่ทำ MV แล้วได้ไปพูดตามมหาวิทยาลัย หลังๆ การเป็นวิทยากรณ์กลายเป็นอีกงานที่คนมาชวนเยอะ จากมหา’ลัยก็เริ่มมีให้ไปพูดกับน้องมัธยม พอไปเห็นโรงเรียน เจอเด็ก แล้วรู้สึกว่า ระบบมันเหมือนเดิมเลย เด็กบ่นครู ครูก็บ่นเด็ก ความเหลื่อมล้ำก็เยอะ เราไปพูด แทนที่จะเอาเด็กที่สนใจกิจกรรมมาฟัง แต่ไปคัดเด็กที่เรียนเก่งห้องต้นๆ มาฟัง สุดท้ายพวกเราเลยเลือกทำประเด็นการศึกษา เพราะก็เจอเรื่องแบบนี้มาก่อน ซึ่งก่อนจะเริ่มถ่ายโปรเจกต์นี้เราได้ทำโครงการ Connext Klongtoey ขึ้นมา เป็นโครงการสอนเสริมที่ให้เด็กโหวตเองว่าอยากเรียนวิชาอะไร ตอนนั้นก็จะมี แฟชั่น แท็ททู แร็ป ถ่ายภาพ ในคลาสแร็ปก็ชวนวิทยากรณ์ที่เป็นแร็ปเปอร์จริงๆ มาด้วย เป็นคลาสที่ทำให้เราได้เจอบุ๊กกับนนท์ พอจบโครงการเราเอางานที่น้องๆ ทำไปจัดนิทรรศการที่ Bangkok Design Week แต่

“โครงการจบไปแล้วน้องสองคนยังอยากทำเพลงต่อ อยากออกจากโรงเรียน แล้วช่วงนั้น Youngohm กับ Diamond กำลังดังด้วย ซึ่งเป็นกลุ่มที่เลิกเรียนมาทำงานแร็ปเปอร์เต็มตัว สองคนนี้ก็อยากเปลี่ยนชีวิตตัวเองจากเด็กสลัมธรรมดาเป็นแร็ปสตาร์แบบนั้นบ้าง เลยคุยกันในทีมว่า ไปต่อกับเด็กๆ ด้วยดีกว่า” – นัท

เบสท์: ตอนแรก School Town King ไม่ได้จะทำเป็นหนังนะ แค่จะทำเป็นฟุตเทจเกี่ยวกับโครงการที่ทำ แต่ถ่ายไปถ่ายมาเจอบุ๊กกับนนท์เลย คิดว่าไปแนวนี้ดีกว่า เราถ่ายฟุตเทจเรื่องนี้เยอะมาก ลงพื้นที่อยู่ 150 วัน ถ่ายทุกอย่าง เพราะไม่รู้จะเล่าเรื่องอะไร จนเริ่มจับทางว่าเป็นประเด็นการศึกษากับความเหลื่อมล้ำตอนถ่ายไปครึ่งหนึ่งแล้ว ตอนทำหนังเรื่องนี้กลัวมากว่าสุดท้ายจะไปตัดสินเขาหรือเปล่า มันง่ายมากที่คนดูแล้วจะตัดสิน หรือรู้สึกไม่เห็นด้วย โปรเจกต์นี้เลยใช้เวลานาน เพราะเราต้องพยายามทำความเข้าใจบริบทที่เขาเจอ และสื่อสารออกมาให้ดีที่สุด เคยไปนั่งอ่านสมุดที่บุ๊กจดเนื้อเพลงแล้วสะเทือนใจมาก แต่ละวันมันต้องเจอเรื่องอะไรมากมาย ทำให้เข้าใจว่า การศึกษาไม่ได้ตอบโจทย์ชีวิตเขาจริงๆ เด็ก 80% ไม่ได้เรียนต่อ ต้องไปเรียนสายอาชีพ และเด็กสายอาชีพจำนวนมากก็หลุดออกจากระบบ เพราะไม่มีเงินพอที่จะเรียน บางคนได้ทุนเรียนฟรี อย่างนนท์ก็ได้ทุนตอนเรียนสายอาชีพ แต่เงินที่จะใช้จ่ายมันไม่มี เลยต้องใช้ช่วงเวลาอื่นๆ ทำงาน ตอนนี้ก็ต้องลาออก เราว่าถ้าจะแก้ปัญหาเรื่องการศึกษา แค่เรียนฟรียังแก้ได้ไม่สุด ต้องแก้เรื่องความเหลื่อมล้ำด้วย ตราบใดที่คุณยังถูกกดด้วยความเหลื่อมล้ำ คุณก็ไม่สามารถมีเงินไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้

“พอได้เห็นอะไรแบบนี้เลยทำให้ตั้งคำถามกับตัวเองว่า คนทำงานสื่อสายออกแบบอย่างเราทำอะไรได้บ้าง เพราะการได้ไปเห็นความจริงกับตาเป็นคนละเรื่องกับการสิ่งที่เห็นผ่านสื่อเลย” – เบสท์

นัท: สื่อนี่แหละที่ทำให้คนติดภาพจำต่างๆ 

เบสท์: มันโรแมนติกอะ ภาพคนจนในสลัมดูด้อยมาก อยากให้เห็นว่าจริงๆ เด็กมันเก่งนะ แค่โอกาสและเงื่อนไขในชีวิตแต่ละคนไม่เหมือนกัน เด็กบางคนเข็นผักถึงตีสาม แล้วก็มานั่งง่วงในห้อง ครูก็จะถามว่า ทำไมไม่ตั้งใจเรียน เด็กก็ไม่บอกหรอกว่าไปทำอะไรมา สุดท้ายระบบจะเอาอะไรไปวัดว่าเด็กคนนี้ดีหรือไม่ดี ทั้งที่เขาก็ช่วยผู้ปกครองทำงาน แบบนี้คือเด็กไม่ดีหรอ เราว่าไม่ใช่นะ

นัท: ตอนแรกวิวที่ดูเหมือนจะอยู่ในระบบมากๆ เพราะน้องชอบเรียน ก็เข้ามหาวิทยาลัยได้แล้วนะ แต่สิ่งที่ตบกลับมาสู่ความจริงคือ การเรียนออนไลน์ในช่วงโควิด พอไม่มีอุปกรณ์ที่จะใช้เรียนก็ต้องหยุด ถึงจุดหนึ่งวิวเลยคิดเหมือนบุ๊กว่า การเรียนไม่ใช่คำตอบทั้งหมดในชีวิต แล้วบางครั้งระบบการศึกษาก็ทรยศเราเหมือนกัน

Mental-Verse: จักรวาลใจกับปมภายใน (ครอบครัว) ที่ถูกคลี่คลาย

โปรเจกต์นี้เป็นอีกหนึ่งสารคดีของทีม Eyedropper Fill ที่สร้างสรรค์ขึ้นโดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการบอกเล่าภาวะของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ผ่านเรื่องเล่าของผู้คนในหลายช่วงวัย และหนึ่งในนั้นคือ พ่อของผู้กำกับเอง การทำงานครั้งนี้นอกจากจะช่วยให้สังคมเข้าใจคนที่เป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้นแล้ว ยังเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่ทำให้เบสท์ และพ่อได้ปลดเปลื้องปมที่เคยมัดแน่นในใจของทั้งคู่ ให้คลายลงหลังจากทำงานชิ้นนี้ด้วย

เบสท์: เล่าย้อนก่อนว่า Mental-Verse เป็นหนังที่ถ่ายพ่อแม่เราด้วย แม่เราเป็น Panic Disorder ธีสิสจบเราก็ทำเกี่ยวกับภาวะ Mental Illness ของแม่ ประมาณปี 2016 เราเริ่มทำ Art Therapy ซึ่งไม่เกี่ยวกับงานเลย แค่รู้สึกเหมือนกำลังจะจมน้ำ เลยต้องหาเครื่องมือช่วย แล้วช่วงโควิดปีแรกๆ บริษัทก็ไม่มีงาน ทุกคนดูสุขภาพจิตแย่กันหมด เรารู้สึกว่า Mental Health เป็นประเด็นใหญ่มากในตอนนั้น และถ้าสังเกตจะเห็นว่า งาน Eyedrop เกือบทุกชิ้นเริ่มจากความสนใจส่วนตัว เพราะเราคือผู้ประสบภัยคนแรก แล้วก็พัฒนาเป็นงาน เราอยากทำงานนี้เพื่อสื่อสารให้คนเข้าใจคนที่เป็นซึมเศร้าจริงๆ โดยไม่ต้องฟังผ่านหมอแล้วท่องจำวิธีที่ต้องปฏิบัติกับผู้ป่วยซึมเศร้า เราคิดว่า ทำหนังขึ้นมาเองดีกว่า แล้วเล่าเรื่องด้วยการรวมกลุ่มคนจากหลายเจนเนอร์เรชั่นมาพูดถึงภาวะการเป็นซึมเศร้าของตัวเอง 

นัท: ให้ตอบแบบโปรดิวซ์ก็คือ ปัญหาของพวกเราตรงกับปัญหาที่เกิดขึ้น�