Daily Pickup

วงการ K- POP “อัลบั้ม - การสร้างขยะ” ความสัมพันธ์อันซับซ้อนในโลกแฟนคลับยุค Climate Crisis

Photo credit: agua con swag

‘ขยะล้นเมืองจากอัลบั้ม’ อีกหนึ่งประเด็นที่ถูกยกขึ้นมาถกเถียงกันในกลุ่มแฟนคลับศิลปินเกาหลีมาอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ด้วยโมเดลของธุรกิจที่บีบบังคับให้เหล่าแฟนคลับต้องซื้ออัลบั้มที่จับต้องได้มากกว่าหนึ่งชิ้น เพื่อสร้างรายได้ให้ศิลปิน เพื่อลุ้นการ์ดสุ่ม รูปศิลปิน เพื่อสะสมอัลบั้มที่มีหลายเวอร์ชัน เพื่อนับยอดขายเพื่อจัดชาร์ตเพลง หรือแม้แต่ลุ้นเข้างานแฟนไซต์ (แจกลายเซ็น) ซึ่งสิ่งที่ตามมาคือกองอัลบั้มถูกวางทิ้งไว้เกลื่อนบ้าน หรือการทิ้งมันลงถังขยะทันทีหลังลุ้นรางวัลเสร็จแล้ว โดยที่ไม่แกะแผ่นออกมาใช้งานเลยสักครั้ง

ยกตัวอย่างจากตัวของผู้เขียนและกลุ่มเพื่อนที่มักจะซื้ออัลบั้มครั้งละมากๆ เพื่อลุ้นการ์ดและลายเซ็น ที่มากกว่าครึ่งแทบจะไม่เคยนำแผ่นไปเปิดฟังที่ไหนเลย แน่นอนว่าหลายคนทราบดีว่าพฤติกรรมแบบนี้ในระยะยาวจะสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา climate change crisis ตราบใดการเสียเงินยังสัมพันธ์กับความสำเร็จของศิลปิน จะให้เลิกซื้อคงไม่ง่ายเหมือนกัน ในขณะที่แฟนคลับบางส่วนมองว่าอัลบั้มไม่ใช่สาเหตุของขยะล้นโลก เพราะมันเปรียบได้กับของสะสมอื่นๆ ที่ผลิตออกมาเพื่อวางไว้ในตู้โชว์ มีคุณค่าทางจิตใจ ไม่ควรถูกด้อยค่าว่าเป็นต้นตอของปัญหาสิ่งแวดล้อม เลยทำให้ปัญหานี้ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่และไม่มีทีท่าว่าจะหายไปจากสังคมแฟนคลับ

ดูๆ ไปแล้วทั้งสองฝ่ายมีเหตุผลที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เราเลยชวนคนจากหลาย’ด้อม มาแชร์กันสักหน่อยว่ามีความเห็นเรื่องนี้กันอย่างไร และท้ายที่สุดแล้วควรทำแบบไหนเพื่อให้ดีกับทุกฝ่าย 

Photo credit: 𝚍𝚊𝚗𝚒

สร้างขยะ – สร้างอาชีพ

เริ่มประเด็นแรกกับคุณตะกร้า (นามสมมติ) มนุษย์แฟนคลับที่ซื้ออัลบั้มแต่ละครั้งไม่ต่ำกว่า 60 ชิ้น เพราะชอบสะสมอัลบั้มและการ์ดสุ่ม และต้องการสนับสนุนศิลปินที่ชอบ ให้ความเห็นว่า “มันเป็นเรื่องของมุมมอง ถ้ามองในแง่ของความรักษ์โลก อัลบั้มก็อาจเป็นสาเหตุของการสร้างขยะได้ เพราะมันสร้างจากพลาสติกย่อยสลายยาก แต่ถ้ามองในมุมกลับกันมันก็เป็นการสร้างอาชีพ เพราะเมื่อตลาดมีความต้องการ ก็จะทำให้เกิดการสั่งผลิต มีการจ้างแรงงาน ค่ายเพลงมีกำไร และสุดท้ายศิลปินก็จะได้ประโยชน์” 

นอกจากนั้นเธอบอกว่า คำว่าขยะหมายถึงของที่ถูกทิ้งขว้างเมื่อไม่ต้องการ แต่อัลบั้มหรือการ์ดเป็นของที่เธอต้องการสะสมและนำไปใช้งานจริง เพราะยังชอบฟังแผ่นเพลงจากแผ่นซีดีที่คุณภาพเสียงดีกว่าการฟังออนไลน์ ดังนั้นเธอจะไม่นับว่าอัลบั้มเป็นต้นตอของการสร้างขยะ เพราะถือว่าได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่แล้ว

อัลบั้มไม่ถือเป็นขยะถ้าจัดการได้ดี

ด้านคุณ LK ผู้สะสมอัลบั้มของศิลปินคนโปรดอยู่เสมอ และเคยซื้ออัลบั้มต่อครั้งมากที่สุดถึง 85 ชิ้น ด้วยงบเกือบ 60,000 บาทในครั้งเดียว เพื่อลุ้นเข้างานแฟนไซน์ ได้แชร์ให้เราฟังว่า ส่วนตัวมองว่าอัลบั้มพวกนี้ไม่ใช่ขยะ แต่เป็นของสะสมอย่างหนึ่งที่เราเต็มใจซื้อเพื่อสนับสนุนศิลปิน เป็นสิ่งเติมเต็มความสุขในชีวิตของแฟนคลับ และมีคุณค่าทางจิตใจ เมื่อซื้อแล้วก็จะจัดเก็บไว้เป็นอย่างดี ไม่ได้ทิ้งขว้าง

“สิ่งสำคัญที่หลายคนอาจไม่รู้หรือมองข้ามไปคือ แฟนคลับที่ซื้ออัลบั้มเยอะขนาดนี้มีน้อยคนที่จะเก็บอัลบั้มไว้กับตัวทั้งหมด เพราะมันต้องใช้พื้นที่เยอะ ส่วนมากจะนำไปขายต่อให้แฟนคลับคนอื่นในราคาถูกกว่าปกติ เป็นการกระจายของสะสมไปยังเพื่อนร่วมด้อมที่อาจจะมีงบน้อย ซึ่งถ้ามองในมุมนี้ การจัดการให้มีหนึ่งคนหนึ่งอัลบั้มมันก็เหมือนของสะสมทั่วไปที่ใครๆ ก็มีได้ อัลบั้มก็เหมือนสิ่งของอื่นๆ ที่ผลิตมาและขายไปตามความต้องการของตลาด ถ้าจะมองมันเป็นตัวการสร้างขยะ คิดว่าอาจต้องมองสิ่งอื่นเป็นแบบนั้นด้วยเหมือนกัน”

สร้างขยะหรือไม่ขึ้นกับมุมมองการกระทำ

มาถึงฝั่งร้านค้าที่รับพรีออเดอร์อัลบั้มมานานนับสิบปี (ไม่เปิดเผยตัวตน) ได้แบ่งปันเรื่องราวว่าในช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมา กระแสการผลิตอัลบั้มหลายแบบหลายเวอร์ชัน ที่มีของสะสมให้ลุ้นหลากหลาย ทำให้ร้านเธอมียอดสั่งซื้ออัลบั้มเพิ่มขึ้นจากในอดีตเล็กน้อย เคยมีคนซื้อมากสุด 150 อัลบั้มต่อออเดอร์ แต่เอาเข้าจริงๆ จำนวนคนที่ทุ่มซื้อแบบนี้มีไม่เยอะ ส่วนมากจะซื้อกันแค่คนละ 1 – 5 อัลบั้มต่อเวอร์ชัน

“จะสร้างขยะหรือไม่ขึ้นกับมุมมองและการกระทำ บางคนซื้อแล้วเก็บเหมือนของสะสมทั่วไปก็ไม่ถือเป็นการสร้างขยะ แต่ถ้าซื้อแล้วทิ้งเรี่ยราดก็อาจเป็นว่าเป็นการสร้างขยะและภาระให้คนที่ต้องมาเก็บได้ อย่างไรก็ตามคิดว่าทั้งหมดนั้นเป็นสิทธิ์​ของผู้ซื้อค่ะ​ ในเมื่อเขาซื้อมาอย่างถูกต้อง​ หลังจากซื้อแล้วจะทำอะไรก็เป็นสิทธิ์โดยชอบธรรม แต่ส่วนตัวเราเองที่เป็นทั้งร้านรับพรีออเดอร์และเป็นแฟนคลับด้วย จะดาวน์โหลด​และสนับสนุนอัลบั้มแบบดิจิทัลเป็นอีกทางเลือกค่ะ”

Photo credit: ʟᴜᴄɪᴀɴᴀ

ธุรกิจบังคับให้คนต้องซื้ออัลบั้มและสร้างขยะ

“ในวงการ K-POP มีอีเวนต์ที่เหมือนเป็นการบังคับให้หลายคนต้องซื้ออัลบั้มมากขึ้น จึงเกิดเป็นปัญหาตามมาคือไม่มีที่เก็บ ต้องนำไปทิ้ง หรือเลือกที่จะแกะของในอัลบั้มออกมาและทิ้งตัวอัลบั้ม เพราะแฟนเพลงที่อยู่นอกเกาหลีใต้จะต้องขนส่งข้ามประเทศ มีข้อจำกัดเรื่องน้ำหนักอัลบั้ม ค่าส่ง และภาษี จนผู้คนต้องช่วยกันรณรงค์ให้ตระหนักถึงเรื่องสร้างขยะ”

เจ้าของทวิตเตอร์ @Donkey_Fame บอกกับเราว่าตนเองนั้นนอกจากจะซื้ออัลบั้มเพื่อลุ้นการ์ด ยังเลือกแก้ปัญหาซื้ออัลบั้มมากเกินไปด้วยการซื้อต่อการ์ดจากคนอื่นอีกทีด้วย โดยจะเลือกสะสมเก็บเฉพาะใบที่ชอบหรือคอลเล็กชันที่สวย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าอัลบั้มที่ซื้อมาก่อนหน้านั้นมันกลายเป็นขยะอยู่ดี เพราะแทบไม่ได้ใช้งานเลย

ปัญหาเกี่ยวเนื่องคือการ์ดราคาแพง

นอกจากเรื่องการสร้างขยะแล้ว อีกอย่างที่อยากนำเสนอคืออัลบั้มที่จับต้องได้นี้มักจะมาพร้อมกับปัญหาการขายต่อการ์ดในราคาแพง เพราะคนที่ไม่อยากซื้ออัลบั้มมากองไว้ก็จะตามเก็บแค่การ์ดที่อยากได้ แต่จริงๆ แล้วการซื้อการ์ดอาจไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของการแก้ปัญหาการสร้างขยะโดยไม่จำเป็น

คุณ Neskrjnw เป็นหนึ่งแฟนคลับในที่เลือกเก็บการ์ดมากกว่าซื้ออัลบั้ม เพื่อซื้อการ์ดที่อยากได้ให้จบๆ ไปเลยดีกว่าต้องซื้ออัลบั้มมาลุ้นหลายครั้ง ซึ่งหลายคนอาจมองว่าการซื้อการ์ดต่อจากคนอื่นจะช่วยลดขยะได้ แต่เธอไม่ได้มองแบบนั้น เพราะจำนวนการ์ดที่มีนั้นเท่ากับจำนวนอัลบั้มที่ซื้อ ยิ่งคนต้องการการ์ดมาก คนซื้ออัลบั้มเพื่อมาขายการ์ดต่อก็จะมากขึ้นด้วย 

“ราคาการ์ดมีตั้งแต่หลักสิบจนถึงหลักพันหรือหมื่น ซึ่งเกินราคาอัลบั้มไปอีกหลายเท่าตัว เพราะเเต่ละวงจะมีศิลปินที่คนชอบมากที่สุดอยู่และเป็นที่ต้องการของตลาด ราคาจะสูงกว่าเมมเบอร์คนอื่น อย่างเช่นอัลบั้มราคา 450 บาท การ์ดหายากก็จะอยู่ที่ 350 – 450 บาท ซึ่งเกือบเท่ากับราคาอัลบั้ม หรือบางครั้งเเพงกว่าค่าอัลบั้มก็มีที่สำคัญคือมันทำให้เกิดการโกงได้ง่ายมาก บางคนก็อปปี้รูปคนอื่นมาขาย แต่ไม่ส่งการ์ดให้ผู้ซื้อ เป็นปัญหาเกี่ยวเนื่องที่ไม่เคยแก้ไขได้เลย”

อุตสาหกรรม K-POP ควรเป็นผู้ริเริ่มแก้ปัญหา

สำหรับประเด็นการแก้ไขปัญหาสร้างขยะแบบตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ และประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกัน ทุกคนที่มาร่วมแชร์มุมมองกับเรามองว่าควรเริ่มมาจากต้นทางอย่างอุตสาหกรรมเพลง K-POP เพราะถ้าแฟนคลับช่วยกันรณรงค์ แต่ต้นทางไม่เอาด้วย ความพยามยามคงไม่เป็นผล

@Donkey_Fame: ค่ายเพลงควรเพิ่มตัวเลือกในการซื้อขาย เช่น ถ้าสั่ง 10 อัลบั้ม สามารถเลือกรับอัลบั้มแค่ 3 ชิ้น และนอกนั้นรับแค่ของแถมสุ่ม หรือขายตัวอัลบั้มเฉพาะรอบพรีออเดอร์เท่านั้น หากเป็นรอบปกติจะได้รับเฉพาะของแถมสุ่มและไฟล์เพลงแบบดิจิทัลไปแทน แต่ยังนับยอดขายเข้าชาร์ตเพลงอยู่

Neskrjnw: อยากให้ทำดิจิทัลอัลบั้มมากขึ้นแล้วลดการผลิตอัลบั้มแบบจับต้องได้ เพราะสมัยนี้คนแทบจะไม่มีเครื่องเล่นซีดีกันเเล้ว 

เจ้าของร้านพรีออเดอร์: นอกจากที่ค่ายเพลงควรปรับรูปแบบการทำอัลบั้มแล้ว ระบบในประเทศไทยก็อาจช่วยเรื่องนี้ได้ เช่น เก็บภาษีการทิ้งขยะบางประเภทเหมือนที่เกาหลีใต้ทำ

Photo credit: SM Global Shop

สรุปแล้วความน่าสนใจที่เราได้จากการพูดคุยในครั้งนี้คือ อัลบั้มจะเป็นตัวร้ายใการสร้างขยะหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการกระทำของผู้ซื้อ ถ้าซื้อแล้วเก็บรักษาอย่างดีมันก็จะเหมือนของสะสมอื่นๆ หรือซื้อแล้วนำไปขายต่อให้ผู้อื่นก็เป็นการกระจายโอกาสให้เพื่อนร่วมด้อมและช่วยการลดขยะในบ้านตัวเอง แต่ถ้าซื้อมาแล้วโยนทิ้ง แน่นอนว่านั่นคือสาเหตุของปัญหาขยะล้นโลก เพราะของเหล่านี้ย่อยสลายยาก ส่วนการแก้ไขปัญหาที่จะได้ผลควรเริ่มจากต้นทางอย่างวงการเพลง K-POP เพราะถือว่าเป็นผู้กำหนดพฤติกรรมแฟนคลับ