Culture

ถกประเด็น Food Truck กับแฟนด้อมไทยในมุมที่ (อาจ) มากกว่าที่เห็น

Photo credit: seo_cccc

การซัพพอร์ตศิลปินด้วยอาหารในโอกาสต่างๆ เช่น วันเกิด วันเปิด - ปิดกล้อง วันถ่ายทำซีรีส์  แฟนมีตติ้ง คอนเสิร์ต ฯลฯ หรือที่เรียกกันติดปากว่าฟู้ดซัพพอร์ต (Food Support) เป็นวัฒนธรรมที่อยู่คู่กับแฟนด้อมทั่วโลกมาอย่างยาวนาน ไม่ต่างจากการให้ของขวัญ ทำป้ายไฟ ป้ายวันเกิด และโปรเจกต์ในวันสำคัญอื่นๆ เพียงแต่ภายหลังนั้น วัฒนธรรมดังกล่าวได้ถูกเพิ่มรูปแบบจากการซื้ออาหารกล่องธรรมดาๆ มาเป็นซุ้มอาหาร และล่าสุดคือ “ฟู้ดทรัค” (Food Truck) ที่เป็นการว่าจ้างรถอาหารเคลื่อนที่มาเสิร์ฟความอร่อยในปริมาณมากขึ้นเป็นเท่าตัว 

เกาหลีใต้เป็นประเทศแรกที่ทำผู้เขียนคุ้นชินกับการมีฟู้ดทรัคเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมของแฟนด้อม เพราะหลายปีที่ผ่านมามีการส่งฟู้ดทรัคให้เห็นเป็นประจำ และหลากหลายรูปแบบ ทั้งแฟนคลับส่งให้ศิลปิน ศิลปินส่งให้เพื่อนศิลปินด้วยกันเอง หรือแม้แต่ศิลปินตั้งใจสั่งให้แฟนคลับเองก็มีด้วยเช่นกัน แต่ถ้าเป็นฟู้ดทรัคในแฟนด้อมไทยนั้น ยังนับว่าเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ เพราะเพิ่งกลายเป็นกิจกรรมที่ฮิตขึ้นมาเมื่อไม่นานนี้เอง อาจจะด้วยเหตุผลของการรับเอาวัฒนธรรมข้ามชาติจากแฟนคลับต่างชาติในแฟนด้อมเดียวกัน และการที่ธุรกิจฟู้ดทรัคไทยเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จากสถานการณ์โควิดที่นั่งกินในร้านไม่สะดวก และคนที่อยากทำธุรกิจไม่มีเงินลงทุนสูงมากนัก โดยอ้างอิงข้อมูลจาก ThaiSMEsCenter ที่เคยบอกไว้ว่า ปี 63 ธุรกิจประเภทนี้จะเติบโตขึ้นถึง 10%  

Photo credit: yejinhand, taecyeonokay, xxteukxx

เมื่อแฟนด้อมหนึ่งเริ่มทำแล้วได้ผลตอบรับดี สร้างความว้าวให้กับแฟนด้อมเพื่อนบ้าน เหมือนเป็นทางเลือกใหม่ในการซัพพอร์ต ก็มักจะมีแฟนด้อมที่สอง สาม… ทำตามกันเป็นปกติ แต่ภายใต้กิจกรรมที่กำลังฮิตอยู่นี้ เราๅมองเห็นอะไรบางอย่างที่ซ้อนทับอยู่ แต่การจะนำความคิดเห็นของตนเองมาถ่ายทอดเพียงอย่างเดียวอาจทำให้ผู้อ่านเกิดอคติขึ้นมา
ดังนั้นครั้งนี้เลยจะชวน คุณหนิง - เก๋ – ดาว (นามสมมติ) 3 มนุษย์แฟนคลับ จาก 3 แฟนด้อมในไทย ที่เคยเป็นทั้งผู้ให้ (โดเนทโปรเจกต์ฟู้ดทรัค) และผู้รับ (แฟนคลับที่เข้าร่วมงานอีเวนต์) มาร่วมพูดคุยกัน พร้อมตกผลึกออกมาว่า “ฟู้ดทรัคกับแฟนด้อมไทย” มีมุมมองอะไรที่น่าสนใจ หรือมีแง่มุมใดที่เราอาจมองข้ามไปโดยไม่ตั้งใจบ้าง

Photo credit: @ZS_LatinAmerica

Food Truck ความรัก และพลังโดเนท

ประเด็นแรกที่เลือกมาคุยกันคือที่มาที่ไปของฟู้ดทรัค โดยแฟนคลับทั้ง 3 คน เล่าให้เราฟังว่า สำหรับมุมมองของพวกเขา ฟู้ดทรัคก็คือฟู้ดซัพพอร์ตประเภทหนึ่ง แค่เปลี่ยนจากกล่องข้าว ซุ้มอาหาร มาเป็นรถยนต์หนึ่งคัน และเปลี่ยนจากอาหารไม่กี่กล่อง มาเป็นอาหารที่สามารถเลี้ยงคนได้ทั้งงาน ซึ่งงบส่วนใหญ่ก็ได้มาจากการโดเนท (สมทบทุน) ของกลุ่มแฟนคลับด้อมเดียวกันทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนศิลปินในโอกาสต่างๆ

หนิง: เป้าหมายของการทำฟู้ดทรัคหลักมันคือการแสดงความรักและส่งกำลังใจให้ศิลปิน ส่วนผลพลอยได้คือทุกคนที่ได้ร่วมงานนั้นๆ จะได้อิ่มไปด้วย และเป็นการช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้ศิลปินเป็นที่เอ็นดูของทีมงานและแฟนคลับของศิลปินคนอื่น

ดาว: พลังโดเนทนี่น่าทึ่งมาก บางคนไม่เคยคุยกันมาก่อนเลย แต่แค่ชื่นชอบคนเดียวกันก็ช่วยกันโดเนทได้แล้ว แล้วฟู้ดซัพพอร์ตเนี่ย บางครั้งคนจ่ายเงินไม่ได้กิน หรือคนกินไม่ได้จ่าย แต่ก็ไม่มีใครมานั่งเศร้าอะไร รวมๆ แล้วแฮปปี้มากกว่า

Photo credit: @Iam_mala_ft

Food Truck คือช่องทางเพิ่มรายได้

อย่างที่ทราบกันแล้วว่าฟู้ดทรัคไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เห็นด้วยไหมว่าแฟนด้อมเป็นอีกหนึ่งรายได้ของคนทำธุรกิจ?

เก๋: “เห็นด้วย” เพราะปกติแล้วรถฟู้ดทรัคเขาจะไปขายตามตลาดนัดหรืองานอีเวนต์ต่างๆ ใช่ไหมคะ แต่พอมีกิจกรรมที่แฟนคลับเรียกใช้เพิ่มมา ก็เท่ากับมีโอกาสทำมาหากินเพิ่มอีกทาง แค่มันอาจจะไม่ใช่รายได้หลัก เพราะบ้านแฟนคลับจะเหมาจ่ายค่าอาหาร ไม่เหมือนกับตามงานอีเวนต์ที่ซื้อขายกันได้ตลอดเวลา แต่ก็ไม่แน่นะคะ ถ้าโควิดไม่หนักไปกว่านี้ เดี๋ยวก็มีงานให้พี่ๆ เขาได้ทำกันอีกเยอะ

Photo credit: @VoteSaint_sup

Food Truck Vs Food Waste 

สำหรับการติดต่อฟู้ดทรัคแต่ละครั้งก็เหมือนการสั่งสแน็คบอกซ์หรือฟู้ดซัพพอร์ตอื่นๆ ที่สามารถควบคุมงบประมาณ และกำหนดปริมาณอาหารได้ แต่หลายครั้งที่ผู้เขียนได้ไปสัมผัสบรรยากาศในหลายงานมา พบว่าหนึ่งอย่างที่ไม่เคยควบคุมได้เลยคือ “Food Waste” หรือขยะอาหารเหลือทิ้งที่มาจากหลายเหตุผล เช่น ปริมาณอาหารมากเกินไป บางคนแค่อยากชิมไม่ได้อยากกินทั้งหมด บางงานมีฟู้ดทรัคจอดเรียงกันเป็นสิบคัน ไลน์อาหารเยอะกว่าคน หรือแฟนคลับมีกิจกรรมอื่นแทรกขึ้นมาระหว่างกิน อย่างถ่ายรูปและรวมพล (พบปะ) ศิลปิน ทำให้วางอาหารทิ้งไว้จนลืม เป็นต้น ซึ่งขัดกับสิ่งที่ประเทศไทยและหลายประเทศทั่วโลกกำลังรณรงค์กันอยู่ เราเลยไม่พลาดที่จะหยิบเรื่องนี้มาถกกันด้วย

ดาว: Food Waste เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงยาก เพราะร้านเขากำหนดปริมาณอาหารมาแล้ว และการจะไปบอกให้คนกินให้หมดก็คงไม่ได้อีก เพราะบางทีเราเองก็กินไม่หมด (หัวเราะ) มันหลายปัจจัย แต่ก็เข้าใจเรื่องผลกระทบที่จะตามมา ถ้าให้ปรับอะไรสักอย่างก็คงเริ่มที่ตัวเองนี่แหละ รับอาหารแค่พอกิน ไม่จำเป็นต้องไปแวะทุกร้าน 

เก๋: จริงๆ ตอนนี้เราเห็นบางด้อมเขาให้ความสำคัญกับ Food Waste แล้วนะ การให้ลงทะเบียนผู้ส่งฟู้ดซัพพอร์ทที่รวมถึงฟู้ดทรัคในแต่ละงาน เพื่อจำกัดปริมาณอาหารให้พอกินและไม่เหลือทิ้ง สักวันหนึ่งถ้าทุกด้อมมีอะไรแบบนี้เหมือนกัน มันอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงได้

Photo credit: @jazzy67725039

Food Truck กับขยะพลาสติก

แม้ปัจจุบันคนทำฟู้ดทรัคหลายเจ้าจะหันมาใช้ภาชนะรักษ์โลกใส่อาหาร เช่น จานกระดาษ หลอดกระดาษ กล่องอาหารแบบย่อยสลายได้ เป็นต้น แต่ก็ยังมีอีกหลายเจ้าที่ยังใช้พลาสติกอยู่ เพราะการรักษ์โลกบางทีก็มีต้นทุนสูงกว่า และมีข้อจำกัดในการใช้งาน อยากทราบว่าแต่ละคนมีความเห็นกันอย่างไร

หนิง: เรื่องนี้เห็นบ่อยเลย จบงานทีมีขยะหลายกระสอบ คิดว่าน่าจะเลี่ยงยากพอๆ กับ Food Waste เพราะอย่างที่คุณนักเขียนบอกว่ามันเกี่ยวข้องกับต้นทุนและการใช้งาน เคยไหมคะที่ดูดน้ำยังไม่ทันหมดแต่หลอดกระดาษยุ่ยซะก่อน (หัวเราะ) นั่นแหละ เราเลยค่อนข้างเข้าใจร้านว่าพลาสติกมันชัวร์กว่า ส่วนการแก้ปัญหาเรื่องนี้อาจจะเป็นขั้นตอนแยกขยะก่อนทิ้ง เพื่อให้มันง่ายกับการเอาไปจัดการต่อ เช่น แยกเศษอาหารกับพลาสติก อย่าโยนลงถังเดียวกัน 

ดาว: หวังว่าสักวันฟู้ดทรัคหรือฟู้ดซัพพอร์ทจะหันมาใช้ภาชนะที่ย่อยสลายง่ายกันมากขึ้น ถ้ามีปัญหาเรื่องต้นทุนก็อาจทำเป็น Options เสริมให้แฟนคลับเลือกหน่อยก็ได้ เช่น ถ้าต้องการภาชนะ Non – Plastic ต้องเพิ่มงบเท่าไหร่ เราเชื่อว่าจะมีคนเข้าใจและพร้อมจ่าย

เก๋: ตอนกินไม่เคยนึกถึงเรื่องนี้ เพราะมองว่ายังไงพลาสติกก็ยังอยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคน ไม่มีใครเลิกใช้ได้ 100% หรอก แค่ทิ้งให้เป็นที่ ให้คนเก็บขยะเอาไปรีไซเคิลต่อได้ก็น่าจะโอเคแล้ว

Photo credit: Arturo Rey

ทั้งหมดนี้คือมิติต่างๆ ของ Food Truck และแฟนด้อมไทย ที่ EQ อยากนำเสนอ เพราะเชื่อว่ายังมีบางแง่มุมที่บางคนอาจไม่เคยนึกถึงมาก่อน และสุดท้ายอยากทิ้งคำถามไว้ให้คิดเล่นๆ กันสักนิดว่า ในอนาคตจะเป็นไปได้ไหมที่การซัพพอร์ตคนศิลปินด้วยรถอาหาร จะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีกับทุกคน

อ้างอิง: http://www.thaismescenter.com/ไม่ใช่กระแส-food-truck-แนวโน้มใหม่ผู้ประกอบการร้านอาหารยุคโควิด-19/