Culture

เส้นบางๆ ที่คั่นกลางระหว่าง “ลอกผลงาน” และ “การดัดแปลง” ในวันที่แฟนด้อมกระตือรือร้นเรื่องลิขสิทธิ์

“MV เพลงนี้ก็อปมาชัวร์”
“ไม่ได้ก๊อปเว่ย แค่เป็นแรงบันดาลใจ”
“ลอกมาขนาดนี้ ยังกล้าบอกว่าวาดเอง”
“ก็ไม่ถือว่าลอกนะ น่าจะ Hard Ref มากกว่า”

เวลาที่มีเพลง เอ็มวี นิยาย ภาพวาด หรือภาพถ่ายเซ็ตใหม่ของศิลปินออกมา แล้วเกิดไปเหมือนกับผลงานของศิลปินคนอื่นในอดีต ก็มักจะมีคอมเมนต์ต่างมุมแบบนี้ออกมาให้เห็นอยู่บ่อยๆ และนับวันจะยิ่งเห็นมากขึ้นด้วย ทำให้เห็นว่าทั้งแฟนด้อมศิลปินและคอมมูนิตี้นักวาดนั้นให้ความสำคัญกับเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาไม่น้อยไปกว่าเรื่องอื่นเลย 

อย่างไรก็ตาม เรื่องการคัดลอกผลงาน (Copy) นั้นมีขอบเขตชัดเจนในรูปแบบของกฎหมายคุ้มครองลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญา และคำนิยามที่ระบุไว้ว่าเป็นการนำผลงานของคนอื่นมาทำช้ำ ดัดแปลง และแก้ไขเป็นของตัวเองด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง เช่น ขโมยผลงานมาดัดแปลงแล้วอ้างว่าสร้างงานขึ้นมาเอง โดยไม่มีการอ้างอิงถึงเจ้าของผลงาน เป็นต้น 

แต่สำหรับการนำผลงานเก่ามาสร้างงานใหม่ด้วยวิธีต่างๆ นั้น ยังไม่เคยมีหนังสือเล่มไหนที่ระบุชัดเจนว่าขอบเขตที่เหมาะสมคืออะไร สัดส่วนแบบไหนที่ไม่ถือว่าเป็นการ “ลอก” มีเพียงเส้นบางๆ ที่กั้นเอาไว้คือคำนิยามจากหลายคน 

ศิลปะแห่งการหยิบยืม (Appropriation Art) 

คือการนำผลงานต้นฉบับของศิลปินคนอื่นเพียงบางส่วนมาต่อยอดเป็นงานใหม่ในสไตล์ของตัวเอง แต่ยังคงเอกลักษณ์ของผลงงานเดิมเอาไว้ เพื่อแสดงความเคารพต่อเจ้าของผลงาน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นผลงานที่มีชื่อเสียงในอดีต และคนรู้จักกันอย่างแพร่หลายว่าใครคือเจ้าของ

แรงบันดาลใจ (Inspiration) 

คือการนำแนวคิดหรือความรู้สึกที่ได้รับหลังจากเห็นผลงานของศิลปินท่านอื่น มาจุดประกายความคิดสร้างสรรค์งานใหม่ของตัวเอง

ฮาร์ดเรฟฯ (Hard Reference) 

เป็นอีกคำที่พบบ่อยมากในคอมมูนิตี้นักวาด ซึ่งหลายคนกล่าวว่ามันคือการใช้รูปคนอื่นมาอ้างอิงในการวาดงานใหม่แบบเกือบเป๊ะทุกองศา เกือบทุกองค์ประกอบ แตกต่างแค่รายละเอียดเล็กน้อย

จึงมักจะทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นบ่อยครั้งเวลามีประเด็นร้อนในโลกโซเชียล

อย่างเมื่อไม่นานมานี้กับประเด็น NFT “When She Opens the Door” ของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่วาดภาพของเบนจา อะปัญ สมาชิกกลุ่มแนวร่วมกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม เหมือนกับผลงานของ Damian Lechoszest ศิลปินชาวโปแลนด์ จนเกิดแฮชแท็ก #ลอกผลงาน ขึ้นในทวิตเตอร์ต่อเนื่องหลายวัน เพื่อวิจารณ์การสร้างงานที่ไม่ให้เกียรติต้นฉบับ และการมองข้ามคอมมูนักวาดที่กำลังรณรงค์ให้คนตระหนักถึงเรื่องลิขสิทธิ์ เพราะแม้ธนาธรจะแจ้งไว้ในเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์แล้วว่าได้แรงบันดาลใจมาจากไหน และการตอบกลับจากเจ้าของภาพจะเป็นไปในทางบวก แต่การขออนุญาตเจ้าของภาพอย่างเป็นทางการนั้นเกิดขึ้นหลังจากปล่อยผลงานสู่สังคมไปแล้ว ซึ่งตอนนั้นหลายคนตีความว่านั่นคือการคัดลอกผลงานไม่ควรสนับสนุน แต่บางส่วนมองว่าเป็น Appropriation Art หรือ Hard Reference มากกว่า ยังสนับสนุนต่อไปได้

หรือถ้าย้อนกลับไปปีที่แล้วก็มีดราม่าเอ็มวีโคฟเวอร์ Afterglow - Ed Sheeran ของ มิว ศุภศิษฏ์ จงชีวีวัฒน์ ที่ถูกวิจารณ์ว่าลอกเลียนแบบ MV ของแจฮยอน NCT ทำให้เกิด #MewApologizesToJAEHYUN ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ไทยอันดับ 1 ต่อมามีแฟนคลับจำนวนมากออกมาเทียบเอ็มวีช็อตต่อช็อต พบว่ามันไม่ได้เหมือนกันทั้งเพลง มีเฉพาะที่ถูกคัทออกมาเท่านั้นที่เหมือนกัน และข้อกฎหมายเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาไม่ได้ครอบคลุมการทำ Vlog บวกกับมิว ออกมาแถลงข่าวว่าได้แรงบันดาลใจมาจากหลายเอ็มวีไม่ได้ก๊อปใครมา ทำให้เกิดแฮชแท็ก #NoMoreApologies ขึ้นภายหลัง เพื่อเรียกร้องให้มีการขอโทษมิว

และอีกหลายเรื่องราวที่มีให้เห็นอยู่เรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็นพล็อตเรื่องนิยายที่เหมือนกันบางจุด ภาพปกหนังสือที่เห็นแล้วเอ๊ะ ซาวด์เพลงคล้ายกัน ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความสงสัยตามมาว่าผลงานแบบไหนถึงจะเรียกว่าลอกกันแน่นะ เพราะทุกวันนี้ที่คนกระตือรือร้นเรื่องลิขสิทธิ์กันมากขึ้น ความเหมือนที่อาจบังเอิญแค่เพียงเล็กน้อยก็มักถูกตีว่าเป็นการคัดลอกไว้ก่อน เราเลยถือโอกาสนี้ชวนคนในแฟนด้อมศิลปินและคอมมูนักวาดมาแชร์ความเห็นกันว่ามองเรื่องนี้กันอย่างไร

จะคัดลอกหรือไม่ขึ้นกับการกระทำ

MeenStist นักวาดเบอร์เล็ก ๆ จากมุมหนึ่งของโลกโซเชียล มองว่าผลงานแต่ละชิ้นจะถูดปัดตกไปเป็นการคัดลอกหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการกระทำของผู้สร้างผลงาน คือมีการดัดแปลงมันให้ต่างจากต้นฉบับอย่างชัดเจ และมีจุดประสงค์ที่ดี เช่น ทำเพื่อฝึกฝีมือให้เก่งขึ้น ทำเพื่อแสดงความเคารพต่อศิลปินผู้ล่วงลับ อย่างผลงานของณเรศ จึงที่นำภาพ Les Demoiselles d' Avignon ของปาโบล ปิกัสโซ มาสร้างใหม่เพื่อคารวะศิลปินระดับครู หรือการที่โทรศัพท์แบรนด์อื่นอ้างอิงดีไซน์ปุ่มโฮมของไอโฟน โดยเปลี่ยนจากปุ่มโฮมกลมๆ ไปเป็นรูปทรงที่ต่างออกไป ก็ถือว่าทำได้ ไม่ใช่การคัดลอก

ทุกอย่างมีพื้นฐานจากการคัดลอก ต้องรอบคอบ

Panpan ผู้เสพผลงาน หนึ่งในแฟนคลับที่เคยแสดงความเห็นเกี่ยวกับประเด็นลิขสิทธิ์ไว้ในทวิตเตอร์ ได้แชร์ความเห็นว่า ทุกการดัดแปลงงานมีพื้นฐานมาจากการคัดลอก เพราะคำว่าคัดลอกหมายถึงการทำช้ำ ดัดแปลง และแก้ไข ดังนั้นถ้ามีงาน Hard Ref., Appropriation, Inspiration ออกมาแล้วมีรายละเอียดหรือมีเรื่องราวเดียวกับงานที่คนอื่นเคยทำมาก่อน ก็สามารถโดนมองว่าเป็นการคัดลอกได้ และหากเจ้าของงานต้นฉบับต้องการฟ้องร้องก็อาจทำได้เช่นกัน ซึ่งสิ่งที่จะทำให้คำครหานั้นหายไปคือการใส่ไอเดียของตัวเองลงไปในเปอร์เซ็นต์ที่สูงพอสมควร แล้วทำงานในลักษณะของการต่อยอดมากกว่าการ Copy & Paste และอย่านำไปใช้หารายได้เข้ากระเป๋าตัวเองโดยที่เจ้าของผลงานต้นฉบับไม่อนุญาต

กล่าวถึงและขออนุญาตคือสิ่งที่ต้องทำ

D (นามสมมติ) ในฐานะเป็นทั้งผู้เสพผลงานศิลปะหลายแขนงและผู้ผลิตงานวาดด้วย มองว่าสิ่งสำคัญที่จะทำให้งานไม่ถูกว่าคัดลอกคือ การให้เครดิตงานต้นฉบับ และกรณีที่เจ้าของผลงานยังมีชีวิตอยู่ควรติดต่อขออนุญาตหรือแจ้งเรื่องไปก่อนเสมอ แม้จะไม่ได้สร้างงานเพื่อหารายได้ก็ตาม หรือจะหันไปใช้การอ้างอิงจากรูปถ่ายของตัวเอง หรือข้อมูล Public Domain เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์แทนก็ได้ 

“หากตัวงานมีความเหมือนกันชนิดที่เทียบเส้นต่อเส้นเกิน 70% เราจะรู้สึกไม่ชอบใจ และหากรู้ว่างานนั้นๆ ไม่ได้มีการอ้างอิงถึงที่มาที่ไปด้วย เราจะแจ้งไปที่เจ้าของงานต้นฉบับให้ทราบและดำเนินการเอาเรื่องต่อ เพราะอยากให้ทุกคนค่อยๆ ทำความเข้าใจและให้ความสำคัญกับลิขสิทธิ์ เพราะนอกจากจะเป็นเรื่องของกฎหมายแล้ว ยังเป็นการสร้างคอมมูนิตี้ให้น่าอยู่ด้วย มันช่วยผลักดันให้เกิดการสร้างสรรค์งานใหม่ ทำให้ศิลปินมีรายได้ และมีกำลังใจมากพอในการสร้างสรรค์งานต่อไป”

มองให้ไกลถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง

อีกประเด็นที่น่าสนใจจาก Panpan คือ การคัดลอกผลงานและปัญหาลิขสิทธิ์ เกี่ยวข้องกับสถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา และรัฐบาล

“เราเป็นคนหนึ่งที่เคยเพิกเฉยกับเรื่องลิขสิทธิ์ เคยสนับสนุนการคัดลอกผลงานผ่านการโหลดเพลงเถื่อน เพราะคิดว่ามันสะดวกและฟรี แต่พออายุมากขึ้น ได้เรียนรู้มากขึ้น ก็เข้าใจได้ว่ามันไม่ดีกับศิลปินที่ตั้งใจสร้างสรรค์ผลงาน แต่ยังไงก็เข้าใจคนที่คัดลอกผลงานหรือสนับสนุนอยู่ เพราะปัญหานี้มันเชื่อมโยงกับหลายมิติ ทั้งสถาบันครอบครัวและสถาบันการศึกษาที่ไม่ได้ปลูกฝังกันมาตั้งแต่เด็กๆ บางคนโตมาแบบยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าลิขสิทธิ์คืออะไร รวมถึงคนในประเทศเราที่ไม่ได้มีรายได้มากพอที่จะสนับสนุนของถูกลิขสิทธิ์ บางครั้งของเลียนแบบมันถูกกว่า ซึ่งมันโยงไปถึงการบริหารประเทศของรัฐบาลด้วย เพราะเมื่อไหร่ที่รายได้สมเหตุสมผลกับค่าครองชีพ คนจะตระหนักถึงลิขสิทธิ์ได้มากขึ้น เราคิดว่ามันต้องแก้ที่ตัวระบบ”

Photo credit: jrebel