Art

'ตึกฝรั่ง' ในจิตรกรรมไทย และแรงบันดาลใจจากกระดาษปิดฝาเรือน

เมื่อร้านถ่ายภาพ 'ฟรานซิสจิตรแอนด์ซัน' ของนายฟรานซิส จิตรถือกำเนิดขึ้นในสยามประเทศ พาให้คนได้รู้จัก 'ภาพถ่าย' นวัตกรรมทันสมัยจากโลกตะวันตก ทำให้สยามอัพเกรดตัวเองจนทันสมัยนำประเทศเพื่อนบ้านไปไกล โดยเฉพาะบรรดาชนชั้นสูงในสังคม สิ่งนี้ส่งผลไปยังงานศิลปะที่สร้างโดยคนเหล่านี้ ในสังคมที่มีความล้ำ มีความฝรั่ง ความทันสมัย มาทั้งในรูปของไอเดีย ไปจนถึงความสมจริงบนฝาผนังที่ภาพถ่ายนำพามาให้

และความสมจริงที่ว่า อย่าคิดว่ามีแค่รูปคนที่เหมือนนะครับ แม้แต่ตึกรามบ้านช่องก็สมจริงขึ้นด้วย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเข้ามาของภาพถ่าย แต่อีกส่วนหนึ่งก็เกิดจากการเข้ามาของสิ่งที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า 'Scenic Wallpaper'

จากกระดาษปิดฝาเรือนสู่ต้นแบบในการเขียนภาพ

Scenic Wallpaper หรือ 'กระดาษปิดฝาเรือน' คือกระดาษพิมพ์รูปภาพขนาดใหญ่สำหรับปิดผนังบ้านแบบเดียวกับที่วอลเปเปอร์ที่เดี๋ยวนี้เราซื้อมาติดผนังนั่นแหละ แต่แทนที่จะเป็นแค่ลวดลายเฉยๆ Scenic Wallpaper มักจะทำเป็นภาพวิว ไม่ว่าจะเป็นวิวเมือง วิวธรรมชาติ หรืออาจเป็นวิวในจินตนาการก็ได้ สิ่งนี้ถือเป็นสินค้าตกแต่งบ้านยอดนิยมทั้งในยุโรป และอเมริกาเมื่อ 200 กว่าปีก่อน และเชื่อว่าน่าจะมีการนำเข้ามาในสยาม จนขรัวอินโข่งเอามาใช้เป็นแรงบันดาลใจ และต้นแบบในการวาด

แล้วรู้ได้อย่างไรว่า ขรัวอินโข่งใช้กระดาษปิดฝาเรือนมาเป็นต้นแบบในการวาดรูป ก็สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นคนเล่าไว้ในสาส์นสมเด็จเอง ท่านเล่าไว้ว่า ท่านประหลาดใจที่แม้ว่าขรัวอินโข่งไม่เคยไปยุโรปเลยสักครั้งก็จริง แต่ก็สามารถวาดภาพฝรั่งสมัยต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ได้ โดยอาศัยกระดาษปิดฝาเรือนที่ฝรั่งเอามาขาย 

อนึ่ง จริงๆ มีการสันนิษฐานว่า นอกจากกระดาษปิดฝาเรือนแล้ว ขรัวอินโข่งน่าจะใช้วัตถุดิบหลายอย่างมาเป็นต้นแบบในการวาดภาพ ไม่ว่าจะเป็นภาพพิมพ์หิน ภาพพิมพ์ขาวดำตามหนังสือพิมพ์ หรือนิตยสาร ตำราต่างๆ รวมไปถึงภาพวาดบนกระจกของชาวจีนอีกด้วย

คราวนี้ลองมาดูกันดีกว่า 'ตึกแบบสมจริง' ในงานจิตรกรรมฝาผนังที่ว่านี้ มันจะสมจริงสักแค่ไหนเชียว

ภาพเขียนแนวใหม่กับตึกสไตล์สมจริงทั้งไทยและเทศ

เรามาเริ่มกันด้วยรัชสมัยของในหลวงรัชกาลที่ 4 ในวัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นผู้อุปถัมภ์การสร้างจนแล้วเสร็จ ที่นี่มีภาพปริศนาธรรม ภาพเล่าเรื่องในพุทธศาสนาแนวใหม่ที่พระองค์ทรงคิดค้นขึ้น และเมื่อเป็นเรื่องแนวใหม่ ภาพที่ใช้ก็ต้องใหม่ด้วยเช่นกัน เพราะแทนที่พื้นหลังจะเป็นภาพอาคารแบบที่เราคุ้นเคยกันดี แต่เปล่าเลย ฉากหลังกลับเต็มไปด้วยอาคารสไตล์ตะวันตกหลากหลายรูปแบบ ทั้งถนน, สะพาน, อนุสาวรีย์ หรือแม้แต่น้ำพุซึ่ง ณ ขณะนั้นสยามยังไม่รู้จักก็มีอยู่ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพของอาคารต่างๆ ที่หลายหลังดูแล้วเหมือนตึกจริงๆ แต่ไม่ใช่ตึกในบ้านเรานะครับ ผมหมายถึงตึกจริงๆ ในโลกตะวันตก

และตึกที่เอามาเป็นฉากหลังก็ใช่ว่าจะเป็นตึกธรรมดาๆ เพราะมีทั้งซุ้มประตูทางเข้า ‘ไฮด์ปาร์ค’ (Hyde Park) สวนใหญ่ในกรุงลอนดอน ซึ่งมักถูกใช้เป็นสถานที่พูดคุย วิพากษ์วิจารณ์ หรือเรียกร้องสิทธิต่างๆ จนเป็นที่มาของคำว่า 'ไฮด์ปาร์ค', ‘Mount Vernon Mansion’ บ้านพักของจอร์จ วอชิงตัน และสถานที่พำนักหลังการเสียชีวิตของประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่ภาพ ‘อาคารรัฐสภาของสหรัฐอเมริกา’ (U.S. Capitol) แห่งกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. หลังเดิม ก่อนการรื้อแล้วสร้างใหม่ในปี 1842 ก็ยังมาโผล่ที่วัดแห่งนี้ ยังไม่รวมภาพสระน้ำที่มีดอกบัวขนาดใหญ่ ที่น่าจะวาดขึ้นตามลักษณะเด่นของดอกบัววิคตอเรีย ดอกบัวพันธุ์ใหญ่ที่สุดก็ยังสามารถพบได้ที่นี่เช่นกัน

แล้วอาคารแบบไทยๆ มีบ้างไหม? มีสิ ถึงจะไม่แน่ใจว่า ขรัวอินโข่งใช้อะไรเป็นต้นแบบ แต่ที่วัดมหาสมณาราม จังหวัดเพชรบุรี เล่นปรากฏภาพเขียนวัดจริงๆ บนผนังเลย บางที่ยังแถมภาพประเพณีสำคัญของวัดนั้นๆ มาด้วย มีทั้งวัดพระปฐมเจดีย์, วัดพระมหาธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมงานประเพณีสารทเดือนสิบ, วัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรีที่มาพร้อมกับงานประเพณีนมัสการพระบาทประจำปี มีแม้กระทั่งพระนครคีรี หรือ เขาวัง พระราชวังที่ในหลวงรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นอย่างตะวันตก หรือแม้แต่วัดในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเจดีย์แบบมอญ (ที่อาจจะหมายถึงเจดีย์ชเวมอดอว์ เมืองพะโค) ไปจนถึงเขาสุมนกูฏบนศรีลังกา สุดยอดสถานที่แสวงบุญก่อนยุค 4 สังเวชนียสถานก็ยังมีด้วย แต่อาจเป็นเพราะสถานที่พวกนี้อยู่ไกล ช่างอาจมีข้อมูลไม่มากพอ เลยทำให้สถานที่ศักดิ์สิทธิ์จากต่างแดนสมจริงสู้ภาพสถานที่ในไทยไม่ได้เลย

เขียนวัดไว้ในวัด

แต่การเขียนภาพวัดอื่นลงบนฝาผนังวัดตัวเองจะกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปเลย เมื่อเทียบกับสิ่งที่เราพบที่วัดปทุมวนาราม กรุงเทพฯ เพราะถึงแม้เนื้อเรื่องหลักที่เขียนลงบนฝาผนังพระวิหารหลวงจะเป็นเรื่องศรีธนญชัยเจ้าปัญญา แต่ถ้าเราเข้าไปแล้วเดินไปทางซ้าย จะเจอผนังที่เล่าเรื่องตอนที่ศรีธนญชัยแซวช้างเผือกของพระราชาว่า สัตว์อะไรตัวใหญ่เสียเปล่า ตากลับเล็กนิดเดียว (ซึ่งช้างก็เป็นสัตว์ตัวใหญ่ตาเล็กจริงๆ) จะเห็นว่า ฉากหลังของเรื่องมีเจดีย์องค์ใหญ่สีขาวองค์หนึ่งที่มีซุ้มอยู่ตรงกลาง และมีเหมือนพานพุ่มอยู่ที่มุม คราวนี้ให้ถอยหลังมาสักหน่อย แล้วมองทะลุประตูหลักของพระวิหารหลวงออกไป ก็จะเจอกับเจดีย์หน้าตาเหมือนกันเปี๊ยบอยู่ตรงหน้า

ทีนี้กลับมาดูที่ผนังเดิมอีกที แล้วมองไปทางซ้าย และขวาของเจดีย์ในภาพ จะเห็นว่า ทางซ้ายมีอาคารหลังเล็กที่มีเสมาอยู่ที่โคนเสา และอยู่ที่มุมกำแพง ส่วนทางขวาที่มีภาพศรีธนญชัยกำลังวาดไส้เดือน 5 ตัว ตอนแข่งวาดรูปสัตว์ ก็เป็นอาคารขนาดใหญ่ที่มีมุขยื่นออกมาข้างหน้า ถ้าลองเดินออกไปข้างนอก แล้วมองย้อนกลับมา ก็จะเห็นภาพอาคารแบบเดียวกันกับที่ปรากฏในภาพเลย ใช่ครับ ฉากนี้ช่างบรรจงเขียนภาพวัดปทุมวนารามลงไป เรียกว่า เขียนวัดตัวเองลงไปบนผนังเสียเลย ถือเป็นมิติใหม่ที่ไม่เคยพบมาก่อนในงานศิลปะไทยเลยก็ว่าได้

ประวัติศาสตร์ที่สมจริง ก็ต้องเล่าด้วยโลเคชั่นจริง

พอเข้ารัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ความชำนาญของช่างเพิ่มขึ้น ความสมจริงก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว คราวนี้จากการเขียนแค่วัดสำคัญ หรือพระราชวังนอกเมืองหลวง ก็มาสู่การเขียนภาพ ‘พระบรมมหาราชวัง’ ในกรุงเทพฯ ไปเลยสิครับ แม้จะไม่มีการเขียนพระราชฐานชั้นใน แต่ส่วนอื่นๆ ต้องบอกว่า มากันครบเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นวัดพระศรีรัตนศาสดาราม, พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย, พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท, พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท รวมถึงอาคารสำคัญอื่นๆ ก็ขนขบวนพาเหรดมากันหมด ที่สำคัญภาพพวกนี้มักจะมาพร้อมกับเหตุการณ์จริงด้วย เช่น ในพระที่นั่งทรงผนวช วัดเบญจมบพิตร ที่เป็นภาพพระราชประวัติของในหลวงรัชกาลที่ 5 ก็ถูกเล่าพร้อมฉากหลังตรงตามประวัติศาสตร์แบบเป๊ะๆ แต่ก็มีบ้างเหมือนกันที่ ภาพพระบรมมหาราชวังถูกนำไปเป็นฉากหลังของเนื้อเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เช่น ฉากเมืองสีพีของพระเวสสันดรชาดก

และเพื่อเป็นการแสดงถึงฝีมือช่างที่อัพเกรดขึ้น นอกจากภาพวัดที่มีความสมจริงแล้ว พื้นที่รอบๆ วัดก็ถูกวาดให้ดูสมจริงมากขึ้นไปด้วย ทั้งถนนหนทาง, คูคลอง และตึกรามบ้านช่องต่างๆ แต่ไม่นับรวมรูปคนที่เดินไปเดินมา หรือทำกิจกรรมต่างๆ อยู่ในภาพ เพราะเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่า ถูกวาดออกมาเหมือนจริงหรือเปล่า (เพราะเราไม่ใช่คนในสมัยนั้น) เราไม่มีทางรู้ได้ว่า คนที่อยู่แถวนั้นแต่งตัวเหมือนอย่างในจิตรกรรมไหม แต่ถ้าพวกตึกรามบ้านช่องเนี่ย ก็พอจะสังเกตได้ เพราะหลายๆ ที่ก็ยังมีให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน

ความสมจริงแบบใหม่

ตัดสลับมายังยุคปัจจุบันกันบ้าง หลังจากการถือกำเนิดของมหาวิทยาลัยศิลปากร ทำให้เกิดการเรียนการสอนแบบ Academic อย่างฝรั่ง ส่งผลให้การวาดภาพที่สมจริงเกิดขึ้นกับภาพวาดโดยศิลปินบนผืนผ้าใบ เช่น ภาพภูเขาทอง ของทวี นันทขว้าง, ภาพแสงเงา ของปรีชา เถาทอง หรือภาพวัดภูมินทร์ ของวินัย ปราบริปู ที่ได้นำวัด และวิวทิวทัศน์จริงๆ มาใส่ในผลงานของพวกเขาเหล่านี้ 

แต่เมื่อเราลองมองเข้าบนฝาผนังของวัดวาอารามต่างๆ จะพบว่า ภาพสถานที่จริงในจิตรกรรมฝาผนังยุคหลังกลับไม่ค่อยเป็นที่นิยมเท่าไรนัก ส่วนหนึ่งก็น่าจะเกิดจากความนิยมในการเขียนภาพโดยใช้จิตรกรรมโบราณเป็นต้นแบบ หรือส่วนที่ออกแบบใหม่ก็เน้นเล่าเรื่อง หรือวาดภาพตามแบบไทยประเพณีดั้งเดิม เลยไม่ค่อยมีภาพสถานที่จริงมาอยู่บนผนังให้เห็นเท่าไร แต่คำว่า 'ไม่ค่อยมี' ก็ไม่ได้แปลว่า 'ไม่มี' มันก็พอมีอยู่บ้าง อย่างเช่น ภาพพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทในเรื่องพระมหาชนก วัดราชผาติการามก็มี หรือภาพเกาะรัตนโกสินทร์ที่วัดอัมพวันเจติยารามก็ใช่ นี่ยังไม่รวมภาพในพระพุทธรัตนสถานที่พระบรมมหาราชวังที่เขียนภาพพระราชประวัติของในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยใช้ฉาก ใช้สถานที่จริงมาเป็นแบ็คกราวนด์ ตามขนบเดียวกันกับที่ทำในพระที่นั่งทรงผนวชเลย

รู้เขา รู้เรา 

เราจะเห็นได้ว่า ความเป็นตะวันตกที่เข้ามาสู่สยามประเทศนำพา 'ความเจริญก้าวหน้า' ในหลายด้านมาสู่สยามจริงๆ รวมไปถึงเทคโนโลยีศิลปะ ที่ทำให้งานศิลปะไทยหลังการเข้ามาของตะวันตก พัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด และสมจริงมากขึ้น ถึงกระนั้น ความสมัยใหม่เหล่านี้ก็ยังไม่ได้รับการยอมรับในวงกว้างขนาดนั้น เนื่องจากสังคมไทยสมัยก่อนที่มีความ Conservative สูงมาก แต่เมื่อเวลาผ่านไป การยอมรับที่เพิ่มขึ้นก็ส่งให้งานจิตรกรรมไทยในปัจจุบัน มีความผสมผสานทั้งงานแบบเก่า และงานแบบใหม่เข้าด้วยกัน

แต่สิ่งที่เราต้องไม่ลืมก็คือ คำเตือนของในหลวงรัชกาลที่ 3 ที่ทรงเตือนว่า 'การงานสิ่งใดของเขาที่ดี ควรจะเรียนร่ำเอาไว้ แต่อย่าไปนับถือเลื่อมใสไปทีเดียว' เพราะถ้าเราเอาอย่างเขาไปเสียทั้งหมด สิ่งที่จะสูญเสียไปก่อนเลยก็คือ 'ตัวตน' และ 'อัตลักษณ์' ของเรา ดังนั้น อะไรที่ดีที่เหมาะก็เรียนรู้ แล้วเอามาปรับใช้ดีกว่า เพราะคนไทยเราขึ้นชื่อเรื่องการผสมผสาน และกลมกลืนอยู่แล้ว อะไรที่เป็นของต่างถิ่น เราก็สามารถปรับให้เข้ากับเราได้หมดมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว