Daily Pickup

'ภาษาพัด' ภาษาที่สาวๆ ยุควิคตอเรียนใช้สื่อสารนอกเหนือจากภาษาพูด

“Men have swords, women have fan”

หลายๆ คนเคยได้ยินประโยคข้างบนนี้ ซึ่งหากพูดถึงอาวุธคู่ใจของผู้ชายก็คงจะหนีไม่พ้นดาบ แต่ทำไมพูดถึงผู้หญิงแล้วต้องเป็นพัด? นั่นก็เพราะ พัดกับผู้หญิงเกี่ยวข้องกันมาตั้งแต่สมัยก่อน การใช้ประโยชน์ของพัดมีมาตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณ จีน และอินเดีย เมื่อหลายพันปีก่อน ทั้งที่ถูกใช้ในพิธีกรรมไปจนถึงใช้ดับร้อน และไล่แมลง จนกระทั่งในศตวรรษที่ 17 พัดแบบพับได้ถูกใช้ในยุโรป ซึ่งตัวพัดเองก็มีชื่อเสียงในหมู่ชนชั้นสูง และเชื่อว่าเป็นเครื่องมือสำหรับโปรยเสน่ห์ของผู้หญิง นอกจากนี้ พัดยังถูกใช้ในโอกาสสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นงานแต่งงาน งานราชาภิเษก และมันก็ยังถูกใส่ความหมายเข้าไปเรื่อยๆ จนมาถึงยุคที่พัดกลายมาเป็นอาวุธของผู้หญิงอย่างแท้จริง ‘ยุควิคตอเรียน’

พัดผ้าไหมตกแต่งด้วยลายเย็บมือรูปนก และดอกไม้ของหญิงสาวยุควิคตอเรียน

‘พัด’ ถือได้ว่ามีความสำคัญสำหรับสาวๆ ยุควิคตอเรียนเป็นอย่างมาก เป็นหนึ่งในเครื่องประดับที่มักถูกถือในงานสำคัญต่างๆ เพราะนอกจากจะทำให้เหล่าสตรีได้อวดความงามของดวงตา และใบหน้าผ่านการวางพัดไปตามจุดที่อยากให้อีกฝ่ายสนใจแล้ว มันยังเป็นอุปกรณ์ดับร้อนในยุคที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ หรือพัดลม ทั้งยังเป็นสิ่งที่สื่อถึงความเป็นหญิง และความละเอียดอ่อนอีกด้วย แม้พัดจะถูกใช้เป็นหนึ่งในเครื่องประดับประจำวัน ที่ไม่ได้มีความหมายพิเศษในตัวมันเอง ถึงอย่างนั้นมันก็เป็นชิ้นส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้ หากไปงานเลี้ยงสังสรรค์ หรือพบปะผู้คนแล้วขาดพัด ก็เท่ากับขาดอาวุธคู่ใจ ซ้ำยังเป็นการเสียมารยาทอีกด้วย

ก่อนหน้านี้ พัดถือว่ามีราคาแพง และเป็นที่นิยมเฉพาะในหมู่ชนชั้นสูงสาวเดนมาร์ก และฝรั่งเศส ทำให้สาวชาวอังกฤษก่อนหน้านั้นจะต้องนำเข้าพัดมาใช้ กระทั่งมีผู้ผลิตพัดชาวฝรั่งเศสนาม ‘ดูเวเลรอย’ (Duvelleroy) มาเปิดร้านพัดในลอนดอนเมื่อปี 1860 ยอดขายที่ได้ก็พุ่งกระฉูด และ ‘จูลลส์’ (Jules) ลูกชายของเขา ก็ได้คิดค้น ‘คู่มือภาษาพัด’ ขึ้นมา ด้วยการทำแผ่นพับรวบรวมภาษาพัด ที่บ้างก็มีอยู่แล้ว บ้างก็คิดค้นขึ้นมาใหม่ ส่วนหนึ่งก็เพื่อเพิ่มยอดขาย และความสนใจให้กับพัดจากร้านของเขา

ภาษาพัดจากแผ่นพับ

ภาษาพัดในคู่มือมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็น

ตามฉันมา = ถือพัดด้วยมือขวาและวางไว้บนหน้า
ฉันอยากรู้จักคุณ = ถือพัดในมือซ้าย
คุณเปลี่ยนไปนะ = วางพัดไว้บนหูขวา
ฉันต้องการจะกำจัดคุณ (ออกไปจากชีวิต) = หมุนพัดในมือซ้าย
ฉันรักคุณ = ลากพัดไปตามแก้ม
เรากำลังโดนจ้องมองอยู่ = ลากพัดไปตามหน้าผาก

แน่นอนว่าร้านพัดของดูเวเลรอยนั้นส่งผลให้พัดได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม จากเดิมที่มันเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเครื่องแต่งกาย กลับกลายมาเป็นสัญญะของความโรแมนติกที่ผู้คนจากทุกชนชั้นต่างก็นิยม สาวๆ ชนชั้นสูงจึงมักจะถือพัดขนาดใหญ่ที่ตกแต่งด้วยวัสดุชั้นเลิศ เช่น งาช้าง ผ้าไหม รวมถึงขนนกกระจอกเทศ ส่วนชนชั้นล่างก็จะซื้อพัดที่ผลิตจากโรงงาน พัดในยุคนั้นขายดีเป็นเทน้ำเทท่าจนถึงขั้นที่ว่าสาวๆ ที่ยังไม่ได้แต่งงานพากันเข้าไปทำงานในโรงงานผลิตพัดกันเลยทีเดียว

‘ยุควิคตอเรียน’ นับว่าเป็นยุคสมัยหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ที่กฎเกณฑ์ และประเพณี ถูกใช้เพื่อครอบงำบทบาท และการวางตัวของคนในสังคม โดยเฉพาะกับหญิงสาวตั้งแต่ชนชั้นกลางไปจนถึงชนชั้นสูง ที่ชีวิตประจำวันของพวกเธอตั้งแต่ตื่นนอนตอนเช้าไปจนถึงเวลาเข้านอนเต็มไปด้วยข้อบังคับมากมาย หากพูดกันถึงสังคมที่เต็มไปด้วยความคาดหวัง และความกดดันต่อเพศหญิง หนทางที่พวกเธอจะสามารถเปิดเผยความรู้สึกออกมาได้คงจะมีอยู่ไม่มาก และต้องเป็นการเปิดเผยแบบแอบๆ ห้ามให้ใครรู้ จะได้ไม่ดูเกินงาม โดยเฉพาะต่อหน้าผู้หลักผู้ใหญ่ ‘ภาษาพัด’ จึงได้ถือกำเนิดขึ้นในสังคม

ภาษาหน้าต่าง

ภาษาพัดช่วยให้สาวๆ สามารถคุยกับฝ่ายชายได้อย่างลับๆ โดยไม่ถูกจับได้ แม้จะมีข้อกังขาว่า ฝ่ายชายจะเข้าใจสิ่งที่พวกเธอต้องการจะสื่อสารมากน้อยเพียงใด มีหนังสือหลายเล่มในยุควิคตอเรียนที่ว่าด้วยเรื่องภาษาอื่นๆ ในการสื่อสาร เช่น The Dime Lover’s Casket: A Treatise on and Guide to Friendship, Love, Courtship, and Marriage (1870) หนังสือที่ไม่ได้พูดถึงเพียงภาษาดอกไม้ หรือภาษาพัดเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงภาษาแหวน ภาษาหนังสือ ภาษาร่ม หรือภาษาหน้าต่าง ที่สาวๆ สามารถใช้ในการสื่อสารกับชายหนุ่ม หรือผู้ที่มาจีบได้

The Ladies Conversation Fan

อีกรูปแบบหนึ่งของภาษาพัด ที่อาจจะดูแตกต่างออกไปสักเล็กน้อย คงจะเป็นการซื้อพัดเพื่อสื่อสารจริงๆ นั่นก็คือ The Ladies Conversation Fan ซึ่งทำหน้าที่เป็นเหมือนเครื่องมือสำหรับส่งรหัสมอร์ส โดยมีตัวอักษรปรากฎอยู่บนพัด และการสะกิดพัดตามส่วนต่างๆ ของร่างกายจะแทนด้วยตัวอักษรโดยตรง เพื่อสื่อสารกับฝ่ายชาย นอกจากนี้ มันยังถูกออกแบบมาให้บริเวณด้ามพัดมีตัวอักษรอีกด้วย หากฝ่ายหญิงต้องการจะขอความช่วยเหลือ เธอก็เพียงแค่ชี้นิ้วไปตามตัวอักษรที่อยู่บนด้าม

นอกเหนือจากภาษาแล้ว มารยาทของการใช้พัดก็เป็นสิ่งจำเป็น และรู้โดยทั่วกัน โดยที่หนังสือเกี่ยวกับมารยาท และสมบัติผู้ดีต่างระบุถึงวิธีการใช้พัดที่ถูกต้อง เช่น  เจ้าบ้านหญิงควรเตรียมพัดไว้ให้กับหญิงสาวในห้องน้ำหญิง, การไปร่วมงานเลี้ยงต้องมีสิ่งสำคัญ 3 อย่างคือ ถุงมือหรู ผ้าเช็ดหน้าชั้นดี และพัด, พัดถือเป็นของขวัญมีคุณค่าที่เจ้าสาวต้องมอบให้เพื่อนเจ้าสาว เป็นต้น

Photo Credit: Southside Pride

ในปัจจุบันภาษาพัดไม่ได้รับความนิยม และแพร่หลายเท่าแต่ก่อน มันเริ่มเลือนหายจากวงสังคมไปตามกาลเวลา นั่นก็เพราะยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เทคโนโลยีต่างๆ มีบทบาทในชีวิตมนุษย์มากขึ้น ทั้งเครื่องปรับอากาศ หรือพัดลมที่ให้ความเย็นได้อัตโนมัติ รวมไปถึงบทสนทนาในสังคมก็เปิดกว้างมากขึ้น ไม่ว่าจะชายหรือหญิงก็แสดงความรู้สึกนึกคิดของตนได้ การพูดคุยกันอย่างลับๆ ผ่านภาษาพัดก็อาจจะไม่ใช่เรื่องจำเป็นอีกต่อไป 

ทั้งหมดทั้งมวลนี้อาจยากจะทำความเข้าใจได้สำหรับคนในยุคปัจจุบันที่มีอิสระทางความคิด และการกระทำ แต่หากย้อนกลับไปเมื่อกว่าสองร้อยปีที่แล้ว ในสังคมที่ผู้หญิงยังไม่ได้รับอิสระ และถูกล้อมกรอบ ภาษาพัดก็นับว่าเป็นตัวอย่างชั้นดีที่สะท้อนการถูกกดทับของเพศหญิง ทั้งยังเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่ยืนยันถึงการพยายามมีสิทธิ์มีเสียงของผู้หญิงในสมัยก่อน มากเท่าที่สตรีคนหนึ่งจะสามารถทำได้

อ้างอิง

William L. Clements Library
Recollections
Molly Brown House Museum
Sotheby's
National Trust for Scotland