Art

เปิดประตูดูบ้านเช่า (บูชายัญ) – หนังสยองขวัญที่มีมากกว่าความน่ากลัว

ภาพยนตร์เรื่อง ‘บ้านเช่าบูชายัญ’ ผลงานล่าสุดจากค่าย GDH ที่กำกับโดย ‘จิม’ - โสภณ ศักดาพิศิษฏ์ เจ้าพ่อหนังสยองขวัญที่หลายคนอาจรู้จัก ตั้งแต่มีตัวอย่างภาพยนตร์เผยแพร่ก็มีเสียงวิจารณ์ที่แตกต่างกันไปตามความคิดเห็นของผู้รับชม บางคนรู้สึกว่าตัวอย่างไม่ค่อยเล่าเรื่องอะไรมากนักจนตัดสินใจไม่ได้ว่าควรไปดูหรือไม่ บางคนบอกว่าเนื้อหาดูเดาง่ายเกินไป และหลายคนตัดสินความสนุกของภาพยนตร์เรื่องนี้จากตัวอย่างที่เห็นสั้นๆ เพียงไม่กี่นาที 

วันนี้ EQ จึงชวนจิมมาพูดคุยถึงสาเหตุของเรื่องลึกลับที่เล่าไม่ได้ และประสบการณ์ทำหนังสยองขวัญที่ต้องเอาชนะความหวาดกลัวของคนดูให้ได้ นอกจากนี้ EQ ยังได้แอบกระซิบความน่าสนใจของภาพยนตร์เรื่องนี้เอาไว้ในช่วงท้ายบทความ (โดยไม่มีการสปอยล์เนื้อหาสำคัญในเรื่อง) เพื่อประกอบการตัดสินใจ รับรองว่า อ่านจบแล้วยังสามารถพกความลุ้นระทึกเต็มร้อยไปดูภาพยนตร์ได้อย่างไม่เสียอรรถรสแน่นอน 

ความกลัวที่เป็นสากลของหนังสยองขวัญ

ส่วนตัวเราโตมากับหนังแนวนี้ ที่บ้านผมเวลาดูหนังดราม่า หรือหนังที่จริงจังมักจะหลับครับ แม่เป็นคนที่ชอบหนังสยองขวัญด้วย เราเลยโตมากับอะไรแบบนี้ ผมชอบบรรยากาศตอนดู ตอนตกใจแล้วกอดกัน หรือหัวเราะกันตอนที่โล่งใจ คนหนึ่งขำเพราะ เห็นอีกคนกลัว เป็นบรรยากาศที่เราคุ้นเคย คือมันกลัวนะ แต่ก็สนุก เป็นแบบนี้มาตั้งแต่เด็กๆ พอไปอยู่มหาวิทยาลัยก็มีการทำหนังรับน้องที่ฉายกันในคณะ ผมก็ยังทำหนังผีอยู่ แล้วปรากฏว่า พอทำหนังแนวนี้ในงาน เรารู้สึกว่ามันมีบรรยากาศร่วมบางอย่างที่ทำให้คนดู relate และมีรีแอคกับหนังได้ ผมรู้สึกว่า ความกลัวมันเป็นสากล เลยชอบบรรยากาศการทำงานแบบนี้มาตลอด ถ้าไม่ได้ทำหนังผี อย่างมากก็เป็นหนังแนวตื่นเต้นมั้งครับ เรื่อง ‘เคว้ง’ ก็ถือว่าไม่มีผีนะ เป็นแนวลึกลับ เพราะผมชอบทำซีนที่มีความตื่นเต้น ความระทึก อาจจะไม่ใช่แค่แนวผีอย่างเดียว อาจจะเป็นแนวแอ็กชั่นก็ได้ 

ผมว่าหนังผีสนุกตรงที่เราต้องกำกับคนดู ซีนผีเวลาที่น่ากลัวที่สุดคือ การทำให้คนดูรู้สึกว่า ผีจะออกมาแล้วแต่ยังไม่ออก ถ้าใครดูหนังผีบ่อยๆ จะรู้ว่า ทันทีที่ผีออกมามันคือ จุดสิ้นสุดของซีนผีแล้ว แต่ความน่ากลัวที่สุดจะอยู่ในจังหวะที่ผีกำลังจะออกมานี่แหละ สำหรับผมจุดนี้เลยยากตรงที่จะทำยังไงให้คนดูลุ้น สาเหตุที่ยากเพราะ เรายังไม่ได้เห็นผีออกมาต่อหน้า สมมุติว่า ถ้าไปอยู่ในสถานที่ที่มีบรรยากาศจริงๆ เราจะรู้สึกกลัวกันง่ายมาก แต่พอเป็นหนัง คนดูจะมีกำแพงบางอย่างที่บอกตัวเองว่า นี่คือหนังนะไม่ใช่เรื่องจริง เลยเป็นเรื่องยากที่ต้องสร้างบรรยากาศให้คนดูรู้สึกกลัวจริงๆ

พอเราทำหนังออกมาสักพักคนดูจะเริ่มรู้ว่า หลังมีซาวน์นี้ออกมาจะต้องมีอะไรแน่ๆ หรือมีช่วงที่เริ่มเงียบก็จะต้องมีอะไรเกิดขึ้น ในหนังเรื่องหนึ่งถ้ามีมุกผีอยู่ 10 มุก เราต้องเดาคนดูให้ได้ว่า เขาคิดอะไร ถ้าคนดูคิดว่า เดี๋ยวผีจะออกตรงนี้แน่ๆ คนดูจะตั้งการ์ดเพื่อเตรียมใจไว้แล้ว ความน่ากลัวก็จะน้อยลง เราต้องหาทางให้คนดูเข้าใจว่า ผีจะโผล่มาตรงนี้ก่อน แล้วค่อยหาทางให้ไปโผล่อีกจังหวะแทน การทำให้คนดูตกใจเหมือนการแกล้งคนดูนะครับ (หัวเราะ) ต้องหาวิธีเล่นกับคนดูว่า จะทำยังไงให้เขาเซอร์ไพรซ์ให้ได้ ถ้าทำให้เขารู้ว่า ตรงนี้ผีจะออกมาแล้วออกมาเลยจริงๆ มันก็จะจบแค่นั้น 

ความยากอีกอย่างในความคิดผมคือ หนังผีหาโลเคชั่นยากทุกเรื่องเลยนะครับ เวลาทำหนังผีทุกเรื่องผมจะบอกทีมโลเคชั่นว่า ไม่เอาบ้านร้าง หรือบ้านที่มีอาถรรพ์จริงๆ เพราะผมกลัวครับ ไม่กล้าไปถ่าย ขอเอาบ้านที่คลีนๆ ธรรมดานี่แหละ เดี๋ยวผมไปสร้างบรรยากาศเอง เป็นเรื่องยากมากที่คนปกติจะให้ใช้บ้านทั่วไปของเขามาถ่ายหนังผี ยิ่งเรื่องที่บ้านเป็นตัวเด่นก็จะเห็นว่า บ้านเก่าๆ ส่วนมากจะใช้โลเคชันซ้ำๆ กัน แต่ผมอยากได้บ้านที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ไม่ใช่บ้านที่เรื่องอื่นมาถ่ายซ้ำๆ ก็เลยหายากกว่าปกติ เพราะถ้าเป็นบ้านที่มีคนอยู่จริงๆ ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่เขาจะให้เราเข้าไปถ่ายหนังเป็นเดือนๆ สำหรับเรื่องบ้านเช่าบูชายัญ โปรดิวเซอร์ของผมก็ไปตระเวนหาเหมือนกันว่า มีบ้านไหนให้เช่าบ้าง จนสุดท้ายก็มาลงตัวที่บ้านหลังนี้ที่เห็นในหนัง 

การทำหนังผีที่ไม่ได้มีแค่ผี และเรื่องลึกลับ

ผมว่าปัญหาด้านสังคมเป็นสิ่งที่ต้องมีอยู่ในหนังทุกเรื่องอยู่แล้ว เมื่อก่อนช่วงที่ทำหนังผีแรกๆ ตั้งแต่ทำเรื่อง ‘ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ’ หรือช่วงทำ ‘โปรแกรมหน้า วิญญาณอาฆาต’ เราตั้งเป้าว่า จะทำหนังผีอะไรดี ทำผีแบบไหนให้น่ากลัวดี แต่สุดท้ายค้นพบว่า ต่อให้เป็นหนังผีก็มีตัวละครเป็นผู้ดำเนินเรื่องอยู่ในนั้น การถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของตัวละครในมุมต่างๆ อาจจะทำให้คนอินมากขึ้น และสถานการณ์ที่พาตัวละครไปเจอผี ก็จะทำให้คนดูรู้สึกเอาใจช่วยตัวละครมากขึ้นเช่นกัน อย่าง ‘ลัดดาแลนด์’ ที่เราพูดถึงเรื่องบ้าน การที่เราให้คนดูเห็นตัวละครแล้วตั้งคำถามว่า ทำไมเขาถึงไม่ย้ายออกจากบ้านหลังนี้สักทีทั้งที่มีผีอยู่รอบบ้าน ผมว่าตรงนี้เป็นสิ่งที่คนดูจะลุ้น และถ้าถึงจุดที่เขาเข้าใจสาเหตุก็จะทำให้อยากเอาใจช่วยตัวละครมากขึ้น ผมเลยคิดว่า เป็นเรื่องธรรมดาที่ต่อให้เป็นหนังผี ก็ควรจะมีดราม่าในเรื่องราวของตัวละคร เพียงแต่สัดส่วนอาจจะไม่ได้ถูกเน้นมากนักถ้าเทียบกับหนังทั่วไป

ถ้าถามว่าทำไมหนังไทย หรือหนังของผมถึงมีแต่ผีผู้หญิง ก็จะบอกว่าผมไม่เคยเลือกเลยนะ ส่วนมากจะมาจากบริบทของเรื่อง แต่ต้องยอมรับว่า บริบทของสังคมเอเชียรวมถึงสังคมไทยมีเรื่องที่ผู้หญิงถูกทำร้าย หรือถูกกดขี่อยู่จริง ผมไม่ได้บอกว่า สิ่งเหล่านี้ดีห รือไม่ดียังไงบ้างนะ แค่บอกว่ามันมีอยู่จริง อย่างเช่น ‘มะขิ่น’ ในเรื่องลัดดาแลนด์ ก็จะเป็นผู้หญิงต่างด้าวที่ถูกเอาเปรียบ และโดนทำร้าย ถ้าวางตัวละครเป็นผู้ชายเขาอาจจะต่อสู้ได้มากกว่านี้ อาจจะไม่ได้มีจุดจบแบบนี้ที่นำพาสถานการณ์ต่างๆ ให้เกิดขึ้นเป็นเรื่องราวอย่างที่เห็น ผมคิดว่าเป็นเหตุผลเดียวกับที่คนชอบบอกว่า ผมทำหนังเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์อีกแล้ว ผมไม่เคยมีความตั้งใจเลยนะว่า จะเอาอสังหาริมทรัพย์มาตั้งก่อนแล้วค่อยคิดว่าจะเล่าเรื่องอะไร เพียงแต่สิ่งเหล่านี้มาพร้อมกับเรื่องที่เราอยากทำ ผีผู้หญิงก็เหมือนกัน ผมไม่เคยคิดว่า เราจะสร้างตัวละครผีเพศไหนดี แต่เรื่องราวพาตัวละครเหล่านี้เข้ามาเอง

อสังหาริมทรัพย์ และครอบครัว องค์ประกอบร่วมที่อาจดูคล้ายแต่ต่างกันโดยสิ้นเชิง

ผมไม่แปลกใจนะที่หลายคนจะคิดว่า เรื่องนี้คล้ายลัดดาแลนด์ อาจจะเพราะ ตัวละครผู้ชายเป็นหัวหน้าครอบครัวเหมือนกัน เป็นเรื่องเกี่ยวกับบ้าน และผีเหมือนกัน แต่เอาเข้าจริงเงื่อนไขต่างๆ ที่ตัวละครเจอแตกต่างกันมากเลย สองเรื่องนี้เป็นเรื่องครอบครัวเหมือนกัน มีปัญหาเศรษฐกิจที่ต้องเผชิญเหมือนกันอยู่บ้าง ถ้ามีคนบอกว่า ปัจจัยเหล่านี้ทำให้หนังดูคล้ายกัน ผมก็เข้าใจได้ แต่ในเชิงรายละเอียดของเรื่องผมบอกได้เลยว่า หนังสองเรื่องนี้ต่างกันมากๆ อย่างบ้านเช่าบูชายัญเราจะไม่ได้เน้นผีที่สร้างความหลอน แต่เป็นความน่ากลัวที่ทำให้ลุ้นระทึกมากกว่า บางคนดูแล้วอาจจะบอกว่า เป็นหนังแอ็กชั่นด้วยซ้ำไป เพราะมีจังหวะที่ตื่นเต้นเยอะมาก ถ้าลองไปดูแล้วจะรู้ครับ

จริงๆ ก็แอบเป็นความกดดันนิดนึงเหมือนกัน สำหรับผม ในการทำหนังทุกเรื่องพอขึ้นเรื่องใหม่ก็เหมือนการเริ่มต้นใหม่หมดเลย ทั้งไอเดียที่จะเล่า ตัวละครที่จะเล่า ทุกอย่างเป็นสิ่งใหม่ ถ้าคนดูมาดูพร้อมความคาดหวังบางอย่างว่า หนังจะเป็นแบบนั้นแบบนี้ไหม เราก็ไม่แน่ใจว่า สุดท้ายเขาจะผิดหวัง หรือสมหวัง แต่ถ้าเข้ามาดูโดยที่พยายามลืมเรื่องเก่าๆ ไปก่อน ไม่ต้องคิดว่า หนังเรื่องนี้จะเหมือน หรือต่างกับหนังเรื่องอื่นจะดีที่สุดครับ เหมือนเราเห็นว่า หนังมีคำวิจารณ์ด้านดีเยอะๆ พอเราไปดูจริงอาจจะมีบางคนรู้สึกว่า ไม่เห็นจะดีอย่างที่คนอื่นพูดเลย ขณะเดียวกันบางเรื่องที่รีวิวบอกว่าไม่ดี แต่เราไปดูเองอาจจะชอบก็ได้ ผมว่าความคาดหวังก่อนที่จะไปดู อาจมีผลต่อความรู้สึกว่า สุดท้ายจะชอบ หรือไม่ชอบหนังเรื่องนี้ แต่ก็บอกตรงๆ ว่าเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ พอเราสร้างผลงานมาสักพักจะมีคนคาดหวังว่า จะได้เห็นสิ่งต่างๆ ในงานของเรา  

บ้านเช่าบูชายัญกับเรื่องลับๆ ที่เล่าได้ในโรงภาพยนตร์เท่านั้น

เป็นสิ่งที่ผมสนุกกับหนังเรื่องนี้มากๆ เลยนะ ตอนทำงานเบื้องหลังเกี่ยวกับการโปรโมตเราคุยกันเยอะมาก ถึงขั้นทำโฟกัสกรุ๊ปตัวอย่างหนังเลย เพราะว่าหนังเรื่องนี้มีสิ่งที่ไม่สามารถเล่าได้เยอะมาก เป็นความลับของเรื่องที่อยากให้คนดูเซอร์ไพรส์ตอนไปดูเรื่องเต็ม ทำให้ตัวอย่างหนังที่ออกไปเราต้องคุยกันเยอะมากว่า ภาพไหนห้ามใส่ ภาพไหนควรตัดออก เพราะอาจจะสปอยล์เนื้อหาของหนังได้ สิ่งที่ให้ทุกคนได้เห็นเลยมีอยู่แค่นั้น ซึ่งก็น้อยมากจริงๆ ครับ แต่อาจจะเป็นข้อดีตรงที่ถ้าคนไปดูหนังจริงจะรู้สึกดีมากขึ้น กับการเห็นเซอร์ไพรส์ที่คาดเดาไม่ได้ในโรงภาพยนตร์

สิ่งที่ลัทธิในหนังจะทำ ไม่ใช่ความเชื่อแบบไทยๆ สาเหตุเกิดจากโจทย์ที่ผมตั้งไว้ตอนแรก (ซึ่งก็ยังเล่าไม่ได้ในตอนนี้) แต่ถ้าใช้ความเชื่อของไทยคล้ายๆ ในเรื่องร่างทรง จะพบว่าไม่ตอบโจทย์กับลัทธินี้เลย เราต้องการภาพอีกแบบหนึ่งที่ไม่ใช่ความเชื่อ หรือพิธีกรรมแบบไทย พอดีไซน์สิ่งพวกนี้ขึ้นมาก็จะมีจุดที่คิดว่า ถ้าทำให้ตรงกับพิธีกรรมของประเทศใดประเทศหนึ่งไปเลยอาจจะมีความสุ่มเสี่ยงในเชิงศาสนา สุดท้ายเลยเลือกที่จะโฟกัสไปที่วัฒนธรรมหนึ่งทางแถบหิมาลัย โดยไม่บอกประเทศที่เจาะจงนะครับ แต่ลองรีเสิร์ชแล้วพบว่า มีพิธีกรรมหลายๆ อย่างที่หากคนดูแล้วอาจจะเชื่อมโยงกับพิธีกรรมต่างๆ ที่เป็นของจริงได้

กว่าจะมาเป็นบ้านเช่าบูชายัญ

โปรเจกต์นี้เริ่มต้นจาก ‘พี่เก้ง’ – จิระ มะลิกุล ชวนมาทำครับ เขาพูดถึงเรื่องบ้านเช่าว่า มีคนรู้จักที่ปล่อยคอนโดให้เช่าแล้วเจอผู้เช่าที่ดูคุกคาม ตามมาหาถึงออฟฟิศเพื่อบอกว่า บ้านมีปัญหา ต้องบอกก่อนว่า เวลาเราปล่อยบ้านให้ใครเช่า ก็เหมือนการดึงเขามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต พอบ้านมีปัญหาเขาก็จะตามเรามาดู พอลองพัฒนาเรื่องก็ออกมาเป็นหนังแนว Thriller นะ แต่ผมยังไม่อิน กับความกลัวแบบนี้เลยเบรกโปรเจกต์นี้ไป ไปทำเรื่องเคว้งจนเสร็จ จากนั้นเริ่มปิ๊งไอเดียว่า คนเช่าที่ผมกลัวคือ คนเช่าที่เป็นกลุ่มลัทธิ รู้สึกอินเพราะคิดว่าสิ่งที่เราไม่รู้มันมีอะไรที่ซ่อนอยู่ภายในค่อนข้างเยอะ อย่างเช่นเวลาผมไปถ่ายงานที่โรงแรมหรูๆ บางแห่ง ก็จะมีแม่บ้านพาไปไหว้หิ้งที่ซ่อนอยู่ในผนัง หรือช่องที่ถูกซ่อนไว้ ผมเลยคิดว่าสิ่งที่เรามองไม่เห็นมีอยู่เยอะมาก แล้วถ้ามีคนเช่าที่มาทำอะไรบางอย่างกับบ้านที่เราเคยอยู่ล่ะ เลยรู้สึกว่า แนวนี้น่าสนใจ ก็เลยพยายามไปรีเสิร์ชหลายๆ ที่ แล้วค้นพบว่า คนที่ปล่อยบ้านให้เช่าเจออะไรแบบนี้กันเยอะมาก ล่าสุดที่เห็นข่าวฆ่าหั่นศพดาราในต่างประเทศเขาก็ไปเช่าบ้านเพื่อทำเรื่องพวกนี้เหมือนกัน คิดว่าถ้าเป็นบ้านเราเองก็คงกลัวมาก สิ่งเหล่านี้เลยเป็นที่มาทำให้ตัดสินใจเอาเรื่องบ้านเช่ามาบวกกับเรื่องลัทธิ 

ข้อดีของออฟฟิศที่นี่คือ เราจะเริ่มทำโปรเจกต์ใหม่เมื่อเราเห็นมุมมองบางอย่างที่เราอยากทำ อย่างตอนผมทำโปรแกรมหน้าฯ เสร็จแล้วมาทำลัดดาแลนด์ก็คิดอยู่นานเหมือนกันนะ เพราะถ้าไม่ได้รู้สึกอยากทำจริงๆ ก็จะไม่ทำ เรื่องนี้ก็เหมือนกัน ผมรับโปรเจกต์ล่วงหน้ามาเป็นปีๆ พอคิดไม่ออกก็ปล่อยเอาไว้ จนกระทั่งวันที่เห็นภาพ และรู้สึกอินถึงเริ่มทำ นี่อาจจะเป็นเหตุผลว่า ทำไมหลายปีผ่านไปผมถึงมีหนังเรื่องหนึ่ง เพราะผมต้องหามุมที่อยากเล่าจริงๆ ให้เจอก่อน จำได้ว่า รอบที่สองที่มาคุยใหม่ว่าจะเริ่มทำโปรเจกต์นี้ ตั้งแต่ประมาณเดือนมีนาคมปี 2019 พอคุยเสร็จก็เป็นช่วงโควิดพอดี ผมก็นั่งทำบทไป มาเสร็จจริงๆ ช่วงกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว (2022) น่าจะประมาณ 2 ปีในการทำบท แต่ช่วงเตรียมงาน และถ่ายทำไม่ค่อยนาน รวมกันประมาณ 6 เดือน แต่ Post-production เรื่องนี้ค่อนข้างนานในกระบวนการตัดต่อ และทำ CG ในเรื่อง

การตามหานักแสดงที่ต้องมีมากกว่าฝีมือการแสดง

ตอนเขียนบทต้องบอกว่า สำหรับนางเอกที่ต้องมีลูกแล้ว เป็นตัวละครที่อินมากกับการปกป้องลูก ปกป้องครอบครัว คิดว่าน่าจะหายากเหมือนกัน นักแสดงเก่งๆ อาจจะเล่นได้ แต่ผมอยากได้มากกว่านั้น อยากได้นักแสดงที่เข้าใจความรู้สึกของความเป็นแม่จริงๆ ตอนนั้นก็แอบเครียดนิดหน่อยว่าจะไปหานักแสดงหญิงที่มีลูก และเข้าใจความรู้สึกเหล่านี้ได้ยังไง ผมรู้สึกว่า ถ้านักแสดงที่มาเล่นบทนี้มีความรู้สึกผูกพันกับคนคนหนึ่งที่อยู่ในท้องเรามา 9 เดือนมากแค่ไหน แล้ววันหนึ่งลูกเราถูกทำร้าย หรือมีกลุ่มลัทธิมาเกี่ยวข้อง เขาน่าจะอินแล้วนำเสนอออกมาได้ดีที่สุด จนกระทั่งพอเขียนไปเขียนมาเห็นว่า ‘มิว’ - นิษฐา คูหาเปรมกิจ เริ่มท้องครับ ผมเขียนตั้งแต่มิวเริ่มท้องจนมิวคลอดลูกเลย ซึ่งพอมิวมาเล่นจริงๆ ก็ดีมาก เพราะมีหลายซีนต้องระเบิดพลังความเป็นแม่ที่ต้องต่อสู้เพื่อลูก ผมคิดว่า หลายคนอาจจะไม่เคยเห็นสีหน้า หรือสายตาแบบนี้จากมิวในหนังเรื่องไหนมาก่อน เขาทำออกมาจากความรู้สึกข้างในจริงๆ สิ่งเหล่านี้เป็นเมจิกของคนที่เข้าใจความเป็นแม่มากๆ ดังนั้นเลยไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะม