Life

เยื่อพรหมจรรย์ สำคัญไฉน? — ความเชื่อที่กดทับและทำร้ายมนุษย์เพศหญิงมาหลายชั่วอายุคน

‘ผู้หญิง’ (เพศกำหนด) กับ ‘ความบริสุทธิ์’ เป็นสิ่งที่ถูกทำให้อยู่คู่กันมาตั้งแต่ยุคสมัยโบราณ ด้วยความเชื่อในหลากหลายศาสนาและสังคมว่าผู้หญิงต้องรักนวลสงวนตัว ไม่มีเพศสัมพันธ์ก่อนการแต่งงาน และการถือพรหมจรรย์เป็นข้อปฏิบัติอย่างหนึ่งของนักบวชในบางศาสนา จะเห็นได้ว่าหลายๆ ครั้ง ความบริสุทธิ์ก็ผูกเข้ากับ ‘พรหมจรรย์’ ไปโดยปริยาย ความดีงามของสตรีเพศจึงถูกแขวนเอาไว้กับเยื่อบางๆ อย่าง ‘Hymen’ หรือที่คนไทยเรียกว่า ‘เยื่อพรหมจรรย์’ ถึงอย่างนั้น น้อยคนที่จะรู้ว่า มันไม่ใช่สิ่งที่สามารถถูกทำลายด้วยการมีเซ็กซ์ และไม่ข้องเกี่ยวอะไรกับพรหมจรรย์เลยสักนิด

Photo credit: Revolucia

ความจริงแล้ว Hymen คือเยื่อเมือกที่อยู่รอบๆ ปากช่องคลอด ส่วนมากจะมีรูปร่างเป็นทรงพระจันทร์เสี้ยว ไม่ได้ปิดสนิทตรงปากช่องคลอดอย่างที่ใครบางคนเข้าใจ ซึ่งหากปิดสนิทหรือมีรูปทรงที่แคบมาก ทำให้ลำบากต่อการมีประจำเดือน ใช้ผ้าอนามัยแบบสอด หรือมีเพศสัมพันธ์ (อย่างที่เห็นในรูปด้านบน) ก็ต้องเข้ารับการผ่าตัดให้เปิดออกอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะ Hymen ไม่สามารถฉีกขาดได้ตามธรรมชาติ ต่อให้ทำกิจกรรมผาดโผนหรือมีการสอดใส่ก็ตาม มีแต่จะยืดออกหรือทำให้เกิดรอยฉีกเล็กน้อยเพื่อให้มันขยายตัวเท่านั้น คล้ายกับหนังยางที่สามารถยืดและหดได้ ดังนั้น การที่บางคนเลือดออกเล็กน้อยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกก็ไม่ได้แปลว่าเยื่อขาดโดยสมบูรณ์ เท่ากับว่าพรหมจรรย์ที่วัดด้วย Hymen เป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงนั่นเอง

แพทยศาสตร์บัณฑิต ‘ไมเคิล คัคโควิค’ (Michael Cackovic, M.D.) ของ Ohio State University Wexner Medical Center ได้อธิบายเอาไว้ว่า “มัน (Hymen) มักจะถูกเข้าใจผิดว่าเป็นหลักฐานทางกายวิภาคของความพรหมจรรย์ แต่ในความเป็นจริงแล้วก็ไม่มีใครรู้ถึงวัตถุประสงค์ของมัน”

เยื่อพรหมจรรย์ ≠ มาตรวัดพรหมจรรย์

Photo credit: Own Relationships

น่าเศร้าที่ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับมันยังคงมีอยู่ แม้ว่าเราจะก้าวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่แล้วก็ตาม และความเชื่อตามแบบวัฒนธรรมความบริสุทธิ์ (Purity Culture) ก็ได้แทรกซึมเข้าไปในหลายๆ กลุ่มสังคม ตั้งแต่ศาสนา สถานศึกษา ไปจนถึงรัฐบาลในบางประเทศ ทำให้แนวคิดว่าที่ว่าพรหมจรรย์เป็นสิ่งสำคัญยังคงเข้มข้น เมื่อปี 2019 แร็ปเปอร์ชาย ‘T.I.’ ได้เปิดเผยในรายการ Ladies Like Us ว่าเขาพาลูกสาวอายุ 18 ปีไปหานรีแพทย์เป็นประจำทุกปี เพื่อตรวจเช็กว่าเธอยัง “บริสุทธิ์” อยู่หรือไม่ ในภายหลัง (ปี 2020) ลูกสาวของเขา ‘เดย์ยาห์ แฮร์ริส’ (Deyjah Harris) ก็ได้ให้สัมภาษณ์ว่าเธอรู้สึกไม่สบายใจเป็นอย่างมาก ทั้งช็อก โกรธ เสียใจ และรู้สึกอับอาย เธอกล่าวว่า “ฉันไถทวิตเตอร์และเห็นว่าฉันถูกแท็กในโพสต์หนึ่ง คำเดียวที่เห็นก็คือ “นรีแพทย์” ไม่ต้องอ่านหัวข้อทั้งหมดก็รู้แล้ว หัวใจของฉันเหมือนดำดิ่งลงไป”

แน่นอนว่าเดย์ยาห์ไม่ใช่แค่คนเดียวที่ต้องพบเจอกับประสบการณ์นี้ ยังมีอีกมากที่ถูกบีบบังคับให้รักษาพรหมจรรย์เอาไว้ โดยวัฒนธรรมความบริสุทธิ์ที่ไม่ได้จางหายไปไหน ทำให้แนวคิดที่ว่าผู้มีมดลูกต้องเก็บพรหมจรรย์เอาไว้มอบให้คนรักในอนาคตแต่เพียงผู้เดียวนั้น เป็นสาเหตุที่ทำให้หลายๆ คนรู้สึกผิด หรือถึงกับมีอาการซึมเศร้าหลังมีเซ็กซ์ครั้งแรก เพราะรู้สึกเหมือนกับว่ากำลังถูกตัดสินจากสังคม และบางรายอาจมองว่าคุณค่าของตัวเองเสื่อมถอยลงไปด้วย ทั้งที่มันไม่จริงเลยแม้แต่น้อย

Photo credit: Cardiff Student Media

ความรู้สึกผิดบาปนั้นก็เป็นสาเหตุของความเครียด นำมาซึ่งอาการเจ็บปวดทางกายอีกทอดหนึ่ง มีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่มีภาวะ ‘ช่องคลอดหดเกร็ง’ (Vaginismus) หรือก็คือภาวะกล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกรานเกิดการหดเกร็ง แบ่งออกเป็น Primary Vaginismus ที่ไม่สามารถทำการสอดใส่ได้ และ Secondary Vaginismus ที่ยังคงทำการสอดใส่ได้ แต่ช่องคลอดบีบตัวมากจนไม่สามารถดำเนินกิจกรรมทางเพศ โดยส่วนมากเกิดจากสภาพจิตใจของผู้ถูกสอดใส่ที่รู้สึกว่าไม่พร้อมจะมีเซ็กซ์ หรืออาจเป็นเพราะประสบการณ์ฝังใจจาดการถูกล่วงละเมิดทางเพศ อยู่ในวัยใกล้หมดประจำเดือน มีเชื้อราในช่องคลอด ฯลฯ

นรีแพทย์ที่ปรึกษา ศาสตราจารย์ ‘เลย์ลา ฟร็อดแชม’ (Dr Leila Frodsham) เคยอธิบายเกี่ยวกับภาวะนี้เอาไว้ว่า การที่คนๆ หนึ่งถูกเลี้ยงดูในครอบครัวอันเคร่งศาสนาก็อาจมีส่วนที่ก่อให้เกิดภาวะช่องคลอดหดเกร็งได้ จากความเครียดและเกรงกลัวเซ็กซ์ก่อนการแต่งงาน “บางคนเติบโตมาในครอบครัวที่เคร่งศาสนาและไม่มีปัญหานี้เลย แต่บางคนเป็นเหมือนฟองน้ำที่ซึมซับทุกคำสอนและทุกความเห็น” ยิ่งถูกสอนจากโรงเรียนว่าเซ็กซ์นำมาซึ่งความเจ็บปวด การตั้งครรภ์ และกามโรค ไหนจะความกังวลว่าตนจะไม่มีเลือดออกมาเป็นหลักฐานของความพรหมจรรย์ให้คนรักเห็น ความกลัวก็ทวีคูณ จนเกิดเป็นภาวะที่สร้างความร้าวรานในที่สุด ทั้งต่อร่างกายและความสัมพันธ์

https://www.youtube.com/watch?v=QqvZxnlPWAM

ในบางกรณี อาการนี้ก็เกิดขึ้นกับผู้ที่กำลังจะมีเซ็กซ์เป็นครั้งแรกและเกิดความเกรงกลัวว่ามันจะต้องเจ็บอย่างแน่นอน ด้วยความเข้าใจที่ว่าเยื่อพรหมจรรย์ของตนจะฉีกขาด เลือดจะออก เท่ากับว่าต้องเจ็บ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เซ็กซ์ไม่ควรจะทำให้รู้สึกเจ็บ ไม่ว่าจะเป็นครั้งแรกหรือครั้งไหนๆ หาก Hymen ปกติดี มีการเตรียมพร้อมอย่างเหมาะสม และไม่กระทำรุนแรงจนเกินจะรับไหว

หากใครตกอยู่ในภาวะช่องคลอดหดเกร็งก็ไม่ต้องกังวลไป เพราะปัจจุบันนี้มีหลากหลายวิธีให้เลือกในการรักษา ไม่ว่าจะเริ่มจากตัวเอง ด้วยการพยายามปรับทัศนคติเรื่องเพศสัมพันธ์และเพศศึกษา ใช้นิ้วสำรวจอวัยวะเพศของตัวเอง รวมถึงการออกกำลังกายเพื่อช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ อย่างไรก็ตาม ทางที่ดีที่สุดก็คือการพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาและเยียวยาให้ถูกต้อง เหมาะสมกับอาการที่มีอยู่

อย่างไรก็ตาม พวกเราควรจะจดจำเอาไว้เสมอว่า พรหมจรรย์เป็นสิ่งประกอบสร้างและถูกคิดขึ้นโดยมนุษย์เพียงเท่านั้น ต่อให้เคยหรือไม่เคยมีเซ็กซ์ ไม่มีคู่นอน หรือมีคู่นอนหลายคน เราทุกคนก็มีคุณค่าอย่างเท่าเทียมกัน ไม่มีใครสูงส่งหรือด้อยไปกว่าใคร เพราะฉะนั้น ทำใจให้สบาย มีเซ็กซ์เมื่อสภาพจิตใจพร้อม และปล่อยให้ตัวเราเป็นผู้ตัดสินเองดีกว่า

อ้างอิง

พบแพทย์

Shape

Insider

School of Sexuality Education

Psychreel

BBC News