พูดคุยกับ Jeff Aphisit ถึงงาน NFT ที่สร้างจากความ Introvert ในวัยเด็ก และความสนุกของการทำงาน Collab

(26)

“Most of my artwork are telling story of my introverted side from my childhood”

คือประโยคที่นำพาให้ผู้เขียนได้มาสนทนากับ ‘Jeff Aphisit’ หรือ ‘เจฟ – อภิสิทธิ์ หมื่นนาค’ หนึ่งในศิลปินชาวไทยที่ได้รับเลือกให้จัดแสดงผลงานในงาน Crypto Art Week Asia 2022 ที่สิงคโปร์ เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา เพราะมันทำให้อยากรู้นักว่าความอินโทรเวิร์ตที่เจ้าตัวเกริ่นไว้ สามารถนำมาสร้างสรรค์เป็นงานคริปโตอาร์ตได้อย่างไร

ที่มาของการนำความอินโทรเวิร์ตมาสร้างงาน NFT

“ต้องบอกก่อนว่าจริงๆ แล้วผมไม่ได้เป็นอินโทรเวิร์ตขนาดนั้นนะครับ แค่ตอนเด็กๆ เวลาที่ทำงานหรือคิดงานได้ดี มักจะเป็นช่วงเวลาที่อยู่คนเดียว เหมือนเป็นด้านหนึ่งที่มีความอินโทรเวิร์ตอยู่ ก็เลยหยิบเอาความน่าสนใจตรงนั้นมาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์งาน”

“NFT บน Foundation ของผมมักจะเป็นการเล่าเรื่องเกี่ยวกับสภาวะทางด้านจิตใจของตัวเองในช่วงเวลานั้นๆ ประกอบกับการนำเอาด้านอินโทรเวิร์ตมาเล่าเรื่อง และนำ elements ต่างๆ ที่เกี่ยวกับวัยเด็ก เช่น การ์ตูน เกม ใส่เข้าไปในงานด้วย เหมือนเป็นการบันทึกไดอารี่ในรูปแบบงานคริปโตอาร์ต ผมใช้ชื่อคอลเลคชั่นว่า ‘Introvert’ ครับ”

(LEAVE)

“อย่างรูป ‘LEAVE’ เป็นการเล่าเรื่องของตัวเองในช่วงเวลานี้เลย ตอนนี้ผมรู้สึกเหนื่อยกับการแข่งขันในสังคมที่เหมือนบังคับให้เราต้องชนะตลอดเวลา ในภาพผมก็เลยหอบเอาสิ่งที่ตัวเองรักใส่ไว้ในรถแล้วก็ขับหนีไปใกลๆ”

(Late Night Drive)

“หรือผลงานที่ได้รับเลือกไปโชว์ในงาน Crypto Art Week Asia 2022 อย่าง ‘Late Night Drive’ จะเป็นการเล่าเรื่องเกี่ยวกับอาการนอนไม่หลับของผมเองครับ เปรียบกับการขับรถเล่นผ่านไปเจอความคิดต่างๆ เช่น การนึกถึงอนาคตที่คาดเดาไม่ได้ หรือความผิดพลาดในอดีตที่แก้ไขไม่ได้แล้ว”

(Power Resource)

“และ ‘Power Resource’ เป็นงานที่เล่าเกี่ยวกับแรงบันดาลใจในการทำงานซึ่งมาจากสิ่งที่เราชอบในวัยเด็กครับ ผมชอบทำงานลักษณะนี้ เพราะมันเป็นตัวตนของผมมากที่สุดแล้ว เป็นเรื่องที่พบเจอด้วยตัวเอง ผมก็จะรู้สึกดีมากถ้าได้เอาเรื่องราวในชีวิตมาวาดแล้วมีคนให้คุณค่ากับมันด้วย”

ความอินโทรเวิร์ตที่มีประโยชน์กับการทำงานศิลปะ

“การเป็นอินโทรเวิร์ต สำหรับผมถือว่าเป็นสิ่งที่ดีมากๆ ครับ เพราะมันทำให้ผมได้ฟังเสียงความต้องการของตัวเองชัดเจนมากขึ้น”

ระยะเวลาที่ใช้ในการวาดงานที่องค์ประกอบเยอะ

“ราวๆ 10-14 วันต่อ 1 ชิ้นครับ จะไม่ใช้เวลาเกินนี้ เพราะถ้าอยู่กับงานชิ้นเดิมนานเกินไปก็กลัวจะเบื่อแล้วทำไม่เสร็จ สำหรับชิ้นงานที่วาดนานที่สุดคือ ‘Overthinking’ ครับ ใช้เวลา 14 วันพอดี”

(Overthinking)

วิธีการเติมไฟให้กับตัวเอง

“ผมไม่ได้มีเทคนิคอะไรเป็นพิเศษ เพราะปกติเป็นคนที่ชอบเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตของตัวเองให้คนอื่นรับรู้ผ่านการวาดรูปอยู่แล้ว พอไม่ได้วาดนานๆ ก็จะทำให้จิตใจไม่ค่อยสงบเท่าไหร่ แต่ยอมรับว่ามีช่วงที่หมดไฟบ้าง ผมก็จะหยุดพักการวาดรูปไปก่อน แล้วหางานอดิเรกอย่างอื่นทำ เช่น การเล่นกีฬา หรือดูหนัง”

ต่อยอดสู่ Jeff Aphisit X คอลเลคชั่นที่เกิดจากความสนุกที่ได้คอลแล็บ

นอกจากจะทำงานของตัวเองแล้ว เห็นว่าช่วงนี้เจฟได้ไปคอลแล็บกับศิลปินคนอื่นอยู่เรื่อยๆ หรือว่านั่นจะเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ใช้เติมไฟให้ตัวเอง?

“ผมเลือกทำงานคอลแล็บเพราะมันสนุก แน่นอนว่าอาจจะไม่ได้ใช้ความเป็นตัวเอง 100% ขนาดนั้น แต่มันเป็นการได้ชวนเพื่อนมาทำงานสนุกๆ ด้วยกัน เป็นการพักผ่อนอารมณ์ช่วงหนึ่ง และเป็นโอกาสที่ทำให้ได้ตั้งใจดูผลงานของเพื่อนศิลปินอย่างละเอียด เพื่อนำไปผสมผสานกับงานของเรา และนำมาพัฒนางานของตัวเองได้อย่างดีมากๆ”

(จาก 1-3: Jeff Aphisit x Capsule House – Blutopia – MAD MUTANTS)

“ที่ผ่านมาผมเคยคอลแล็บกับ Project Capsule House ของ Seerlight, Project Blutopia ของ Bluugu เพื่อนศิลปินชาวออสเตรเลีย และล่าสุดคือกับ MAD MUTANTS project ของ Mynameiston ศิลปินไทย ตอนนี้ผมเพิ่งสร้างคอลเลคชั่นใหม่ชื่อ ‘Jeff Aphisit X’ ขึ้นมาด้วย เพื่อลงผลงานคอลแล็บโดยเฉพาะครับ”

แชร์แง่คิดในช่วงที่ใครๆ ก็มองว่าตลาด NFT อยู่ในช่วงขาลง

“จะว่าเป็นขาลงก็ได้ครับ งานขายยากกว่าปีที่แล้วพอสมควร เพราะการซื้อขายในตลาด NFT ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ราคาเหรียญคริปโตฯ การสร้างฐานแฟนคลับของศิลปิน และบางทีผลงานที่ดีอาจจะไม่เพียงพอต่อการขายก็ได้ แต่ผมคิดว่าตลาดมันยังใหม่มากๆ นี่เป็นแค่ช่วงเริ่มต้นเท่านั้น ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ไว้มารอดูกันครับ”

(Playground)

ถึงตลาดจะเป็นแบบนี้ Jeff Aphisit ก็ยังคงเดินหน้าต่อ

“ใช่ครับ เพราะผมคิดว่าโลก NFT เป็นโลกที่น่าตื่นเต้นมากๆ หนึ่งคือมันเป็นพื้นที่ที่ให้ศิลปินสามารถลองผิดลองถูกได้เต็มที่ โดยที่ไม่มีใครมาจำกัดจินตนาการได้เลย ต่างจากการทำงานภาพประกอบที่ผมเคยทำก่อนหน้านี้ ซึ่งต้องมีโจทย์และบรีฟจากลูกค้าเสมอ และสองคือผู้ซื้อหรือนักสะสมสามารถซื้อขายผลงานกับศิลปินได้โดยตรง และเป็นเจ้าของภาพวาด เพลง วิดีโอ มีม หรืออื่นๆ ที่เป็นดิจิทัลในเวอร์ชั่นต้นฉบับได้ ซึ่งมันแทบจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่ได้เลยกับกับการทำดิจิทัลอาร์ตในยุคก่อนหน้านี้”

ติดตามผลงานของ Jeff Aphisit ได้ที่

Foundation: Jeff Aphisit / Jeff Aphisit X