รื้อถอนความเชื่อตำนานเมืองที่กดขี่ผู้หญิงกับ ‘ปูนปั้น’ ศิลปินผู้สร้างงาน ‘Red Lotus’

“ประจำเดือนจะทำให้ของ (สิ่งศักดิ์สิทธิ์) เสื่อม ประจำเดือนเป็นของสกปรก”

นี่คือคำบอกเล่าที่มักถูกสอนมาโดยไม่มีการให้เหตุผลว่าทำไม ด้วยความสงสัยทำไมมันมีความเชื่อที่กดขี่ผู้หญิงเยอะจากทั้งในตำนานเมือง วรรณคดีและคำสอนจากผู้ใหญ่ ทำให้ ‘ปูนปั้น-กมลลักษณ์ สุขชัย’ สำรวจว่าสิ่งเหล่านี้มาจากไหนโดยผ่านงานศิลปะ ‘Red Lotus’ ที่ถ่ายทอด ตำนานของสาวงามที่ถูกกดขี่ลงโทษทางเพศที่ขอภาวนาให้ชาติหน้าไปเกิดเป็นดอกบัว และนี่คือเรื่องราวที่เธอค้นพบเพื่อนำมันมาเล่าชวนตั้งคำถามรื้อถอนความเชื่อที่กดขี่ผู้หญิง 

ตำนานดอกบัวแดง (Red Lotus) เรื่องมันมีอยู่ว่า ผู้หญิงคนหนึ่งลอยน้ำมาด้วยร่างกายเปลือยเปล่า แล้วชาวบ้านก็เข้ามาช่วยพาไปดูแล แต่นางดันเป็นผู้หญิงที่สวยมาก หนุ่มๆ ก็เลยแย่งกันจะเอาไปดูเลยทำให้เกิดความวุ่นวายในเมือง จนเจ้าเมืองต้องมาห้ามและไล่ให้นางไปอยู่ในป่าศักดิ์สิทธิ์ อาศรมหญิงบริสุทธิ์ ซึ่งในอาศรมก็จะมีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่มีแต่หญิงบริสุทธิ์เท่านั้นที่ลงไปได้ มีวันหนึ่งนางไปเก็บผลไม้แล้วระดูมา เลือดระดูหยดลงไปใส่หัวนายพรานทำให้อาคมนายพรานเสื่อมออกจากป่าไม่ได้ นางเลยต้องอาศัยพาเขาออก แต่ระหว่างทางพวกนางก็ได้กัน ทำให้นางไม่ใช่สาวบริสุทธิ์อีกต่อไป พอจะทำพิธีอะไรก็ไม่ได้ เกิดอาเพศ บ่อน้ำก็เสื่อมเสียพลัง จนนางต้องถูกตัดหน้าอก ตัดอวัยวะเพศออก ก่อนจะตายนางรู้สึกผิดจึงภาวนาว่า ชาติหน้าขอให้เกิดเป็นดอกบัว ก็เลยกำเนิดเป็นตำนาน ดอกบัวแดง”

ตำนานนี้มาจากไหน? เธอชี้นิ้วมาที่หัวเธอว่า มาจากสิ่งที่เธอแต่งขึ้นมาในหัว มันเป็นตำนานที่ดูเหมือนเรื่องเล่าพื้นบ้านจริงๆ ที่มีคนเชื่อถือ เธอเล่าว่า จริงๆ แล้วเรื่องมันก็ไม่ได้ดูจริงเลยแต่มันฟังดูน่าเชื่อ ด้วยความที่เรื่องราวมันคล้ายตำนานเมืองที่จะมีเนื้อหาไม่ปกติ เธอแต่งให้มันมีคลีเช่ของตำนานความเชื่อ ทั้งเลือด การบูชายัญ ชาวบ้าน ฤาษี รวมไปถึงการตกตะกอนความเชื่อที่กดขี่ผู้หญิงที่ถูกสืบเนื่องส่งต่อกันมาจากวรรณคดีและตำนานเมืองเก่าๆ อาทิ ผู้หญิงที่ดีต้องรักนวลสงวนตัวบริสุทธิ์มิเช่นนั้นจะเกิดเรื่องไม่ดีตามมา ประจำเดือนเป็นสิ่งไม่ดีและผู้หญิงต้องสวยงาม ความเชื่อบางอย่างที่กดขี่ผู้หญิงก็ค่อนข้างงมงาย ดอกบัวแดงจึงเป็นงานศิลปะที่ชวนตั้งคำถาม รื้อถอนความเชื่อที่ถูกส่งต่อมาแบบไม่ตั้งคำถามว่า ทำไมกัน ในอดีตผู้หญิงถึงถูกกดขี่และปัจจุบันทำไมถึงยังคงมีบางความเชื่อที่กดขี่เหล่านี้อยู่ 

“ความเชื่อของคนโบราณจะไม่ได้มาพร้อมการตั้งคำถามว่า ทำไม อย่างเรื่อง ประจำเดือนเป็นเรื่องสกปรกที่ถูกส่งต่อกันมา พอเราถามเขาว่าทำไมมันถึงเป็นเรื่องสกปรกเขาก็จะบอกกันว่า ถูกสอนบอกให้เชื่อมาอย่างนั้นแต่ไม่ได้รื้อถอนมันว่าทำไมเชื่อแบบนี้ 

“ความเชื่อเรื่องประจำเดือนมันก็เกี่ยวข้องกับความเชื่อผี พราหมณ์ พุทธในไทย ด้วยที่ตอนแรก มันไม่ใช่เรื่องสกปรกแต่ถูกทำให้เชื่ออย่างนั้นเพื่อลดทอนพลังของผู้หญิง ให้อิทธิพลความเชื่ออย่างศาสนาพราหมณ์ และพุทธที่มีความเป็นชายสูงได้มีอำนาจขึ้นมา”

เธออธิบายถึงความ ผี พราหมณ์ พุทธในไทยว่า ผีในความหมายนี้คือศาสนาผีที่เป็นสิ่งศักดิสิทธิ์ที่คนอุษาคเนย์อยู่ร่วมกันมา มิใช่ผีแบบโกส แต่เมื่อผีถูกโดนยึดไปเป็นของผู้ชาย มันทำให้เกิดความเชื่อที่กดทับทางเพศมากๆ ตามมาหลังจากนั้น เธอเริ่มศึกษาเรื่องนี้มากขึ้นจากคำถามว่า ทำไมมีประจำเดือนแล้วเข้าโบสถ์ไม่ได้จนมันนำเธอไปสู่บริบทในอดีตที่ส่งผลทางความเชื่อกดขี่ผู้หญิงมาจนปัจจุบันว่า 

“ความเชื่อเรื่องประจำเดือนนี้ สำหรับเรามันดูเหนือจริงมากเลยนะ เคยสงสัยว่า ทำไมมีประจำเดือนแล้วเข้าโบสถ์ไม่ได้ เขาก็บอกว่า มันจะเลอะ เราก็สงสัยต่อ ถ้าเลอะก็เช็ดสิ เหมือนน้ำหก แต่จริงๆ แล้วเขาไม่ได้บอกเราว่าทำไมมันถึงถูกห้ามและทำไมมันถึงเป็นของสกปรก พอโตขึ้นก็ตั้งคำถาม ค้นคว้าไปเรื่อยๆ ก็พบว่ามันเป็นผลจาก การสลับขั้วอำนาจที่ผีที่ถูกดึงไปเป็นของผู้ชาย”

“สมัยก่อนผู้หญิงในอุษาคเนย์จะเป็นคนนำพิธี เพราะมันเกี่ยวข้องกับเรื่องเป็นเพศให้กำเนิดได้ ถูกยกขึ้นมาให้มีพลังกึ่งๆ เทพ เพราะผู้ชายไม่สามารถให้กำเนิดชีวิตได้ตามคติเก่า พอ พราหมณ์ พุทธเข้ามา มันมีการสลับขั้วอำนาจมากขึ้น ผีถูกดึงไปเป็นของผู้ชาย ประจำเดือนกลายเป็นการแก้ของ เวลาเขาพูดกัน ถ้าโดนประจำเดือนป้าย ของ (ความศักดิ์สิทธิ์) ก็จะเสื่อม ทั้งๆ มันเป็นพลังของศาสนาผีในสมัยก่อนๆ ที่ประจำเดือนคือการบอกว่าผู้หญิงพร้อมจะกำเนิด ชาวดราวิเดียนเองก็เคยเชื่อผีพื้นเมืองมาก่อน ดังนั้น เวลาไปวัดแขก ที่ทาป้ายสีแดงคือสัญลักษณ์ของประจำเดือน นี่คือที่มาเรื่องของ ทำไมประจำเดือนถึงทำให้ของเสื่อมและทำไมคนมีประจำเดือนถูกห้ามในบางที่ ซึ่งถ้าไม่ตั้งคำถามว่ามันมาจากไหนเลยก็จะเห็นแค่ความเชื่องมงาย”

การไม่ตั้งคำถาม เชื่อแต่ไม่หาที่มาที่ไปของบางความเชื่ออาจเป็นการส่งต่อความงมงายที่กดขี่ใครสักคนอยู่ก็ได้ นี่คือสิ่งที่งาน Red Lotus นี้เชิญชวนให้คนตั้งคำถามในความเชื่อ ในบริบทของอดีต ตำนานนี้อาจจะเป็นเรื่องจริงที่ผู้หญิงถูกกระทำ ถูกลงโทษและถูกกดขี่ มันจบลงด้วยการที่ผู้หญิงไม่ได้ลุกขึ้นมาสู้ แต่ถ้าหากมันเกิดในปัจจุบัน ตอนจบมันอาจจะเปลี่ยนแปลงไปได้หรือเปล่า ถ้าเราตั้งคำถามกับความเชื่อที่กดขี่กันมากขึ้น ท้ายที่สุดแล้ว เธอเล่าปิดท้ายถึงการสร้างงานจากความเชื่อของเธอว่า

“Red Lotus ของเราจะไม่ไปก้าวก่ายความเชื่อใคร แต่ความเชื่อที่แฟร์มันไม่ควรจะกดทับใครหรือเพศใดเพศหนึ่ง ความเชื่อเป็นเรื่องหลากหลายที่สนุกนะ เราเชื่อว่าวันหนึ่งความเชื่อที่กดขี่เรื่องเพศจะหายไป มันจะเสื่อมไปตามเวลา

“วันหนึ่งเราอยากเห็นความเชื่อที่มองคนไม่เท่ากันหายไปด้วย ซึ่งไม่ใช่แค่เพศ แต่การมองคนไม่เท่ากันมันควรจะหายไปในทุกๆ มิติของความเชื่อ”

ติดตามปูนปั้น กมลลักษณ์และผลงานได้ที่ kamonlak.sukchai