Culture

กว่าจะถึงปี 5 ของ ‘กว่าจะถึงออฟฟิศ’ เพจที่เปลี่ยนเรื่องตลกร้ายของมนุษย์ออฟฟิศเป็นเสียงหัวเราะ

เผลอแป๊บเดียว เพจที่ทำคอนเทนต์กระแทกใจ (ดำ) มนุษย์ออฟฟิศแบบเราๆ จนต้องตบเข่าฉาด พร้อมกับขำทั้งน้ำตา อย่าง ‘กว่าจะถึงออฟฟิศ’ ก็กำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 5 แล้ว ถือเป็นเวลาที่ไม่สั้น แต่ก็ยาวเกินคาด ใครจะไปคิดว่าเพจที่บนขิงบนข่าผ่านรูปวาด จะมาถึงวันที่มีผู้ติดตามบนเฟซบุ๊กกว่า 2 แสนคนได้แบบออร์แกนิค

ในฐานะแฟนตัวยงของเพจ ผู้เขียนเลยขอใช้หน้าที่ในทางที่ชอบ ชวน ‘อ้อม – ณัฐฐาอำพัน อินทร์พรหม’ เจ้าของ ผู้ก่อตั้ง แอดมิน ที่ควบตำแหน่ง AE ของเพจ มาพูดคุยกันสักหน่อย เพราะเชื่อว่านอกจากเราแล้ว ยังมีมนุษย์ออฟฟิศอีกมากที่อยากรู้ว่า ต้องเป็นคนแบบไหน ถึงจะคิดคอนเทนต์ได้โบ๊ะบ๊ะ สามช่าขนาดนี้

แนะนำตัวมนุษย์ออฟฟิศที่บ่นเป็นคอนเทนต์

“สวัสดีค่ะ อ้อมค่ะ เรียนจบมาทางด้านกราฟิกดีไซน์ แต่ว่างานอดิเรกคือวาดภาพ เมื่อก่อนทำงานเป็นกราฟิก ส่วนตอนนี้ทำงานด้าน Illustrator ตำแหน่งวาด เป็นพนักงานประจำไม่ได้เป็นฟรีแลนซ์ ทำงานให้กับบริษัทหนึ่งที่อยู่ต่างประเทศ ช่วงนี้กำลัง work from home อ้อมเป็นมนุษย์ออฟฟิศที่ชอบวาดรูปอยู่แล้ว มันก็เลยเป็นจุดกำเนิดของเพจว่าทำไมถึงสื่อสารออกมาเป็นภาพวาด แต่ตอนที่ตั้งชื่อเพจ ยังเข้าออฟฟิศตามปกติ ก็เลยเอาไว้บ่นเรื่องเดินทาง ที่กว่าจะถึงออฟฟิศ ต้องเจออะไรบ้าง แล้วก็ค่อยขยายไปถึงเรื่องอื่นในออฟฟิศ”

How to สร้างคอนเทนต์ฮาเหนือความคาดหมาย

“อ้อมเป็นคนเฮฮา ชอบเล่นมุกอยู่แล้ว ซึ่งคนแบบนี้มันก็ไม่ขี้เกียจที่จะเล่นมุกหรอก เราหามุกอะไรในหัวไปเรื่อย เวลาอยู่ว่างๆ พอปิ๊งอะไรขึ้นมาก็จะจดเอาไว้ แต่ถ้าบางทีถ้าตัน เราก็จะไม่บังคับตัวเองให้วาด”

ทำไม Ref ส่วนใหญ่ถึงมาจากหนัง

“ตอนแรกไม่ได้มาจากหนังนะ แต่โพสต์แรกๆ ที่คนแชร์เยอะ เป็นฉากจากเรื่อง ‘La La Land’ เราก็เลยรู้สึกว่า ภาพจากหนังมันคลิกกับคน มันสามารถเรียกคนจากตรงนั้นได้ หลังๆ ก็เลยหยิบฉาก iconic มาวาดเยอะ”

ชีวิตตัวเองตอนนี้เปรียบได้กับหนังเรื่องไหน

“ ‘tick, tick... BOOM’ เป็นหนังมิวสิคัลกึ่งชีวประวัติของ ‘โจนาธาน ลาร์สัน’ (Jonathan Larson) ที่ ‘แอนดรูว์ การ์ฟิลด์’ (Andrew Garfield) เล่น คือทั้งเรื่องเกี่ยวกับผู้ชายคนหนึ่งที่อายุใกล้ 30 และกำลังคิดว่าจะทำยังไงให้ตัวเองประสบความสำเร็จก่อน 30 ซึ่งตอนดูก็มีหลายซีนที่คิดว่าตรงกับเรา ทั้งอายุที่ใกล้ 30 อาชีพนักแต่งเพลงที่เป็นสายงานด้านศิลป์เหมือนกัน แล้วก็ซีนที่เขาอยากได้เงิน และต้องไปรับงานเสริม ซึ่งไม่ได้เป็นตัวของตัวเอง เหมือนกับเราตอนทำงานลูกค้า”

เรื่องที่วาดมาจากประสบการณ์ส่วนตัวทั้งหมดหรือเปล่า

“ไม่ใช่เรื่องของเราทั้งหมด 100% มันเป็นเรื่องที่คนรอบตัวที่เป็นมนุษย์ออฟฟิศ (บ่น) เล่าให้ฟัง และบางครั้งก็มาจากคอมเมนต์ของลูกเพจด้วย”

ในฐานะคนทำงานวาด เจอเหตุการณ์แบบไหนบ่อยที่สุด

“ทั้งงานประจำและทำเพจเลย คือ แก้งานหลายรอบ เพราะความต้องการลูกค้าไม่ชัดเจน และคนสั่งงานกับคนตรวจงานไม่ใช่คนเดียวกัน ความต้องการก็เลยไม่ตรงกัน เราเลยต้องทำให้งานถูกใจทุกคน แล้วก็เรื่องความต่างของช่วงวัยที่บางครั้งลูกค้าคือรุ่น boomer เวลาเล่นมุกอะไรไป เขาก็จะไม่เก็ท ดีลงานยากมาก”

มีวิธีแก้ไหม?

“ไม่ (หัวเราะ) ด้วยความที่บทบาทเราคือลูกจ้าง ก็ต้องปรับที่เรามากกว่า เราต้องเข้าใจว่ามันเป็นสังคมการทำงาน ไม่ใช่ชีวิตประจำวันทั่วไป”

จากการทำงานให้บริษัทไทยสู่ต่างชาติ สภาพแวดล้อมต่างกันไหม

“ต่างค่ะ เชื่อว่าเป็นหนึ่งในความตลกร้ายที่หลายคนน่าจะเคยเจอ คือ วัฒนธรรมการทำงานของคนไทยที่ไม่เคารพสิทธิและเวลาส่วนตัวของลูกจ้าง เมื่อตอนเรียนจบใหม่ อ้อมเคยทำบริษัทไทย คล้ายสตาร์ทอัพ ที่เจ้าของสามารถเข้าถึงพนักงานทุกคนได้ เช่น ทัก LINE ส่วนตัวในวันหยุดเพื่อให้ช่วยทำงาน หรือโดนกระแนะกระแหนที่เลิกงานตรงเวลา แต่พอทำงานบริษัทต่างชาติ ถ้าถึงเวลาเลิกงาน ก็เลิกเลย และเขาบอกด้วยว่าอย่ารบกวนเวลาส่วนตัวของคนอื่น”

นอกจากฉากในหนัง คิดว่าความตลกร้ายที่แฝงอยู่ทำให้คนติดใจเพจเราหรือเปล่า

“ก็เป็นได้นะ จุดประสงค์เพจคืออยากให้มันฮา สร้างมุมบวกให้คนได้หัวเราะกับเรื่องที่เจอจากออฟฟิศ”

ทำเพจจนถึงปี 5 มีอะไรที่เหมือนหรือเปลี่ยนไปไหม

“เส้นเรื่องยังเหมือนเดิม และเราก็ทำมันเป็นงานอดิเรกอยู่เหมือนเดิม แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลง อาจจะเป็นความจริงจังมากขึ้น เหมือนเมื่อก่อนเราทำเล่นๆ แต่พอคนติดตามเยอะ เราก็ให้ความสำคัญกับการคัดกรองคอนเทนต์มากขึ้น อะไรที่อาจจะดูแง่ลบเกินไป เราก็ไม่เอาดีกว่า เช่น การบุลลี่ ตอนนี้มีซีรีส์ The Glory ก็อยากจะเล่นเหมือนกันนะ แต่คิดว่ามันอาจทริกเกอร์กับบางคน ก็เลยตัดไป”

เห็นมีงานลูกค้าลงเพจเรื่อยๆ และ Engagement ค่อนข้างดี อยากให้แนะนำเทคนิคตรงนี้หน่อย

“เป็นเพราะช่วงที่ยิง Ads มันอาจไปไม่ถึงคุณหรือเปล่าคะ มันเลยดูเหมือนเป็น Engagement แบบออร์แกนิค (หัวเราะ) อ้อมว่าความสำเร็จของงานโฆษณาก็คือตัวตนเพจ 50 และลูกค้าอีก 50 ถ้าเราเจอลูกค้าที่เปิดกว้าง หรือรู้จักเพจเราดี แล้วมาเจอกันตรงกลาง เราก็สามารถทำคอนเทนต์งานขายในสไตล์ของเราได้เต็มที่”

สรุปสิ่งที่ได้จากการทำเพจกว่าจะถึงออฟฟิศ

“อ้อมได้ฝึกอะไรหลายๆ อย่าง เช่น การทำใบเสนอราคา การดูข้อมูลหลังบ้านในเฟซบุ๊ก ซึ่งมันช่วยสร้างวินัยให้ตัวเอง เพราะคนทำงานกราฟิกจะไม่ค่อยถนัดเรื่องเอกสาร และเพจนี้ก็เป็นเหมือน Portfolio ของเราด้วย”

ติดตาม ‘กว่าจะถึงออฟฟิศ’ ได้ที่

Facebook: กว่าจะถึงออฟฟิศ

Instagram: kjt_office

Twitter: Kwajatungoffice