เมื่อกล่าวถึง “เพลงลูกทุ่ง” หลายคนอาจคิดภาพถึงวิถีชีวิตแบบชนบทไทย ทุ่งนาเขียวขจี ชีวิตความเป็นอยู่ในชนบทและอีกหลากหลายภาพจำที่ถูกสร้างขึ้นมา แต่จริงๆ แล้วเพลงลูกทุ่งนั้นแฝงไปด้วยภาพสะท้อนของคนชายขอบภายในเมือง ผ่านการเล่าเรื่องชีวิตของคนชนบทที่เข้ามาทำงานในเมืองหลวง ความยากลำบากทั้งการทำงานและการดำเนินชีวิต วิถีชีวิตของผู้คนสังคมที่ถ่ายทอดผ่านบทเพลงลูกทุ่งจึงเสมือนภาพแทนของความเป็นไทยที่หลากหลาย นอกจากนี้เพลงลูกทุ่งยังเป็นเหมือนบันทึกหน้าประวัติศาสตร์ในฉบับคนธรมมดา ที่บันทึกเรื่องราวการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในแต่ละยุคสมัย ผ่านคำร้องและท่วงทำนองในแบบฉบับของตัวเอง
ก่อนจะมาเป็นเพลงลูกทุ่ง ย้อนกลับไปช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อิทธิพลของเพลงตะวันตกแพร่กระจายสู่สังคมไทย เกิดพัฒนาการของบทเพลงและทำนองดนตรี ทำให้เกิดแนวเพลงไทยสากลที่นำเอาทำนองแบบเพลงไทยเดิมประยุกต์เข้ากับโน้ตดนตรีแบบสากล ทำให้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจนสามารถแตกแขนงออกมาได้เป็นแนวเพลงถึง 2 ประเภทคือ แนวเพลงลูกกรุง ช่วงนั้นมีการบรรเลงคู่กับกองแตรวงของทหาร พร้อมนำมาเผยแพร่ทางสถานีวิทยุจนได้รับความนิยมจากประชาชนทั่วไป หลังจากช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ศ. 2488 – 2500 ส่วนเพลงตลาด/เพลงชีวิต ที่มีแนวทางการทำเพลงในแบบสะท้อนชีวิตและสังคม ได้รับความนิยมในวงที่กว้างกว่า นับเป็นพัฒนาการเริ่มแรกของเพลงลูกทุ่ง
ต้นกำเนิดของเพลงลูกทุ่งนั้นไม่ได้เริ่มจากพื้นที่ชนบทอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่กลับเริ่มต้นมาจากภาพสะท้อนของคนชายขอบในเมืองที่ต้องดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอดถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของคนชนบทที่ย้ายถิ่นฐานเข้ามาในเมืองหลวง เป็นเนื้อหาหลักของเพลงลูกทุ่งช่วงแรก เห็นได้จากบทเพลงของ คำรณ สัมบุญณานนท์ ผู้ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “บิดาแห่งวงการลูกทุ่ง” ตัวอย่างเพลงเช่น ชีวิตช่างไฟ ชีวิตช่างตัดผม และคนพเนจร หรือนักแต่งเพลงอย่าง ครู ป. ชื่นประโยชน์ ตัวอย่างเพลงเช่น กรรมกรรถราง และพ่อค้าหาบเร่ เป็นต้น
ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของพื้นที่เมืองและชนบทที่เชื่อมต่อกันอย่างแยกไม่ขาด อย่างไรก็ตามผู้ที่เสนอภาพวิถีชีวิตชนบทและสังคมเกษตรกรรม อย่างครู ไพบูลย์ บุตรขัน ที่ได้ชื่อว่าเป็นปรมจารย์แห่งเพลงลูกทุ่งไทย และได้รับการยกย่องว่า เป็นผู้สร้างสรรค์เพลงไทยสากลเข้ากับความเป็นชนบท โดยเฉพาะการเสนอภาพวิถีชีวิตชาวนาและสังคมชนบท ที่เป็นภาพท้องทุ่งนาและใบหญ้าที่เขียวชอุ่ม และกลายเป็นภาพแทน รวมถึงนิยามของเพลงลูกทุ่งจนถึงปัจจุบันเช่นกัน
ไม่ว่าจะเป็นชีวิตผู้คนในเมืองหรือชนบทที่ถูกถ่ายทอดผ่านบทเพลงในสมัยนั้น ล้วนแสดงให้เห็นถึงภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคม คำร้องในบทเพลงที่กล่าวถึงชีวิตของคนชนบทย้ายถิ่นเข้ามาในเมืองหลวง ล้วนเป็นผลมาจากการขยายของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ที่ต้องการแรงงานจำนวนมากมาทำงานเพื่อสอดรับกับเศรษฐกิจที่ขยายตัวขึ้น อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์เศรษฐกิจของประเทศในช่วงจักรวรรดินิยม ภาพทุ่งนาในคำร้องที่ครู ไพบูลย์ บุตรขัน ในเพลงกลิ่นเกล้า ที่มีคำร้องว่า “หวิว… ไผ่ลู่ลมยืนชมขอบคันนา ไกลสุดตาฟ้าแดงเรื่อ” หรือเพลงน้องนางบ้านนา ที่มีคำร้องว่า “สาวเอยรวงทรงน่ามองลิบลิ่ว” สะท้อนภาพท้องนาที่ไกลสุดตา เป็นภาพทุ่งนาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจและการเมืองโลกจากอิทธิพลของจักรวรรดินิยมอังกฤษ ข้าวกลายเป็นสินค้าเกษตรกรรมส่งออกสำคัญที่สุดของสยาม และเป็นรายได้หลักของประเทศในสมัยนั้น
นิยามคำว่า “เพลงลูกทุ่ง” มีหลักฐานการเรียกขานครั้งแรกในงานประกวดแผ่นเสียงทองคำพระราชทานครั้งที่ 2 พ.ศ. 2509 ได้กำหนดความหมายของเพลงประกวดประเภท ค. ว่า เพลงที่มีลาการบรรเลงตลอดจนเนื้อร้องไปในแนวเพลงพื้นบ้านหรือเป็นทำนองที่ดัดแปลงทำนองเพลงไทยภาคต่างๆ ให้เรียกเพลงประเภทนี้ว่า “ลูกทุ่ง” ซึ่งเพลงลูกทุ่งได้รับการตอบรับจากผู้ฟังอย่างดีโดยเฉพาะผู้ฟังจากในชนบท โดยสังคมชนบทได้รับความทันสมัยจากเมืองทั้งจากสื่อวิทยุ โทรทัศน์ที่เผยแพร่ ทำให้เพลงลูกทุ่งได้รับความสนใจในหมู่ของผู้คนชนบทอย่างรวดเร็วและเป็นวงกว้าง
สุรพล สมบัติเจริญ, ผ่องศรี วรนุช, ก้าน แก้วสุวรรณ และยงยุทธ เชี่ยวชาญชัย ศิลปินเพลงลูกทุ่งยุคเริ่มแรก แต่ผู้ที่พลิกประวัติศาสตร์เพลงลูกทุ่งจะไม่กล่าวถึงคนนี้ไปไม่ได้นั้นคือ สุรพล สมบัติเจริญ ศิลปินนักร้องและนักแต่งเพลงที่สร้างผลงานเพลงลูกทุ่งจนกลายเป็นที่นิยมของแฟนเพลงมากมาย และยังเผยแพร่เพลงลูกทุ่งให้เป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วประเทศ การแต่งเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับท้องถิ่นต่างๆ สุรพล สมบัติเจริญ มักใช้ภาษาของท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาษาถิ่นเหนือและอีสาน ตลอดจนการนำทำนองเพลงพื้นบทมาประกอบจนกลาเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว สร้างความประทับใจแก่ผู้ฟังในชนบทตามท้องถิ่นต่างๆ เป็นอย่างมาก
Photo credit: ทางอี-ศาน
ภายหลังจากการเสียชีวิตของ สุรพล สมบัติเจริญ วงการเพลงลูกทุ่งเป็นที่เฟื่องฟูเพิ่มมากขึ้นอีก พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของวงการลูกทุ่งที่เคลื่อนเข้าสู่ระบบนายทุน บทเพลงเริ่มเจาะตลาดให้สัมพันธ์กับวิถีชีวิตของคนชนบทที่เป็นกลุ่มฟังเพลงหลักมากขึ้น เพลงลูกทุ่งจึงมีลักษณะผสมระหว่างเพลงพื้นบ้านและเพลงตลาด/เพลงชีวิต มีการจัดประกวดและแข่งขันเพลงตามเวทีต่างๆ จนมีพัฒนาการมาสู่รูปแบบวงดนตรี เพลงลูกทุ่งได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ มีนายทุนทั้งในไทยและต่างประเทศเข้ามาสนับสนุนด้านวงดนตรีและการผลิตผลงานเพลง นักร้องและวงดนตรีมีการแข่งขันกันสูงมากยิ่งขึ้น ผู้ที่น่าจับตามองหรือชนะการประกวดจะได้เซ็นสัญญาตามสังกัดต่างๆ ระบบโครงสร้างการบริหารของวงดนตรีทุกอย่างอยู่ที่นายทุน ตั้งแต่การลงทุนตั้งวงดนตรี การรับงานแสดง การฝึกซ้อมหางเครื่อง การกำหนดรูปแบบการแสดง กฎระเบียบของวง รายได้ของสมาชิกวง และอื่นๆ ตามที่ตกลงกัน ส่วนของนักร้องที่ขึ้นชื่อว่าเป็นหัวหน้าวงก็อยู่ในฐานะลูกจ้างเท่านั้น ซึ่งค่าจ้างก็ขึ้นอยู่กับชื่อเสียง การพึ่งพานายทุนกลายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะ ต้องใช้เงินในการปรับปรุงรูปแบบวงดนตรีให้ทันสมัยและน่าสนใจอยู่เสมอ จนกลายเป็นอุตสาหกรรมเพลงลูกทุ่ง และหลังจากนั้นวงการเพลงลูกทุ่งก็เฟื่องฟูมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน
จะเห็นได้ที่จริงแล้วนั้นเพลงลูกทุ่งนั้นไม่ได้ห่างไกลกับเรื่องของ การเมือง เศรษฐกิจ สังคม เลย แต่กลับผสานกลายเป็นเนื้อเดียวกันจนผู้ฟังอย่างเราๆ แทบจะแยกไม่ออกเลยต่างหาก ด้วยเพราะความสามารถในการเล่าเรื่องที่ซ่อนนัยยะเอาไว้ได้อย่างแนบเนียบ ท่วงทำนองที่ดึงเอาความสนุกสนานในแบบที่วัฒนธรรมป๊อปพร้อมอ้าแขนรับ แต่กลับแฝงไปด้วยความเชื่อมโยงของสังคมเมืองและชนบทได้เป็นเนื้อเดียวกันอย่างแนบสนิด ทำให้เพลงลูกทุ่งนั้นเหมือนเป็นอีกหนึ่งบันทึกหน้าประวัติศาสตร์ฉบับประชาชนที่เราสามารถนั่งฟังได้ทั้งวัน
อ้างอิง
ศิริพร กรอบทอง. 2541. วิวัฒนาการของเพลงลูกทุ่งในสังคมไทย พ.ศ. 2481 – 2535. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต, สาขาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
อิทธิเดช พระเพ็ชร และเชาวกฤธิ์ เชาว์แสงรัตน์. 2561. เพลงลูกทุ่งไทยในบริบทจักรดิวรรดินิยม (พ.ศ. 2500 – 2530): การสื่อสารภาพแทนความเป็นไทยที่ยังไม่ถูกสร้าง. วารสารนิเทศศาสตร์ ปีที่ 37, ฉบับที่1: 59 – 69