Daily Pickup

5 ภาพยนตร์สะท้อนผู้หญิงที่ถูกมองเป็นชายขอบของสังคม

ต้อนรับสู่มีนาคม เดือนแห่งการเฉลิมฉลองผู้หญิงทั่วโลก ท่ามกลางระบบสังคมที่คอยกดทับผู้หญิง สิทธิและเสรีภาพหลายอย่างของผู้หญิงในสังคมไม่ได้เกิดขึ้นเองหรือมีใครมอบให้มาอย่างง่ายดาย แต่เกิดจากการที่พวกเธอต่อสู้จนได้มันมา วันนี้เราจะมาแนะนำ 5 ภาพยนตร์ที่สะท้อนผู้หญิงที่ถูกมองเป็นชายขอบของสังคม เพื่อเฉลิมฉลองและ empower ผู้หญิงเหล่านี้ 

1. รักเอย (Heart Bound)

ภาพยนตร์สารคดีที่ถ่ายทำกว่า 10 ปี บอกเล่าเรื่องราว “ผู้หญิงอีสาน” แต่งงานข้ามวัฒนธรรมไปอยู่ที่ประเทศเดนมาร์ก ผู้หญิงอีสานที่แต่งงานกับฝรั่งมักถูกตีตราว่า ไม่ได้แต่งงานเพราะความรัก แต่ต้องการมีชีวิตที่ดีขึ้นเท่านั้น ภาพยนตร์แสดงให้เห็นถึงเครือข่ายการแต่งงาน เรื่องราวชีวิตตอนอยู่เมืองไทย การใช้ชีวิตในต่างแดน ความรัก และสิ่งพวกเธอต้องเผชิญ ภาพยนตร์เรื่องนี้บอกเล่าผ่านมุมมองของผู้หญิงหลายๆ คน ทำให้เราได้เห็นชีวิตของผู้หญิงอีสานที่แต่งงานข้ามวัฒนธรรมในมุมมองที่หลากหลาย

รักชมภาพยนตร์ได้ทาง VIPA

2. พลอย (Ploy)

ภาพยนตร์สารคดีแนวทดลองเล่าเรื่องราวผ่านภาพถ่าย สไลด์ฟิล์ม ภาพวาด และสมุดใบไม้ ได้รับแรงบันดาลใจจากหนังสือเรื่อง คนไกลบ้าน งานเชิงมานุษยวิทยา ภาพยนตร์บอกเล่าเรื่องราวของ “พลอย” ผู้หญิงไทยที่ขายบริการทางเพศ ที่ซ่องกลางป่า (jungle brothel) ณ ชานเมืองของประเทศสิงคโปร์ พื้นที่ซ่องกลางป่าเต็มไปด้วยความเป็นชายขอบ และชีวิตที่ถูกกดทับไร้กฎหมายในการคุ้มครอง เป็นภาพยนตร์สารคดีที่สำรวจเรื่องราวอีกด้านหนึ่งของประเทศสิงคโปร์ที่หลายคนไม่เคยรู้

รับชมภาพยนตร์ได้ทาง Documentary Club 

3. โรม่า (Roma) 

ภาพยนตร์โทนขาวดำเล่าของผู้กำกับ Alfonso Cuarón ที่อุทิศให้แก่สาวใช้ของเขา ในภาพยนตร์เล่าเรื่องราวของครอบครัวชนชั้นกลางผิวขาวชาวเม็กซิโกและสาวใช้ชื่อ “คลิโอ” จากชนเผ่าหนึ่งของเม็กซิโก ท่ามกลางความวุ่นวายทางการเมืองช่วงทศวรรษ 1970 สาวใช้ผู้ทำหน้าที่เลี้ยงดูเด็กๆ ทำอาหาร ซักผ้า กวาดบ้าน ไปจนถึงเก็บอุจาระหมา ความผูกพันของสาวใช้กับครอบครัวนี้โดยเฉพาะแม่และลูกๆ ทั้ง 4 คน และความยากลำบากที่ต้องเผชิญ บทสนทนาหนึ่งของแม่ที่พูดกับสาวใช้ “พวกผู้หญิงเราก็ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวตลอด” นอกจากเรื่องราวที่แฝงหลายแง่มุมให้เราคิดตามแล้ว ภาพของภาพยนตร์เรื่องนี้เรียกได้ว่าไม่ควรพลาด

รับชมภาพยนตร์ภาพยนตร์ได้ทาง Netflix

4. คิม จียอง เกิดปี 82 (Kim Ji Young: Born 1982)

ภาพยนตร์เรื่องนี้ตีแผ่ระบบปิตาธิปไตย (Patriarchy) ที่คอยกดทับ “ผู้หญิง” ในสังคมเกาหลีที่มีมาอย่างยาวนาน เรื่องราวของ “คิมจียอง” ผู้หญิงที่เกิดปี 1982 เธอแต่งงานและอออกจากงานเป็นแม่บ้านเลี้ยงลูก มีครอบครัวที่อบอุ่น แต่อยู่มาวันหนึ่งเธอได้กลายเป็นคนอื่นในตัวเอง บางครั้งเธอก็พูดเลียนเหมือนแม่ รุ่นพี่ หรือแม้แต่เด็ก สามีรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงจึงตัดสินใจพบจิตแพทย์ เรื่องราวเล่าย้อนอดีตของคิมจียองสลับกับปัจจุบัน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันคิมจียองเหมือนอยู่ในกรงที่ถูกขังอิสรภาพเพียงเพราะเธอเกิดเป็น ผู้หญิง ภาพยนตร์ที่ชวนตั้งคำถามว่า อะไรที่ทำให้คิมจียองเป็นคนอื่นในตัวเอง 

รับชมภาพยนตร์ได้ทาง Netflix, Disney+ Hotstar

5. ปาร์วานาผู้กล้าหาญ (The Breadwinner)

ภาพยนตร์อนิเมชันเล่าเรื่องราวของ “ปาร์วานา”เด็กหญิงชาวอัฟกานิสถานวัย 11 ขวบ อาศัยอยู่กรุงคาบูลที่ถูกกลุ่มตาลีบันยึดครอง ผู้หญิงในอัฟกานิสถานไม่มีสิทธิออกมาเดินเล่นตามพื้นที่สาธารณะ วันหนึ่งพ่อของปาร์วานาถูกกลุ่มตาลีบันจับตัวไป เธอต้องหาอาหารมาเลี้ยงครอบครัวแทนพ่อ เธอจึงจำเป็นต้องตัดผมและสวมชุดแบบผู้ชายเพื่อหาอาหารมาให้ครอบครัว และตามหาพ่อที่ถูกจับเข้าคุกอย่างไม่เป็นธรรม อนิเมชันเรื่องนี้สะท้อนถึงการกดขี่และการจำกัดสิทธิของผู้หญิงโดยกลุ่มตาลีบันที่มีแนวคิดสุดโต่งด้านศาสนาและมีระบบปิตาธิปไตยเข้มข้น

รับชมภาพยนตร์ได้ทาง Netflix