Misconception about Cannabis: เข้าใจกัญใหม่

Photo Credit: Greencamp

จากการถูกใส่ความให้เป็นผู้ร้ายมาตลอดหลายสิบปี ในช่วงขวบปีที่ผ่านมานี้มลทินของกัญชาเบาบางลงไปจากสารเสพติดรุนแรง กลับกลายมาเป็นพืชต้นหนึ่งที่มีแนวโน้มและศักยภาพในการเป็นพืชเศรษฐกิจต้นใหม่ของประเทศไทย การยอมรับที่เพิ่มมากขึ้นทั้งทางการแพทย์และการใช้ในชีวิตประจำวัน ทำให้การพูดถึงกัญชากลายเป็นเรื่องปรกติในสังคมไทย 

แต่ตลอดช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมานี้ กัญชาถูกวาทกรรมของ สิ่งเสพติดครอบมาอย่างยาวนาน ความเชื่อผิดเกี่ยวกับกัญชาก็มีมากไม่น้อยไปกว่าประโยชน์เลย วันนี้เราจะมาพบกับเรื่องราวความเชื่อผิดๆ ของกัญชาที่เราจะมาทำความเข้าใจกันใหม่

Photo credit: Kindel Media

1. กัญชาเป็นประตูด่านแรกของการใช้ยาเสพติด 

เป็นความเชื่อที่น่าจะสร้างขึ้นมาเพื่อทำให้กัญชากลายเป็นผู้ร้ายที่จะชักนำให้คุณเริ่มต้นเดินผิดทาง อาจจะใช่ที่ผู้ใช้โคเคนหรือฝิ่นมักจะใช้กัญชาร่วมด้วย แต่สำหรับผู้ที่ใช้กัญชานั้น ส่วนใหญ่ (มากๆ) แทบจะไม่มีการใช้สารเสพติดอื่นเลย คล้ายกับการใช้แอลกอฮอล์ การเริ่มต้นใช้สารเสพติดนั้นส่วนมากมาจากการขาดความยับยั้งช่างใจ การทดลองตั้งแต่วัยเด็ก ซึ่งเรื่องนี้ควรถูกแก้ให้ตรงปัญหามากกว่า

Photo credit: Meme Generator

2. ใช้กัญชาแล้วไม่ต้องกลัวโอเวอร์โดส

อะไรที่รับเข้าไปในร่างกายในปริมาณมากๆ มันไม่ดีทั้งนั้นหล่ะ แม้ว่าการโอเวอร์โดสกัญชาจะเป็นไปได้ยากมากก็ตาม แต่ก็สามารถเป็นไปได้ โดยคุณจะต้องบริโภคเข้าไปเกือบ 680 กิโลกรัม ใน 15 นาที ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตาม อ้างอิงจาก CDC กัญชาถูกแนะนำไม่ให้ใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไปเพราะจะมีผลข้างเคียงในลักษณะ ความวิตกกังวล หวาดระแวง เวียนหัว ตระหนก และหัวใจเต้นเร็วผิดปรกติ

Photo credit: MMJ Health

3. สูบกัญชาแล้วไม่ติด 

เรื่องนี้สายเขียวหลายท่านอาจจะยกขึ้นเป็นข้ออ้างมานานแสนนาน แต่ในอเมริกามีวัยรุ่นเข้ารับการบำบัดกัญชาทุกปี ในปี 2004 มีอัตราส่วนมากถึง 60% เป็นการติดกัญชา อีก 36% เป็นการติดแอลกอฮอล์ และที่เหลือเป็นสิ่งเสพติดอื่นๆ คนอเมริกันกว่า 8 ล้านคนยอมรับว่าใช้กัญชาทุกวัน อีกหลายล้านคนสารภาพว่าเขาไม่มีความอดทนต่อการหยุดใช้กัญชา ซึ่งความรุนแรงและอาการของการติดกัญชาจะคล้ายกับบุหรี่ ที่มีอาการหงุดหงิด วิตกกังวล ตัวสั่น ปวดหัว และอื่นๆ 

Photo credit: The Thaiger

4. กัญชาไม่อันตรายเท่าบุหรี่ 

ให้ระลึกไว้เสมอเลยว่าอะไรที่ผ่านการเผาไหม้เป็นควัน แล้วผ่านลงไปในปอดนั้นอันตรายเสมอ ไม่ว่าจะกัญชาหรือบุหรี่ก็ตาม แม้ว่า THC ในกัญชาจะปลอดภัยแต่การได้รับคาร์บอน มอนนอกไซด์เข้าไปในร่างกาย ก็มีสารก่อมะเร็งเช่นเดียวกับบุหรี่ และสำหรับผู้สูบกัญชา มีแนวโน้มของการดึงจังหวะของลมและยั้งเอาไว้ในปอดนานกว่าบุหรี่ ทำให้ควันเหล่านั้นมีเวลาได้สัมผัสกับหลอดลมและปอดมากขึ้น ก่อให้เกิดโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ถุงลมโป่งพองตามมา ส่วนวิธีการที่ดีที่สุดแนะนำโดย Dr. MacCallum จากสถาบันปอดแห่งสหราชอาณาจักร คือการใช้เครื่องทำระเหยไอน้ำ (Vaporizer) จะช่วยหลีกเลี่ยงความเสี่ยงได้