ลัทธิมัมหมี – การสวมบทบาท ‘แม่’ ของแฟนคลับ รูปแบบความรักที่อาจทำร้ายศิลปินในทางอ้อม

Photo credit: MORE THAN EVER

หากใครกำลังติดตามศิลปินไอดอล ไม่ว่าจะแฟนด้อมไหนๆ ก็คงต้องเคยได้ยินคำว่า ‘มัมหมี’ ผ่านหูกันมาบ้าง เพราะมันเป็นคำศัพท์ที่แฟนคลับบางกลุ่มใช้เรียกตัวเองเมื่อมองศิลปินเป็น ‘ลูก’ ที่ตนเอ็นดูเชิดชู และต้องการจะปกป้องให้มีแต่ความสุขอยู่เสมอ ดูเผินๆ แล้วอาจจะเป็นความสัมพันธ์ที่น่ารักระหว่างแฟนคลับกับไอดอล บทความนี้จึงจะชวนทุกคนให้มาขบคิดกันว่า ความหวังดีที่มาพร้อมบทบาท ‘แม่สมมติ’ นั้นคือรักบริสุทธิ์ หรือจะเป็นน้ำนมอาบยาพิษที่แฝงมาในรูปแบบแฟนคลับกันแน่

จาก ‘Position’ สู่ ‘Infantilization’

ก่อนที่การรักศิลปินแบบลูกจะมีชื่อเรียกอย่างจริงจัง ‘โพสิชั่น’ (position) ก็เป็นสิ่งที่ใช้บ่งบอกได้ว่าเรามองศิลปินคนนั้นๆ ด้วยสายตาแบบไหน แรกเริ่มคำนี้จะใช้แค่เฉพาะในบริบทการ ‘ชิป’ หรือ ‘จิ้น’ เท่านั้น เพราะโพสิชั่นในที่นี้หมายถึงบทบาทบนเตียง โดยมักจะมีคนหนึ่งที่ถูกมองว่าเป็นฝ่ายรุกและอีกคนเป็นฝ่ายรับ รุกส่วนมากจะถูกจัดให้อยู่ในหมวดหมู่ ‘โพผัว’ ส่วนรับก็คือ ‘โพเมีย’ หรือ ‘โพน้อง’ ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็น ‘โพลูก’ และศิลปินโพนี้ก็มักจะได้รับการปฏิบัติเหมือนเป็นเด็กอยู่เสมอ โดยการกระทำนี้เรียกว่า ‘infantilization’

Photo credit: One Hallyu

Infantilization หรือการทรีตคนๆ หนึ่งให้เป็นเด็กน้อย หากให้ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็คือการที่แฟนคลับขอให้ศิลปินทำ ‘แอกโย’ (애교) หรือการทำท่าทางแบ๊วๆ จนบางครั้งการมองด้วยฟิลเตอร์ลูกก็เลยเถิด มีการมอบของเล่นเด็กกับจุกนมให้ศิลปินในงานแฟนไซน์หรือขอให้เรียกว่าแม่ และนำไปหวีดต่อด้วยประโยคที่แสดงตนว่าเป็นมัมหมีอย่างชัดเจน เช่น “น้อง (ชื่อศิลปิน) สามขวบแปดเดือน” “เจ้าเด็กพูดจาอ้อแอ้ ฟันแท้ยังขึ้นไม่ครบ” ฯลฯ นอกจากนี้ก็ยังมีมุกที่ส่อถึงความรักต้องห้ามร่วมสายเลือด (”ฉีกสัญญาแม่ลูก” “ไม่เป็นแม่แล้ว จะเป็นเมีย”) ซึ่งได้กลายเป็นที่นิยมในหลายๆ กลุ่มแฟนด้อม ชวนให้เกิดการตั้งคำถามว่า การกระทำเหล่านี้เกินเลยขอบเขตความสมควรและมุมมองของศีลธรรมไปแล้วหรือไม่

Photo credit: iconnnz

การตั้งตนเป็นมัมหมีและทำในสิ่งที่ยกตัวอย่างไปนั้น พูดได้เลยว่าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมแฟนด้อม โดยเฉพาะฝั่งของประเทศเกาหลี ที่ไอดอลมักจะถูกปฏิบัติราวกับเป็นไข่ในหิน ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะหลายๆ ค่ายเพลงจะให้ศิลปินเดบิวต์ตั้งแต่อายุยังน้อย และต้องคงไว้ซึ่งภาพลักษณ์อันบริสุทธิ์ผุดผ่องอยู่เสมอ จนการสร้างภาพจำเช่นนี้ได้บ่มเพาะทัศนคติของแฟนคลับบางส่วนรวมถึงคนนอกให้มองศิลปินเป็นเด็กไปโดยปริยาย ทำให้แม้แต่ไอดอลที่บรรลุนิติภาวะก็ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์หากสูบบุหรี่หรือเที่ยวกลางคืน ในทางกลับกันก็มีเหล่ามัมหมีที่พร้อมออกโรงปกป้อง ต่อให้ศิลปินจะทำผิดร้ายแรงมากแค่ไหน 

Photo credit: 나무위키

หนึ่งในตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือกรณีของ ‘ซึงรี’ (승리) หรือ ‘อีซึงฮยอน’ (이승현) อดีตสมาชิกวง BIGBANG ที่ถูกตัดสินจำคุก 3 ปีข้อหาค้าประเวณีจากคดีคลับ Burning Sun ด้วยความที่เขาเคยมีภาพลักษณ์เป็นน้องเล็กของวง จึงได้รับความเอ็นดูอย่างล้นหลามมาโดยตลอด ทำให้แม้ว่าซึงรีจะกระทำผิดอย่างรุนแรง ก็ยังคงมีแฟนคลับส่วนหนึ่งที่เชื่อมั่นว่าเขาถูกใส่ร้ายหรือโดนโยงเข้ากับคดีอย่างไม่เป็นธรรม และเชื่ออยู่อย่างนั้น ต่อให้ศาลเกาหลีใต้จะได้พิจารณาว่ามีความผิดแล้วก็ตาม

ความอึดอัดจากการโอบกอดที่แน่นเกินพอดี

Photo credit: W Korea

แน่นอนว่ามีศิลปินอีกมากมายที่ถูก infantilize โดยที่เจ้าตัวไม่ได้เต็มใจ ‘ไอยู’ (IU) หรือ ‘อีจีอึน’ (이지은) ซูเปอร์สตาร์ดาวค้างฟ้าเองก็เคยผ่านประสบการณ์เช่นนี้ ด้วยความที่เดบิวต์ตั้งแต่อายุ 15 ปี และได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘น้องสาวแห่งชาติ’ (국민 여동생) ภาพลักษณ์ของเธอจึงผูกติดกับความใสซื่อมาโดยตลอด ถึงขั้นที่ได้รับโหวตจากการเซอร์เวย์ให้เป็นอันดับ 1 ของศิลปินที่ไม่อยากให้เปิดเผยเนื้อหนัง แม้ไอยูจะกล่าวถึงความรู้สึกอึดอัดใจเมื่อผู้คนมองว่าเธอไร้เดียงสาอยู่บ่อยครั้ง และในปี ค.ศ. 2015 เธอก็ได้สื่อมันออกมาด้วยเพลง ‘Twenty-three’ (스물셋) ทั้งท่อนที่ร้องว่า “ไม่มีอะไรต้องกลัว เพราะถึงทำตัวแย่ๆ ผู้คนก็จะยังดีกับฉันเสมอ” กับ “ฉันอยากเป็นเด็กตลอดไป ไม่สิ ฉันอยากเป็นหญิงสาวมากกว่า”

Photo credit: tenleefilms / TopStarNews

อีกหนึ่งเรื่องที่เคยเป็นประเด็นร้อนเมื่อ 2 ปีที่แล้ว (ค.ศ. 2020) ในแฟนด้อมวง NCT ก็ได้เกิดขึ้นจากการเผยรอยสักใหม่ของ ‘เตนล์ — ชิตพล ลี้ชัยพรกุล’ ในคลิปวิดีโอ WayV ‘Turn Back Time’ (Rebirth Ver.) @WayV THE STAGE รีแอคชั่นของแฟนคลับแตกออกเป็นสองฝั่ง มีทั้งคนที่ชื่นชอบมัน และที่ส่งเสียงวิจารณ์ว่าไม่เข้ากับบุคลิกหรือ “เสียดายผิวสวยๆ” ไปจนถึงการเล่นมุกอย่าง “มัมหมีเหลาไม้เรียวรอแล้ว” ขัดกับฟีดแบ็กที่สมาชิกคนอื่นๆ ได้รับเมื่อมีรอยสัก

คล้ายกันกับกรณีของ ‘จอนจองกุก’ (전정국) เมมเบอร์คนเล็กสุดประจำวง BTS ที่ตกเป็นประเด็นจากการเจาะคิ้วและปาก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะสังคมอนุรักษ์นิยมของประเทศเกาหลีใต้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าพวกเขาถูกคาดหวังให้คงความน่ารักเอาไว้เหมือนสมัยยังเป็นไอดอลหน้าใหม่ ด้วยความที่มีรูปร่างหน้าตาอันอ่อนหวานและน่าทะนุถนอมในสายตาใครหลายๆ คน ซึ่งการอยากควบคุมให้คนๆ หนึ่งดูเด็กไปตลอดนั้นก็ถือว่าเป็นการ infantilize ต่อให้ตั้งใจหรือไม่ก็ตาม

ความรักของมัมหมี — มีปัญหาจริงหรือคิดมากไปเอง

Photo credit: Koreaboo

สุดท้ายแล้ว เรื่องราวที่เกิดขึ้นก็ได้สร้างข้อถกเถียงว่าการเป็นมัมหมีหรือเอ็นดูศิลปินแบบลูกนั้นเป็นปัญหาหรือไม่ บ้างก็ว่าเป็น เพราะมันอาจสร้างความอึดอัดใจให้กับศิลปินและส่งเสริมค่านิยมที่ผิด ในขณะที่อีกฝั่งมองว่าการเป็นมัมหมีไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน จึงสามารถเป็นได้ ตราบใดที่ศิลปินไม่เคยแสดงความคับข้องให้เห็นหรือพูดตรงๆ

แต่เพียงการสำรวจความคิดเห็นบนโลกโซเชียลคงไม่พอ ผู้เขียนจึงพูดคุยกับคนอื่นๆ ที่อยู่ในแฟนด้อมศิลปิน ทั้ง K-Pop และ J-Pop ว่าสำหรับพวกเขาแล้ว การเป็นมัมหมีคืออะไร ถือว่าไม่เหมาะสมหรือเป็นเพียงแค่ความรักรูปแบบหนึ่ง

คนแรกที่ไม่ได้เป็นมัมหมีบอกกับเราว่า “การเป็นมัมหมีด้วยอายุไม่ผิดอะไร เพราะศิลปินใหม่ๆ อายุน้อยกันมาก จะรักเหมือนลูกก็คงไม่แปลก แต่มัมหมีที่ชงศิลปินเป็นเด็กอายุสามขวบตลอดเวลาหรือปกป้องจนเกินไปก็ไม่โอเค ศิลปินบางคนไม่ชอบโดนมองว่าเป็นเด็กด้วย และคงไม่กล้าพูดเพราะกลัวแฟนคลับเสียใจ ทางที่ดีคือไม่เป็นดีกว่า แค่เอ็นดูเขาเฉยๆ ก็พอ”

“ส่วนตัวคิดว่าการเป็นมัมหมีค่อนข้างมีปัญหา เพราะจุดเริ่มต้นของมันก็มาจากการชิป นั่นหมายความว่าความเป็น ‘ลูก’ มักจะมาคู่กับความเป็น ‘ฝ่ายรับ’ และการชิปก็ไม่สมควรที่จะทำอยู่แล้ว แถมยังมีมัมหมีบางกลุ่มที่ชอบหวีดศิลปินชายให้เป็นเด็กผู้หญิงด้วย ถึงจะไม่ใช่ทุกคน ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีมัมหมีแบบนี้อยู่จริงๆ” อีกคนหนึ่งเสริม

ส่วนฝ่ายที่เรียกตัวเองว่าเป็นมัมหมีก็ได้อธิบายกับเรามาว่า การมองศิลปินเป็นลูกไม่ได้แปลว่าต้องมีการชิปหรือปกป้องเสมอไป

“สำหรับเรา การเป็นมัมหมีกับการปักโพสิชั่นให้ศิลปินคือคนละเรื่องกัน เราแค่เอ็นดูเพราะเขาน่ารักเหมือนเป็นเด็กน้อย เวลาอวยก็อาจจะใส่อินเนอร์แม่ชมลูกเข้าไปบ้าง แต่เวลาที่เขาทำผิดก็ว่าไปตามผิด มัมหมีที่ตำหนิเวลาศิลปินทำผิดก็มี เพราะในความเป็นจริงเขาคือคนที่โตแล้ว คิดว่ามัมหมีหลายๆ คนน่าจะแยกแยะส่วนนี้ได้เหมือนกัน และถ้าวันไหนเขาบอกว่าไม่ชอบให้มองเป็นเด็กก็จะพยายามเลิก”

การที่เราจะบอกว่า การสถาปนาตนเป็นมัมหมีเป็นเรื่องผิดบาปหรือถูกต้องนั้น คงจะเกินความสามารถของเรา อาจจะต้องให้ผู้อ่านเป็นคนตัดสินเสียเอง แต่การควานหาความชอบธรรมจากการตั้งตนเป็นแม่ โดยอาศัยความรักและเอ็นดู โดยปราศจากความสมัครใจของอีกฝ่าย (ในบางกรณี) อาจจะต้องมีการฉุกคิดอีกสักครั้งว่าเป็นเรื่องที่เหมาะสมตั้งแต่ต้นทางแล้วหรือยัง ไม่ใช่แค่เฉพาะกับศิลปินเท่านั้น เพราะการ infantilize สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกความสัมพันธ์ ทั้งผู้ปกครอง-เด็ก เจ้านาย-ลูกน้อง คู่รัก ฯลฯ — อย่าลืมสำรวจดูล่ะ ว่าคุณกำลังเป็นมัมหมีหรือลูกสมมติของใครอยู่หรือเปล่า

อ้างอิง

The Standard

KPopStarz