MYSTERY BOX OF THE NEOW

HIGHLAND เป็นสถานที่แรกๆ ที่ทำให้เราชาว EQ ได้มีโอกาสเข้าไปทำความรู้จักกับ เดอะเหนี่ยว หรือเหนี่ยวนั่นเอง เพียงแค่คืนนั้นชาว EQ ได้เข้าไปสังสรรค์กันอย่างสนุกสนาน ได้ท่องยามราตรี และเพลิดเพลินกับเสียงเพลงในร้าน HIGHLAND แต่ทว่าคืนนั้นเองกลับมีความรู้สึกหลายๆ อย่างที่ทำให้เราได้มาพบรูปภาพหนึ่งที่ประดับประดาตามฝาผนัง จึงทำให้เราได้รู้ว่าทาง HIGHLAND มีการจัด Exhibition ขึ้น ได้แก่ “HIGHLAND x THE NEOW” เราจึงไม่รอช้ารีบติดต่อเพื่อจะได้เข้าไปทำความรู้จักกับ “เดอะเหนี่ยว” ศิลปินที่ถ่ายทอดรูปภาพแบบ Street Art ที่ดูเข้าตาพวกเราชาว EQ เป็นอย่างมาก

จากปั๊ดเหนี่ยวสู่…เดอะเหนี่ยว

ณ ตอนนั้นมีคนทำเพจน้อยมาก เหนี่ยวก็เป็นหนึ่งในยุคแรกๆ เลยที่เริ่มทำเพจเกี่ยวกับการวาดภาพขึ้นมา จริงๆ ช่วงยุคนั้นผมคิดว่ามันคือไดอารี่นะ วาด เขียน ลบ สมุดเปรอะเปื้อนไปด้วยรอยดินสอทั้งหมด เจออะไรก็วาดมันลงไป พาคุณย่าไปหาหมอ นั่งอยู่ที่โรงพยาบาล ผมก็วาด ตอนนั้นมันไปเรื่อยมาก ไม่ได้มีคาแรกเตอร์เฉพาะตัวเหมือนทุกวันนี้ด้วยซ้ำ จนกระทั่งมีคนเห็นภาพในสมุดของผม เขาจึงเอ่ยปากขึ้นมา “นี่มัน dirty sketchbook นี่หว่า” มันจึงเกิดมาเป็นเพจ My Dirty Sketchbook อย่างทุกวันนี้แหละครับ 

ด้วยความสังสัยอย่างแรงกล้าของผู้เขียน จึงเอ่ยปากถามออกไปว่าชื่อเล่นจริงๆคือเหนี่ยวหรือเปล่า เดอะเหนี่ยวจึงเล่าถึงความเป็นมาชื่อนี้ให้เราฟังว่า “ผมเป็นคนเชียงใหม่ เกิดและโตที่นั่น แต่เพิ่งย้ายเข้ามาในกรุงเทพฯ ได้ไม่นาน ตอนสมัยเรียนที่วิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชื่อเล่นของคณะผม คือ ปั๊ดเหนี่ยว ผมก็เลยถอดชื่อออกมาเป็น…เหนี่ยว หรือเดอะเหนี่ยว ทุกวันนี้ก็ไม่มีใครเรียกชื่อเล่นผมจริงๆ แล้ว เพราะทุกคนต่างก็เรียกว่าเหนี่ยวมาตลอด” (ขนาดตอนสัมภาษณ์ตัวผู้เขียนเอง ก็ยังเรียกแทนว่าพี่เหนี่ยวด้วยซ้ำ)

Mystery Box of THE NEOW

แท้จริงแล้วใครจะรู้ว่ากว่าจะเป็น  “เดอะเหนี่ยว” อยากทุกวันนี้ เหตุเกิดจากกล่อง… เหนี่ยวเล่าว่าครั้งหนึ่งในชีวิตตอนอยู่เชียงใหม่มีคนเข้ามาจ้างงานด้วย Concept ที่เกี่ยวกับไอเดียของรูปทรงของกล่องสี่เหลี่ยม โดยการที่เหนี่ยวเริ่มทำคาแรกเตอร์โดยใช้กล่องสี่เหลี่ยมมาประกอบสร้างด้วยการต่อแขน ต่อขา จนเกิดเป็นการ์ตูนในที่สุด แต่หารู้ไม่ว่าโปรเจกต์นั้นถูกชิ่ง เหนี่ยวหัวเราะออกมาพร้อมกับพูดว่า “รู้ไหมงานนั้นไม่ได้เงินด้วยนะ” แต่ฟ้าหลังฝนย่อมดีเสมอ เวลาผ่านไปสักพัก เหนี่ยวพับโปรเจกต์นั้นลงไว้สักพื้นที่หนึ่งของสมุด ในขณะที่นั่งฆ่าเวลาระหว่างรอคุณย่าที่โรงพยาบาลก็ดันพลิกหน้าสมุดที่วาดภาพทรงกล่องนั้นขึ้นมาอีกครั้ง เหนี่ยวเริ่มกลับมารู้สึกสนใจ และนำมาต่อยอดในที่สุด

“เป็นความบังเอิญอะเนอะที่เราไม่ได้ขายให้ลูกค้าไป ถ้าสมมติผมขายให้เขาไป ผมอาจจะไม่ได้กลับมาวาดมันอีกแล้ว อาจจะไม่ได้มี Character อย่างที่ทุกคนเห็นวันนี้ก็ได้ ไม่รู้ว่าเป็นความโชคดีหรืออะไร แต่สุดท้ายมันกลับกลายมาเป็นคาแรกเตอร์ประจำของเราไปเสียแล้ว”

เงาสะท้อนของเดอะเหนี่ยว

“คาแรกเตอร์ของเหนี่ยวในเพจกับตัวจริงเหมือนกันเป๊ะเลย” เหนี่ยวเล่าว่าสิ่งที่ทำให้รู้สึกอยากถ่ายทอดเรื่องเล่าออกมาทั้งหมด มันคือการที่เราหยิบยกสิ่งรอบตัวที่เหนี่ยวในชีวิตจริงชอบหรือสนใจ มาเป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบต่างๆ และถ่ายทอดให้มันอยู่ในรูปแบบการ์ตูน หรือเหนี่ยวที่เป็นเวอร์ชันการ์ตูนแบบในเพจนั่นเอง สิ่งรอบตัวที่จะเห็นได้ชัดก็คือมีสเก็ตบอร์ด มีมอเตอร์ไซต์ และลายเส้นที่มีความเป็นเอกลักษณ์ เหนี่ยวเสริมว่า “ทุกอย่างที่อยู่รอบตัวล้วนเป็นสิ่งที่ผมชอบทั้งนั้น” ส่วนถ้าให้เหนี่ยวมองถึงภาพลักษณ์ของเหนี่ยวเวอร์ชันการ์ตูนเขาคงเป็นเพื่อนที่ดูพูดจากวนๆ อาจจะมีสาระบ้าง ไม่มีสาระบ้าง แต่ก็ยังอยากที่จะเป็นเพื่อนกับทุกคน และก็ยังอยากที่ได้รู้จักกับจะมีเพื่อนใหม่ๆ

ภาพที่เหนี่ยวประกอบสร้างขึ้นมาทั้งหมด ก็เหมือนตัวเหนี่ยวเองในชีวิตจริง ที่พยายามทำให้ภาพเป็นกระบอกเสียงหนึ่งที่สื่อสารในสิ่งที่ผมอยากจะพูด หรือสิ่งที่ผมคิดออกไปได้ ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องใดก็ตาม ผมอยากใช้ศิลปะในการวิพากษ์ วิจารณ์กับสิ่งที่เกิดขึ้น อย่างการเมือง สังคม สำหรับเงาสะท้อนของพี่เหนี่ยวและเดอะเหนี่ยวนั้น “ศิลปะเป็นเรื่องที่ต้องพูดได้ ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม”

Respect Power of Youth

สิ่งหนึ่งที่เหนี่ยวพยายามเล่าให้ผู้สัมภาษณ์ฟังเป็นการเลือกใช้ในสิ่งที่ตัวเองมีเพื่อแสดงจุดยืนทางสังคม เขาเลือกใช้สิ่งที่เขาถนัดเพื่อส่งต่อพลังมหาศาลแก่เหล่าผู้ชุมนุม เหนี่ยวเล่าให้ฟังว่า “ผมเพิ่งมาใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯได้ไม่นาน เป็นช่วงประจวบเหมาะกับตอนที่เริ่มมีชุมนุมอยู่พอดี ทุกครั้งที่ไปชุมนุมผมเห็นพลังของน้องๆ รุ่นใหม่ที่พยายามต่อสู้เพื่ออนาคตเขา ตอนนั้นในใจรู้สึก Respect พวกเขามากๆ” อย่างที่บอกไปแล้วว่าพอครั้งหนึ่งคนเราเริ่มรู้สึก ต่างก็มีวิธีที่จะใช้ถ่ายทอดอารมณ์ไม่เหมือนกัน ซึ่งเหนี่ยวเองพอได้เริ่มรู้สึก ก็เริ่มวาดตัวการ์ตูนเพื่อนำไปทำสติกเกอร์ต่อ และทุกครั้งที่ไปชุมนุม ถ้าได้เจอน้องๆ  เหนี่ยวก็จะแจกสติกเกอร์อันนี้เพื่อเป็นการแสดงถึงความเชื่อมั่นและความนับถือในพลังของเด็กรุ่นใหม่ที่ยังออกมาแสดงจุดยืน โดยสติกเกอร์นั้นมีประโยคที่ว่าไว้ด้วย “Respect Power of Youth” นับเป็นประโยคหนึ่งที่ตราตรึงหัวใจของผู้สัมภาษณ์เป็นอย่างมาก 

HIGHLAND X NEOW

 “ปีนี้มาจัดงานที่ Highland ไหม เพราะร้านนี้กับ Concept ของผมค่อนข้างจะตรงกัน ผมก็ตอบตกลงแบบไม่ต้องคิดเลย”

ถ้าเราพอรู้ชื่อเสียงเรียงนามของ Highland มาบ้างก็พอจะเดาออกได้ไม่ยากว่า Concept  งานครั้งนี้ของเหนี่ยวคืออะไร เหนี่ยวเล่าให้ผู้สัมภาษณ์ฟังว่าความพิเศษครั้งนี้คือการที่เหนี่ยวได้จัด Exhibition ที่กรุงเทพฯเป็นของตัวเองครั้งแรก ภายในงานจะมีภาพทั้งหมด 29 ชิ้น ที่บางภาพไม่เคยเผยแพร่ที่ไหนด้วยซ้ำ โดยที่งานในข้างต้นจัดขึ้นจะจัดจนถึงวันที่ 10 เมษายนนี้ และเป็นภาพที่บอกเล่าเรื่องเล่าของสายเขียวทั้งหลาย หรือ…กัญชาสิ่งที่เราคงคุ้นหูกันดี

อย่างที่กล่าวไปในข้างต้น เหนี่ยวรักในการที่จะเล่า หรือวิพากษ์วิจารณ์บางเรื่องด้วยความสัตย์จริง ดังนั้น ในงานนี้ที่นำตัวการ์ตูนมาเล่าเกี่ยวกับเรื่องกัญชา เพียงเพราะอยากให้มันเข้าใจง่าย และเข้าถึงคนได้มากที่สุด การใช้ศิลปะถ่ายทอดออกมาได้อย่างไม่เคอะเขิน ถือเป็นกระบวนท่าที่สวยงาม และสามารถทำให้มันลึกซึ้งขึ้นได้ และสุดท้ายเหนี่ยวได้ทิ้งท้ายประโยคด้วยที่เต็มไปด้วยนัยยะว่า

“ศิลปะกับการเมืองไม่ใช่เรื่องเลวร้าย ศิลปะกับกัญชาไม่ใช่เรื่องเลวร้าย แต่สิ่งที่เลวร้ายกว่านั้นคือศิลปะถูกตีกรอบว่าห้ามพูดเรื่องนี้นะ เพราะเรื่องนี้พูดไม่ได้ นี่แหละคือสิ่งที่เลวร้ายสำหรับเหนี่ยว…” 

ติดตามผลงานของเหนี่ยวได้ที่ My Dirty Sketchbook by Neow