Life

Neuralink : ชิปแห่งอนาคตที่จะนำมนุษย์ไปสู่วิวัฒนาการ

Photo credit: Phonlamai Photo

หลายครั้งที่ในภาพยนตร์ sci-fi จะมีฉากที่มนุษย์ที่สามารถควบคุมสมาร์ตโฟน หรือเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ได้เพียงแค่ใจนึก​ แต่เชื่อไหมว่าภาพอนาคตเหล่านี้ใกล้เข้ามาถึงแล้ว ด้วยนวัตกรรม ‘Neuralink’ ที่จะพลิกวิวัฒนาการของมนุษยชาติจากหน้ามือเป็นหนังมือ มาทำความรู้จักกับ Neuralink ไปพร้อมกันกับพวกเราได้เลย 

‘Neuralink’ นวัตกรรมโลกอนาคต

Neuralink คือนวัตกรรมที่พัฒนาโดย ‘อีลอน มัสก์’ (Elon Musk) วิศวกร นักธุรกิจชื่อดังชาวอเมริกันที่ต้องการจะสร้างอุปกรณ์หรือชิปขนาดเล็กสำหรับฝังไว้ในสมอง (Implantable brain–machine interfaces) เพื่อปลดล็อกศักยภาพใหม่สู่มนุษย์ให้เหนือขั้นยิ่งกว่าที่เป็น โดยชิปนี้จะลอกเลียนแบบการทำงานของเซลล์ที่สามารถสั่งการเซลล์ประสาทในร่างกาย และด้วยเทคโนโลยีการส่งข้อมูลของกระแสประสาทไปยังอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เชื่อมต่อกันแบบไร้สาย ผู้ที่ได้รับการฝังชิปจะสามารถควบคุมอุปกรณ์นั้นๆ โดยไม่ต้องพึ่งพาการสัมผัส เช่น สามารถพิมพ์และส่งข้อความ เปิดเพลง อุ่นอาหาร หรือเล่นเกมได้เพียงแค่กวาดตามองและใช้สมองคิด นอกจากนี้จะยังเพิ่มความสามารถในการคิดคำนวณสิ่งต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ ทำให้สมองของเราจะกลายเป็นเหมือนซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ได้รับการอัปเกรดเลยทีเดียว 

Photo credit: Muzli

นวัตกรรมนี้มีการเริ่มต้นวิจัยมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2017 และเผยโมเดลรุ่นที่ 1 สู่สาธารณชนเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 2019 เป็นรูปแบบของอุปกรณ์ที่จะติดตั้งบริเวณข้างหูและฝังยาวเข้าไปในสมอง แต่ใน ค.ศ. 2020 โมเดลก็ได้มีการปรับเปลี่ยนเป็นชิปทรงกลม ขนาดประมาณเหรียญ 5 บาทแทน ส่วนวิธีการฝังนั้นก็ไม่ได้ซับซ้อน เพียงผ่ารูบนกะโหลกศีรษะความกว้างเท่ากับชิปและติดตั้งมันลงไป ด้วยการใช้หุ่นยนต์รูปทรงคล้ายเครื่องจักรเย็บผ้าในการฝังสาย ‘อิเล็กโทรด’ (electrodes) มากกว่า 1,000 เส้นที่มีความบางยิ่งกว่าเส้นผมลงไปในสมอง จากนั้นก็จะทำการวางชิปปิดทับแทนชิ้นส่วนของกะโหลกที่ถูกเจาะ แล้วจึงปิดชั้นต่างๆ ของหนังศีรษะเป็นการจบขั้นตอน จากการวิจัย การฝังชิปนี้ใช้เวลาเพียงแค่ 1 ชั่วโมงเท่านั้น โดยผู้ที่เข้ารับการฝังไม่ต้องพึ่งยาสลบ และไม่ต้องพักฟื้นร่างกายหลังผ่าตัด

Photo credit: IEEE Spectrum / Fierce Biotech

หลังจากที่ได้ฝัง Neuralink เข้าไปเรียบร้อยแล้ว กลไกของชิปก็จะทำงานได้ทันที ตามที่ได้เกริ่นไปว่าการทำงานของมันนั้นคล้ายกับเซลล์ชนิดหนึ่ง อิเล็กโทรดของตัวชิปจะรับกระแสประสาทจากสมองเข้ามาประมวลผล และส่งกระแสตอบกลับเพื่อกระตุ้นเซลล์ประสาทอื่นๆ รวมถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อมข้อมูลเข้ากับชิป แล้วสมองที่ฝังชิปเอาไว้ก็จะสามารถควบคุมได้ทั้งประสิทธิภาพของร่างกายและอุปกรณ์

https://www.youtube.com/watch?v=rsCul1sp4hQ

แน่นอนว่าทางบริษัทได้มีการทดลอง Neuralink ในหมูและลิงแล้ว ก่อนที่จะนำมาใช้กับมนุษย์ ซึ่งก็ถือว่าประสบความสำเร็จในแง่ที่มันสามารถใช้งานได้ในระดับหนึ่ง จากการฝังชิปในหมู นักวิทยาศาสตร์สามารถอ่านผลการทำงานของระบบประสาทและสมองได้ การวิจัยค้นพบว่าคลื่นสมองหมูนั้นเปลี่ยนไปตามการเคลื่อนไหวของร่างกายและเมื่อได้กลิ่นอะไรสักอย่าง ส่วนลิงที่มี DNA ใกล้เคียงกับมนุษย์ก็สามารถเล่นเกม ‘MindPong’ ผ่านการควบคุมด้วยสมอง โดยไม่ต้องใช้จอยสติ๊กเลยแม้แต่นิดเดียว

ล่าสุด เมื่อต้นปีที่ผ่านมา (มกราคม ค.ศ. 2022) Neuralink ก็ประกาศรับจ้างผู้ที่จะมากำกับการวิจัยในมนุษย์ เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าชิปนี้กำลังจะเข้าสู่การพัฒนา และเข้าใกล้ความสำเร็จไปอีกขั้น จึงทำให้มีผู้ขอเข้าร่วมการทดลองอีกมากมาย ซึ่งยินยอมจะอุทิศร่างกายเพื่อการวิจัยนี้ ด้วยความที่พวกเขาเองก็เป็นผู้ป่วยจากโรคเกี่ยวกับระบบประสาทและสมอง ชิปที่จะเข้ามาเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายจึงเป็นหนึ่งในความหวังโดยเฉพาะกับคนกลุ่มนี้

ข้อดี ข้อเสีย และความเป็นไปได้

Photo credit: iTech Post

บริษัท Neuralink มีจุดมุ่งหมายหนึ่งคือการ “หยุดความทรมานของมนุษย์” จากโรคที่จำกัดการใช้ชีวิตของพวกเขา ด้วยเทคโนโลยีนี้ที่จะกระตุ้นและออกคำสั่งต่อเซลล์ประสาทในร่างกาย มีความเป็นไปได้สูงที่ตัวชิปจะสามารถช่วยเหลือผู้ที่กำลังเผชิญกับโรคร้ายต่างๆ เช่น อัมพาต พาร์กินสัน อัลไซเมอร์ ซึมเศร้า อาการนอนไม่หลับ ฯลฯ ผู้ป่วยติดเตียงจะสามารถช่วยเหลือตัวเองได้โดยที่ไม่ต้องมีคนคอยดูแลตลอดเวลา ข้อจำกัดในชีวิตของผู้พิการจะลดน้อยลง เพราะฉะนั้น Neuralink จะสามารถช่วยชีวิตผู้คนได้อีกมากหากสำเร็จ และยังลดภาระในการดูแลผู้ป่วยอีกด้วย

Photo credit: Jaridatakhbarak

“อีเมลหลายฉบับที่พวกเรา Neuralink ได้รับนั้นชวนให้ใจสลาย (...) บางคนถึงจะอายุ 25 ปีก็ไม่สามารถทานอาหารด้วยตัวเองได้ นั่นคือสิ่งที่พวกเราต้องแก้ไข” – อีลอน มัสก์

อย่างไรก็ตาม ก็ยังคงถกเถียงกันเกี่ยวกับนวัตกรรมนี้ โดยเฉพาะเรื่องของความปลอดภัย ทั้งในขั้นตอนการผ่าตัดและหลังผ่าตัดเสร็จ เนื่องจากทุกการผ่าตัดมีความเสี่ยงถึงภาวะแทรกซ้อนและเสียเลือดมาก หรือหากผ่านขั้นตอนนั้นไปได้ ตัวชิปก็มีโอกาสที่จะเกิดการขัดข้อง อาจทำให้ต้องผ่าออกมาเพื่อซ่อมใหม่ซ้ำๆ ผู้คนยังกังวลอีกด้วยว่าข้อมูลที่เชื่อมเข้ากับสมองอาจถูกขโมยได้ผ่านการแฮ็ก 

นอกจากนี้ Neuralink เองก็นับเป็นหนึ่งในเครื่องใช้ไฟฟ้า ต่อให้มันใช้พลังงานต่ำและสามารถอยู่ได้ทั้งวัน ก็ต้องมีการชาร์จแบตเตอรี่เพื่อให้ใช้งานต่อไปได้ ซึ่งทางบริษัทยังไม่เคยเผยให้เห็นถึงวิธีชาร์จอุปกรณ์นี้อย่างชัดเจน มัสก์เคยกล่าวเอาไว้ว่าจะเป็นการชาร์จแบบไร้สาย โดยเครื่องชาร์จอยู่ในลักษณะของหมวกสำหรับสวมตอนนอน

Photo credit: Stephen Pelzel

ในปัจจุบันก็มีคำถามอีกมากที่ยังคงไม่ได้รับคำตอบจาก Neuralink เนื่องจากเป็นนวัตกรรมใหม่ซึ่งอยู่ในขั้นตอนดำเนินการค้นคว้า มีทั้งโอกาสที่จะสำเร็จและล้มเหลว รวมทั้งไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าเมื่อไหร่จะใช้งานกับมนุษย์ได้จริง ต่อให้มีการคาดเดาว่าอาจทำสำเร็จภายในปลายปีนี้ และมัสก์ก็เอ่ยเองกับปากว่ามันจะปลอดภัย นวัตกรรมนี้ยังต้องมีการพัฒนากันต่อไป เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีช่องโหว่ทางเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ฝังชิป แล้วไหนจะยังมีด่านเรื่องของจริยธรรม ศีลธรรมต่างๆ ที่เป็นการดัดแปลงร่างกายมนุษย์ให้ก้าวข้ามขีดจำกัดไปได้อีกขั้น แต่ถ้าวันใดที่สามารถอุดช่องโหว่ และตอบโจทย์เหล่านี้ไว้ได้ทั้งหมด พวกเราจึงจะขยับไปสู่อีกก้าวหนึ่งของพัฒนาการมนุษย์ยุคใหม่

อ้างอิง

TNN Online

The Tesla Space

Newsthink

Future Unity