Art

รู้จัก ‘Abstract Dot Pattern’ Abstract NFT ที่แรนด้อมจากจุด สี เสียง และโค้ดดิ้ง จาก “ตั้ว ณัฐธพงษ์”

เกือบหนึ่งปีที่ผ่านมา EQ สัมภาษณ์ศิลปิน NFT ไปแล้วหลายคน แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่จะได้คุยกับศิลปินซึ่งสร้างผลงานแนว Abstract Art ผู้เขียนก็รู้สึกตื่นเต้นเล็กน้อย เพราะเป็นคนหนึ่งที่ไม่ค่อยเข้าใจงานศิลป์แบบนี้สักเท่าไหร่ แต่รอบนี้ดันโดนดึงดูดง่ายๆ ด้วยคอลเลคชั่น ‘Abstract Dot Pattern’ ของคุณ ‘ตั้ว - ณัฐธพงษ์ สุนทราธนบูรณ์ เพราะงานของเขาไม่ได้วาดมืออย่างคนอื่น แต่วาดจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สร้างสรรค์จุดนับแสนให้เป็นภาพที่ไม่ซ้ำใคร ซึ่งมันน่าสนใจจนเราอยากแบ่งปันบทสนทนาในครั้งนี้กับทุกคนเลยล่ะ

รู้จัก ‘ตั้ว ณัฐธพงษ์’

ก่อนที่จะไปพูดถึงผลงาน เราอยากให้คุณแนะนำตัวสักนิดว่าเป็นใคร และก้าวเข้าสู่วงการ NFT ได้อย่างไร?

“ในอดีตผมเป็นนายธนาคาร แต่ตอนนี้ลาออกมาทำงานส่วนตัวที่บ้านครับ คือเมื่อก่อนไม่ได้ทำงานเกี่ยวกับศิลปะเลย แต่เป็นคนที่เทรดคริปโตอยู่ เลยได้ศึกษา NFT ด้วยครับ และเข้าใจว่ามันเป็น Non-Fungible Token ที่จะเป็นอะไรก็ได้บนบล็อกเชน แต่คนส่วนใหญ่ทำงานศิลปะ วาดรูปกัน นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้สนใจทางด้านนี้ โดยเริ่มแรกเป็นนักลงทุนก่อน แล้วค่อยมาเป็นศิลปิน”

อะไรที่ทำให้ตัดสินใจทำ Abstract Art ในโลก NFT

“ผมมองว่าภาพ Abstract มันให้อิสระแก่คนมอง เพราะมันไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นรูปใดรูปหนึ่ง แต่ขึ้นอยู่กับการตีความของคนมองงาน”

กังวลไหมว่าคนจะไม่เข้าใจหรือขายไม่ได้?

“ไม่กังวลครับ เพราะคอลเลคชั่น Abstract Dot Pattern มันเป็นทั้งภาพ Abstract และ Generative Art ที่เกิดจากการเขียนโปรแกรมออกมาแทนการวาดมือ จุดประสงค์หลักคือต้องการทำให้งานลักษณะนี้เป็นที่รู้จักมากขึ้นในกลุ่มคนไทย เลือกลงงานในตลาดที่มีคนไทยอยู่เยอะอย่าง Paras เลยมองว่าเราอาจต้องเป็นผู้เริ่มต้น จะขายได้หรือไม่ได้ก็ไม่กังวล”

ทำไมต้องเป็น Generative Art แทนการวาดมือ?

“ผมเรียนจบจบวิศวะฯ คอมพิวเตอร์มา ก็เลยพอเขียนโปรแกรมเป็น และได้ไปศึกษา Generative Art เพิ่มเติมมาจากต่างประเทศด้วย ผมคิดว่าเสน่ห์ของมันคือการ ‘แรนด้อม’ เราไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้เลยว่าโปรแกรมจะสร้างรูปออกมาแบบไหน ทำให้ภาพที่ได้มีความ Abstract ที่แตกต่างจากการวาดรูปทั่วๆ ไป”

‘Abstract Dot Pattern’ ความลงตัวของ Abstract-Generative Art

“ผมตั้งใจให้งานของตัวเองเป็นภาพ Abstract ที่เกิดจาก Generative Art ผมเลยเริ่มจากการสร้างงานจาก ‘จุด’ ซึ่งเป็นสิ่งเริ่มต้นของการวาดรูปทุกอย่าง พอดีกับที่ตอนนั้นได้ยินเสียงคนคุยกัน (noise) เลยปิ๊งไอเดียขึ้นมาว่าจะเอาสิ่งนี้มาเป็น Input เข้าไปในโปรแกรม เพื่อให้ตัวจุดแสนกว่าจุดมันกระจายตามความถี่และความดังของเสียง ซึ่งตอนเขียนโค้ดก็จะแรนด้อมขนาดจุด สี และเสียง จนออกมาเป็นรูปภาพ โดยที่เราไม่ได้ไปทำอะไรเพิ่มเติม”

“รูปนี้ถ้ามองแบบปกติ มันจะเหมือนเป็นสีเทา พื้นดำ แต่ถ้าซูมไปใกล้ๆ จะเห็นว่ามันมีหลายสี อันนี้คือเสน่ห์ที่เกิดจากการ Input เสียงเข้าไป และเพิ่มลูกเล่น พลิกหมุนมันนิดหน่อย”

“หรืออย่างรูปนี้ จุดมันจะกระจายเป็น Area ซึ่งต่างจากรูปแรกสุดที่เป็นกลุ่มก้อน เพราะผมแรนด้อมเสียงใส่ไปในทุกจุดของตารางที่พล็อตไว้ แล้วมันออกมาเป็นรูปแพทเทิร์นได้แบบบังเอิญ (หัวเราะ) 

“นักสะสมที่เลือกเก็บงานของผมบอกว่า มันเป็น Abstract ที่ดูไม่ค่อยมีอะไร แต่น่าค้นหา มันเรียบง่ายแต่ดูดี”

ปัจจุบันและอนาคตของ Abstract Dot Pattern กับตั้ว ณัฐธพงษ์

“ตอนนี้ลงงานมาได้ 333 ชิ้นแล้วครับ ก็เน้นโปรโมตอยู่ และมีทำคอลเลคชั่นเสริมให้กับนักสะสมที่ถืองานคอลเลคชั่นนี้ด้วย ชื่อว่า ‘ADP Metahomes’ คือจะใช้งานจาก Abstract Dot Pattern เป็นตัว Input และไป Process ต่อด้วย AI ให้ออกมาเป็นบ้าน”

“ส่วนเร็วๆ นี้ ก็มีลงงานบน Opensea ด้วยครับ แต่เปลี่ยนจากจุดแสนกว่าจุดไปเป็นสี่เหลี่ยม 10 ล้านชิ้นแทน เพราะบนนั้นลงไฟล์งานได้ใหญ่กว่า”

ตอนนี้ Abstract-Generative Art ในไทยเป็นอย่างไร

“ในไทยมีงานลักษณะนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แล้วครับ แต่ถ้าเป็นภาพ Abstract ส่วนใหญ่ก็ยังวาดมือกันอยู่ ยังไม่ค่อยมีใครทำแบบ Generative Art สักเท่าไหร่”

เมื่อเปลี่ยนบทบาทจากนักลงทุนมาเป็นศิลปิน

“ผมไม่ได้รู้สึกว่ามีอะไรยาก เพราะจุดประสงค์ไม่ได้ทำเพื่อเน้นขายอย่างเดียว แค่อยากให้คนรู้จักงานแนวนี้เพิ่มมากขึ้น มีคนมาเห็นก็พอใจแล้ว มันเลยเหมือนทำตามที่เราต้องการ ทำตามที่ชอบ แล้วงานมันจะ Drive ไปด้วยตัวมันเอง แต่ถ้าพูดถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้มากขึ้น ก็คงเป็นประเภทของงานศิลปะ ที่ได้เห็นว่ามันมีหลากหลายกว่าตอนเป็นนักลงทุน”

ส่วนตัวมองว่า NFT เป็นศิลปะหรือการลงทุน?

“เรื่องแบบนี้มันแล้วแต่คนจะมองครับ ถ้ามองในแง่ของการลงทุน ก็ต้องมองไปถึงสิ่งที่ผูกอยู่กับตัว NFT เช่น คอมมูนิตี้หรือผลประโยชน์ แต่สำหรับงานของผม ผมมองว่ามันเป็นศิลปะที่มีให้คนที่ชอบมาซื้อเก็บไว้มากกว่า เพราะต้องอาศัยการตีความและความชื่นชอบส่วนตัว ไม่ได้เน้นเอาไปลงทุนเพื่อเก็งกำไร”

มุมมองต่อตลาด NFT ในช่วงที่ใครๆ ก็เรียกมันว่าขาลง

ในฐานะที่เป็นนักลงทุนและศิลปินด้วย มองว่าตอนนี้เป็นช่วงขาลงของ NFT จริงไหม อย่างไรบ้าง?

“ผมมองแยกเป็น 2 ส่วนนะ ถ้าในแง่ของการลงทุน ตอนนี้มูลค่าคริปโตมันร่วง ก็ไม่แปลกที่คนอาจจะไม่กล้าเข้ามาลงทุนใน NFT จนดูเหมือนเป็นขาลง แต่ถ้าในแง่ของคนที่ชอบศิลปะ ยังไงเขาก็ยังอยู่ มันไม่ได้ลดลงหรอก ซึ่งถ้า NFT จะเติบโตได้ ต้องไปหาคนกลุ่มนี้เข้ามาเยอะๆ ครับ”

ฝากถึงศิลปินที่อยากลองทำอะไรใหม่ๆ ในโลก NFT

“เข้ามาเถอะ ทำเพื่อความสนุก ทำแบบที่เราชอบ อย่าเพิ่งไปคาดหวังว่ามันจะขายได้หรือไม่ได้ ให้ทำไปเรื่อยๆ พอมันมีคนที่เห็นและชอบเหมือนเรา งานมันก็จะขายได้เอง”

ติดตามผลงานของ Abstract Dot Pattern ได้ที่

Paras: Abstract Dot Pattern / ADP Metahomes