Art

Ramshero จาก Dev ผู้ชื่นชอบงานศิลป์ สู่ผู้สร้าง NFT ด้วย AI ที่เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี

เมื่อเทคโนโลยีถูกพัฒนาให้ก้าวหน้าขึ้นมากๆ หลากหลายวงการก็เริ่มมีความกังวลเกี่ยวกับ AI เพราะนับวันจะยิ่งฉลาดขึ้น ไม่เว้นแม้แต่ในวงการ NFT เอง ประเด็นการใช้ AI แทนการวาดภาพในการสร้างผลงานสักหนึ่งชิ้น ได้กลายเป็นที่ถกเถียงกันพอสมควร หลังจากที่มี AI สำเร็จรูปเกิดขึ้น ซึ่งใช้ง่าย ทำให้สร้างผลงานได้เพียงไม่กี่คลิก 

บ้างก็ว่ามันด้อยคุณค่าผลงานศิลปะ เพราะไม่ได้มาจากความสามารถของศิลปิน บ้างก็ว่ามันกำลังจะมาแย่งงานของศิลปินไป แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีคนอีกกลุ่มที่มองว่ามันไม่ใช่เรื่องผิดอะไรที่จะนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่นี้มาใช้ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเจ้าของแอ็กเคานต์ ‘Ramshero’ หรือ ‘แรม - รุ่งโรจน์ รัตนบุรี’ ศิลปิน NFT ที่ใช้ AI ช่วยสร้างผลงานมาแล้วมากมาย และได้รับผลตอบรับที่ดีจากนักสะสมมาอย่างต่อเนื่อง

รูปภาพที่ดูลึกลับและมีสีสันแปลกตาเหล่านี้ ล้วนสร้างขึ้นมาจาก AI ฝีมือคุณแรมทั้งสิ้น ทั้งนี้มันอาจไม่ได้สร้างง่ายๆ เหมือนที่หลายคนเข้าใจ เพราะขั้นตอนการทำค่อนข้างซับซ้อน

“มันเป็นการสร้างขึ้นด้วย AI แล้วนำมาเข้าขั้นตอนต่างๆ ซึ่งจะซับซ้อนกว่าปกติที่อาจแค่ก๊อปปี้คีย์เวิร์ดใส่ลงไปใน AI เพราะผมจะมีการปรับน้ำหนักของคีย์เวิร์ดเพื่อให้มีความสำคัญต่างกันด้วย เหมือนการเขียนโปรแกรมเลยครับ แล้วก็มีเรื่องการแตกกิ่งก้านสาขาของสิ่งที่เราสร้างมาให้แยกย่อยลงไปหลายชั้น และสุดท้ายจะเอามาปรับแต่งด้วยโปรแกรมแต่งภาพอีกที” คุณแรมอธิบายขั้นตอนการสร้างงานที่ลงขายบนแพลตฟอร์ม objkt ให้เราฟังพอสังเขป

ก่อนที่จะเล่าถึงคอนเซปต์ของผลงานว่า สตอรี่ของงานบนแพลตฟอร์มนี้จะเกี่ยวกับเครื่องดื่มสมุนไพรอะยาวัสกา (Ayahuasca) ของชนพื้นเมืองแถบแอมะซอน (แต่ตัวเขาได้นิยามว่ามันเป็นเห็ด เพื่อให้นักสะสมเข้าใจได้ง่ายขึ้น) ซึ่งได้ฟังมาจากเพื่อนคนหนึ่งที่เคยเจอว่า คนที่ได้ดื่มเครื่องดื่มนี้ จะเห็นแสงสีที่มีความโอเวอร์สักหน่อย สีของผลงานก็เลยจะค่อนข้างจัดแบบที่เห็น แล้วก็จะดูเป็นอะไรที่เหนือจินตนาการ”

จุดที่ทำให้แรมกลายเป็นศิลปินที่สร้าง NFT ด้วย AI

“ผมเป็น CEO บริษัทที่ทำเกี่ยวกับ Interactive Software ด้วยความที่ทำงานเกี่ยวกับเทคโนโลยีอยู่แล้ว ก็เลยต้องเรียนรู้ของใหม่ๆ ตลอดเวลา ผมก็เหมือนมาเรียนรู้ ทดลองใช้ AI สร้าง NFT เพื่อกลับไปถ่ายทอดให้กับทีมงานอีกที แต่พอดีว่างานดันกลายเป็นที่สนใจ”

“ส่วนตัวผมสนใจงานศิลปะมาตั้งแต่เด็กแล้วนะ ผมสนุกกับการเรียนรู้งานศิลปะด้วยตัวเอง แต่ตอนสมัยเรียน ผมต้องเลือกเทคโนโลยีก่อน เพราะคิดว่าตัวเองไม่เก่งพอที่จะเอาศิลปะมาเลี้ยงชีวิต พอตอนนี้ได้มีโอกาสมาทำงาน NFT ก็เลยเอาความชอบด้านศิลปะมาผสมผสานกับทักษะด้านโปรแกรมเมอร์”

ระยะเวลาที่เริ่มต้นทำงานลักษณะนี้

“จริงๆ ผมเริ่มทำ NFT มาประมาณปีกว่าแล้ว แต่เมื่อก่อนจะเป็นการสร้างงานกราฟิกด้วยการเขียนโปรแกรมครับ คือการออกแบบอัลกอริทึมที่สร้างกราฟิกและอนิเมชั่นที่ประกอบขึ้นจากสี่เหลี่ยมกับวงกลม จำนวนเป็นหมื่นเป็นล้านชิ้น ออกแนวเป็น abstract ก่อนที่จะพัฒนามาทำผลงานล่าสุด”

ผลตอบรับที่น่าพึงพอใจ

“ถือว่าผลตอบรับดีนะครับ ก็ขายหมดทุกวัน มีแค่บางช่วงที่เว้นไว้ไม่ได้ลงขาย เพื่อให้คนเขาได้เทรดทำกำไรกัน เพราะกับงานทุกชิ้น ผมจะโฟกัสที่การพยายามทำให้นักสะสมชอบ โดยขายอยู่ที่ประมาณ 1 Tezos (XTZ) เพื่อให้คนซื้อง่าย และสามารถนำไปทำกำไรต่อได้”

การใช้ AI สร้างผลงานไม่ง่ายอย่างที่คิด

“ผมจะมีโจทย์มาครอบไว้ในการสร้างงานแต่ละครั้ง มันก็เลยจะยากกว่าการที่ใส่คีย์เวิร์ดแล้วออกมาสวยก็จบ ซึ่งในแต่ละวันจะวางโจทย์ไว้ก่อนว่าจะทำอะไร แล้วทำให้บรรลุในสิ่งที่เราต้องการให้ได้ มันเลยยากครับ เพราะถ้าเขียนคีย์เวิร์ดไว้ไม่รัดกุมพอ ก็จะเสียเวลากับมันเยอะมาก บางครั้งผมใช้เวลาเกือบทั้งวันในการวิเคราะห์ว่าต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมันยังไงต่อ เพื่อให้ตรงกับโจทย์ที่เราต้องการ”

“แต่ AI ก็ช่วยเพิ่มความสะดวกได้ เพราะเราไม่ต้องวาดเอง แต่จริงๆ ถ้าวาดเองอาจจะเร็วกว่าก็ได้ (หัวเราะ) นอกจากนี้ก็ช่วยลดเวลาในบางขั้นตอนได้ครับ อย่างงานที่ผมขายเมื่อปีที่แล้ว ผมใช้เวลากับการเขียนโปรแกรมพอสมควรเลย แต่ใช้เวลาสร้างงานแค่ไม่กี่วินาที ซึ่งมันต่างกันมากเลยกับการที่บางคนบอกว่าการใช้ AI มันง่าย”

มุมมองต่อความเห็นต่าง และสาเหตุที่ยังทำ NFT ต่อไป

แม้ว่างานของคุณแรมจะขายดี มีนักสะสมและศิลปินด้วยกันชื่นชอบจำนวนมาก แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความเห็นต่างในการใช้ AI สร้างงานก็ยังคงมีอยู่ คุณแรมมีมุมมองต่อเรื่องนี้อย่างไร?

“ความเห็นต่างที่เป็นประเด็นดราม่าในช่วงนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่ผมไปโพสต์ว่าขายงานได้ คงเพราะหลายคนไม่เข้าใจงานแบบนี้ เช่น อาจคิดว่ามันง่ายเกินไป มันดูไม่เหมือนงานศิลปะ แต่ผมว่าทุกอย่างคือศิลปะ และมันไม่น่าจะส่งผลเสียกับใคร สำหรับคนที่คอมเมนต์เชิงลบ ผมก็เข้าใจได้ เพราะอาจจะเคยเจอคนที่ใช้ AI แล้วบอกว่าวาดเอง แต่งานของผมมองว่าด้วยเงื่อนไขทั้งหมด ผมไม่ได้ทำอะไรผิด เพราะไม่ได้ไปหลอกลวงใครว่าเราวาดรูปเอง ทุกครั้งที่มีคนถาม ก็จะอธิบายให้ฟังทั้งหมด”

ดราม่าเรื่อง AI ในกลุ่มนักสะสม

“พอมีดราม่า ผมก็ลังเลนะว่าคนซื้อเขาได้อ่านคำอธิบายไหมว่ามันมาจาก AI ผมเลยติดต่อคนซื้อบางคนไป ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ ปรากฏว่าเขาไม่ได้มีปัญหาเลย เขาบอกว่ารู้ถึงความเป็นมาของงาน แต่ชอบ ก็เลยซื้อ”

ภาพอนาคต AI ที่จะเข้าสู่ตลาด NFT

“AI อยู่กับเรามานานแล้วนะครับ เป็น 10 กว่าปีแล้ว ใน Photoshop เองก็ใส่ AI มานานมากแล้ว นั่นแปลว่าในอนาคต AI จะเข้ามาในตลาด NFT อยู่แล้ว มันก็เหมือนในอดีตที่เราเถียงกันเรื่อง Physical Art กับ Digital Art นั่นแหละครับ คือจุดเปลี่ยนของนวัตกรรม แต่คิดว่าไม่ได้มีผลสั่นคลอนต่อตลาด เพราะ NFT อยู่ที่วิธีการขายมากกว่า ต่อให้ใช้ AI ถ้าไม่มีแผนการตลาดที่ดีพอ ไม่สามารถทำให้ผู้ซื้อเห็นงานของตัวเองได้ ก็อาจจะขายไม่ออก”

“มันเป็นเรื่องที่ศึกษาได้ครับ ทุกวันนี้อินเทอร์เน็ตทำให้เราเข้าถึงการเรียนรู้ได้ง่าย เครื่องมือสำเร็จรูปก็มี แต่อยากให้รู้เรื่องความถูกต้องกับเงื่อนไขของแพลตฟอร์มต่างๆ ที่จะเข้าไปใช้ด้วยว่า ถ้าเอามาขายในเชิงพาณิชย์ได้หรือเปล่า ทำอะไรได้หรือไม่ได้ จะได้ไม่มีประเด็นดราม่าตามมา”

ติดตาม NFT ของ Ramshero ได้ที่

objkt: ramshero

Twitter: ramshero NFT