Art

การสะท้อนความเป็นมนุษย์ผ่านผลงาน ความเชื่อมั่นในโลก NFT และก้าวต่อไปของ ‘Dojo Namwong’

"ร่างกาย + วิญญาณ = มนุษย์" แนวคิดง่ายๆ ที่ทำให้หลายคนได้เห็นงานสุดหลอนปนเท่ ปนกับเสน่ห์แปลกๆ ในแบบของ Dojo Namwong บนแพลตฟอร์ม Foundation ความมีเสน่ห์แบบแปลกๆ ที่ว่านั้น เป็นความหมายเชิงบวกที่ผู้เขียนนิยามให้กับผลงานของเขา เพราะทั้งหมดเกิดจากการผสมผสานระหว่าง Pop Surrealism และ Psychedelic Art จนกลายเป็นความแปลกใหม่ที่ไม่ค่อยได้เห็นในตลาด NFT ไทย

บอกเล่าถึงคอนเซ็ปต์งาน

“งานจะบอกเล่าถึงความเป็นมนุษย์ มีกายเนื้อหรือส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น ตา หู ที่จะเป็นรูปกึ่ง realistic และมีส่วนประกอบ doodle เป็นตัวแทนของอารมณ์ จิตวิญญาณ ซึ่งสไตล์งานได้แรงบันดาลใจมาจาก 2 ศิลปิน คือ ‘ซัลวาดอร์ ดาลี’ (Salvador Dalí) และ ‘คีธ แฮริ่ง’ (Keith Haring) เขาทำให้เรารู้สึกว่าการเอา Pop Surrealism กับ Psychedelic Art มารวมกันเป็นสิ่งที่น่าสนใจ เราเลยใช้คอนเซ็ปต์นี้มาเล่าเรื่องต่างๆ ในชีวิต”

งานอดิเรกและการสะท้อนอารมณ์ที่ประกอบเป็นงานศิลป์

เห็นสไตล์งานที่ ‘เฉียบ’ แบบนี้ หลายคนอาจคิดว่าในอดีต เขาคงเป็นศิลปินที่สร้างสรรค์งานนี้เป็นหลักอยู่แล้ว แต่จริงๆ นี่เป็นเพียงงานอดิเรกของเขาเท่านั้น ทุกอย่างเกิดขึ้นจากการสะท้อนอารมณ์ของตัวเอง ออกมาเป็นไดอารี่ภาพวาด

“เมื่อก่อนงานหลักของเราคือทำพร็อพ ทำป๊อบอัพ อยู่ที่สวนสนุกของ Warner Bros. ซึ่งต้องทำงานตามมาตรฐานที่โหดมากๆ มันได้เงินดีจริงนะ แต่ก็รู้สึกเหนื่อยมาก เราอยากมีช่วงเวลาที่ได้วาดรูปเล่นบ้าง พอเลิกงานก็เลยลองดู วาดรูปไว้เยอะมาก เหมือนเป็นไดอารี่ภาพวาดที่เก็บเรื่องราวและพูดคุยกับตัวเองว่าไหวไหม เหนื่อยหรือเปล่า ตอนนั้นเราไม่รู้หรอกว่ามันเรียกว่าอะไร แค่วาด doodle ไปก่อน และเอารูปทรงต่างๆ เอาสีฉูดฉาดมาใส่ แต่วันหนึ่งก็ไปค้นเจอว่ามันคือ Pop Surrealism กับ Psychedelic Art ที่มีมานานแล้ว ต่างชาติก็ทำกันเยอะ แค่ไม่ค่อยได้เห็นในไทย”

และเมื่อมีเหตุให้ต้องต้องปรับเปลี่ยนงานประจำ เขาจึงได้โอกาสนำสไตล์ที่ค้นพบตอนทำงานอดิเรก มาปรุงแต่งจนเป็นชิ้นงาน NFT ที่ไม่เหมือนใครในตลาดประเทศไทย และยึดถือเป็นอาชีพหลักมาจนถึงปัจจุบัน

พางานสุดยูนีคเข้าสู่ตลาดคริปโตอาร์ต

Dojo เล่าย้อนถึง 2 ปีที่แล้วที่เพิ่งเข้าสู่วงการคริปโตอาร์ตว่า เขาเองก็ไม่คิดว่างานจะขายได้ แค่ทำไปเพราะแพชชั่น

“จริงๆ ไม่ได้คิดเลยว่าจะขายได้ ทำไปด้วยแพชชั่น ตอนนั้นคิดว่าถ้าไม่ใช่ NFT ก็คงไม่มีที่ไหนที่จะสามารถเอางานแบบนี้ไปลงได้ มันเป็นตลาดเดียวที่เปิดกว้างที่สุด เพราะงานเรามีความเป็น Fine Art ไม่ใช่งานที่ใช้ง่าย จำได้ว่ากว่างานเราจะขายได้ก็สัก 1-2 เดือนไปแล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มมีแต่งานซ้ำๆ กัน และ collectors อยากได้ความแปลกใหม่ พอขายได้ชิ้นหนึ่งก็ยาวเลยครับ เลยตัดสินใจลาออกจากงานประจำมาทำ NFT เต็มตัว”

เทคนิคการสร้างชิ้นงาน

“วาดไปตามอารมณ์ครับ เวลาคิดอะไรได้ก็จะสเก็ตช์เก็บสะสมไว้ก่อน และดูว่าเทรนด์อะไรกำลังมา แล้วถึงจะเอาสต๊อกที่เก็บไว้มาจับคู่กัน”

NFT ที่ไม่ต้องเข้าใจ แค่ใช้ความรู้สึก

สำหรับบางคน เมื่อความเซอร์เรียลมาเจอกับความหลอนแบบ Psychedelic ก็จะกลายเป็นความเข้าใจยาก ปนน่ากลัวเล็กๆ ในฐานะศิลปินที่วาดงานสไตล์นี้ มีความคิดเห็นอย่างไร

(ผลงานชิ้นที่ขายได้ในราคาร่วม 400,000 บาท)

“นั่นแหละคือเสน่ห์ของมัน ที่จะมีความนัวๆ หน่อย หลายคนจะรู้สึกว่ามันน่ากลัว หรืออาจจะมองว่าดูสวยดี มันเป็นงานที่ไม่ต้องใช้ความเข้าใจเท่าไหร่หรอกครับ แค่มองแล้วรู้สึก เป็นเรื่องของอารมณ์ อย่างรูปนี้พูดถึง Web 3.0 ก็จะมีร่างกายและไอคอนที่เกี่ยวข้องกับยุคนั้นเป็นองค์ประกอบ เหมือนนั่งเหม่ออยู่ แล้วก็มีของในหัวออกมา คนที่มีอารมณ์ร่วมกับงานก็ซื้อไปในราคา 400,000 กว่าบาท”

ปรับเปลี่ยนและเติบโตไปพร้อมกับงาน

แม้ Dojo จะยอมรับว่างานของตัวเองมีความเฉพาะตัว และอาศัยความรู้สึกมากกว่าความเข้าใจ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะทำงานแบบเดิมโดยไม่แคร์ใครเสียทีเดียว

“ลูกค้าส่วนใหญ่ของเราเป็นชาวต่างชาติ มีคนไทยแค่ประมาณ 5% แต่ว่าเราก็พยายามทำตามฟีดแบ็คนะ ทำงานออกมาเป็นซีรีส์ อย่างซีรีส์ 2021 อาจดูเข้าใจยาก แต่พอเป็นซีรีส์ 2022 ก็จะทำให้มันซอฟต์ลง ลดความ Psychedelic ลง เป็นงานที่สื่อสารกับคนดูมากขึ้น ทำให้แมสมากขึ้น ทุกคนดูแล้วสามารถเข้าใจได้เลย ส่วน 2023 ก็จะแมสขึ้นอีก มันเหมือนเป็นการเติบโตของงาน ที่แรกๆ เราต้องใส่อะไรที่อยากใส่ไปก่อน พอคนที่ติดตามเริ่มเข้าใจงานเราแล้วก็ค่อยลดบางส่วนลง”

“การปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ สำคัญกับการทำ NFT โดยเฉพาะกับยุคนี้ที่คนซื้อเริ่มมีปัญหาด้านการเงิน ถ้าเราทำงานแบบเดิม ก็อาจจะขายได้เฉพาะกลุ่ม แต่ถ้าเริ่มทำงานแบบ commercial ก็จะเข้าถึงคนได้เยอะขึ้น”

อีกก้าวของ Dojo Namwong ที่พร้อมสนับสนุน NFT

เมื่อคลุกคลีมานานจนเข้าใจและสนุกกับความท้าทายในโลก NFT เขาจึงไม่หยุดอยู่แค่กับการเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงาน แต่ยังมีบทบาทในการเป็น collector และ publisher ที่เชิญศิลปิน NFT ไปแสดงงานนิทรรศการตามแกลเลอรี่ต่างๆ

“เราเข้าวงการมาตั้งแต่เนิ่นๆ แล้ว ก็เลยมีโอกาสได้รู้จักกับคนเก่งๆ ทั้งโปรดิวเซอร์ นักดนตรี ช่างภาพ มันเลยเป็นเป้าหมายที่อยากจะรวบรวมศิลปินเก่งๆ มาจัดแสดงใน ‘Nifty Gateway’ แกลเลอรี่ออนไลน์อันดับ 1 ของโลก และเปิดให้ collectors ของหลากหลายศิลปินมาเจอกัน เพื่อสร้างขึ้นเป็นคอมมูนิตี้คนไทย”

แชร์มุมมองต่อโลก NFT หลังจากนี้

“ช่วงนี้เป็นขาลง รายได้น้อยกว่าเดิมเกินครึ่ง แต่ก็ยังอยู่ได้นะ อยากให้มองว่ามันเป็นเรื่องของเวลาครับ เทียบกับเฟซบุ๊กก็ได้ กว่าจะเป็นที่นิยมก็เคยผ่านช่วงที่คนไม่ใช้มาก่อน NFT ก็เหมือนกัน มันเพิ่งบูมได้แค่ 2 ปีกว่า ยังไปได้อีกเยอะ”

“ยกตัวอย่างโปรเจกต์ ‘THE BIG DREAM’ ที่เราเป็นศิลปินไทยคนเดียวที่ได้ไปร่วม เป็นการนำเอาความฝันของคนทั่วโลกมาทำ NFT แล้วไปจัดแสดงในหลายสถานที่ทั่วโลก รวมถึงนอกโลกอย่างบนอวกาศด้วย คือส่งไปให้นักบินอวกาศของ SpaceX เปิดดู เป็นงานที่น่าสนใจมาก ซึ่งอะไรแบบนี้ทำให้เห็นว่าการใช้ NFT มีมิติที่หลากหลายกว่าการสร้างกำไรหรือการทำมาหากินที่เห็นในบ้านเรา ก็ต้องใช้เวลาสักพักครับ กว่าที่หลายๆ คนจะรู้ว่า NFT ทำอะไรได้บ้าง”

อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาพตลาดช่วงนี้ บวกกับความพิเศษของ Nifty Gateway ‘Dojo’ ได้ทิ้งท้ายกับเราไว้ว่า งานบน Foundation นั้นจะเบรกไว้ก่อน และมีเปอร์เซ็นต์สูงที่จะปิดในเร็วๆ นี้ เพราะอยากทำให้ผลงานมีความเป็น Limited Edition สามารถหาซื้อได้แบบ 2nd Sale ซึ่งชิ้นสุดท้ายที่ลงไป ตั้งราคาขายไว้ที่ประมาณ 100,000 บาท

ถ้าไม่อยากพลาดในการโอกาสเป็นเจ้าของผลงานเท่ๆ แบบนี้ หรือต้องการติดตามผลงานอื่นของ Dojo สามารถเข้าไปได้ที่ dojo namwong