Daily Pickup

ชวนคุยเรื่อง ‘Pet Influencer’ เทรนด์การตลาดมาแรง ที่อาจแฝงด้วยการใช้แรงงานสัตว์

ทุกวันนี้ Pet Influencer เป็นเทรนด์ที่มาแรงในไทยเอามากๆ เชื่อเลยว่า ถึงบางคนจะไม่ได้เลี้ยงสัตว์ แต่ก็คงจะรู้จักเหล่าสัตว์เลี้ยงชื่อดังอยู่บ้าง อย่าง จุ๊มเหม่ง (Japan and friends), กลูต้า กอลลั่ม (Gluta Story), แค (คิ้วคือมงกุฎของแค), ก๋วยเจ๋ง ก๋วยเตี๋ยว และแก๊งจั๊บ (พี่เจ๋งน้องเตี๋ยวไม่ตีกันสิลูกกก), เสือโคร่ง (Kingdom Of Tigers: ทูนหัวของบ่าว), ขนทอง (ขนทองแมวเอ๋อ) และอื่นๆ อีกมากมาย

Photo Credit: @japanandfriends / @gluta.story / @iam.calorie / @jengtieow / @kingdomoftigers / @KhonthongNotACat

การเติบโตของ Pet Influencer ในไทย

ถ้าถามว่า Pet Influencer คืออะไร ก็อธิบายง่ายๆ ได้ว่า คือ อินฟลูเอนเซอร์ หรือผู้ทรงอิทธิพลทางความคิด ที่เป็นสัตว์เลี้ยงนั่นเอง เพราะน้องๆ เหล่านี้ นอกจากจะสร้างคอนเทนต์ที่มีสีสัน และมอบรอยยิ้มให้กับผู้คนแล้ว อีกพาร์ทหนึ่งก็มีการรับงานโฆษณา และโชว์ตัวออกอีเวนต์ ไม่ต่างจากอินฟลูที่เป็นมนุษย์ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่อจำนวนผู้ติตตามเพจมากขึ้น สปอนเซอร์โฆษณาก็จะเข้าหาเป็นธรรมดา

Pet Influencer ได้กลายเป็นอาชีพที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในบ้านเรา ทั้งในแง่ของปริมาณ และมูลค่าทางการตลาด เห็นได้จากการที่คนจำนวนไม่น้อยหันมาเลี้ยงสัตว์กันมากขึ้นตั้งแต่ช่วงโควิด และส่วนใหญ่มักจะเลี้ยงสัตว์เป็นลูก (Pet Parent) อ้างอิงงานวิจัยของ CMMU ที่บอกว่า คนไทยกว่า 49% เลี้ยงสัตว์เป็นลูก และเปย์ค่าดูแลเฉลี่ยตัวละ 1-2 หมื่นบาท/ปี รวมถึงการรับโฆษณาของสัตว์เลี้ยงชื่อดัง ที่ไม่ได้หยุดอยู่แค่สินค้า หรือบริการเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงอีกต่อไปแล้ว แต่ได้พัฒนาไปถึงการรับโฆษณาสินค้าที่เกี่ยวกับมนุษย์ด้วย ทั้งอาหาร, เสื้อผ้า, เครื่องสำอาง หรือแม้แต่ที่อยู่อาศัย เสมือนเป็นดาราท่านหนึ่งเลยทีเดียว 

Photo Credit: @japanandfriends

Pet Influencer กับมุมมองเรื่องการใช้แรงงานสัตว์เกินพอดี  

อย่างไรก็ตาม แม้น้องๆ จะรับงานได้เหมือนมนุษย์ แต่ลักษณะนิสัยตามธรรมชาติของสัตว์นั้น ไม่ได้เหมือนมนุษย์ไปเสียหมด เช่น ไม่สามารถบอกความรู้สึกนึกคิดของตัวเองได้อย่างชัดเจนว่า มีความสุข, ชอบ, เหนื่อย, ไม่ชอบ หรือไม่สะดวกใจ พวกมันไม่สามารถตัดสินใจเรื่องการรับงานได้ด้วยตัวเอง ต้องพึ่งพาคนเลี้ยง เป็นต้น

จึงทำให้ในอีกแง่มุมหนึ่งของ Pet Influencer มักจะมาพร้อมกระแสดราม่าอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะผู้ติดตามบางคน มองว่าบางงานที่รับ หรือบางการกระทำของผู้เลี้ยง ดูเป็นการบังคับสัตว์เลี้ยงเหล่านั้นให้ต้องทำงาน หรือสร้างคอนเทนต์มากเกินไป เพื่อแลกมาซึ่งรายได้ และชื่อเสียงที่จะตามมาในอนาคต จนมองข้ามความรู้สึกของสัตว์เลี้ยง 

Photo Credit: pantip

ยกตัวอย่าง กรณีเมื่อเกือบสิบปีที่แล้ว กับเพจทูนหัวของบ่าวที่โดนทัวร์ลงเรื่องการเอาชีต้าร์ ลูกแมวแรกคลอดไปออกงาน และการถ่ายคอนเทนต์ตอนแมวใกล้คลอด จนแมวเครียด หรืออย่างน้องแค ที่มีคอนเทนต์แต่งตัว แต่งหน้า และโฆษณาออกมาให้ชมกันอยู่บ่อยๆ ซึ่งหลายคนชื่นชอบมาก เพราะมองแล้วยิ้มได้ แต่ก็มีบางคนคอมเมนต์ที่คิดว่า นั่นคือ การทรมานน้อง 

เรื่องนี้ผู้เขียนขอวิเคราะห์ในด้านผู้ติดตามที่ไม่เห็นด้วยก่อนว่า ทำไมถึงมีกระแสดราม่าแบบนี้ออกมา 

  1. เป็นไปได้ว่า ผู้ที่ไม่เห็นด้วยอาจจะเคยมีประสบการณ์การเลี้ยงสัตว์มาก่อน ทำให้มองออกว่า การกระทำแบบไหนที่น่าจะฝืนธรรมชาติของสัตว์มากเกินไป จนทำให้สัตว์ไม่มีความสุข ซึ่งถ้าถามว่า อะไรคือมาตรฐาน หรือตัวชี้วัดที่ทำให้พวกเขามองแบบนั้น ก็คงหนีไม่พ้น 2 เรื่องนี้
  • อ้างอิงตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) ที่เป็นข้อกำหนดสากล ในการเลี้ยง และดูสัตว์ให้มีความสุข ในเรื่องอิสระจากความกลัว และไม่พึงพอใจ (Freedom from fear and distress) ที่ต้องทำให้สัตว์ไม่เกิดความรู้สึกกลัว หรือเครียด เพราะจะทำให้รู้สึกไม่สบายตัว ไม่สบายใจ ส่งผลต่อสุขภาพ และความเป็นอยู่ของสัตว์ รวมถึงอิสระในการแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ (Freedom to express normal behaviour) ที่ต้องปล่อยให้สัตว์ได้ใช้ชีวิตตามสังคมธรรมชาติ ไม่ใช่ยึดติดอยู่กับการสร้างคอนเทนต์ของผู้เลี้ยง
  • อ้างอิงจากความคิดเห็นส่วนบุคคล (Personal Opinion) อาจจะเป็นการสรุปที่ตัดสินไปสักหน่อย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีคนบางส่วนที่คิดแบบนี้ ด้วยการใช้ประสบการณ์ส่วนตัวมาตัดสิน ทั้งจากการที่เคยเลี้ยงสัตว์ การสังเกต และการติดตาม

Photo Credit: @iam.calorie / @japanandfriends

  1. พูดถึงฝั่งคนเลี้ยงกันบ้าง ผู้เขียนลองวิเคราะห์ได้ว่า เจ้าของเหล่า Pet Influencer ในไทยส่วนใหญ่ เริ่มต้นมาจากการสร้างเพจเพื่อแชร์ความน่ารักของสัตว์เลี้ยงเป็นหลัก ซึ่งงานโฆษณาเป็นผลพลอยได้จากยอดผู้ติดตามที่เพิ่มขึ้นในภายหลังมากกว่า ดังนั้น การกระทำที่ดูเหมือนว่าจะบังคับใช้แรงงานสัตว์เลี้ยง จึงเป็นไปได้ว่าอาจเกิดจากหลายเหตุผล 
  • นิสัยพื้นฐานของน้องๆ สัตว์เลี้ยง มักจะแตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อม และการเลี้ยงดู บางตัวอาจไม่ชอบพบเจอผู้คน แต่บางตัวอาจคุ้นเคยกับคน ชื่นชอบความสนุกสนาน ผู้เลี้ยงในฐานะคนที่ใกล้ชิดน้องๆ มากที่สุด ก็น่าจะสร้างคอนเทนต์โดยอ้างอิงจากธรรมชาติของสัตว์เลี้ยงอยู่แล้ว โดยอาจจะไม่ได้บังคับก็ได้ เพราะต้องไม่ลืมว่า สิ่งที่แสดงออกมาให้คนภายนอกเห็น เป็นแค่มุมใดมุมหนึ่งที่ถูกเลือกมานำเสนอให้เห็นเท่านั้น
  • ผู้เลี้ยงพลาดเรื่องการรับงาน หรือการสร้างคอนเทนต์ เพราะไม่ทันตั้งตัวกับการมีชื่อเสียง ยกตัวอย่างกรณีจุ๊มเหม่ง ออกอีเวนต์ที่โคราช แล้วเจอกับสภาวะห้างแตก แฟนคลับรุมประชิดตัว จนทำให้น้องดูเหมือนจะเครียด ไม่มีความสุข หรือขนทอง ที่เคยออกอีเวนต์ แล้วน้องไปตะปบหน้าอินฟลูน้องแมวที่อยู่ใกล้ๆ กัน
  • ผู้เลี้ยงตั้งใจที่จะทำแบบนั้น เพราะมองว่าการเลี้ยงสัตว์มีต้นทุน และงานโฆษณาเป็นโอกาสแบบ ‘น้ำขึ้นให้รีบตัก’ ชื่อเสียงเป็นสิ่งที่มาไวไปไว ถ้าพลาดแล้วก็อาจจะพลาดเลย จนทำให้เจ้าของมองข้ามความรู้สึกของสัตว์เลี้ยงไป แต่ประเด็นนี้ขอไม่ยกตัวอย่างมาพูดถึง ป้องกันการชี้นำ หรือปรักปรำใคร เราเชื่อว่า ผู้อ่านสามารถสังเกตเห็น และรับรู้ได้เอง

เมื่อมาถึงตรงนี้ พูดตามตรงว่าผู้เขียนก็ไม่สามารถสรุปได้ 100% ว่า Pet Influencer นั้นเป็นอาชีพสีขาว สีดำ หรือสีเทา ความคิดของผู้เลี้ยง หรือผู้ไม่เห็นด้วย จะถูกหรือผิดมากกว่ากัน แต่คาดหวังว่า ในอนาคตจะมีสิ่งที่เป็นรูปธรรม นอกเหนือจากหลักสวัสดิภาพสัตว์ และ พ.ร.บ. ป้องกันการทารุณและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ออกมาคอยกำกับดูแลเหล่า Pet Influencer ให้ไม่ต้องทำงานหนักเกินไป จนไม่ได้ใช้ชีวิตตามธรรมชาติ  

อ้างอิง

Workpoint Today
Brand Buffet