Queer Education การศึกษาที่ลื่นไหลทางเพศในไทย

Photo Credit Reuters

บทเรียนเพศศึกษาในหนังสือวิชาสุขศึกษาเป็นวิชาที่ใกล้เคียงที่สุดที่จะได้เรียนรู้เรื่องเพศอันหลากหลายในไทย หลังจากมีการต่อสู้เพื่อผลิตตำราเรียนสุขศึกษาใหม่ให้มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น โดยสมาคมฟ้าสีรุ้งเมื่อปี 2018 ตอนนี้สถานการณ์เรื่องเพศในไทย การเรียนรู้เรื่องเหล่านี้เป็นอย่างไรบ้าง เราไปคุยกันอาจารย์ 3 ท่านที่สอนในวิชาที่เกี่ยวข้องกับสังคมและเพศเหล่านี้ มันมีไปเพื่ออะไรกัน? และ พื้นที่เท่าเทียมปลอดภัยทางเพศควรเป็นอย่างไร?

อ.ดร.ชีรา ทองกระจาย ผู้สอนรายวิชา เพศภาวะในอุษาคเนย์ (Gender in Southeast Asia) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เล่าถึงเหตุผลความสำคัญที่วิชาที่เกี่ยวข้องเรื่องเพศและสังคมว่า วิชาเหล่านี้ทำให้เข้าใจชีวิตมนุษย์ว่ามันมีมิติต่างๆ มากมายที่ประกอบให้เกิดเป็นความหลากหลายและสิ่งสำคัญเลยของการเรียนรู้เรื่องเหล่านี้คือมันทำให้คนเข้าใจความเหลื่อมล้ำเพื่อนำไปสู่การประยุกต์แก้ไขปัญหาในสังคม ตั้งแต่การวางแผนนโยบาย เศรษฐกิจสังคม วัฒนธรรมหรือแม้แต่วิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้เกิดความเท่าเทียมสำหรับทุกคนได้ เธอได้กล่าวถึงเรื่องหลักสูตรใหม่ของสุขศึกษาที่มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้นว่ามันจะมีผลยังไงต่อไปในสังคมไทยว่า

 “เราถือว่าเป็นความก้าวหน้าที่น่าชื่นชม เรามีแบบเรียนที่เปลี่ยนเนื้อหาไปแล้ว มันจะเขียนว่าคนเหล่านี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม  เขาพยายามทำให้เรื่องนี้เป็น New Normal ที่ปกติธรรมดาในสังคม คุณมีหนังสือที่ก้าวหน้าขึ้น แต่หลังจากนี้ก็ต้องดูว่าผู้สอนที่เอาเนื้อหาเหล่านี้ไปสอนเข้าใจมากน้อยแค่ไหน ถ้าผู้สอนไม่เข้าใจก็อาจจะไม่ได้ผลลัพธ์ที่สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ อันนี้คิดว่าจะเป็นปัญหาอยู่ ไอ้เรื่องกรอบคิดแบบเดิม ไม่ได้ถูกขจัดไปหมดแม้ว่าเราจะมีหนังสือใหม่ที่ปรับปรุงแล้วก็ตาม คิดว่าก็ต้องจัดการแก้ไขอบรมซึ่งเราก็คิดว่าเขาก็น่าจะทำกันอยู่ ต้องดูว่ามันจะเปลี่ยนความคิดคนที่เป็นครู มันก็ต้องใช้เวลาและความเข้าใจระดับหนึ่งแต่นี่คือความก้าวหน้าที่ดี”

อาจารย์ติณณภพจ์ สินสมบูรณ์ทอง  คืออาจารย์ผู้สอนรายวิชาสังคมวิทยาเควียร์ (Sociology of Queer) คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขาเล่าถึงการสอนวิชาต่างๆ หรือแม้แต่เควียร์เองก็มีเพื่อตอกย้ำให้คนรุ่นใหม่ตระหนักได้ว่า จะพูดเรื่องสังคมแล้วไม่เห็นเรื่องเพศมันทำไม่ได้อีกต่อไปแล้ว มนุษย์ทุกคนอยู่ใต้การควบคุมทางสังคมโดยไม่มีทางเลือก มนุษย์มีเจตจำนงเสรี แต่เจตจำนงเสรีนี้ไม่ได้ปราศจากการตัดขาดปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ดังนั้นประโยคที่กล่าวกันว่า ‘จะเลือกเป็นอะไรก็ได้เป็นเรื่องของฉัน’ มันคือการตัดปฏิสัมพันธ์ทางสังคม เงื่อนไขหลายอย่างซึ่งเป็นสิ่งที่ทฤษฏีเควียร์ไม่เห็นด้วยเท่าไร แล้วหลังจากนี้พื้นที่เท่าเทียมเพศควรเป็นไปอย่าง เขาเล่าในเรื่องนี้ว่า 

“พื้นที่เท่าเทียมทางเพศ เราพูดได้ทุกเรื่อง โดยไม่มีคนมาบอกว่าสิ่งนี้ไม่เหมาะสมนะ หรือ อันนี้ไม่ถูกต้อง” 

“เราควรจะพูดเรื่องเพศในทุกมิติได้อย่างเปิดเผย ทั้งในแง่เชิงวิชาการก็ตาม ในเชิงประสบการณ์ชีวิตก็ตาม“

“การแชร์ประสบการณ์เรื่องเซ็กส์ แชร์กับเพื่อน คนในครอบครัว มันควรเป็นไปได้ การนำเสนอประเด็นเพศ ไม่ว่าจะประสบการณ์ส่วนตัวมันควรปรากฎได้ในสื่อ ในภาพยนตร์ ในงานเสวนา ในรายการทีวีโฆษณา มันควรพูดได้โดยไม่มีการมาล้อเลียนหรือบอกว่าเหมาะสมไม่เหมาะสม พื้นที่ปลอดภัยควรจะพูดเรื่องเหล่านี้ได้”

อาจารย์เคท ครั้งพิบูลย์ อาจารย์สอนวิชา ชีวิตครอบครัวศึกษา เพศศึกษาและจริยธรรมทางเพศ (Family Life Education, Sex Education and Sexual Ethics) คณะสังคมสงเคราะห์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิชานี้มีการสอนเรื่องเซ็กส์ศึกษาให้มันมีเรื่องครอบครัว วงจรชีวิตครอบครัว เข้ามาเกี่ยวและเพิ่มเติมเรื่องเพศวิถี รสนิยมทางเพศเข้ามาให้มากขึ้น จากการสอนวิชานี้เธอแชร์ว่า องค์ความรู้ ‘Queer Education’  ในไทยที่สอนตามหาวิทยาลัยก็มีเพียงไม่กี่มหาลัยและโรงเรียนเองก็น้อยมาก แต่ว่าถ้าเรียนรู้ด้วยตัวเอง องค์ความรู้เควียร์มันก็เยอะมากในอินเทอร์เน็ต ถ้าสนใจอยากเรียนรู้เดี๋ยวนี้มันหาอ่านได้ง่ายขึ้น อาจารย์เคทเล่าถึงเรื่องพื้นที่เท่าเทียมทางเพศว่ามันควรจะเป็นพื้นอย่างไรต่อไปว่า 

“เราจะเชื่อในกรุ๊ปซัพพอร์ท คนที่มีอัตลักษ์เหมือนกันมาแชร์กัน แต่เราก็พบว่ามันไม่เพียงพอ ต่อให้เขามี Peer Support แต่โครงสร้างสังคมอย่างอื่น มันไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป เรามองการเปลี่ยนแปลงในทางกฎหมาย เรารู้สึกการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางนโยบายน่าจะทำให้เกิดความปลอดภัยได้ มันก็เป็นที่ที่สังคมรับรู้แล้วว่า คนจะใช้มันยังไง การสร้างความปลอดภัยในเชิงนโยบายจะนำไปสู่อนาคตที่มีความลื่นไหลและเท่าเทียมทางเพศได้”

Photo Credit ThailandEventGuide

ท้ายที่สุดเพื่อปิดบทสนากับอาจารย์ทั้ง 3 ท่าน คำถามสุดท้ายของบทสนทนานี้ก็คือมีอะไรที่อยากจะแนะนำให้แก่เหล่า ‘Queer Youth’ ทุกวันนี้กันไหม 

เริ่มจากอ.ดร.ชีราที่เล่าว่า “ก็ไม่รู้จะแนะนำอะไร เรามีความรู้สึกเด็กรุ่นนี้ก้าวข้ามผ่านไปเยอะแล้ว ความสามารถในการตั้งคำถาม ความกล้าในการแสดงออก มันเกินเจนอย่างเราแล้ว เราเลยอยากให้กำลังใจแค่ว่า ให้กำลังใจคือ 

“Go on, be yourself and go on.”

อาจารย์ติณณภพจ์ แนะนำว่า “อยากให้ Queer Youth อย่าหยุดที่จะถกเถียง นำเสนอประเด็นเพศ และรับผิดชอบในสิ่งที่เราสื่อสาร อย่าหยุดที่จะอัพเดทความรู้  เควียร์ เฟมินิสต์ก็มีการต่อยอดไปเรื่อยๆ พรมแดนความรู้จะได้ขยายไปเรื่อยๆ ถ้าเราเป็นคนหนึ่งที่หยุดนิ่ง ถ้าเราไม่สร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ สุดท้ายตัวองค์ความรู้นี้จะเฉาตายในที่สุด  สิ่งใดที่ไม่เปลี่ยนแปลง สักวันหนึ่งมันจะล้มสลาย” 

อาจารย์เคทแนะนำปิดท้ายว่า “สิ่งที่ Queer Youth ทำมันก็ดีอยู่แล้ว มันจะดีแบบมันจะดี สำหรับเรามองคือ Your decision is our future. ในอนาคตมันจะต้องทำให้แนวคิดหรือวิธีคิดเรื่องความเป็นเควียร์ที่มันขยับไปเรื่อยๆ”

Photo Credit Mercedes Mehling