Identity

คุยกับ ‘เต้ โรเจอร์’ – สตรีมเมอร์ LGBTQ+ ผู้ก่อตั้งเพจ Roger Films Studio

หากย้อนไปสัก 10 ปีก่อน คนที่ชื่นชอบเกมมากก็คงไม่พ้นถูกมองว่าเป็น ‘เด็กติดเกม’ แต่ปัจจุบันอุตสาหกรรมเกมในไทยเติบโตขึ้น และสังคมเปิดกว้างมากขึ้น จนผู้คนมากมายสามารถสตรีมเกมเป็นงานหลักได้ สิ่งที่เห็นได้อีกอย่างคือ การที่อาชีพนี้เปิดรับคนทุกเพศทุกวัย รวมถึงคนเพศหลากหลาย 

วันนี้ EQ จึงมาพูดคุยกับ ‘เต้ – วิศรุต จิปิภพ’ จาก Roger Films Studio เพจไลฟ์เกมกึ่งซีรีส์ เกี่ยวกับเส้นทางการเป็นสตรีมเมอร์ ตั้งแต่จุดเริ่มต้น เบื้องหลังการทำงาน ไปจนถึงมุมมองที่มีต่อวงการเกมในฐานะ LGBTQ+ คนหนึ่ง

จุดเริ่มต้นของการเป็นสตรีมเมอร์

“ต้องย้อนกลับไปก่อนว่าตอนเด็กๆ เป็นคนที่เล่นเกมไม่เป็นเลย เล่นแต่ PlayStation หรือพวกเกมเล็กๆ น้อยๆ บนคอมฯ แต่ถ้าเกมที่เล่นจริงๆ ทั้งชีวิตมีอยู่เกมเดียวคือ ‘เดอะซิมส์’ (The Sims) จนกระทั่งเราขึ้นมัธยมฯ ปลายจนเข้ามหา’ลัย เกมอื่นเราก็ไม่เคยแตะเลย เราจะเล่นแต่เดอะซิมส์ พวกสร้างบ้าน จำลองชีวิต simulation” 

“อย่างที่ทุกคนรู้อยู่แล้วว่า เราเริ่มเข้าวงการเกมจากการทำหนังจากเกมเดอะซิมส์ก่อน โดยจับเกมเดอะซิมส์มาตัดต่อเป็นหนัง แล้วใส่เสียงพากย์ภาษาไทย สมัยนั้นการสตรีมเกมหรือการแคสต์เกมมันยังไม่มี เพราะยังไม่มีคนเอาพวกเกมมาทำเป็นสื่ออื่นๆ จะมีเราเอามาทำเป็นหนัง ซึ่งถือเป็นเรื่องแปลก ทีนี้คนที่สนใจเราก็จะเป็นสายภาพยนตร์ ช่วงแรกๆ เราเลยไปทางสายประกวดหนังสั้น ทำคอนเทนต์จากเกม และทำเพจเกี่ยวกับเดอะซิมส์ พอทำไปจนอิ่มตัว วันหนึ่งมันก็มีคนมาแนะนำว่า “ลองเล่น GTA ดูไหม” ซึ่งเราก็รู้จัก GTA อยู่แล้ว หลังจากกลับไปเล่น ก็นึกสนุกอยากอัดคลิปลงอินเทอร์เน็ต โดยไม่รู้ว่ามันคือการแคสต์เกม เราทำตัวละครซิมส์ ใช้เสียงตัวละคร ‘ชาคริต’ แล้วก็อัดคลิปเล่นๆ พอลองอัปฯ ลงไปดู ปรากฏว่าผลตอบรับดีกว่าที่คิดไว้ เราก็เริ่มไหลไปหาเกมอื่นเล่น พากย์เสียงแล้วก็อัดคลิปเหมือนเดิม แต่ตอนหลังเริ่มมีระบบทำรายการสดเข้ามา เราเลยเริ่มใช้วิธีนี้แทน” 

“เมื่อก่อนแพลตฟอร์มเฟซบุ๊กไม่มีระบบไลฟ์ เราเลยเริ่มที่แพลตฟอร์มอื่นก่อน อย่างอันที่เป็นที่นิยมตอนนั้น คือยูทูป แต่ช่วงที่สตรีมในเฟซบุ๊กแรกๆ มันไม่ได้มีระบบให้ในตัว เพราะเราเริ่มสตรีมตั้งแต่ตอนที่ยังไม่มีระบบไลฟ์สดให้ แล้วตอนนั้นเราก็ยังไม่มีความรู้เรื่องระบบพาร์ทเนอร์ของช่องยูทูป เราไม่ได้ใส่ใจด้วย เพราะทำงานประจำอยู่  ถึงจะมีพาร์ทเนอร์คนหนึ่งดูแลอยู่ แต่ผ่านไปปีหนึ่ง พาร์ทเนอร์ก็หมดวาระการดูแลของเขาไป ตอนนั้นเราเลยเห็นว่า Online Station ทำเกี่ยวกับเกม และช่องเรามีคอนเทนต์ค่อนข้างไปทางเกม จริงอยู่ว่าตอนแรกๆ อาจยังไม่ได้เป็นเรื่องเกมโดยตรง แต่ถึงจะเป็นหนังจากเกม มันก็ยังเป็นเกม เราเลยติดต่อ Online Station ให้เขามาดูแลช่องให้ตั้งแต่ประมาณปี ค.ศ. 2015-2016”  

ความท้าทายของการเป็นสตรีมเมอร์

“ความท้าทายคือ เรื่องของการคิดคอนเทนต์ เพราะว่าเดี๋ยวนี้ทุกอย่างไวมาก มันมาแป๊บเดียวแล้วก็หายไปเลย กระแสของเพจนี้ที่เราเอามาเล่นเลยจะเป็นเรื่องตามกระแสข่าวสารบ้านเมือง บางทีเราไม่อยู่แป๊บเดียว พอทำคอนเทนต์ไม่ทัน คนก็ไม่อินแล้ว” 

ถ้าไม่ได้เล่นเกมเดอะซิมส์ จะเล่นเกมแนวไหน

“เล่นพวก simulation เหมือนกัน แค่สเกลใหญ่ขึ้น เพราะว่าเด็กๆ จะชอบพวกเกมสร้างสวนสนุก หรือโรงพยาบาลมาก เราเองก็ชอบเล่นเกมแนวนี้ เพราะมันได้ใช้จินตนาการ เหมือนได้สนองสิ่งที่เราทำไม่ได้ในชีวิตจริง บางทีนั่งดูข่าวสร้างผังเมืองกรุงเทพฯ หรือรถไฟฟ้า จะไปที่นู่นที่นี่ก็รู้สึกใจร้อน เมื่อไหร่รถไฟความเร็วสูงจะมาสักที ขึ้นไปเปิด Skyline เล่นเลยดีกว่า”

โปสเตอร์ที่ภูมิใจนำเสนอ

“โปสเตอร์ที่ชอบจริงๆ คืออันที่โปรโมต ‘ผีกรวงโบ๋’ เราไปขอพื้นที่สตูดิโอโพสต์ถ่ายกันเลย” 

ในบรรดาซีรีส์เดอะซิมส์ที่ทำมา ชอบเรื่องไหนที่สุด

“เราชอบเรื่องโลกมโนของชาคริต เพราะว่าเป็นซีรีส์แรกที่ทำ กุ้งจ่อมเราก็ชอบ เพราะเล่นเรื่องการเมือง มันเป็นช่วงที่การเมืองไทยกำลังพีค แล้วหนังเข้าร่วมสมัยพอดี”

คอนเซ็ปต์ในการสตรีม 

“เวลาเราสตรีมคอนเทนต์แต่ละครั้ง เรามีการวางแผนไว้ก่อนว่า วันนี้มันจะเป็นรูปแบบนี้ จะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบ้าง แต่ด้วยความที่เวลาสตรีมเกม มันจะมีเรื่องของชั่วโมงและต้องทำเวลา เราเลยอาจจะหาอะไรทำก่อนที่จะไปถึงจุดมุ่งหมายของเรื่อง ซึ่งบางทีมันก็มีเรื่องไม่คาดคิดเกิดขึ้นเหมือนกัน เกมแนวนี้ เหตุการณ์ต่างๆ มันคาดเดาไม่ได้ อย่างเช่นตัวละครเขาไม่ร่วมมือกับเรา หรือมันมีเหตุการณ์บ้าบอตลกๆ เกิดขึ้น ก็เลยช่วยคั่นเวลาไปได้ เหมือนเป็นเซอร์ไพร์สเข้ามา” 

คอนเซ็ปต์ในการทำหนัง

“ถ้าเป็นซีรีส์ กระบวนการเหมือนทำหนังเรื่องหนึ่งเลย มีขั้นตอนเตรียมการ (pre-production) ทำบท ทำคาแรคเตอร์ ขั้นตอนถ่ายทำ แล้วก็ทำโปสฯ ตัดต่อ ใส่เสียง หนังแต่ละเรื่องจะมีคอนเซ็ปต์ในตัวของมันเองอยู่แล้ว หนังเก่าที่เกี่ยวกับเรื่องเวรกรรมก็มี คอนเซ็ปต์บางเรื่องก็เป็นเรื่องมิตรภาพ หนังจะมีข้อคิดอยู่ในตัวของมัน ถึงแม้บางอย่างในเรื่องจะไม่สมเหตุสมผล อย่างเรื่องใหม่ที่กำลังทำอยู่ ก็มีคอนเซ็ปต์เกี่ยวกับคู่รัก LGBTQ+ ที่คบกันนานๆ แล้วเบื่อกับชีวิต มันจะเกิดอะไรขึ้น” 

แรงบันดาลใจในการทำงาน

“ส่วนใหญ่ได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องรอบตัว เวลาเราออกไปเที่ยวหรือดูหนังข้างนอก บางทีมันก็เข้ามาเอง เช่นวันนี้อยากทำแนวนี้ บางทีเห็นคาแรคเตอร์เพื่อนคนหนึ่ง แล้วก็รู้สึกว่า น่าเอาเรื่องราวของคนกลุ่มนี้มาสร้าง”

https://www.youtube.com/watch?v=3TT1wiDVNmo

ตัวละครที่ชอบมากจนต้องใส่ในหนังทุกเรื่อง

“อย่างที่รู้กันอยู่ว่าชอบชาคริตเนอะ จริงๆ ชาคริตไม่ได้มาในรูปแบบตัวละครของเขาทุกเรื่อง บางทีก็จะมาเป็นเสียงของตัวละครอื่น แต่ชาคริตไม่ได้ผิวสีนะ ที่คนเข้าใจกันว่าเป็นคนดำ เพราะว่าเกมส่วนใหญ่ที่เอามาเล่น อย่างตัวหลักใน GTA เป็นตัวละครคนดำ แล้วคนติดจำภาพนี้ แต่จริงๆ แล้ว ถ้าย้อนกลับไปดูหนังเดอะซิมส์ตั้งแต่ยุคแรกๆ ชาคริตก็มาในหลายรูปแบบ ทั้งเอเลี่ยน เด็ก แวมไพร์ ผี มีหลากหลายมากเลย ช่วงหลังมานี้ เราก็พยายามปรับภาพชาคริตในเดอะซิมส์ ไม่ให้เหมือน GTA เพราะแรกๆ เราพยายามให้คนจำคาแรคเตอร์ได้เลยทำซ้ำๆ ตอนหลังเริ่มปรับแล้ว มีผิวแทนบ้าง เป็นเอเลี่ยนบ้าง”

ซ้ายไปขวา: ดีเจตีตี้ - ยอนเซ่ - ยาย่า - ชาคริต

ที่มาของตัวละคร ‘เจ๊ชาคริต’

“จริงๆ เราเป็นญาติกันกับชาคริต แล้วเราชอบคาแรคเตอร์เขาตอนเด็ก ที่เอาเขามาเล่นทุกวันนี้ เขาก็ยังแซวอยู่เลย แต่บางทีเวลาเรามีเรื่อง เขาก็จะมาช่วย’เมนต์บอก “นี่ชาคริตตัวจริงมาแล้ว ไหนใครมีเรื่องกับน้องฉัน” “

มีแผนจะทำอะไรแหวกแนวจากปกติบ้างไหม

“ไปเที่ยวนี่อยากทำมากเลย ออกไปไกลๆ ไปดูวัฒนธรรมใหม่ๆ ต่างแดน แต่พวกนี้มันต้องใช้เวลาเยอะ ตอนนี้ยังไม่ค่อยมีเวลาเท่าไหร่ เราไปได้หมดทุกที่เลย ไม่เกี่ยงว่าจะเป็นประเทศโลกที่ 3 หรือจะเป็นประเทศโลกที่ 1 จะเป็นแดนศรีวิไลหรือลำบาก เราไปได้หมดเลย แต่จะต้องมีเพื่อนไปด้วย (หัวเราะ) เพราะเรายังไม่ใจกล้า หรือมีประสบการณ์เที่ยวเยอะขนาดนั้น พอเปิดโลกแล้ว มันทำให้เรามีความคิดได้หลายมุมและคิดได้กว้างกว่าคนอื่น เพราะได้เห็นหลายๆ มุมของโลกเรา”  

สิ่งที่อยากให้คนดู

“หลักๆ เลยก็คือความบันเทิง เราเป็นคนที่มีความสุขมากเวลาสตรีมเกม แล้วเห็นคนอื่นหัวเราะฮ่าๆๆๆ บางคนเขาเหนื่อยจากการทำงานในแต่ละวัน พอมาดูเราเล่นเกมแล้วหัวเราะสนุกสนาน ได้ผ่อนคลายไปกับเรา” 

มุมมองการเป็นสตรีมเมอร์

“ในตอนนี้สตรีมเมอร์เหมือนเป็นอาชีพของเราแล้ว เรามองว่ามันเป็นอาชีพหนึ่งที่เราทำงาน รับงานลูกค้า ทำให้มีรายได้และซัพพอร์ตเข้ามา มันทำให้เรามีทุกวันนี้ มีสตูดิโอ มีสเปซสำหรับทำงาน ก่อนหน้านี้เราทำงานออฟฟิศก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง แต่พอทำตรงนี้แล้ว มันก็สนุกด้วย ได้เป็นงานของเราไปด้วย”

แล้วการเป็นสตรีมเมอร์ LGBTQ+ ล่ะ? 

“เราทำงานกับทุกคนเลย เพื่อนที่เล่นเกมด้วยกันก็จะเห็นว่า เมื่อก่อนหนังเดอะซิมส์ของเราก็จะมีทั้งผู้หญิงทั้งผู้ชายพากย์ เพื่อนที่เล่นเกมเป็นผู้ชายก็มี อย่างคนแรกๆ ที่สตรีมกับเราก็ไม่ได้เป็น LGBTQ+ ทั้งหมด เราแค่รู้สึกว่าทุกอย่างเป็นเรื่องปกติ พวกยาย่า ยอนเซ่ ดีเจตีตี้ เป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่ก่อนหน้าแล้ว ก็เลยชวนมาเล่นเกมด้วย ถ้าถามว่ามีอะไรแปลกไหม ก็ไม่ได้มีอะไรแปลก รู้สึกเหมือนคนปกติทั่วไปที่เล่นเกมกับเพื่อน” 

วงการเกมเปิดรับคอมมูนิตี้ LGBTQ+ มากแค่ไหน

“ตอนนี้ที่เห็นหลักๆ เลย ส่วนตัวแล้ว ลูกเพจหรือคนที่เราเคยร่วมงานด้วยทั้งหมดโอเค ไม่ได้เป็นเหมือนที่หลายๆ คนเขาเล่ากันหรือสังคมคิดว่า LGBTQ+ ต้องโดนเหยียด อย่างในเพจของเรานี้ เรามองว่าเขาเปิดค่อนข้างเยอะแล้ว เพราะไม่ได้มีใครมองว่า “คนนี้เป็นอย่างนั้น อย่าไปร่วมงานเลย” เราว่าอนาคตวงการเกมน่าจะดีกว่านี้ เพราะว่าเกมต่างๆ เริ่มใส่ตัวละครเพศใหม่ๆ เข้ามา ไม่ได้จำกัดการสร้างตัวละครแค่ชายหญิง ซึ่งมันก็จะทำให้เด็กรุ่นใหม่ที่เติบโตมาพร้อมกับเกมใหม่ๆ มีความคิดที่กว้างขึ้นและเข้าใจ LGBTQ+ มากขึ้น” 

“ถ้าพูดถึงเพจ Roger Film ที่เป็น LGBTQ+ เราโอเคกับสิ่งที่เป็นอยู่ ณ ตอนนี้ เพราะทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับรูปแบบคอนเทนต์ที่เราทำด้วยว่า มันดึงความสนใจจากคนได้หลากหลายมากแค่ไหน ถ้าคนเขาไม่ได้สนใจด้านนี้ เขาก็ไม่เปิดใจดูอยู่ดี มันเป็นที่ลักษณะของความสนใจของคนด้วย แต่ถ้าถามถึงเรื่องพื้นที่ LGBTQ+ ที่อยากให้มากขึ้น อาจจะต้องมองนอกวงการเกม เรื่องสิทธิเท่าเทียมทางกฎหมายก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องคุยกัน”

เรื่องที่ทำให้มีความสุข

“มีครั้งหนึ่งที่เราจัดมีตติ้งดูหนังซิมส์เรื่องใหม่กัน แล้วทั้งเพื่อนเก่าและเพื่อนใหม่ในวงการเกมกับวงการบันเทิงมากันหมดเลย แฟนคลับก็มาดูกันด้วย วันนั้นเป็นวันที่เราไม่นึกว่ามันจะมาถึงขนาดนี้ ได้เอาหนังไปยัดฉายที่โรงหนัง วันนั้นคือวันที่ประทับใจที่สุด”

ติดตาม ‘Roger Films Studio’ ได้ที่

Facebook: Roger Films Studio

Youtube: Roger Films Studio