จากดีเจสู่ฟู้ดเดลิเวอรี่ "Rhhang" by Krit & Michael Morton

"โควิดวิถีชีวิตเปลี่ยน" คือคำกล่าวที่ไม่เกินจริง ใครจะไปคิดว่า สิ่งที่ไกลตัวหรือไม่คาดคิด อาจกลายเป็นอาชีพเฉพาะกิจในช่วงสถานการณ์โควิดก็เป็นได้! อย่างสองพี่น้องลูกครึ่งไทย-อังกฤษคู่นี้ Krit Morton และ Michael Morton ดีเจสายเทคโนอัลเดอร์กราวนด์ ที่เรื่องราวพลิกผันและจับพลัดจับหูมาทำ Food Delivery ที่มีชื่อว่า "Rhhang" จากความบังเอิญบทความตั้งใจของทั้งคู่

คุณกฤษ ที่งานหลักของเขาคืออาชีพดีเจจากกลุ่ม MELA และ VELOX สายอันเดอร์กราวด์ เทคโน และสายเต้นรำทางเลือกและน้องชาย คุณไมเคิล ที่ทำอาชีพค้าขายและลองผิดลองถูกมานานกว่า 5 ปี รวมทั้งร่วมทำดีเจกับพี่ชายของตนเอง ก่อนโควิดแพร่ระบาดคุณไมเคิลเริ่มขายอาหารตามตลาดนัด อีเวนท์ และเทศกาลเฟสติวัลต่างๆ สตาร์ทที่เครื่องดื่ม...แต่ไม่เวิร์ค เลยหันมาสายอาหารอย่าง "แฮมเบอร์เกอร์" ที่มีกิมมิกเฉพาะแบบสไตล์หรั่ง แต่ด้วยสถานกาณ์โควิดทำให้ทั้งคู่จับมือร่วมกันฟันฝ่าและก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาเหล่านี้ไปให้ได้ ด้วยการทำ Food Delivery 

“พอกลับมาทำ food delivery ที่บ้าน เลยคุยกับพี่ชาย เขาอยากลองทำขนมปังเอง เลยเริ่มทำและลองผิดลองถูก”

แฮมเบอร์เกอร์ที่รังสรรค์สุดฝีมือ

ไมเคิล: เมนูแฮมเบอร์เกอร์ ตอนแรกตัวขนมปังทำจากแป้งซาลาเปา คล้ายๆ อาหารเวียดนาม จริงๆ แล้วผมเคยเรียนที่เบอร์ลิน เขาขายเบอร์เกอร์ที่ใช้แป้งซาลาเปา เลยลองทำขายที่ไทยดู แต่ตอนนี้ไม่ได้ทำแบบนั้นแล้ว เพราะลูกค้าคนไทยไม่ค่อยชินกับแบบนี้ เลยใช้แป้งขนมปังที่สั่งจากร้านค้าทั่วไป ตอนมาทำ Food Delivery พี่ชายนึกสนุกอยากทำแป้งขนมปังเอง ส่วนเนื้อหรือไส้เบอร์เกอร์ผมลงมือทำเองตั้งแต่แรกแล้ว ตัวเบอร์เกอร์ทำมา 2 ปีแล้วครับ

กฤษ: ผมรับหน้าที่ทำแป้งเป็นหลัก การปั้นแป้งผมเรียนกับแฟนน้องชายเกือบเดือน เริ่มจากการปั้นและเราอยากได้สูตรที่ไม่ได้เป็นฝรั่งหรือเอเชียนมากเกินไป ครั้งแรกยังทำไม่ได้เรื่อง ก็ค่อยๆ แก้ไปทีละจุด ทั้งเรื่องอุณหภูมิของเตา จนทำเสียไปหลายก้อน แต่ตอนนี้ก็ทำออกมาได้ดีขึ้นแล้ว พออยู่บ้านจริงจังก็เริ่มตื่นเช้า โควิดทำให้ดีเจตื่นเช้า ตื่นมาลองปั้นแป้งดู

Rhhang 

กฤษ: เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยกล้าคุยกับพวกผม เพราะผมไม่ใช่คนไทย คำว่า "หรั่ง" เป็นคำที่คนไทยชอบเรียก มันดูเป็นลูกครึ่งดี เลยเอาคำนี้มาใช้ให้คนไทยเรียกง่ายขึ้น ตั้งเพื่อให้คนข้างนอกกล้าคุยภาษาไทยกับเรา

คอนเซ็ปต์

“ฉ่ำ แน่น เน้นคุณภาพ”

กฤษ: อารมณ์แบบเราใช้วัตถุดิบที่ดีและราคาย่อมเยาว์มาทำให้เป็นเมนูอาหารที่อร่อย เราไม่ได้ใช้ของแพงมาก เราทำแบบราคากลางๆ แป้งเราก็ปั้นเองทำให้มันพิเศษมากขึ้น เนื้อเราก็ทำแบบซู-วีด (sous-vide)

ไม่เคยคิดว่าต้องมาทำอาหารขายจริงจัง!

ไมเคิล: ไม่เคยคิดว่าต้องมาทำอาหารจริงจังครับ ตอนอยู่ที่โน่นก็ไม่ได้ข้องเกี่ยวกับการทำอาหารหรือในครัว เพราะเรียนไปด้วยและทำงานร้านอาหารไปด้วย แต่เป็นแค่เด็กเสิร์ฟ พอกลับไทยก็ลองหาอะไรทำ พอเริ่มแล้วก็ลองไปเรื่อยๆ เริ่มลองทำอาหารแล้วขายได้ ก็ลองเปลี่ยนที่ขายบ้าง ผมไม่เคยเรียนที่ไหนเลย ทำไปเรื่อยๆ พอออกไปขายของจะมีเพื่อนๆ ที่เป็นพ่อค้าแม่ค้า ก็จะถามเขาว่า ทำยังไงให้หมักหมูอร่อย ทำยังไงให้หมักเนื้อออกมาดี ประกอบกับดูจากยูทูป

ลูกค้าจุดประกาย ซู-วีด

ไมเคิล: มีอยู่วันหนึ่งไปขายของที่ตลาดนัดตรงเส้นเพชรบุรี แล้วมีฝรั่งชมว่าเบอร์เกอร์ร้านเราอร่อย แล้วแนะนำการทำอาหารแบบซู-วีด (sous-vide) ให้กับเรา คือการทำอาหารให้สุกในอุณหภูมิต่ำ เพื่อคงความฉ่ำของเนื้อไว้ เลยซื้อเครื่องซูวีดมา เพื่อทำให้อุณหภูมิอาหารเท่ากันหมด ซึ่งใช้มากสุดแค่ 70 องศา บางเมนูใช้เวลาทำเป็นวัน บางอย่างใช้เวลาแค่ชั่วโมงเดียว ซู-วีดทำให้เนื้อทั้งชิ้นสุกเท่ากันหมด พอเนื้อสุกเราก็จี่บนกะทะ 30 วินาทีพร้อมเสิร์ฟ วิธีนี้ทำให้เนื้อข้างในสุกในอุณหภูมิที่กำลังพอดี และทำให้เนื้อทั้งชิ้นออกมาสวยงามสีชมพู

จุดเด่นของหรั่ง

กฤษ : ผมว่าเป็นเรื่องไลฟ์สไตล์มากกว่า คนภายนอกอาจไม่รู้ แต่คนในแวดวงดีเจ เป็นอาหารที่อยู่ในสายปาร์ตี้  ก่อนหน้าล็อคดาวน์ครั้งที่ 2-3 เราจัดอีเวนต์และน้องชายไปออกบูทปาร์ตี้ เราได้เอ็นเตอร์เทนคนด้วยเสียงเพลง น้องชายเอ็นเตอร์เทนด้วยอาหาร ซึ่งเป็นภาพที่มองไว้ว่าอยากทำแบบนั้น ด้วยโควิดทำให้ทุกอย่างมันเบรคเอี๊ยด เราเลยกลายเป็น Food & Entertainment

“เรามีดีเจแล้ว มีเบอร์เกอร์แล้ว ในอนาคตอาจเป็นร้านเบอร์เกอร์ที่มีบูทดีเจ มีปาร์ตี้เล็กๆ สายที่เราชอบ”

บทบาทการเป็น DJ และ MELA 

กฤษ : พอไปอังกฤษเราเรียนจบแล้วไปใช้ชีวิต ทำงานร้านอาหารหาเงิน จนได้ไปเจอกับอันเดอร์กราวด์ไนท์คลับซึ่งมันว้าวกับผมมาก สิ่งนี้มันทำให้รู้ว่าเราอยากทำอะไร เลยตัดสินใจเก็บเงินเรียนดีเจ ไปเที่ยวเฟสติวัล แล้วกลับมาไทยเพื่อมาทำปาร์ตี้ชื่อ MELA กับเพื่อนๆ พี่ๆ น้อง โดยพยายามสร้างกลุ่มและช่วยกันทำ หาความรู้ดีเจ หาสไตล์ หาลูกค้าเอง ซึ่งช่วง 8 ปีที่แล้ว คนยังตั้งคำถามกับเราว่า "เพลงพวกนี้เต้นยังไง?" MELA เลยจะล้ำๆ ใครที่มาปาร์ตี้นี้เขาจะรู้อยู่แล้วว่าเฉพาะทาง

สอนดีเจออนไลน์

กฤษ : ถ้าไม่มีโควิดผมคงไม่ได้มาเปิดสอนหรอก แต่พอมีโควิดมาเราก็มองไปว่าอีก 2 ปีจะเป็นยังไง เริ่มมองตัวเองว่าเก่งดีเจจริงไหม เลยตัดสินใจเอาเงินเก็บจากอังกฤษซื้อเครื่องมือสอนดีเจจริงจัง ซึ่งเริ่มทำเมื่อปลายปีที่แล้วและมีนักเรียนมาเรียน พอโดนโควิดรอบที่ 2-3 เลยต้องหยุดไปฉีดวัคซีน ตอนนี้ก็เริ่มทยอยกลับมาเรียนกันแล้ว

VELOX 

กฤษ : เราเห็นพี่ๆ น้องๆ ดีเจเขา Live ในเฟสบุคแต่มันเงียบเหงามาก เลยคุยกับรุ่นน้องที่เป็นดีเจว่า ทำไมทุกคนต้อง Live แยกกัน ทำไมไม่ทำด้วยกันและทำให้เป็นเฟสติวัลออนไลน์ VELOX ออนไลน์จะจัดช่วง ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ บ่ายสองถึงเจ็ดโมงเช้า คนจะอยู่กับเราไปตลอด กลายเป็นเราสร้างปาร์ตี้ที่หลายๆ บ้านเขาก็ปาร์ตี้กับเรา ถือว่าเป็นการช่วยดีเจ เพราะหลายๆ คนเริ่มท้อ เพราะดีเจต้องได้ยินเสียงเพลง มันเป็นชีวิตของเขา อยู่ดีๆ ถูกตัด เขาเริ่มห่อเหี่ยว งานนี้ถ้าในเชิงจิตใจก็ช่วยได้เป็นอย่างดี