‘รทิมา’ นักเขียนที่รักการเป็นอิสระและฝันอยากจะเห็นประเทศไทยเปลี่ยนแปลง

“แด่ทุกความฝัน

ทั้งที่ถูกยกยอและดูถูกเหยียดหยาม

ทั้งที่ถูกค้นพบแล้วและยังรอคอยให้ออกตามหา

ทั้งที่ถูกคว้าไว้ได้และปล่อยให้หลุดมือหายไป

ทั้งที่ยังคงอยู่และถูกลืมเลือน

ทั้งที่ลุกโชนขึ้นและมอดดับลงท่ามกลางรัฐเผด็จการ”

ดังกล่าวคือคำอุทิศที่กัดกินหัวใจใครหลายๆ คนเมื่อได้หยิบนวนิยายเรื่อง ‘นครมัว’ ขึ้นมาอ่าน ไม่บ่อยนักที่วรรณกรรมเยาวชนของไทยจะเล่าเรื่องสอดคล้องกับสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน แถมยังถูกเขียนขึ้นโดยเยาวชนคนรุ่นใหม่ ภายใต้นามปากกา ‘รทิมา’ และที่สำคัญ ขั้นตอนการผลิตทั้งการเขียน ขัดเกลา บรีฟภาพหน้าปก จนถึงการนำรูปเล่มไปวางขายทั้งในงานอีเวนต์และร้านหนังสือเล็กๆ ล้วนเกิดขึ้นมาจากความตั้งใจจริงของนักเขียนคนนี้ทั้งสิ้น

ไม่ใช่เพียงแค่นครมัว แต่ยังมีเรื่องราวอีกจำนวนหนึ่งที่ถูกกลั่นกรองออกมาเป็นตัวอักษร เต็มไปด้วยรสชาติอันหลากหลายให้ผู้อ่านได้เลือกก้าวเข้าไปในโลกที่เขียนขึ้นมา เพื่อให้เข้าใจในมุมมองและรู้จักรทิมามากขึ้น เราก็ได้นัดแนะกับเจ้าตัว พูดคุยประสานักเขียน ไล่ตั้งแต่นิยายเรื่องแรก ทัศนคติที่ถ่ายทอดผ่านผลงาน และความหวังที่มีต่อประเทศในฐานะประชนคนหนึ่ง

หนังสือเรื่องแรกที่มีทั้งสงครามและความตาย

รทิมาเล่าให้ฟังว่าเธอเริ่มเขียนนิยายมาตั้งแต่สมัยที่ยังเรียนอยู่ชั้นม.3 แต่ไม่ได้เขียนจริงจังจนเป็นมืออาชีพ จนกระทั่งมาเรียนต่อมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ และได้ไปงานหนังสือ จึงคิดอยากจะเปิดบูธของตัวเองอย่าง Comic Avenue บ้าง เดิมทีเธอตั้งใจว่าจะทำเป็นนิทานภาพด้วยความสามารถด้านการวาดรูปที่มี แต่ก็ตัดสินใจรื้อใหม่และปรับเป็นฉบับนิยาย จนออกมาเป็นหนังสือเล่มแรก ‘เมื่อความตายทำให้เราพบกัน’ ที่สั่งตีพิมพ์ขึ้นเองในปี ค.ศ. 2019 ภายใต้นามปากกา ‘รทิมา’ (Rtima) ที่เกิดมาจากชื่อจริง ‘อาทิมา’ โดยตั้งใจให้อ่านออกเสียงแบบเดียวกัน จนวันนี้ที่เขียนนิยายมาได้ 4 ปีแล้วก็ยังคงใช้อยู่

“เรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากความตาย ซึ่งเป็นอะไรที่เราสนใจอยู่แล้วด้วยค่ะ เพราะว่าชอบเรื่องราวและวิชวลของ dark fantasy โลกหลังความตายเป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างให้คนเราสามารถจินตนาการต่อได้ หลายๆ คนอาจจะเคยดูหนัง นิยาย หรือการ์ตูนหลายๆ เรื่องที่เอาประเด็นนี้มาเล่น และแต่ละเรื่องก็มีเซ็ตติ้งโลกหลังความตายที่ไม่เหมือนกัน เราก็เลยอยากสร้างโลกแห่งความตายในจินตนาการของตัวเองขึ้นมาค่ะ แรกเริ่มก็สร้างโลกที่ดูเหมือนจะไม่ต่างจากโลกของคนเป็นสักเท่าไหร่ ในแง่ที่ยังสามารถใช้ชีวิต มีสังคม มีดีมีเลวปะปนกันไป ต่างกันตรงที่ว่าเราจะไม่ตายซ้ำสอง ไม่จำเป็นต้องมีเงินเพื่อซื้ออาหาร อีกอย่างที่เป็นแกนหลักของเรื่องก็คือ หลังจากตายไปแล้ว เราจะไม่ถูกแบ่งแยกด้วยเชื้อชาติ สามารถสื่อสารและเป็นเพื่อนกันได้หมด

ส่วนมากเราจะคิดเรื่องจากการมองภาพในหัว เพราะเป็นคนที่ชอบวาดรูป อย่างดราฟต์แรกของ ‘เมื่อความตายทำให้เราพบกัน’ ตอนเริ่มเรื่องก็เป็นซีนของเด็กคนหนึ่งที่ลืมตาขึ้นบนโลกแห่งความตาย จำไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น พล็อตตอนแรกไม่ได้มีเรื่องสงครามเลยค่ะ แค่เกี่ยวกับคดีฆาตกรรม แต่เขียนไปเขียนมาแล้วไม่ชอบ ก็เลยมานั่งคิดใหม่ว่าต้องเป็นการตายแบบไหนที่ฉุกละหุกจนคนตายไปโดยไม่รู้ตัว และบังเอิญช่วงนั้นได้ดูหนังหรืออ่านนิยายที่เกี่ยวกับสงคราม เราเห็นว่ามีการโจมตีบ้านเมือง มีคนบริสุทธิ์ตาย ก็เลยคิดว่าน่าจะหยิบประเด็นตรงนี้มาเขียนได้ค่ะ”

เพราะการเมืองสอดแทรกอยู่ในทุกขณะของชีวิต มันจึงเข้ามาอยู่ในนิยาย

“นิยายเรื่องแรกของเราไม่ได้แฝงเอาเรื่องการเมืองเข้ามาขนาดนั้น ด้วยความที่เรื่องมันถูกเล่าผ่านมุมมองของเด็ก และมุมมองของเราในตอนนั้นยังไม่ถือว่าโตสักเท่าไหร่ด้วย เพิ่งจะมาเริ่มสนใจเรื่องการเมืองแบบจริงจังก็ตอนที่อยู่ปี 2-3 เรามองว่าการเมืองมันเกี่ยวข้องกับทุกอย่างในชีวิตอยู่แล้ว สุดท้ายไม่ว่าจะเขียนอะไรก็ไม่พ้นเรื่องการเมือง ขึ้นอยู่กับเราว่าจะเขียนออกมาชัดไหม งานของเรามีทั้งเรื่องที่เนื้อหาเบาและเขียนถึงการเมืองแบบโต้งๆ อย่าง ‘ตะวันในวันรุ่งขึ้น’ ซึ่งเอาระบบการปกครองขึ้นมาเป็นประเด็นหลักเลย”

“มันเป็นความคับแค้นใจ เพราะว่าเขียนขึ้นมาตอนที่รู้สึกว่าสถานการณ์การเมืองบ้านเรามันแย่มาก ก็เลยหยิบเอาสิ่งที่เห็นมาทำให้เป็นเซ็ตติ้งใหม่ สำหรับเรื่องนี้ ความเหลื่อมล้ำในสังคมจะแบ่งประเทศไทยออกเป็น 3 ชั้น ชั้นล่างสุดคือสถานที่ของนักโทษที่โดนส่งลมากักขัง ต้องใช้แรงงานหนักๆ ให้คนเบื้องบน แล้วก็จะมีชั้นกลางที่คนทั่วไปอาศัยอยู่ ทั้งที่ยากจนและพอจะมีฐานะ สุดท้ายก็คือชั้นบนซึ่งเจริญกว่าชั้นกลางมากๆ เป็นที่อยู่ของชนชั้นปกครองกับคนรวย และเรารู้สึกว่ากฎหมายของประเทศนี้พยายามปิดปากคนอยู่ตลอดเวลา พูดอะไรที่สุ่มเสี่ยงไม่ได้ ก็เลยใส่สิ่งนี้เข้าไปในนิยายด้วย ให้มีกฎที่ว่าทุกคนต้องใส่เครื่องควบคุมการพูด เหมือนกับว่ามีสิ่งที่มองไม่เห็นคอยคุมอยู่ คล้ายๆ กับการเมืองบ้านเราตอนนี้ค่ะ”

(นครมัว)

“ส่วนเรื่องอื่นๆ ก็สอดแทรกการเมืองเข้าไปเหมือนกัน แค่อาจจะไม่เข้มข้นเท่า อย่างเช่น ‘นครมัว’ ที่เริ่มพูดถึงการเมืองในช่วงกลางๆ แต่จั่วหัวเอาไว้ตั้งแต่บทแรกที่ตัวละครหลัก ‘กานต์’ ย้ายเข้าไปอยู่บ้านใหม่ในต่างจังหวัด ซึ่งหมู่บ้านในเรื่องก็อิงจากที่เราเคยอาศัยตอนเด็ก มันห่างไกลความเจริญมาก ทำให้เห็นความเหลื่อมล้ำระหว่างบ้านของตัวเองกับตัวเมืองมาตลอด ยิ่งไปเรียนที่กรุงเทพฯ ก็เห็นชัดขึ้นอีกว่ามันต่างกันขนาดไหน เพราะความเจริญเข้าไม่ถึงทุกพื้นที่ เราไม่ได้ต้องการให้แถวบ้านมีแต่ตึกสูงใหญ่ แค่อยากให้มีสัญญาณโทรศัพท์ที่เสถียร มีขนส่งสาธารณะบ้างเท่านั้นเอง ความคับแค้นใจตรงนี้ก็ได้กลายมาเป็นเนื้อหาในนิยายค่ะ

จริงๆ แล้วใจความหลักของเรื่องนี้ก็คือ ‘ความฝัน’ ที่ไม่ว่ายังไงก็ยึดโยงกับการเมือง เพราะการศึกษาบ้านเราให้ค่าความฝันของเด็กไม่เท่ากัน บางคนก็โดนเหยียดหยาม บางคนก็เข้าเรียนสายวิทย์เพื่ออนาคตของตัวเอง มันมาจากประสบการณ์ของเราเหมือนกัน เพราะตอนเด็กๆ โดนที่บ้านบอกว่าให้เรียนสายวิทย์ ทั้งที่เราชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็กและไม่ชอบวิทยาศาสตร์เลย แล้วก็เคยโดนบอกมาว่า “เป็นนักเขียนทำไม เป็นไปก็ไส้แห้ง” หรือไม่ก็บอกว่าเอามันมาเป็นอาชีพหลักไม่ได้ ให้ทำเป็นงานอดิเรกก็พอ จนเราเคยทำความฝันนี้หายไปช่วงหนึ่ง เพราะเอาแต่เรียนอย่างเดียว จนเพิ่งได้กลับมาแตะมันอีกครั้งตอนขึ้นมหา’ลัย เราก็เอาตรงนี้มาใส่ตัวละคร ‘เต’ เด็กสายศิลป์ที่โดนดูถูกในสังคมที่ให้ค่าสายอาชีพไม่เท่ากัน เพราะหลายๆ อาชีพไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล”

Soft Power ที่สามารถสร้างขึ้นได้ในรูปแบบของตัวหนังสือ

“มนุษย์คือผู้สร้างสื่อ และสื่อนั้นก็สร้างความคิดของมนุษย์ขึ้นมาอีกที” คือสิ่งที่ผู้เขียนเชื่อมาโดยตลอดว่าจริง รทิมาเองก็เห็นด้วยว่าสื่ออย่างหนังสือมีอิทธิพลต่อทัศนคติของผู้เสพ โดยเฉพาะเมื่อเธอจบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ และได้นำความรู้มาส่งเสริมด้านการเขียน

“เรามองว่านิยายคือ storytelling หรือก็คือการสื่อสารกับคนอ่าน อยากพูดอะไรก็เขียนให้สารมันสื่อออกไป บางครั้งก็จะได้รับคอมเมนต์จากคนอ่านว่าเขาตกตะกอนอะไรสักอย่างจากการอ่านนิยายของเรา มันทำให้เขาคิดอะไรขึ้นมาได้ มีทั้งคนที่คล้อยตาม คนที่อยากพูดคุยถึงประเด็นในเรื่อง แล้วก็คนที่ความคิดเปลี่ยนไปหลังอ่านจบ นอกจากเรื่องความเห็นก็มีทัศนคติที่ส่งต่อผ่านนิยายได้ บางคนอ่านแล้วมีความหวัง ฮึดสู้จากที่เคยท้อไปแล้ว อย่างพวกเราเองก็เสพสื่ออยู่ทุกวัน มีหลายๆ สื่อที่หล่อหลอมความคิดและอารมณ์ของผู้คน โน้มน้าวให้เราเชื่อในสิ่งหนึ่งมาโดยตลอด เราก็เลยเชื่อว่าการเขียนมีพลัง เพราะมันมีผลต่อความคิดของคน ต่อให้คนเขียนจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจใช้อำนาจในเรื่องเล่า มันก็มีอำนาจต่อคนอ่านอยู่ดี”

เรื่องที่เขียนแล้วถูกใจมากที่สุด

“ตอนนี้เราชอบเรื่อง ‘นครมัว’ มากที่สุดค่ะ เพราะรู้สึกว่างานดูโตขึ้นในแง่ของคุณภาพ พอมองย้อนกลับไปก็ไม่ได้รู้สึกเสียดายหรืออยากแก้ตรงจุดไหน และมันก็มีประเด็นที่เราใส่ความเป็นตัวเองเข้าไปเยอะมากๆ จุดแรกเริ่มก็มาจากการที่เราเขียนเพื่อพูดคุยกับตัวเอง ในช่วงที่รู้สึกว่าล้มเหลว ไม่รู้จะทำยังไงกับชีวิต และคิดว่าตัวเองไม่ใช่นักเขียนที่ดีพอ ก็เลยเขียนเรื่องนี้ขึ้นมาค่ะ โดยเอาเศษเสี้ยวความเป็นตัวเราใส่เข้าไปในตัวละคร ‘วรัชญ์’ พอได้ปลอบใจเขาว่าต่อให้ชีวิตจะไม่เป็นไปตามที่คาดหวังก็ไม่เป็นไร ก็เหมือนได้ปลอบใจตัวเองไปด้วย”

“อย่างที่เขาชอบพูดว่าผลงานทุกชิ้นสามารถส่งต่อความฝัน ให้ความหวัง หรือลูบหลังปลอบประโลมกันได้ เป็นเหมือนไฟดวงหนึ่งซึ่งกำลังส่องประกาย – ไม่ว่าไฟดวงนั้นจะส่งต่อความสว่างไปได้อีกเพียงหนึ่งคนหรือร้อยคน หรือล้านคน ก็ล้วนแต่เป็นแสงที่มีค่าหากได้พบกันในจังหวะที่เหมาะสม หวังว่าคุณจะได้พบกับแสงสว่างนั้นเช่นกัน” – นครมัว, รทิมา

คำนิยามต่องานเขียนของ ‘รทิมา’

“มันเป็นเหมือนบันทึกที่เล่าเรื่องราวระหว่างการเติบโตและผ่านอะไรหลายๆ อย่างมาค่ะ คนอ่านจะชอบแซวว่านิยายเราเหมือนพงศาวดาร (หัวเราะ) คงเหมือนตรงที่ใส่สถานการณ์ปัจจุบันเข้าไปนี่ล่ะ พอเวลาผ่านไปและกลับมาอ่านอีกครั้งก็จะจำเหตุการณ์นั้นๆ ได้ ทำให้ได้เห็นทัศนคติของตัวเองในช่วงที่เขียนด้วยว่าเป็นยังไง จะได้นำมาสะท้อนดูว่าทั้งบ้านเมืองและตัวเราได้เปลี่ยนไปจากตอนนั้นไหม”

อิสรภาพในการเขียนที่มีทั้งข้อดีและข้อเสีย

“โดยส่วนตัวเราเป็นคนที่ชอบทำงานตามใจตัวเอง รักการเป็นนักเขียนอิสระมากๆ เพราะว่าเรามีตารางงานเป็นของตัวเอง จะเขียนตอนไหนก็ได้ เขียนอะไรก็ได้ โดยที่ไม่มีใครมาบอกว่าต้องเขียนแบบไหน คิดว่าถ้าทำงานกับสำนักพิมพ์ก็คงต้องแก้งาน ซึ่งเราไม่อยากแก้ แต่จ้างบรรณาธิการส่วนตัวซึ่งทัศนคติตรงกัน ส่วนที่แก้ก็เลยจะเป็นการแก้ที่เข้าใจกันได้ เราแฮปปี้กับตรงนี้มากกว่า

ส่วนข้อเสียคือพอทำทุกอย่างด้วยตัวเองก็จะผิดพลาดง่าย เล่มที่ตีพิมพ์ตอนสมัยยังลองผิดลองถูกก็มีข้อผิดพลาดที่ย้อนกลับไปแก้ไม่ได้ เพราะว่ามันออกมาเป็นรูปเล่มแล้ว และอีกปัญหาที่นักเขียนอิสระหลายๆ คนเจอก็คือเรื่องเงิน ด้วยความที่ต้องออกทุนไปก่อน ถ้าจะพิมพ์เยอะก็ต้องใช้เงินเยอะขึ้นไปด้วย พอขายไปแล้วก็ต้องลุ้นอีกว่าจะคืนทุนได้ไหม จะได้กำไรเท่าไหร่ จะพอเลี้ยงชีพไหม อย่างตอนนี้ที่เรายึดการเขียนเป็นอาชีพหลักก็ไม่รู้ว่ามันจะรอดไปอีกนานแค่ไหน อีกอย่างที่ยากคือเราต้องตามหานักอ่านของตัวเองให้เจอ เพราะไม่มีฐานคนอ่านจากสำนักพิมพ์ เราโชคดีตรงที่ได้เอาผลงานไปขายตามงานอีเวนต์แล้วก็มีคนติดตามมากขึ้นจากตรงนั้น แต่ยังต้องพยายามทำให้ผลงานเป็นที่รู้จักอยู่ค่ะ เราเอาไปฝากวางขายตามร้านหนังสือต่างๆ ด้วย ทั้ง กลิ่นหนังสือ, ร้านหนังสือเรือเขลางค์, Lunaspace, Goodnightlibrary, booksale_thailand, Aladdinbooks, Moccabooks, House of Commons“

(ตะวันในวันรุ่งขึ้น)

นักเขียน – บุคคลที่เป็นทั้งผู้รับและผู้ให้

แน่นอนว่าในการที่จะเขียนอะไรสักอย่างขึ้นมานั้นต้องอาศัยแรงบันดาลใจไม่มากก็น้อย เพื่อขับความคิดสร้างสรรค์ให้มาอยู่บนหน้าหนังสือ เพราะอย่างนั้น ในวันหนึ่งที่ผลงานของตนได้จุดประกายให้คนอื่นบ้าง รทิมาก็ดีใจไม่น้อยเลย เธอเล่าให้เราฟังอย่างอิ่มเอมว่า

“มีบ้างที่นักอ่านมาให้ฟีดแบ็กว่าพออ่านงานเขียนของเราแล้วมันมีผลอะไรต่อเขาบ้าง บางคนก็เริ่มต้นเขียนหรือตีพิมพ์หนังสือเองเพราะได้อ่านงานของเรา มันทำให้รู้สึกว่าผลงานที่เขียนขึ้นมีคุณค่าต่อใครสักคน การเป็นนักเขียนทำให้เราได้รู้จักคนเยอะมากๆ เลยค่ะ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เราดีใจที่ได้เจอ ในวงการนักเขียน-นักอ่านมีการส่งต่อพลังบวกให้กันอยู่เสมอ พวกเขาทำให้เรารู้สึกดีกับตัวเองและช่วยให้ผ่านช่วงที่ไม่มีความสุขมาได้”

ความฝันที่อยากทำให้เป็นจริงขึ้นสักวัน

“ตอนนี้เราค่อนข้างพอใจกับปัจจุบันแล้ว แต่ความฝันอีกขั้นหนึ่งคือการที่ผลงานได้นำไปดัดแปลงเป็นสื่ออื่นๆ ค่ะ จะเป็นหนัง ซีรีส์ การ์ตูน หรืออะไรก็ได้ เราแค่อยากเห็นเขาเติบโตและขยับได้ ซึ่งพอได้นำไปดัดแปลงก็จะมีคนรู้จักผลงานของเรามากขึ้นด้วยค่ะ ถ้ามีโอกาสได้ส่งงานออกนอกประเทศก็คงดีเหมือนกัน มันจะได้ไปไกลกว่านี้”

(BLAZE สู่เถ้าธุลี การ์ตูนที่กำลังวาดอยู่ในตอนนี้)

แผนที่วางเอาไว้สำหรับปี 2023

“เราก็คงเขียนนิยายต่อไปเรื่อยๆ ค่ะ ยังไม่มีความคิดว่าจะเลิก เพราะอยู่กับมันมานานมาก มันกลายเป็นนิสัยไปแล้วที่ต่อให้ไม่เขียน ในหัวก็จะคิดพล็อตเรื่องขึ้นมาโดยอัตโนมัติอยู่ดี ส่วนเรื่องของผลงาน หลายๆ คนจะมีภาพจำว่าเราเขียนเกี่ยวกับเรื่องการเมือง ซึ่งจริงๆ แล้วเราเขียนแนวอื่นด้วย ที่ผ่านมาก็มีวรรณกรรมเยาวชน ผจญภัย แฟนตาซี ดิสโทเปีย และอีกหลายเรื่องที่เราไม่แน่ใจว่ามันคือแนวอะไร (หัวเราะ) แนวที่กำลังเขียนอยู่ก็มีไซไฟกับสืบสวนสอบสวนอยู่ด้วยค่ะ และตอนนี้ก็กำลังลองทำการ์ตูน ต้องรอดูต่อไปว่าจะเป็นยังไง”

ความเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยที่อยากเห็นภายในปีหน้า

“เราอยากให้ทุกอย่างที่ทุกคนกำลังเรียกร้องสำเร็จ ทั้งสมรสเท่าเทียม สุราก้าวหน้า นิคมอุตสาหกรรม แก้กฎหมายทรมาน-อุ้มหาย ยกเลิกเกณฑ์ทหาร ข้อเรียกร้องของม็อบชาวนา และอีกเยอะมากๆ ที่เราเห็นว่าเขากำลังพยายามสร้างความเปลี่ยนแปลงกันอยู่ทุกวันค่ะ ถ้าทำได้ ประเทศของเราก็จะพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น เราไม่รู้ว่าการเปลี่ยนแปลงไหนจะเกิดก่อน หรือมีอะไรที่สามารถพัฒนาขึ้นไปอีกขั้นได้บ้าง ก็เลยต้องเรียกร้องกันต่อไปเพื่อให้มันเกิดขึ้นจริงๆ ในสักวันค่ะ”

แนะนำหนังสือที่ห้ามพลาด

“ถ้าเป็นการ์ตูน ขอแนะนำ Chainsaw Man, My Hero Academia กับ Ajin: Demi-Human ค่ะ โดยเฉพาะเรื่องหลัง ต่อให้เวลาผ่านไปก็ยังชอบอยู่ ส่วนหนังสือนิยายก็ Coraline, A Monster Calls และ I’m Thinking of Ending Things”

ติดตาม ‘รทิมา’ ได้ที่

ReadAWrite: Rtima1123

Twitter: Rtima1123