ใช้ชีวิตแบบ Slow Life ในสายตาคนเกาหลี กับ ‘RYUNTIME’ โอปป้าราชบุรี

หากพูดถึงชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ภาพที่เราเห็นกันบ่อยครั้งคงจะเป็นชาวตะวันตกที่มักพักพิงบนเกาะอย่างภูเก็ต หรือคนเอเชียที่อยู่ตามย่านต่างๆ ของกรุงเทพฯ แต่สำหรับ ‘ควังรยุนจอง’ (광륜정) หรือที่ทุกคนเรียกกันว่า ‘ยูล’ เขาเลือกที่จะเก็บกระเป๋าจากเกาหลี มาอาศัยที่บ้านแม่ยายในจังหวัดราชบุรี ท่ามกลางสวนผลไม้อันห่างไกลจากแสงสีในตัวเมือง ด้วยความคิดที่ว่า “อยากใช้ชีวิตแบบ slow life” และเขาก็ได้ทำมันแล้ว อย่างที่เราเห็นได้จากช่องยูทูป ‘RYUNTIME’ กับภาพอาหารการกินและวิถีชีวิตคนราชบุรีผ่านเลนส์กล้องของยูลเอง มาพูดคุยกับเขากันเลยดีกว่า ถึงเรื่องราวการเป็น ‘โอปป้าอยู่ที่บ้านนอก’ และไลฟ์สไตล์ช้าๆ ไม่รีบร้อน ณ ราชบุรี

เพื่ออรรถรสที่ดีในการอ่าน อยากให้ทุกคนนึกถึงสำเนียงของยูลไว้ตลอดเวลาที่อยู่ในบทสัมภาษณ์ และจะพบกับความน่ารักขึ้นอีก 100% อย่างแน่นอน

ก้าวแรกบนประเทศไทย กับการเป็นพนักงานออฟฟิศธรรมดา

บทสนทนาที่มีกับยูลเริ่มต้นด้วยรอยยิ้มทักทาย และบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความเป็นกันเอง ซึ่งเป็นความรู้สึกที่จะได้รับเสมอเมื่อรับชมคลิปวิดีโอบนช่องของเขา หลังจากที่คุยเล่นกันไปสักเล็กน้อยแล้ว เราก็เริ่มต้นด้วยการถามก่อนว่า อะไรทำให้ยูลตัดสินใจมาใช้ชีวิตที่ประเทศไทย?

“ตอนแรกผมเรียนมหาวิทยาลัยที่ประเทศฟิลิปปินส์ ที่นั่นอากาศร้อนตลอดทั้งปีครับ ทำให้ผมรู้ว่าประเทศที่อากาศร้อนอยู่ตลอดเวลาก็มีด้วย ซึ่งผมชอบมากกว่าอากาศหนาวๆ นะครับ ไม่ต้องใส่เสื้อกันหนาวแขนยาวบ่อยๆ เหมือนตอนอยู่ที่ประเทศเกาหลี แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมชอบประเทศไทยมากกว่าเมืองร้อนอื่นๆ ก็คืออาหารครับ นอกจากอาหารแล้ว อากาศก็ดี เทคโนโลยีก็โอเค ผมเลยตัดสินใจมาอยู่ที่ไทยครับ เริ่มจากการทำงานในบริษัททัวร์ที่กรุงเทพฯ ชักชวนให้คนเกาหลีมาเที่ยวประเทศไทย”

นอกจากจะมีหน้าที่การงานแล้ว ยูลยังมีแฟนสาวที่คอยให้กำลังใจเขาอยู่เสมออีกด้วย เธอก็คือ ‘น้ำส้ม’ อดีตเน็ตไอดอลที่เรามักจะเห็นหน้าและได้ยินเสียงผ่านทางช่อง RYUNTIME กันจนคุ้นชินนั่นเอง

“เมื่อก่อนส้มเป็นเน็ตไอดอลใช่ไหมครับ ผมเห็นว่าเขาน่ารักดี ตอนนั้นส้มสนใจอยากจะทำธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าเกาหลีด้วย ผมก็เลยทักไปหาเขา เริ่มจากการคุยเรื่องธุรกิจกันก่อน แล้วก็มีนัดมาเจอบ้าง จนได้คบกันถึงทุกวันนี้ครับ”

ในระหว่างที่คบหาดูใจกับน้ำส้มและทำงานประจำที่กรุงเทพฯ มาประมาณ 4-5 ปี ยูลก็ได้เรียนรู้ภาษาไทยจากการพูดคุยกับคนรอบข้างและดูละครอย่าง ‘บุพเพสันนิวาส’ กับ ‘ไดอารี่ตุ๊ดซี่ส์ เดอะ ซีรีส์’ ชีวิตของเขาในตอนนั้นเหมือนกับชาวเกาหลีทั่วไปที่อาศัยในไทย จนกระทั่งรู้สึกเบื่อหน่ายกับการเป็นพนักงานออฟฟิศ ในเมืองหลวงที่จำต้องใช้ชีวิตอยู่บนความเร่งรีบ

“ตอนนั้นผมใช้ชีวิตแบบพนักงานออฟฟิศธรรมดาครับ ไม่ค่อยมีเวลาพักผ่อน ตั้งใจทำงานหาเงินแล้วก็กลับบ้านมานอนอย่างเดียว แทบไม่มีเวลาไปเจอเพื่อนหรือทำกิจกรรมอย่างอื่นเลย มันทำให้ผมชอบชีวิตที่ราชบุรีมากกว่า เพราะที่นี่มีความสบายๆ slow life มากขึ้น แถมรถไม่ติดด้วยครับ”

ก้าวที่สอง กับชีวิตใหม่สาย YouTuber ในราชบุรี

เชื่อว่าใครหลายๆ คนที่ใช้ชีวิตในเมืองหลวงก็คงเป็นเหมือนกับยูล ที่ถ้าหากเลือกได้ก็ไม่อยากอยู่ในสภาพแวดล้อมอันวุ่นวายและไม่เอื้อให้เราผ่อนคลายสักเท่าไหร่ ซึ่งพอสบโอกาสจะได้ย้ายไปลองใช้ชีวิตใหม่ที่สงบกว่า ยูลก็ไม่รีรอที่จะคว้าไว้

“สมัยยังเป็นพนักงานออฟฟิศ ส้มพาผมให้มารู้จักกับแม่ของเขา ‘แม่ไก่’ ที่บ้านเกิดในจังหวัดราชบุรีครับ คุณแม่กับผู้ใหญ่ทุกคนที่นี่ใจดีมาก คอยสอนผมเกี่ยวกับวัฒนธรรมแล้วก็อะไรหลายๆ อย่าง บรรยากาศก็ดีนะครับ ต่างจากการใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ หรือเกาหลีที่การแข่งขันสูง ต้องแย่งกันใช้ชีวิต พอมาอยู่ที่ราชบุรีก็ไม่ต้องแข่งกับใคร สามารถใช้ชีวิตแบบ slow life ได้ มันทำให้ผมคิดว่าชีวิตต้องดีมากแน่ๆ ถ้าอยู่ที่นี่ อยากจะอยู่ไปตลอด ก็เลยคุยกับส้มว่าจะย้ายมาครับ แถมช่วงนั้นตรงกับสถานการณ์โควิดพอดี ซึ่งในกรุงเทพฯ มีผู้ติดเชื้อเยอะมาก ถ้ามาอยู่ที่ราชบุรีจะปลอดภัยกว่าครับ”

“พอมาอยู่ที่จังหวัดราชบุรีก็อยากหากิจกรรมทำ แล้วก็อยากมีเพื่อนด้วยครับ ผมเลยมานั่งคิดว่าเปิดช่องยูทูปดีหรือเปล่า ส้มบอกกับผมว่า “ถ้าอยากทำก็ทำเลย พร้อมสนับสนุนเต็มที่” แล้วเขาก็ช่วยเหลือในหลายๆ อย่างจริงๆ ครับ จนมาเป็นช่อง RYUNTIME ทุกวันนี้”

ยูลเสริมว่า “ด้วยความที่ผมเป็นคนต่างชาติ ก็เลยอยากจะทำคอนเทนต์เกี่ยวกับชีวิตชาวต่างชาติในไทยว่าเป็นยังไง กินอะไรบ้าง แล้วก็อยากจะโชว์ความเป็นธรรมชาติกับไลฟ์สไตล์ในต่างจังหวัดครับ แต่ในช่วงโควิดก็ไปไหนไม่ค่อยได้ ผมต้องเรียนรู้การทำอาหารกินเองที่บ้านกับแม่ไก่ตลอด และส่วนตัวก็เป็นคนชอบกิน คอนเทนต์ในช่องส่วนใหญ่ก็เลยเกี่ยวกับอาหารไปด้วยครับ”

ชอบมากแค่ไหนก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าลำบาก

แน่นอนว่าเขยเกาหลีหัวใจไทยคนนี้รักการใช้ชีวิตในจังหวัดราชบุรีเอามากๆ เขาบอกกับเราว่าที่นี่เป็นสถานที่ที่ทำให้สบายใจและได้เปลี่ยนความคิด อยู่ได้ไม่นานก็หลงเสน่ห์ของเมืองนี้ และในอนาคตก็คงชวนเพื่อนคนเกาหลีให้มาเที่ยวด้วย ถึงอย่างนั้นก็ต้องยอมรับเหมือนกันว่า ต่างจังหวัดนั้นไม่ได้สะดวกสบายเหมือนในกรุงเทพฯ

“อย่างแรกเลยคือไลฟ์สไตล์คนกรุงเทพฯ กับต่างจังหวัดต่างกันมากครับ ที่ราชบุรีตอน 6 โมงทุกคนจะกลับบ้านกันหมดแล้ว ตรงถนนก็ไม่มีไฟฟ้าด้วย บางครั้งน้ำไม่ไหล ไฟดับ หรืออินเทอร์เน็ตล่มระหว่างตัดต่อคลิปก็มีครับ ทำให้มีบ้างที่อัปโหลดคลิปลงยูทูปไม่ตรงเวลา แฟนคลับก็จะคอมเมนต์ถามว่า “ยูล ทำไมวันนี้ไม่อัปฯ คลิป” (หัวเราะ) จริงๆ คือตัดไว้แล้ว แต่อินเทอร์เน็ตดับครับ บางครั้งใช้เน็ตฯ ไม่ได้ทั้งวันเลย อีกอย่างคือการขนส่งลำบาก เวลาสั่งของออนไลน์ก็ต้องคอยอธิบายให้คนส่งฟังทุกครั้งว่าบ้านอยู่ตรงไหน เพราะแถวนี้มีแต่สวน ไม่มีจุดสังเกตครับ ทำให้อธิบายยากมากเลย”

ความแตกต่างระหว่างเกาหลีกับไทย ที่ทำให้ต้องปรับตัว

ในแต่ละประเทศ ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลยที่วัฒนธรรมจะแตกต่างกันออกไป ด้วยสังคม สภาพแวดล้อม และธรรมเนียมต่างๆ ที่หล่อหลอม เมื่อคนจากประเทศหนึ่งย้ายไปอยู่ต่างถิ่น ก็มีบ้างที่จะ culture shock อย่างที่ยูลเป็น แม้แต่ตอนที่กลับไปเยือนประเทศบ้านเกิด เขาก็ต้องช็อกอีกรอบจากที่เคยชินกับความเป็นไทยไปแล้วเช่นกัน

“เรื่อง ‘ชื่อ’ เลยครับ เพราะว่าที่เกาหลีไม่ตั้งชื่อคนเป็นสัตว์นะครับ ชื่ออย่าง ‘ไก่’ หรือ ‘นก’ นี่ไม่มีเลย แถมคนไทยบางคนมีชื่อเป็นผลไม้ด้วย เช่น ‘ส้ม’ กับ ‘แอปเปิ้ล’ อันนี้ยังพอเข้าใจได้นะครับ แต่คนที่มีชื่อเป็นสัตว์นี่ไม่เคยเจอจริงๆ จนกระทั่งมาอยู่ไทย”

“พออยู่ไทยจนชินแล้วกลับไปที่ประเทศเกาหลี สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ ‘สายฉีดชำระ’ ครับ เมื่อก่อนผมใช้แค่ทิชชู่ก็ได้ แต่พอมาอยู่ไทยก็ติดการใช้สายฉีดชำระ ถึงตอนนี้ที่เกาหลีจะเริ่มใช้กันบ้างแล้ว น้ำที่ออกมาจากสายก็นิดเดียวเองครับ ใช้ไม่สะใจเหมือนของไทย อีกอย่างที่ทำให้ช็อกก็คือผลไม้ที่เกาหลีแพงมาก แตงโมลูกหนึ่งราคาประมาณ 400-500 บาทได้ครับ ถึงอยากกินก็ไม่กล้าซื้อ ไม่เหมือนประเทศไทยที่ผลไม้ราคาถูก แถมสดและอร่อยด้วย”

วัฒนธรรมการดื่มเองก็ต่างกัน

“ต่างกันมากเลยนะครับ ที่ประเทศเกาหลีจะมีกฎเรื่องธรรมเนียมที่ต้องทำเวลาดื่ม เช่น คนอายุน้อยกว่าต้องรินโซจูให้คนอายุเยอะกว่า โดยใช้ทั้งสองมือถือขวด เวลาดื่มต้องเบี่ยงหน้าออกทางด้านข้างแล้วเอามือบังแก้วเหล้าเอาไว้ ซึ่งที่ประเทศไทยไม่มีอะไรแบบนี้นะครับ ชิลกันมากๆ บางครั้งผู้ใหญ่รินเหล้าให้ผมก็มี ไม่เหมือนประเทศเกาหลีที่ซีเรียสเรื่องค่านิยมการเคารพผู้อาวุโสกว่าไทยมาก”

น้ำส้มที่นั่งอยู่ข้างๆ กันเสริมว่า “แต่ธรรมเนียมเกาหลีที่ว่าต้องเบี่ยงหน้าออกตอนดื่ม ตอนนี้เขากำลังมีการถกเถียงกันแล้วนะคะว่าจะยกเลิกดีไหม เพราะมันทำให้กระดูกตรงคอเสื่อม”

สิ่งของจากเกาหลีและไทยที่ไม่ว่าอย่างไรก็จะเอาไปด้วย

ในช่อง RYUNTIME เราจะได้เห็นยูลกลับไปเยี่ยมบ้านคุณแม่ที่ประเทศเกาหลีบ้าง โดยที่เขาจะหอบหิ้วส่งของต่างๆ จากไทยไปด้วย และนำบางอย่างจากที่นั่นกลับมาราชบุรี เราจึงถามยูลว่า ถ้าให้เลือกอะไรก็ได้เพียงแค่อย่างเดียวจากไทยไปเกาหลี เขาจะเลือกอะไร?

“ ‘อาหารแซ่บๆ’ ครับ เพราะอาหารเกาหลีส่วนมากจะรสชาติเข้มข้น ไม่ค่อยมีของเปรี้ยวหรือแซ่บๆ เพราะฉะนั้น ถ้าเลือกเอาอะไรไปเกาหลีก็ได้หนึ่งอย่าง ก็คงเลือก ‘ปลาร้า’ ครับ เกาหลีเองก็มีปลาร้า เรียกว่า ‘ชอดกัล’ (젓갈) แต่จะรสชาติไม่เหมือนกับของไทยนะครับ ส่วนตัวผมชอบของไทยที่รสชาติเข้มข้นมากกว่า”

“ส่วนถ้าเลือกอะไรก็ได้จากเกาหลีมาที่ไทย ก็คงเป็น ‘ครีมบำรุงผิว’ ครับ (หัวเราะ) ส่วนตัวผมชอบทาครีมมากๆ เพราะผิวบอบบางและเป็นสิวง่าย ถ้าไม่ดูแลก็จะพังหมด และคนเกาหลีอย่างผมจะชอบเปลี่ยนครีมที่ใช้ตามฤดูกาลด้วย แต่พอมาอยู่ไทยก็ไม่ต้องเปลี่ยนครีมบ่อยมากครับ” – นอกจากจะใช้เองแล้ว ยูลยังมักจะหิ้วครีมบำรุงผิวจากเกาหลีมาฝากพวกผู้ใหญ่ที่ราชบุรีอีกด้วย เขาบอกว่ามันเป็นหนึ่งในสิ่งของจากเกาหลีที่เขาป้ายยาให้กับคนที่นี่ นอกจากอาหารขึ้นชื่ออย่างกิมจิ

อาหารไทยที่ชอบที่สุด กับที่ไม่ชอบมากที่สุด

“ช่วงนี้ผมชอบกินน้ำพริกมากๆ เลยครับ ปกติชอบกินน้ำพริกอยู่แล้ว อย่างน้ำพริกกะปิหรือน้ำพริกเผา แต่ช่วงนี้จะติด ‘น้ำพริกหนุ่ม’ เป็นพิเศษเลยครับ ส่วนที่ไม่ชอบเลยก็จะมี ‘ไข่เยี่ยวม้า’ กับ ‘ขี้เพี้ย’ ส่วนตัวได้กลิ่นแล้วรู้สึกว่าชิมไม่ได้ครับ”

3 คำกับช่อง RYUNTIME

“ ‘อยู่ เก่ง จัง’ ประมาณว่าเป็นชาวต่างชาติที่มาอยู่ต่างถิ่นได้ กินอาหารบ้านเขาก็ได้ด้วย ปรับตัวเก่ง เลยเลือกคำนี้ครับ ชมตัวเอง (หัวเราะ)”

ติดตาม ‘ยูล’ ได้ที่

YouTube: RYUNTIME

Instagram: ryuntime

Facebook: RYUNTIME

Twitter: ryuntime