Life

SELF-LOVE TALK with Fai: รักตัวเองด้วยการเป็นเพื่อนรักให้ตัวเอง

ใครๆ ก็บอกให้ต้องรักตัวเองนะ ต้องรักตัวเอง แต่การรักตัวเองนั้นก็มีหน้าต่างที่หลากหลายเหลือเกิน อะไรคือการรักตัวเอง ถ้าไม่รู้จักการรักตัวเอง เราสามารถเรียนรู้ที่จะรักตัวเองยังไงได้บ้าง ถ้าเคยสงสัยกับคำถามนี้อยู่ บทความนี้คือคำตอบที่จะพาทุกคนไปเริ่มต้นการโอบกอดตัวเองด้วยความรัก ด้วยคำแนะนำจากคุณ ‘ฝ้าย – กันตพร สวนศิลป์พงศ์’ นักเขียนและนักจิตวิทยาการปรึกษา ผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์ให้บริการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและสุขภาพจิต ‘MasterPeace’ ในการยอมรับตัวเองอย่างใจดีขึ้นสักนิด ที่สามารถลองนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ให้พวกเรารู้สึกถึงรักกันได้มากขึ้น

รู้สึกยังไงกับคำว่า 'รักตัวเอง'

เราเปิดบทสนทนาด้วยการถามถึงความรู้สึกของคุณฝ้ายที่มีต่อคำว่า ‘การรักตัวเอง’ และนิยามของคำว่า ‘Self-Love’ ว่ามันมีความหมายอย่างไร

“เรารู้สึกว่ามันเป็นคำที่ดี ในแง่ที่ว่ามันคือพื้นฐานของทุกอย่าง การรักตัวเอง (Self-Love) มันคือการรักทั้งส่วนที่ดีและส่วนที่ไม่ค่อยชอบในตัวเอง เราสามารถที่จะรักและยอมรับทั้งหมด (Wholeness) ของเราเองได้ คนเราสามารถจะรักตัวเองโดยที่ยังมีส่วนบกพร่องในตัวเองได้ เพราะสุดท้ายแล้ว ทุกคนไม่ได้เพอร์เฟกต์ มันอาจจะมีบางวันที่เรารู้สึกว่าไม่ค่อยพอใจหรือไม่ค่อยรักตัวเองเท่าไหร่ แต่การรักตัวเองคือการถอยกลับมามองเห็นตัวเองมากขึ้นได้ในบางวันที่เผลอหลงลืมตัวเอง เราสามารถค่อยๆ กลับมารักตัวเองได้ เพราะพวกเรามีศักยภาพที่จะรักได้ดี แค่ต้องค่อยๆ ฝึก ค่อยๆ เรียนรู้ที่จะยอมรับและโอบกอดตัวเอง”

รักตัวเองกับหลงตัวเองเหมือนกันไหม

ถ้าเกิดรักตัวเองมากเกินไปจนกลายเป็นหลงตัวเองล่ะ? อะไรคือเส้นกั้นระหว่างความรักตัวเองและความหลงตัวเอง

“หลงตัวเอง (Narcissist) คือภาวะที่สร้างความรู้สึกว่าฉันสำคัญที่สุด ฉันตัวใหญ่ที่สุด ทุกคนต้องใส่ใจในปัญหาของฉัน ถ้าเทียบง่ายๆ ว่าการรักตัวเองและการหลงตัวเองมันมีเส้นกั้นแบ่งยังไง เราว่าการรักตัวเอง คือ ความรู้สึกว่าฉันสำคัญ และเธอก็สำคัญเหมือนกันนะ พวกเราอยู่ในระดับระนาบที่เท่ากัน การหลงตัวเองคือความรู้สึกที่อยากให้คนรอบข้างมาตอบสนองความต้องการ โดยที่อาจจะไม่ได้นึกว่าคนอื่นก็มีความต้องการของเขาเหมือนกัน เราคิดว่าตรงนี้คือเส้นกั้นนะ ถ้าอยู่ในเส้นที่ว่าฉันสำคัญและเธอก็สำคัญ มันก็โอเค”

เห็นอะไรบ้างในกระแสการรักตัวเองของกลุ่มวัยรุ่น GEN Z ที่มักจะบอกกันว่า วัยรุ่นเจนฯ นี้เป็นวัยรุ่นที่เหงาและซึมเศร้ามากกว่าคนรุ่นก่อน

“สิ่งที่เห็นจากกระแสการรักตัวเองทุกวันนี้คือ โซเชียลมีเดียทำให้ทุกอย่างมันเร็วไปหมด กระแสการรักตัวเองมันดีนะ แต่ต้องไม่ลืมว่า GEN Z อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ท้าทายหลายอย่าง จนอาจทำให้ขาดเวลาที่จะเชื่อมต่อกับตัวเองอย่างลึกซึ้ง สถานการณ์โควิด-19 ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้วัยรุ่นเกิดความเหงาและโดดเดี่ยวในช่วงที่ผ่านมา จากข้อมูลที่มีการสำรวจมา พบว่าวัยรุ่นจะรู้สึกถูกตีตรา (stigma) ในฐานะคนที่มีความเหงา พวกเขาจะไม่อยากพูดว่า ‘ฉันเหงา’ มากกว่าการบอกว่า ‘ฉัน depressed’ เสียอีก เพราะถ้าพูดว่าเหงา มันจะมีความหมายว่า ฉันไม่มีใคร ฉันไม่มี connections ฉันไม่มีเพื่อน ซึ่งในช่วงวัยรุ่น พวกเขายังมีความรู้สึกอยากเป็นส่วนหนึ่งกับอะไรสักอย่างอยู่ อยากมีเพื่อน เพราะเพื่อนคือส่วนหนึ่งในชีวิตที่สำคัญ และมันสร้างความรู้สึกมีตัวตนให้พวกเขารู้สึกว่ายังมีที่ทางของเราอยู่”

ความเหงาเป็นความรู้สึกที่น่ากลัวไหม 

“ความเหงาเป็นความรู้สึกที่ท้าทาย วิธีแก้ความเหงาก็คืออยู่กับตัวเองอย่างเข้าใจ และไม่ลืมที่จะเปิดตัวเองออกไปเชื่อมโยงกับคนรอบข้าง แต่ว่าบางครั้งความเหงาก็อาจจะพาความคิดลบๆ เข้ามา อย่างเช่น ทำไมเราไม่มีใครเลย เราน่าเบื่อหรือเปล่า ถึงไม่มีใครอยากอยู่กับเรา ฉันไม่ดีพอที่จะมีใครอยู่กับฉันหรือเปล่านะ แล้วพอเราเหงาไปนานๆ คิดว่าอยู่คนเดียวก็ได้ ไม่อยากจะออกไปหาใคร ไม่อยากเสี่ยงที่จะเจ็บปวดหรือถูกปฏิเสธอีกแล้ว พออยู่กับความคิดลบที่คิดวนไปมาเรื่อยๆ ไม่มีใครมาปรบมือเรียกสติ มาดึงเขา ความเหงาที่กินเวลานานเหล่านี้ก็สามารถกลายเป็นสาเหตุที่นำไปสู่โรคซึมเศร้า (depression) ได้ ถ้าพวกเขาไม่มีตัวตนที่แข็งแรงหรือรู้เท่าทันตัวเอง”

คิดอย่างไรกับประโยคที่ว่า “เราต้องรักตัวเองให้ได้ก่อน ค่อยไปรักคนอื่น” 

“การรักตัวเองก่อนรักคนอื่นมันถูกต้องในแง่หลักการ แต่จริงๆ แล้ว คนเราก็เรียนรู้ทักษะที่จะรักจากคนรอบข้างได้ ถึงเราจะยังไม่ค่อยรักตัวเอง มันก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะเรียนรู้การรักตัวเองให้ดีขึ้นจากคนอื่นไม่ได้ บางคนถ้าโตมาในสภาพแวดล้อมบ้านที่ไม่ได้สนับสนุนให้รักตัวเอง บ้านที่มี abuse (การล่วงละเมิดหรือทำร้ายร่างกาย) บ้านที่ toxic มันก็ยากที่พวกเขาจะเรียนรู้การรักตัวเอง พวกเขาจะไปเรียนรู้การรักตัวเองจากที่ไหน ในเมื่อสภาพแวดล้อมที่อยู่ไม่ได้ทำให้พวกเขารู้สึกถูกรัก ดังนั้น ความสัมพันธ์ใกล้ชิดอื่นๆ ที่เกิดบนความอบอุ่นและจริงใจ ก็จะเป็นโมเดลเรียนรู้ของเขาได้ เช่น เพื่อนสนิทหรือคนรัก”

“ส่วนหลักการในประโยคที่ว่าให้รักตัวเองก่อนรักคนอื่น เป็นเพราะพอเรากลับไปที่คำว่ารักตัวเอง มันคือการเข้าใจตัวเองในฐานะมนุษย์ธรรมดา ที่ย่อมมีวันที่อารมณ์เสีย วันที่บ้ง วันที่สุดท้ายก็ทำพลาด แม้มั่นใจว่าจะไม่พลาดแน่ๆ แต่เรายังยอมรับตัวเองในจุดนั้นได้ สิ่งที่เราปฏิบัติกับตัวเองก็มีแนวโน้มว่าเราจะปฏิบัติสิ่งเหล่านั้นต่อคนอื่น ซึ่งมันก็หมายความว่า เมื่อเรารักตัวเองแบบที่เราเคารพตัวเอง เราก็จะสามารถเคารพคนรอบข้างในเวอร์ชั่นมนุษย์ที่เขาเป็นได้ เราจะยอมรับว่าเขาก็มีวันที่พลาดได้ ประสบการณ์ชีวิตของเขาต่างจากเรา เขาไม่ได้เป็นเหมือนเรา มนุษย์แต่ละคนมีดีเทลต่างกัน และเราก็เรียนรู้เรื่องนั้นร่วมกันได้ เมื่อเกิดความขัดแย้งในความสัมพันธ์”

เราเรียนรู้การรักตัวเองจากคนอื่นอย่างไรได้บ้าง

“การรักตัวเองสามารถเกิดขึ้นได้จากการเจอความสัมพันธ์ที่เข้าใจกัน เจอคนที่ยอมรับในตัวเราได้ แม้ในส่วนที่เราไม่ชอบในตัวเอง เราอาจจะได้เรียนรู้การรักตัวเองจากแฟนที่ดี ผ่านการที่เขาปฏิบัติกับเราดี เรารู้สึกดีเมื่อได้รับการปฏิบัติแบบนี้ ได้ยินคำพูดแบบนี้ มันทำให้เราเริ่มเรียนรู้ว่าจะรักตัวเองอย่างไรต่อไปได้ ซึ่งมันอาจเป็นคำพูดหรือพฤติกรรมที่เราไม่เคยทำให้ตัวเองก่อนหน้านี้ การพาตัวเองไปเจอกับนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ก็ช่วยให้เรียนรู้ได้เหมือนกัน เพราะพวกเขาจะชวนเราคุยและสำรวจแง่มุมต่างๆ ที่ช่วยให้เราเข้าใจตัวเองได้มากขึ้น”

เราจะสร้าง Self-Love กับตัวเองอย่างไรได้บ้าง

“ก่อนจะสร้าง Self-Love ได้เราต้องมีสติรู้ตัวก่อนว่า ตอนนี้เรารักตัวเองแบบไหนอยู่ ถ้าตอนนี้ยังไม่รู้ตัวว่าเป็นอะไร มันจะยากมาก เหมือนถ้าไม่รู้ตัวว่าหิวข้าว มันก็จะไม่กินข้าว ก่อนอื่นคือ เราเรียนรู้ว่าเรารักตัวเองแบบไหน แบบ ‘Tough Love’ หรือเปล่า ถ้าเราไม่รู้ตัวว่าเรารักตัวเองแบบไหน บางครั้ง เวลาเราใช้คำพูดกับตัวเองด้วยความดุร้าย กดดันตัวเอง มันก็เป็นการเฆี่ยนตีตัวเองโดยไม่รู้ตัว อย่างถ้าเราพูดกับตัวเองว่า “ทำไมไม่ทำให้มันดีกว่านี้” ถ้าเราจับไม่ทัน เราจะมองไม่เห็นว่าข้อความนี้ค่อนข้างใจร้ายกับตัวเองอยู่นะ เหมือนมุ่งเป้าผลลัพธ์แล้วมองข้ามความพยายามของตัวเองไปหมดเลย แต่ถ้าเรารู้ทัน มันก็จะรู้สึกเห็นใจตัวเอง ตบบ่าปลอบใจตัวเองได้ว่าน่าเสียดายที่พยายามแล้ว แต่ก็ยังเจอความผิดหวัง พอมีสติแล้ว เราก็จะรับรู้ความรู้สึกตัวเองได้ดีขึ้น รู้ทันความคิด และการกระทำของตัวเองมากขึ้น แล้วจึงเริ่มดูแลตัวเอง รักตัวเอง ให้กำลังใจ ใจดีกับตัวเองได้มากขึ้น ตามวิถีการรักตัวเองในแบบของเรา”

ในเชิงรูปธรรม มีการกระทำอะไรบ้างที่สามารถช่วยให้เรารักตัวเอง

คุณฝ้ายได้เล่าตัวอย่างที่จะปฏิบัติการรักตัวเองจากเหตุการณ์สมมติว่า ถ้าในความสัมพันธ์ความรัก เราเป็นคนที่กำลังรอแฟนที่มาเดตกับเราสายตลอด นั่งรอเป็นชั่วโมง สองชั่วโมงทุกครั้ง การไม่รักษาคำพูดของเขาทำให้เราเริ่มรู้สึกว่าตัวเองไม่สำคัญ แต่ก็ยังอดทน ในสถานการณ์นี้ที่เราดูเหมือนเป็นคนที่กำลังวิ่งตามอีกฝ่าย มันก็สามารถนำไปสู่การตั้งคำถามกับตัวเองได้เหมือนกันว่า เราอยากมีความสุขแบบนี้จริงไหม อะไรทำให้เราอดทนหรือยอมไม่พูด เราน่าจะกล้าสื่อสารกับแฟนเราอย่างตรงไปตรงมาเพื่อปรับจูนให้ดีขึ้นไหม การปล่อยให้ตัวเองรู้สึกไร้ค่าและเสียใจแบบนี้คือการรักตัวเองหรือเปล่า การรักตัวเองที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นก็จะมีการฟังเสียงตัวเอง เคารพความต้องการของตัวเอง การมีสติรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งคำถามสำรวจตัวเองเพื่อฝึกฝนการรู้ตัว และลองให้คำตอบที่จริงใจกับตัวเอง เพราะถ้าไม่รู้ตัวว่าเรากำลังต้องการหรือขาดอะไร สิ่งที่สำคัญจริงๆ คืออะไร มันก็ยากที่จะเติมเต็มสิ่งนั้นให้ตัวเองได้ 

“พอเราเริ่มรู้ตัวว่าอยู่กับอะไรแล้วมันบั่นทอนความรู้สึกรักตัวเอง พอเราบอกได้ว่ากำลังวิ่งอยู่คนเดียวในความสัมพันธ์ รู้ตัวว่าเลือกทางนี้แล้วรู้สึกบั่นทอน มันก็สามารถทำให้เรามีสติว่า ตอนนี้เรากำลังวิ่ง มีทางเลือกว่าจะผ่อนลง จะหยุดนิ่ง จะตั้งคำถาม เราอาจจะตั้งคำถามขึ้นมาเองว่า เราอยากมีความสุขแบบนี้จริงๆ ไหม ความสุขของเราคืออะไรกันแน่ แต่ว่าพวกเราอยู่ในโลกที่ทุกอย่างมันเร็ว เราวิ่งตามอะไรก็ไม่ทัน ตามตัวเองไม่ทัน ตามความคิดตัวเองไม่ทัน ก็เลยไม่รู้ตัว นอกจากฝึกฟังตัวเองให้ทันมากขึ้น มันก็จะมีเครื่องไม้เครื่องมือไว้ช่วยเราได้ในการฝึกรู้ตัว อย่างเช่น การจดบันทึก ลองเขียนออกมาว่าตอนนี้รู้สึกอะไร การรักตัวเองก็ต้องเริ่มจากฝึกรู้ตัวในจุดเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิต และเลือกปฏิบัติต่อตัวเองให้ดีขึ้น เหมือนเรารู้ตัวว่ากำลังเหนื่อยที่บ่า เราปวดหลัง เราก็จะเริ่มนึกย้อนไปว่าก่อนหน้านี้ทำอะไรที่ทำให้ปวดบ่าปวดหลังบ้าง พอเรารู้ตัว มันจะรู้สาเหตุปัญหา เราจะพยายามไม่ทำแบบนั้นกับตัวเองอีก เราจะคิดต่อไปว่า ฉันทำอะไรกับปัญหาตรงนั้นได้บ้าง ถ้าเคยแก้ไขด้วยวิธีไหนแล้วไม่เวิร์คก็จะได้ลองเปลี่ยน”

รักตัวเองด้วยการเป็นเพื่อนที่เรารักที่สุดให้กับตัวเอง 

“ถ้าการรักตัวเองมันยากก็ลองเริ่มจากให้คิดว่า ถ้าเป็นเพื่อนที่เรารัก เป็นคนที่เรารัก เราจะให้อะไรคนที่เรารักบ้าง อย่างการให้ของขวัญ ให้การรับฟัง ให้กำลังใจ พอเริ่มอย่างนี้แล้วเราก็ประยุกต์สิ่งเหล่านั้นที่อยากจะทำให้คนรักกลับมาทำให้ตัวเอง อยากชวนทุกคนมาลองสังเกตดูนะว่า ถ้าเป็นเพื่อนที่เรารักมาขอคำปรึกษา เราจะให้คำปรึกษาแบบเดียวกันนั้นกับตัวเองไหม คำพูดมันอ่อนโยนกว่าเวลาพูดกับตัวเองไหม ถ้ามันเป็นแบบนั้น เป็นไปได้ไหมที่เราจะผสมผสาน ถ่ายเทความรักที่มีให้คนอื่นมาให้ตัวเองบ้าง”

ท้ายที่สุดแล้ว การรักตัวเองเป็นกระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน และดูเหมือนจะต้องทำงานกับตัวเองเยอะจนหลายคนอาจจะตั้งคำถามว่า คนเรานั้นมีศักยภาพที่จะรักตัวเองได้หรือเปล่า คุณฝ้ายมีอะไรที่อยากจะแชร์เพื่อเป็นเสียงและกำลังใจไปถึง GEN Z กับเพื่อนๆ ทุกคนในเรื่องนี้บ้างไหม

“เราเชื่อว่าทุกคนมีศักยภาพที่จะรักที่ดี แต่ที่ผ่านมาแค่ยังไม่ได้เรียนรู้ ดังนั้น ต้องเริ่มที่รู้ตัวก่อน การรักตัวเองดูเป็นเรื่องใหญ่ มันสร้างไม่ได้ในสามวันเจ็ดวัน แต่ค่อยๆ ทำได้ อย่างเราเองก็ใช้เวลานานเหมือนกัน แล้วก็ต้องเรียนรู้ต่อไปอีก แต่การรักตัวเองมันสามารถค่อยเป็นค่อยไปได้ สามารถเริ่มได้ จากแต่ก่อน เราอาจจะเป็นคนที่ด่าตัวเอง กดดันตัวเองเยอะ ก็เริ่มจากการใช้การเขียนบอกตัวเองว่า วันนี้ทำดีแล้ว ถามตัวเองว่ารู้สึกยังไง ลองใจดีกับตัวเอง ลองกอดตัวเอง พอทำสิ่งเหล่านี้แล้วรู้สึกยังไง ก็เรียนรู้ว่าเรามอบความรู้สึกดีๆ ให้ตัวเองได้เหมือนกันนะ มันเป็นกระบวนการที่ค่อยๆ สั่งสมไปเรื่อยๆ ฉะนั้นก็ต้องค่อยๆ ทำและค่อยๆ รักตัวเอง”

ติดตามคุณ ‘ฝ้าย’ ได้ที่

Facebook: MasterPeace

Instagram: masterpeace.th

Twitter: MASTERPEACE