“เด็กคืออนาคตของชาติ” คือประโยคที่เรามักจะได้ยินอยู่บ่อยๆ แต่นักเรียนศิลปะก็ต่างรู้กันดีว่า คำว่า ‘เด็ก’ ในนั้นไม่ได้รวมถึงพวกเขา เพราะน้อยครั้งที่ศิลปะจะได้รับการสนับสนุน ไม่ว่าจะจากสังคม สถานศึกษา หรือแม้แต่รัฐบาลเองก็ตาม ถึงอย่างนั้นเหล่าผู้คนที่มีใจรักในศิลปะก็ยังไม่ย่อท้อ และทำตามความฝันของตัวเองต่อไป ในฐานะที่ผู้เขียนอยู่ในสายศิลปะ ก็อยากจะรับรู้มุมมองและความเป็นไปของเพื่อนร่วมทางสาขาอื่นๆ ด้วย จึงได้นั่งลงพูดคุยกับพวกเขาเหล่านี้ ที่เป็นช่างสัก นักวาด และผู้กำกับ
‘ดรีม – ทอฝัน ขวัญไตรรัตน์’ ช่างสัก กราฟิกดีไซน์เนอร์ และอาร์ตไดเรกเตอร์ ที่รักในการสักและอยากจะทำมันไปนานๆ (Instagram: tofu.nnn)
“เราเรียนศิลปะแล้วก็มีความชอบในรอยสักมาตั้งแต่สมัยมัธยมแล้ว พอขึ้นมหา’ลัยก็เลยเริ่มสักตอนที่อยู่ปี 1 ช่วงนั้นมันมีรอยสักตรงต้นแขนของเราที่ช่างถมไม่สนิท เราอยากแก้งานก็เลยทักไปหาช่าง แต่เขาไม่ตอบสักที แถมช่างที่โดนใจไม่มีคิวว่างด้วย เราก็เลยตัดสินใจซื้อเครื่องสักมาหัดกับตัวเอง เรียนรู้จากคลิปที่สอนในยูทูปแล้วก็สมาคมช่างสักนี่แหละค่ะ โชคดีที่เรามีความรู้ด้านศิลปะ รู้วิธีวาดรูป ลงเงา และอะไรต่างๆ อยู่แล้วด้วย ก็เลยสักเป็นเร็ว เพื่อนที่อาศัยอยู่ในบ้านเช่าเดียวกันเห็นก็ขอให้สักให้ เราฝึกมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ตอนนั้น จนมันกลายเป็นอาชีพที่เลี้ยงเราในทุกวันนี้
“ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ เราก็คงไม่แก้ไขอะไร จะยังทำเหมือนเดิม เพราะเรารักการสักมากๆ”
‘จ๋า’ นักวาดสายดิจิทัลอาร์ตอายุน้อย ผู้จับดินสอวาดรูปมาตั้งแต่จำความได้ (Twitter: imlusou)
“ตอนนี้กำลังเรียนสายศิลปกรรม เอกทัศนศิลป์ค่ะ ช่วงนี้สนใจงานศิลปะแบบอิมเพรสชันนิสม์ (Impressionism) กับ เซอร์เรียลลิสม์ (Surrealism) เป็นพิเศษ ส่วนตัววาดรูปมาตลอดตั้งแต่ตอนที่เด็กมากๆ ไม่รู้ว่าเหตุผลที่วาดคืออะไร รู้แค่ว่ามีความสุขเวลาได้วาดอะไรสักอย่าง เราฝึกฝนสกิลด้านนี้มาตลอดเพราะชอบมันจริงๆ แล้วก็มาค้นพบตัวเองตอนม.4 ที่เลือกเรียนสายศิลปะแบบเต็มตัว ได้รู้เทคนิคและรู้จักกับศิลปินคนอื่นๆ ในประวัติศาสตร์อย่าง ‘โคลด์ โมเนต์’ (Claude Monet) ที่เหมือนเป็นครูทั้งที่ไม่เคยสื่อสารอะไรกัน เราดีใจมากที่ได้เรียนสายศิลปะ เพราะมันทำให้เจอเพื่อนหลายคนที่มีความชอบเหมือนๆ กัน ถึงที่บ้านจะเคยบอกว่าเก็บความชอบตรงนี้เป็นงานอดิเรกดีกว่า อย่ามาเครียดกับสิ่งที่รักเลย เราก็ยังเลือกที่จะมาทางนี้ เพราะมีแพชชั่นกับมันจริงๆ”
“เราเคยคิดว่าจะวาดรูปเป็นงานอดิเรกเฉยๆ แต่ก็ไม่สามารถทนเครียดกับอย่างอื่น ไม่เหมือนกับการวาดรูปที่ต่อให้เครียดแค่ไหนก็ทนได้”
‘แต๊งส์ – จิตริน วุฒิพันธุ์’ ผู้กำกับอนาคตไกลที่ชื่นชอบการทำมิวสิกวิดีโอและหนังสั้น (Instagram: jittarinwu)
“ผมเป็นคนที่ชอบดูหนังมาตั้งแต่เด็กเลยครับ บ้านเคยอยู่ติดกับโรงหนังด้วย พอมาถึงจุดหนึ่งก็คิดว่าอยากจะสร้างหนังของตัวเองขึ้นมาเหมือนกัน สิ่งหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อผมมากก็คือสถานที่ที่ผมชอบปิดตัวลง แต่ผมไม่มีภาพที่เก็บความทรงจำเกี่ยวกับมันไว้เลย ก็เลยรู้สึกว่าต่อไปถ้าได้ทำหนังก็อยากจะบันทึกภาพไว้ เผื่อว่าวันหนึ่งมันจะหายไป จนผมได้เรียนฟิล์มที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ แล้วก็จับพลัดจับผลูมาทำมิวสิกวิดีโอเพลง ‘Please be true’ ของ LANDOKMAI หลังจากนั้นก็ทำมาเรื่อยๆ เลยครับ”
“เคยพูดกับเพื่อนเล่นๆ เหมือนกันว่าถ้าเลือกได้ก็อยากเป็นเด็กที่อยากทำอะไรที่ดูเป็นอาชีพมากกว่านี้ แต่ผมยังชอบทำหนังกับภาพเคลื่อนไหวมากๆ เลยครับ”
มุมมองที่มีต่อวงการของสิ่งที่ตัวเองรัก
ดรีม: เมื่อปีที่แล้วเราเริ่มเจอปัญหาในการสักอย่างหนึ่ง ก็คืองานสักเริ่มแมสมากๆ กรมอนามัยก็เข้ามาควบคุมเรื่องการสักมากขึ้น ทั้งในเรื่องของหมึกสักที่ไม่อนุญาตให้ใช้บางยี่ห้อ แล้วก็ใบประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพที่จะยื่นขอก็ได้ แต่เขาไม่ค่อยตรวจกัน แค่ไปยื่นเรื่องที่สำนักงานเขตก็ได้มาแล้ว พอระบบการจัดการมันหละหลวมแบบนี้ก็จะมีร้านสักที่ไม่มีคุณภาพ ด้วยความที่อุปกรณ์สักหลายๆ อย่างต้องสั่งมาจากต่างประเทศ บางร้านก็จะลักไก่ใช้เข็มซ้ำ อีกอย่างคือทางรัฐไม่มีกฎหมายคุ้มครองอาชีพนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นภาคเอกชนมากกว่าที่รองรับเรา ทำให้อาชีพของเราไม่ได้ถูกยอมรับในองค์กรจริงๆ เวลาไปยื่นภาษีก็ต้องยื่นเป็นอาชีพอิสระ ซึ่งรายได้แต่ละเดือนไม่คงที่ สรรพากรก็จะสงสัยเอาได้ค่ะ เราก็เลยอยากให้อาชีพช่างสักได้รับการยอมรับและทำให้มีมาตรฐานมากกว่านี้ เพราะมันต้องมีเรื่องของความสะอาด ความละเอียด แทบจะเหมือนการศัลยธรรมด้วยซ้ำ
จากมุมมองของเรา ตอนนี้ภาคเอกชนมีกลุ่มช่างสัก มีซัพพลายที่ชัดเจนมากกว่าเมื่อก่อน เริ่มมีแบรนด์ของคนไทยมากขึ้น ถ้าสมมติว่าวงการนี้ยังพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ และรัฐบาลเข้ามาให้ความสนใจ ทำให้ใบรองรับที่ได้จากเอกชนเข้าไปสู่รัฐ มันก็อาจจะเติบโตได้ดีขึ้น เพราะทุกวันนี้วงการช่างสักก็ดิ้นรนและซัพพอร์ตกันเองอยู่แล้ว ขาดแค่แรงสนับสนุนจากรัฐค่ะ
จ๋า: ในวงการดิจิทัลอาร์ต เท่าที่เห็นคือนักวาดหลายคนยังกดราคางานของตัวเองอยู่ค่ะ ซึ่งจะโทษเขาโดยตรงก็ไม่ได้ เพราะมันเกี่ยวกับค่าแรงขั้นต่ำของคนไทยที่ทำให้หลายๆ ครั้งกำลังซื้อไม่ได้สูง นักวาดบางคนขึ้นราคางานของตัวเองกันบ้างแล้ว แต่พอทำอย่างนั้นก็ไม่มีคนซื้อ กลุ่มลูกค้าก็จะมีแต่คนที่มีกำลังทรัพย์ ซึ่งจะรอแต่ลูกค้ากลุ่มนั้นให้มาจ้างก็ไม่ได้ มันจะไม่พอเลี้ยงปากท้อง ถึงอย่างนั้น ถ้าปรับราคาลงก็จะเกิดการเปรียบเทียบกับนักวาดคนอื่นๆ มีการกดราคา เรามองว่าเรื่องนี้ไม่ได้แก้ไขกันง่ายๆ เพราะเป็นปัญหาที่หยั่งรากลึกในวงการศิลปะไทย อาจจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทีละนิดทีละหน่อยค่ะ หวังว่ามันจะเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ หวังด้วยว่ารัฐบาลจะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือตรงนี้ เพราะงานดิจิทัลอาร์ตกระจายอยู่แทบทุกพื้นที่ ทั้งแผ่นป้ายโฆษณาและสื่อต่างๆ แต่คนที่ได้รับการสนับสนุนจริงๆ ก็มีแต่คนที่ทำงานกับบริษัทใหญ่ ศิลปินอิสระตัวเล็กๆ ก็อยู่ยาก ทั้งที่มีฝีมือเหมือนกัน
แต๊งส์: ในด้านของวงการภาพยนตร์ ล่าสุดหนังของผม ‘still on my mind.’ ได้ไปฉายเป็น Headliner ที่เทศกาล Taiwan International Documentary Festival 2022 ตอนที่จะได้เดินทางไปไต้หวันเพื่องานนี้ รุ่นพี่เขาบอกว่าจริงๆ แล้วภาครัฐควรจะจ่ายค่าเดินทางหรือค่าที่พักให้ผมด้วยซ้ำ แต่ทางไต้หวันกลับต้องมาจ่ายเอง ซึ่งสุดท้ายก็ไม่ได้ไปเพราะว่าติดโควิด เสียดายมากครับ
นอกจากนี้ผมก็มองว่าภาพยนตร์ในไทยถูกจำกัดกรอบเยอะมากๆ อย่างหนังเรื่องนี้ของผมก็ได้ไปฉายที่ม็อบทะลุฟ้า หลังจากนั้นก็มีทหารกดเพิ่มเพื่อนมาในเฟซบุ๊ก เขาทักแชทผมด้วย แต่ตอนนั้นบล็อกไปแล้วก็ไม่เกิดอะไรขึ้น จากเหตุการณ์นั้นก็ทำให้ผมยิ่งรู้สึกว่าเสรีภาพในการทำหนังถูกจำกัด อีกอย่างคือ ล่าสุดผมไปเทศกาลหนังที่ปูซาน (Busan International Film Festival) และได้คุยกับคนทำหนังที่เป็นชาวอินโดนีเซียกับสิงคโปร์ ก็เลยได้รู้ว่ารัฐบาลของเขามีทุนให้คนทำหนังด้วย ในขณะที่ประเทศของเราไม่มีอะไรแบบนั้นเลย หรือถ้ามีก็จะเป็นการทำหนังที่แฝงความชาตินิยมหรืออนุรักษ์นิยมมากกว่า ไม่ค่อยเปิดรับไอเดียอื่นๆ เท่าไหร่เลยครับ รุ่นพี่ที่เรียนฟิล์มหลายคนจบไปแล้วหมดแพชชั่นก็มีเยอะ ทั้งที่เขาฝีมือดีมากๆ
ส่วนวงการมิวสิกวิดีโอ บางครั้งค่าตัวก็ไม่สมเหตุสมผลกับแรงที่เราใช้มากๆ ไม่ได้เป็นทุกค่ายนะครับ อย่างค่ายที่ผมร่วมงานด้วยอยู่ก็เป็นค่ายที่ดีมากๆ แต่บางครั้งเพื่อนกับรุ่นพี่ก็เล่าให้ฟังว่าเคยเจอแบบรวมทั้งค่าตัวและมิวสิกวิดีโอ 40,000 บาท ทั้งที่แค่ค่าโปรดักชั่นก็ปาเข้าไปเกินครึ่งแล้วครับ ซึ่งบางทีมก็ยอมรับมาเพื่อให้ได้ผลงานไปใส่พอร์ต เผื่อว่าในอนาคตจะมีงานที่ให้เงินเยอะกว่านี้ ถือว่าเป็นการตัดราคาคนในวงการแบบกลายๆ สะท้อนให้เห็นว่าประเทศนี้มีโอกาสน้อยสำหรับสายมิวสิกวิดีโอ และบางครั้งเราก็ทำร้ายกันเองโดยที่ไม่รู้แล้วว่าต้นตออยู่ตรงไหนกันแน่ ไม่รู้ว่าในอนาคตจะเป็นยังไง แต่ผมหวังมากๆ ว่ามันจะดีขึ้นครับ
ให้คะแนน 1-10 ต่อแรงสนับสนุนที่ได้รับจากทางภาครัฐ และความคาดหวังที่อยากให้เกิดขึ้น
ดรีม: สัก 2 แล้วกันค่ะ ถ้าสมมติว่ารัฐบาลให้ความสนใจด้านศิลปะแล้วก็หันมาสนับสนุนตรงนี้แบบจริงจัง มันอาจจะเติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะพอเรามาเป็นช่างสักก็ได้เห็นว่าหลายๆ คนในสายอาชีพเดียวกันเคยเรียนศิลปะมาก่อน ซึ่งทำผลงานออกมาสวยมาก แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเท่าที่ควร งานก็เลยไม่โต บางครั้งก็เห็นคนดังไปสักกับช่างเมืองนอกราคาหลายแสน ทั้งที่มีช่างไทยฝีมือดีๆ เยอะ ถ้ามีการควบคุมมาตรฐานและรองรับวิชาชีพให้อยู่ในระบบเหมือนอาชีพอื่นๆ เรามองว่ามันจะดีขึ้นได้ค่ะ
จ๋า: (หัวเราะแห้ง) ถ้ามีเลข 0 เราก็อยากให้ แต่ให้สัก 1 แล้วกัน รู้สึกว่าดิจิทัลอาร์ตยังไม่เคยได้รับการสนับสนุนในไทยจริงๆ เลย ไม่เคยให้ทุนกับนักเรียนสายนี้ด้วยซ้ำ ส่วนตัวเราเคยไปแข่งงานดิจิทัลอาร์ตที่เป็นของภาครัฐครั้งหนึ่ง แต่กรรมการไม่ได้ตรวจสอบให้ดี ก็เลยรู้สึกแย่ว่าเขาไม่ได้ทำการบ้านเรื่องดิจิทัลอาร์ตมา ซึ่งพอไม่ได้มีความรู้ตรงนี้มันก็ไปไม่สุด น่าเสียดายเหมือนกันค่ะ
นอกจากนี้เราก็อยากให้คนเลิกมองว่างานดิจิทัลอาร์ตเหนื่อยน้อย เคยโดนพูดใส่บ่อยมากว่ามีโปรแกรมเป็นเครื่องทุ่นแรง เพราะเขาไม่รู้ว่าขั้นตอนการทำงานของเราเป็นยังไง แม้แต่กับคนที่อยู่ในวงการศิลปะเหมือนกันก็ยังมองว่ามันไม่มีคุณค่าเท่างานวาดมือ หรืออย่างเพื่อนเราก็เคยโดนลูกค้าบอกว่า “วาดแป๊บเดียวเอง ทำไมคิดตั้งแพง ไม่แพงเกินไปหน่อยเหรอ” เราเองก็เคยเจอมาประมาณว่า “วาดรูปก็แค่ใช้มือเอง ไม่ต้องใช้สมองคิดคำนวณไม่ใช่เหรอ” ทั้งที่ศิลปะทุกแขนงก็ต้องใช้ความรู้กับประสบการณ์ที่สั่งสมมาเป็นปีๆ บางงานอาจจะต้องใช้เวลาคิดเป็นวันหรือเป็นเดือน ไม่ควรที่จะโดนดูถูกแบบนี้ เพราะฉะนั้น สำหรับเรา การสนับสนุนไม่ต้องเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่ แค่ละเลิกบางความคิดก็ถือว่าเป็นการสนับสนุนแล้ว
แต๊งส์: ผมว่า 0 เลยนะครับ จริงๆ แล้วติดลบด้วยซ้ำ ล่าสุดก็มีข่าวหนึ่งที่ยังไม่ได้รับการยืนยันว่า ถ้าจะฉายหนัง ต้องเสียค่าพิจารณาภาพยนตร์ให้กับกองเซ็นเซอร์นาทีละ 100 บาท ซึ่งเยอะมากๆ เลยครับ และมันก็ไม่ใช่ระบบที่ดีหรือแฟร์สักเท่าไหร่สำหรับคนทำงานทุกภาคส่วน ยังไงๆ รัฐบาลก็ควรสนับสนุนในส่วนนี้ครับ
อย่างน้อยที่สุดผมก็หวังว่าภาครัฐจะออกทุนให้ผู้กำกับไทยที่มีผลงานฉายในต่างประเทศได้ไปร่วมเทศกาลหนังนั้นๆ ครับ แค่นั้นก็ถือว่าเป็นการสนับสนุนแล้วสำหรับตอนนี้ เพราะเวลาผมได้ยินว่ารุ่นพี่หรือใครได้ไปเข้าร่วมเทศกาลหนังก็รู้สึกว่าพวกเขาเจ๋งมากๆ ทำให้มีแรงบันดาลใจมาทำงานของตัวเองต่อ มันสนับสนุนต่อกันเป็นทอดๆ ครับ แต่ทุกวันนี้ผู้กำกับบางคนยังไม่มีกำลังทรัพย์มากพอที่จะบินไปเข้าร่วมได้ ทั้งที่ผลงานของคนไทยก็ได้ออกฉายทุกปี ถ้ามีการสนับสนุน ความน่าเสียดายตรงนี้ก็จะลดน้อยลงได้ครับ
ความตั้งใจที่อยากทำให้สำเร็จภายในปี 2023
ดรีม: เราพอใจในจุดนี้แล้ว แต่ถ้าจะให้คอมพลีทจริงๆ ก็คือการที่เราได้ทำอาชีพนี้ไปนานๆ เพราะเรารู้สึกว่าการสักเป็นงานที่ทำนานๆ แล้วจะมีปัญหาสุขภาพตามมา อย่างเช่น สุขภาพหลังและสายตา การโฟกัสของมือที่ต้องใช้สมาธิเยอะมากๆ ซึ่งจะมีปัญหาอย่างเห็นได้ชัดเมื่ออายุเยอะขึ้น เพราะฉะนั้น การเกษียณตัวจากอาชีพนี้จะเร็วกว่าอาชีพอื่นมาก สิ่งที่เราอยากทำในอนาคตก็เลยเป็นการสร้างผลิตภัณฑ์บางอย่างที่จะช่วยให้สามารถอยู่กับอาชีพนี้ได้ในระยะยาว โดยที่ไม่ต้องลงมือทำเอง ก็คือการทำแบรนดิ้งหรือสร้างสไตล์การสักที่เป็นของเราค่ะ
จ๋า: ในเร็วๆ นี้ก็มีโปรเจกต์หนึ่งที่กำลังพัฒนาไว้ไปใส่พอร์ตยื่นเข้ามหา’ลัยอยู่ค่ะ เป็นเกมแนวเนื้อเรื่อง (Visual Novel) เราดีลไว้กับเพื่อนคนหนึ่งที่เรียนวิทยาการคอมพิวเตอร์ เขาจะเขียนโค้ดเกมให้ ส่วนเราเป็นคนคิดเนื้อเรื่องกับทำวิชวล อยากจะทำตรงนี้ให้ดีค่ะ แล้วก็คงจะวาดรูปต่อไปเรื่อยๆ
แต๊งส์: ตอนนี้ผมเรียนอยู่ปี 4 และปีหน้าก็จะต้องทำธีสิสเป็นภาพยนตร์ความยาวประมาณ 30-40 นาทีครับ ช่วงนี้ก็เลยโฟกัสกับมันมากๆ เพราะอยากเล่าเรื่องที่รู้สึกว่าเป็นเสียงของผมจริงๆ ส่วนมิวสิกวิดีโอ ผมอยากจะทำอะไรที่ตัวเองชอบไปเรื่อยๆ เพราะส่วนตัวไม่ค่อยชอบงานที่ถูกจำกัดว่าต้องเป็นแบบไหน ก็เลยรู้สึกว่าตัวเองโชคดีมากๆ ที่ได้ทำในสิ่งที่ชอบ และยังอยากให้มันเป็นอย่างนี้อยู่ครับ