ความเชื่อทางไสยศาสตร์ในพระราชพงศาวดารไทย

จากกระแส #คณะราษเปซ ที่มาแรงจนขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์และเป็นประเด็นร้อนแรงในตอนนี้ สิ่งที่หลายคนเคยมองว่าเป็นเทพหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ กลายมาเป็นผีและเรื่องมนต์ดำทางไสยศาสตร์ วันนี้ EQ จะพาทุกคนมาสำรวจความเชื่อทางไสยศาสตร์ในพระราชพงศาวดารไทยกัน

พระราชพงศาวดาร’ เป็นบันทึกเหตุการณ์เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์และประเทศ แม้วัตถุประสงค์ของมีไว้เพื่อเป็นตำราสำหรับชนชั้นปกครอง แต่ในพระราชพงศาวดารได้นำเสนอเรื่องราวทางไสยศาสตร์ไว้หลายเหตุการณ์ด้วยกัน เช่น การทำเสน่ห์ การทำนายฝัน คาถาอาคม นิมิต โชลาง เป็นต้น โดยไสยศาสตร์ที่ปรากฏในพระราชพงศวาดารที่ถูกชำระทั้งหมด 3 สมัย ประกอบด้วย 6 ลักษณะ คือ

1. อิทธิปาฏิหาริย์ เป็นการแสดงฤทธิ์ที่พ้นจากความสามารถของมนุษย์ รวมถึงอำนาจวิเศษของเทพเจ้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์และภูตผีปีศาจเป็นอำนาจที่ทำให้เกิดเหตุการณ์เหนือธรรมชาติ ในพระราชพงศาวดารสมัยที่ 2 รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์ ที่เมืองนครชัยศรี เมื่อพระองค์ทำการสักการะบูชาจึงเกิดอิทธิปาฏิหาริย์ขึ้น เนื้อหาความว่า “ เห็นที่องค์พระปรางค์เป็นดวงกลมออกตามซุ้มคูหาฝ่ายอุดรทิศ ดวงโตเท่าผลส้มเกลี้ยง มีรัศมีสว่างขึ้นไปเบื้อบนถึงยอดนภศูล”

2. ฤกษ์ยาม “ฤกษ์” คือ เวลาที่กำหนดหรือคาดว่าจะให้ผล เช่น ฤกษ์ดี ฤกษ์ร้าย ส่วน “ยาม” ช่วงแห่งวัน เป็นเวลายามละครึ่งชั่วโมง ในพระราชพงศาวดารสมัยที่ 1 พระนเรศวรดำรัสให้พระโหราธิบดีหาฤกษ์สำหรับการยกทัพไปทำศึกกับพระมหาอุปราชากรุงหงสาวดี ซึ่งได้ฤกษ์จตุรงคโชค เป็นฤกษ์มงคลที่เชื่อว่าจะชนะในสงคราม


3. เครื่องรางของขลัง เป็นการปลุกเสกด้วยเวทมนต์คาถา เชื่อว่าทำให้ร่างกายทนทานต่ออาวุธ โดย “เครื่องราง” เป็นของที่เชื่อว่าป้องกันอันตราย ฟันไม่เข้า ส่วน “ของขลัง” เป็นสิ่งที่มีอำนาจทำให้ร่างกายทนทานต่อคมอาวุธ ในพระราชพงศาวดารสมัยที่ 2 ช่วงสงครามเก้าทัพ รัชกาลที่ 1 ได้ให้พระมหาช่วย เกจิอาจารย์หัวเมืองพัทลุงลงคาถาอาคมบนผ้าประเจียดและเสกตระกรุด เพื่อขวัญกำลังใจให้กองทัพชาวพัทลุง

4. คาถาอาคม เป็นถ้อยคำศักดิ์สิทธิ์ที่มาจากศาสนาพราหมณ์ เมื่อเข้ามาปนกับศาสนาพุทธได้มีการดัดแปลงคาถาใหม่ โดยบรรจุพระพุทธมนต์เข้าไปแทน เชื่อว่าให้คุณด้านการป้องกันตัว การแสดงอิทธิ์ฤทธิ์ การรักษาโรค การป้องกันภูตผี และการทำเสน่ห์ ในพระราชพงศาวดารสมัยที่ 2 กล่าวถึงตอนที่เจ้าจอมมารดาม่วงทำเสน่ห์สมเด็จพระราชวังบวรสถานมงคลในสมัยรัชกาลที่ 2 จนมีโทษถึงประหารชีวิต

5. โชคลาง “โชค” เป็นสิ่งที่นำผลในทางที่ดีมาให้โดยไม่คาดหมาย ส่วน “ลาง” เป็นปรากฏการณ์ที่เชื่อว่าจะบอกเหตุดีหรือเหตุร้าย ในพระราชพงศาวดารสมัยที่ 1 กล่าวถึงลางบอกเหตุเสียกรุงศรีอยุธยาพ.ศ. 2310 สมัยพระเจ้าเอกทัศน์ พระราชพงศาวดารกล่าวถึงลางบอกเหตุจากสัตว์ สภาพอากาศ พระพุทธรูป และรูปปั้นของบูรพมหากษัตริย์

6. ความฝัน เป็นการเห็นเรื่องราวขณะนอนหลับของกษัตริย์ โดยความฝันจะถูกทำนายเพื่อบอกเหตุการณ์ในอนาคตที่จะเกิดขึ้น ในพระราชพงศาวดารสมัยที่ 1 กล่าวถึงความฝันของพระนเรศวรก่อนเกิดศึกยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาหงสาวดี

การปรากฏความเชื่อทางไสยศาสตร์ในพระราชพงศาวดารทั้ง 3 สมัยสะท้อนให้เห็นถึงมุมมองความคิดของชนชั้นปกครองตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ โดยการชำระพระราชพงศาวดารแต่ละครั้งเป็นไปเพื่อยกย่องพระเดชานุภาพและบุญบารมีของกษัตริย์ในฐานะ “สมมติเทพ” ที่มีสถานภาพเหนือกว่าประชาชน ขณะเดียวกันได้ใช้ไสยศาสตร์สะท้อนประวัติศาสตร์อีกด้านหนึ่งของราชวงศ์อีกด้วย

อ้างอิง

https://so06.tci-thaijo.org/index.php/husojournal/article/view/215500/164331