เยียวยาใจอย่างไร ในวันที่โลกเต็มไปด้วยความเครียด กับดุจดาว วัฒนปกรณ์

หนึ่งในรายชื่อของนักจิตบำบัดในเมืองไทยที่ถูกนึกถึงเป็นลำดับต้นๆ เชื่อว่าต้องมีชื่อของ ดุจดาว วัฒนปกรณ์ เธอเป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน Empathic Communication หรือการสื่อสารแบบเห็นใจผู้อื่น และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการบำบัดด้วยการเคลื่อนไหวร่างกายเพียงคนเดียวในประเทศไทย ในสภาวการณ์ปัจจุบัน ที่ไม่ค่อยปกตินัก มาฟังวิธีการปรับใจและใช้ชีวิตท่ามกลางความเครียด ในมุมมองจากเธอกัน 

จากประสบการณ์ การทำงานด้านจิตบำบัดมาหลายสิบปี เคสของคนที่เข้ารับการรักษา วันนี้และวันนั้นมีความแตกต่างกันยังไง 

“ย้อนไปเมื่อ 11 ปีที่แล้ว คนที่เข้ามารับการบำบัดส่วนใหญ่ จะมีภาวะของโรคทางจิตเวชชัดเจนไปเลย เช่น Autism หรือ OCD  ต้องพบจิตแพทย์ ทานยา และทำการบำบัดจิตไปพร้อมๆ กัน ในวันนี้ดาวมองว่าคนมีความรู้ทางจิตเวช และเปิดใจกับเรื่องนี้เยอะขึ้น ยอมรับว่าตนเองเครียด และกล้าไปพบนักจิตบำบัด ซึ่งดาวมองว่าเป็นสิ่งที่ positive มากๆ  จากประสบการณ์การทำงานของดาว พบว่า  เคสที่เจอในวันนี้ หลายคนอยู่ในกลุ่มของ  High Function คือไม่ต้องถึงขัั้นไปพบคุณหมอและทานยา สามารถใช้ชีวิตได้ปกติ แต่จะมีความเครียดสะสม เพราะเจอกับปัญหาเดิมซ้ำๆ  เช่น ทะเลาะกับแม่บ่อยๆ  กับพ่อ หรือกับลูก มีปัญหาด้านความสัมพันธ์กับคนรอบตัว ซึ่งคนเหล่านี้ได้ลองคลายความเครียด ด้วยการทำโยคะ ทำสมาธิ มันผ่อนคลายขึ้น แต่มันไม่ใช่การแก้ปัญหาอย่างแท้จริง คนที่มาหาดาวส่วนใหญ่ เป็นคนที่ต้องการอยากจะทำความเข้าใจตัวเองและจัดการกับต้นตอของปัญหาจริงๆ มากกว่า” 

โดยเธอได้เล่าให้ฟังว่า คนในวันนี้ เครียดง่ายขึ้น ทั้งจากปัญหาสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ หรือแม้กระทั่งการพึ่งเทคโนโลยีหรือโซเชียลมีเดีย ก็เป็นส่วนสำคัญ ที่ทำให้ผู้คนขาด Human Connection  ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้คนไม่ได้ซัพพอร์ทกันและกันอย่างที่ควรจะเป็น 

“ต้นตอความเครียดของคนที่มาหาดาว ส่วนใหญ่ มักมาจากปัญหาเรื่องการสื่อสารกับคนรอบข้าง ทั้งที่บ้าน และที่ทำงาน นั่นจึงทำให้ดาวสนใจในเรื่อง Empathic Communication มากๆ นั่นคือการสื่อสารด้วยความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจกัน ดาวได้นำมาใช้ในการทำ Workshop ตั้งแต่ Session เล็กๆ ไปจนถึงองค์กรใหญ่ๆ แล้วเห็นผลลัพธ์ว่ามันเวิร์คขึ้น ทั้งความสัมพันธ์แบบส่วนบุคคล หรือต่อองค์กรใหญ่ๆ ดาวมองว่า การสื่อสารด้วยความเห็นอกเห็นใจ และเข้าใจกัน มันจะทำให้สังคมนี้น่าอยู่ขึ้นมาก ทั้งในครอบครัว ที่ทำงาน หรือแม้แต่เรื่องการเมืองบนโซเชียลมีเดียก็ตาม” 

แม้บทบาทของเธอ จะเป็นนักจิตบำบัด ที่ต้องคอยรับฟัง และซัพพอร์ตให้กำลังใจผู้อื่น ในขณะเดียวกัน เธอก็ยอมรับว่า การที่ต้องเผชิญความเครียด หรือความกังวลใจ ก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับมนุษย์ปุถุชนเช่นเธอ 

“ เราก็มีความเครียดเหมือนกับหลายๆ คนนั่นแหละ เจอภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดี ก็กระทบไปหมด  ความไม่แน่นอนต่างๆ ที่เราไม่สามารถวางแผนอะไรได้เลย ความผิดหวัง ที่มาจากการคาดหวัง ล่าสุด ดาวก็เพิ่งผ่านการสูญเสียคนใกล้ตัวในครอบครัวไป มันก็มีผลต่อจิตใจเรามากๆ” 

มีวิธีรับมือกับความรู้สึกแย่ๆ ยังไง

 “ต้องบอกตัวเองให้ได้ ว่าเครียดเรื่องอะไร และจะจัดการมันยังไง ในแต่ละวัน เราจะมีช่วงเวลา Self Care ถ้ารู้สึกเครียด ก็จะอยู่กับตัวเอง ไม่วาดรูป ก็เคลื่อนไหว  เขียนบันทึก มันจะทำให้เราเรียบเรียงความคิดและความรู้สึกของตัวเอง  วิธีที่สอง  เราจะใช้ Support System โดยสามี หรือเพื่อนที่อยู่รอบตัว มาเป็นตัวช่วยประคับประคอง ฟังและพูดคุย วิธีที่สาม ถ้าหนักมาก เราก็จะมี Supervisor เพื่อขอคำปรึกษา จริงๆ แล้วการปลูกต้นไม้ ก็ช่วยได้มาก ระหว่างที่ทำมันเหมือนเราได้มอร์นิเตอร์จิตใจ ถ้าตอนนี้รู้ว่าเราเครียด ก็หาอะไรซักอย่างทำ เพื่อคลายเครียด ไม่ใช่แบกความเครียดไว้” 

ซึ่งหากใครกำลังต้องเผชิญภาวะความเครียดและหาทางออกไม่เจอ เธอได้แนะนำวิธีปฏิบัตดังต่อไปนี้ 

“สเตปหนึ่ง ต้องต้องจัดการตัวเองก่อน ด้วยการระบาย เพราะระหว่างที่เราได้ระบาย เราจะได้เรียบเรียงความคิด คลี่คลาย และเข้าใจตัวเองมากขึ้น ซึ่งนี่คือกระบวนการที่พิเศษมาก เลือกระบายกับคนที่รู้สึกว่าเขาคือพื้นที่ปลอดภัย ไม่ต้องระแวงหรือกังวลว่าเขาจะตัดสิน หรือด่าเรากลับ แต่หากพบว่า เอ๊ะ ไม่แน่ใจ ว่าการแก้ปัญหาของเรานั้นถูกต้องหรือเปล่า   สเตปสอง จะเริ่มเป็นเวทีของผู้ให้คำปรึกษา เลือกคนที่จะไม่ตัดสินเรา เพราะคนส่วนใหญ่ที่เวลาเจอเรื่องอัดอั้น หากเจอผู้ให้คำปรึกษามายื่นคำสอน หรือใช้คำโขกสับ จะยิ่งไปกันใหญ่ คนที่กำลังเครียด เขาไม่มีพื้นที่ในการคิดวิเคราะห์ เพราะฉะนั้นหากคุณคือผู้ให้คำปรึกษา ก็แค่รับฟัง นั่นคือเพียงพอแล้ว”  

และสำหรับหลายคนที่กำลังอยู่ในภาวะท้อแท้ หมดกำลังใจในชีวิต ลองตั้งใจฟังคำแนะนำจากเธอ นั่นอาจจะทำให้คุณได้ค้นพบทางออกในชีวิตก็เป็นได้ 

“สิ่งแรกที่ทำ คือจัดการกับ Mindset ของตัวเองก่อน เพราะว่านี่คือสิ่งที่สำคัญมาก บางคนเวลาอยู่ในภาวะแบบนี้ แล้วตกใจตัวเอง เฮ้ย! … ฉันเคยแข็งแกร่งมานาน   นี่ฉันผิดแปลกไปหรือเปล่า จริงๆ ไม่ใช่ค่ะ ท้อได้ เหนื่อยได้ สิ้นหวังได้ วันที่ลุกไม่ไหวมันเกิดขึ้นได้ เพราะมันมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้มันเกิดอนุญาตให้ตัวเองเป็นแบบนั้นได้ สเต็ปที่สอง ค่อยๆ ทำความเข้าใจและระบายออก หาคนใกล้ตัวสักคนที่ปลอดภัย หรือหากหาไม่ได้ เปิดสมุดโน้ต แล้วเขียนระบาย มันคือการทำงานกับตัวเองเพื่อจะได้เข้าใจว่า ข้างในความรู้สึกของเรามันเกิดอะไรอยู่  บางทีระหว่างที่เราได้ระบาย เราก็อาจจะพบคำตอบ เฮ้ย! … จริงๆ ฉันแค่เครียดว่ะ (หัวเราะ)  คนส่วนใหญ่พอเกิดปัญหามาก็จะวิ่งลน แล้วตอบตัวเองไม่ได้ ซึ่งพอตอบตัวเองไม่ได้ คุณก็จะไม่มีวันรู้ ว่าจริงๆ แล้วคุณต้องการอะไร”  

นิยามความสุข และการสร้างความสุขของดุจดาว

“การได้เติมเต็มความต้องการทางใจลึกๆ การให้คุณค่าและรักษาคุณค่าในตัวเรา คือสิ่งที่สำคัญมากสำหรับดาว ส่วนวิธีสร้างความสุขของดาว ง่ายมาก คือการได้ชื่นชมและรื่นรมย์กับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่มีอยู่แล้วบนโลกใบนี้” 

“เราถูกสอนโดยคุณพ่ออยู่เสมอว่า แค่เราสามารถลืมตาตื่นขึ้นมาได้ในอีกวัน นี่ก็เป็นเรื่องน่าดีใจแล้ว  เพราะว่าชีวิต มันก็มีเรื่องสนุก และสิ่งสวยงาม ในอีกหลายมุม ซึ่งดาวมองว่า การชื่นชมธรรมชาติ ของต้นไม้ ของมนุษย์ มันคือความสุขที่มาจากภายในจริงๆ”   

นอกจากบทบาทของนักจิตบำบัด อีกศาสตร์หนึ่งที่ต้องยกให้เธอเป็นผู้เชี่ยวชาญในเมืองไทยเพียงหนึ่งเดียว คือการเป็นผู้สอนทางด้าน Dance Movement Psychotherapis  ศาสตร์บำบัดจิตที่รักษาคนไข้โดยวิธีการเคลื่อนไหวร่างกาย ซึ้งเธอยอมรับ ว่านี่คือศาสตร์ใหม่ ที่คนไทยไม่คุ้นเคยเท่าไหร่นัก 

“Dance Movement Phychotherapis คือการเคลื่อนไหวร่างกาย ให้สอดคล้องไปกับท่วงทำนองของจิตใจ มันคือการใช้ร่างกายสื่อสารกับจิตใจ เพื่อให้เข้าใจ รู้ทันความคิดและอารมณ์ของตัวเอง คนไทยเริ่มรู้จัก และสนใจมากขึ้น แต่ก็ยอมรับว่า ศาตร์นี้ยังไม่ได้รับความนิยมในบ้านเรานัก เพราะคนไทยส่วนใหญ่ยังมีทัศนคติที่เห็นว่า  เท้าเป็นของต่ำ หัวเป็นของสูง หรือมาเต้นก็ต้องเต้นให้สวย และสนุก  ซึ่งนิยามของคำว่าเต้นของ Dance Therapy มันกว้างกว่านั้นมาก”

ดุจดาว วัฒนปกรณ์ ยอมรับอย่างตรงไปตรงมา ว่าเธอเป็นมนุษย์ขี้เบื่อ นั่นจึงทำให้เธอทำงานในหลากหลายหมวดหมู่ นักจิตบำบัด,  ผู้ก่อตั้งบริษัท Empathy Sauce ,  ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารเพื่อความเข้าใจ (Empathy) , สมาชิกหลักของกลุ่มละคร B-Floor before, Host รายการ R U OK Podcast ทางสำนักข่าว THE STANDARD, นักเขียนเจ้าของหนังสือ “ปีแสง” และล่าสุด กับผลงาน  “เครื่องมือที่จะช่วยให้คุณรู้สึกอ่อนโยนกับตัวเอง”  เพื่อฝึกสำรวจ ใคร่ครวญ ทบทวน รู้เท่าทัน และยอมรับ เพื่อจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกตัวเอง กับแบบฝึดหัด Mind Exercise Vol.1 “ชุดออกกำลังใจ” ที่ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการทำงานกับใจตัวเอง หากใครหลายคนกำลังมองหาที่ทบทวนจิตใจของตัวเอง ลองดูข้อมูล เพิ่มเติมได้ที่ https://empathysauce.com/toolkit/