Art

คุยกับ ‘ธนัช ธีระดากร’ ศิลปินผู้หลงใหลในเสียงดนตรี มนุษย์ และการแต่งเสียงรถยนต์

‘ศิลปะคืออะไร?’ คงเป็นคำถามที่มีคำตอบแตกต่างหลากหลาย ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของผู้ตอบคำถามแต่ละคน เช่นเดียวกับศิลปินที่ EQ อยากพาทุกคนไปรู้จักในวันนี้ เขาก็มีคำนิยามให้กับคำว่าศิลปะในแบบของตัวเอง จากเด็กนักเรียนผู้ตั้งคำถามกับ 'ระบบอำนาจ' ในสถาบันการศึกษาไทย สู่การเป็นศิลปินในเนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี ด้วยประสบการณ์ และผู้คนมากมายที่เขาได้พบเจอ หลอมรวมเป็นแรงบันดาลใจให้กับงานศิลปะสุดจัดจ้านของเขา วันนี้เราอยากพาทุกคนไปทำความรู้จักทุกแง่มุมในชีวิตของ ‘ธนัช ธีระดากร’ ศิลปินผู้ที่อยากให้ 'พื้นที่การแสดงออก' ของคนไทยมีมากกว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้

จากนักดนตรีสู่กราฟิกดีไซเนอร์

ผมเล่นดนตรีกับเพื่อนๆ สมัยที่เรียนอยู่มัธยม แต่เล่นในฐานะที่มันเป็นงานอดิเรก แล้วในระหว่างนั้นผมก็มีโอกาสได้ไปร้านขายแผ่นซีดี ซึ่งตอนนั้นผมเริ่มมองเรื่องอาร์ตเวิร์กของหน้าปกซีดีแล้ว คือรู้สึกสนใจ และรู้สึกว่ามันให้อะไรกับเรา เราได้อะไรสักอย่างจากมัน จนถึงช่วงที่ต้องเข้ามหาวิทยาลัย ผมก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่า จะเรียนอะไรดีนะ เลยกลับมาดูว่าเราชอบอะไร ก็พบว่า เราสนใจเรื่องหน้าปกซีดีที่มีการดีไซน์ต่างๆ สุดท้ายเลยตัดสินใจเข้าไปเรียนกราฟิกดีไซน์ 

ระหว่างที่เรียนมหาวิทยาลัย ผมก็ได้เจอคนเยอะ ได้คุยกับพวกเขา แล้วก็ทำให้ผมได้เรียนรู้อะไรมากมายจากคนรอบตัว ซึ่งนำไปสู่การที่ผมเริ่มลองทำงานแบบ ‘Self initiative’ คือเป็นงานในเชิงที่เราทำจากตัวเราเอง คิดขึ้นมาเองจากตัวเรา แต่ใช้กราฟิกดีไซน์เป็นเครื่องมือ ต้องบอกว่าในการเรียนกราฟิกดีไซน์ คนที่เข้าไปเรียนก็จะเริ่มเรียนเรื่องพื้นฐาน แล้วเราก็จะได้รับงาน ซึ่งเขาจะมีโจทย์ให้เราทำ มีการบรีฟงาน

“งาน Self initiative ที่ผมเลือกทำ มันคือการทำงานที่ไม่มีใครมาบรีฟ เหมือนตอนที่เราเล่นดนตรีตอนมัธยม ตอนนั้นเราบอกว่าจะทำวง เราก็ทำเลย ไม่มีใครมาบอกให้เราตั้งวง”

การเมืองอัตลักษณ์ในงานศิลปะ

ผมลองมาสังเกตตัวเอง ก็จะเห็นว่า ผมจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เนื่องจากสภาพแวดล้อม และสิ่งที่อยู่รายล้อมผม บ่มเพาะให้ผมเดินทางไปเรื่อยๆ อย่างเมื่อก่อนผมมีบ้านอยู่แถวดินแดง ช่วงเวลานั้นผมก็ได้รับอิทธิพลจากสภาพแวดล้อมตรงนั้น เจอเพื่อนกลุ่มหนึ่งก็จะได้รับอิทธิพลจากเพื่อนกลุ่มนั้น ไปทำงานตรงไหนก็จะได้รับอิทธิพลจากตรงนั้น หรือตอนที่ผมไปต่างประเทศก็เหมือนกัน เหมือนกับว่างานของผมมีการอัปเดตเรื่อยๆ คล้ายกับเราซื้อโทรศัพท์มา แล้วมันก็มีเวอร์ชั่นที่ 1 2 3 พอถึงจุดอิ่มตัว มันก็จะเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น

แล้วงานของผมแตะประเด็นเรื่อง 'การเมืองอัตลักษณ์' เยอะมาก ซึ่งความเป็นตัวเองของผมมันคือ การนำเสนอประสบการณ์ความหลากหลายของสิ่งที่ผมสนใจ สิ่งที่ผมค้นคว้ามา สังคมรอบตัว ระบบโครงสร้างสังคม และการเมือง หรือทุกสิ่งที่รายล้อมผมอยู่ ที่มันผลิตสร้างขึ้นมาให้เป็นผม ซึ่งก็คล้ายกับเป็นการเอาประสบการณ์ เอาสมอง เอาความทรงจำของตัวเองมาใส่เข้าไปในงาน เหมือนฝังอยู่ลึกๆ ในงานของผม ซึ่งคนที่มาดูก็จะตีความงานแตกต่างกันไป มันก็เหมือนเรามานั่งคุยกัน เราจะเข้าถึงกันได้มากแค่ไหน ก็เท่าที่เราจะเข้าถึงกันได้ การที่คนมาดูงานศิลปะของผมก็เหมือนกันนั่นแหละ เขาจะเข้าถึงได้มากน้อยแค่ไหน ก็เท่าที่เขาจะเข้าได้ เพราะทุกอย่างที่เป็นผมมันถูกฝังอยู่ในงานแล้ว

Photo Credit: Tanat Teeradakorn

งานศิลปะชิ้นแรกในชีวิต

ตั้งแต่เด็กๆ ผมจะตั้งคำถามกับเรื่องลำดับชั้นในระบบการศึกษาไทย ผมรู้สึกว่า เวลาเดินเข้าไปในโรงเรียน ผมจะกลายเป็นมดตัวหนึ่ง ผมอยากจะเข้าไปพูดคุยกับครูใหญ่ อยากถามว่า ทำไมต้องมีสิ่งนั้น สิ่งนี้ แต่บางทีมันก็เข้าถึงไม่ได้ มันมีการ์ดเยอะมากก่อนที่จะไปถึงเขา เราต้องทำอะไรหนักจริงๆ ถึงจะได้เจอเขา ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีช่วงเวลาที่ครูกับนักเรียนจะมานั่งเปิดใจคุยกัน เพราะมันเป็นไปไม่ได้ เวลาเราไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ครูทำ แล้วแสดงออกไป ครูจะไม่คิดว่าเขาต้องเปลี่ยน เพราะเขาคิดว่าระบบของเขามันดีอยู่แล้ว เขาเชื่อในระบบสั่งการแบบนี้ 

“จะพูดว่าผมเป็นเด็กหัวแข็งก็ได้นะ แต่ผมก็มีเหตุผล อยากคุยกันอย่างเป็นเหตุเป็นผล”

ช่วงตอนอยู่ ม.3 ที่โรงเรียนมีตึกโรงอาหารเก่า ที่เขาประกาศว่าจะทุบตึกเพื่อสร้างเป็นตึกใหม่ ผมก็คุยกับเพื่อนว่า ไหนๆ เขาก็จะทำตึกใหม่แล้ว เราไปแสดงความอำลาโรงอาหารเก่ากันหน่อยดีกว่า ก็เลยไปทำกราฟิตี้กัน จนผ่านไปก็มีรุ่นพี่มายืนล้อมเอาไว้ เขาสั่งให้เราคุกเข่า ถอดเสื้อ แล้วคลานเข่าไปที่ห้องฝ่ายปกครอง ก็มีการกราบไหว้ขอโทษ แล้วก็สั่งให้เราคลานเข่ากลับมาที่ตึกเก่า เพื่อลบทุกอย่างออกให้หมด ถ้าไม่หมดห้ามกลับบ้าน ผมคิดว่างานนี้คือ งานศิลปะงานแรกของผมด้วยซ้ำ แต่ผมไม่รู้เรื่องศิลปะเลยนะ รู้แค่ว่า ‘ผมทำก็เพราะอยากทำ’

วัฒนธรรมแต่งเสียงรถยนต์

ตอนอยู่บ้านเก่า ตรงนั้นจะมีอู่มอเตอร์ไซค์อยู่ตรงข้ามบ้าน ซึ่งก็จะมีกลุ่มเด็กที่ไม่ได้เรียนหนังสือ เอารถมาซ่อม แล้วก็มาสังสรรค์กันอยู่ตรงนั้น พอช่วงเย็นๆ ก็เปิดเพลงเสียงดังกัน แล้วเวลาที่ผมทำงานอยู่ในบ้าน ผมก็เปิดเพลงเหมือนกัน มันเลยเหมือนเสียงข้างนอกกับเสียงข้างในมันตีกันหลายครั้งมาก จนผมรู้สึกหงุดหงิด เดินไปเตือนก็แล้ว เขาก็ไม่สนใจ ก็เลยตัดสินใจเดินออกไปคุยกับเขา เขาก็เลยให้แหล่งข้อมูลมา ผมก็เริ่มทำการค้นคว้า แล้วก็ไปเจอคุณป้าคนหนึ่งชื่อ 'ป้าเหมียว' ซึ่งเป็นเหมือนตัวตั้งตัวตีของคอมมูนิตี้ ผมตัดสินใจโทรหาป้า แล้วก็มีโอกาสได้ไปดูงานอีเวนต์รถแต่งกับป้า ซึ่งวันนั้นจัดที่ลำลูกกา พอไปถึงมันเป็นป่า แล้วก็มีแสงไฟอยู่ในป่า เหมือนกับเราดูหนังไซไฟเลย พอเดินเข้าไปลึกๆ ผมรู้สึกเหมือนอยู่อีกโลกหนึ่งเลย เหมือนโลกจำลองขึ้นมา มันมีทั้งเสียงทั้งภาพ คือมันสุดมาก 

ผมได้แรงบันดาลใจจากป้าเหมียวเยอะมาก ผมถามป้าว่าวันๆ ป้าเขาทำอะไร ป้าก็บอกว่าเขาอายุมากแล้ว เขาก็จะห้อยกล้องออกจากบ้านทุกเย็น เพื่อไปงานพวกนี้ ซึ่งมันมีจัดทุกวันนะ แต่ไม่ได้จัดในกรุงเทพฯ เพราะรถดัดแปลงเกินมาตรฐาน ถ้าเข้ามาก็โดนตำรวจสอยแน่นอน ป้าเหมียวบอกผมอีกว่า ทุกภาคมีแบบนี้ คอมมูนิตี้นี้มีคนมากกว่าแสนคนเลย และความน่าสนใจคือ มันมีระบบเศรษฐกิจของมัน เขาทำกันอย่างไร มีระบบที่เขาทำ DIY ลำโพง ทำลำโพงโฮมเมด แล้วก็ขายกันเอง เวลาที่เขาแต่งรถ เขาก็ไม่ได้แต่งแค่รถของตัวเอง แต่เขาเปิดอู่แต่งให้คนอื่น ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นแรงบันดาลใจให้ผมทำโปรเจกต์ ‘Dance Non-Stop Mix’ ตอนแรกผมก็ไปซื้อซีดีเพลงแดนซ์ เริ่มสะสม ทำบล็อก แต่สุดท้ายก็ต้องปิดบล็อกไป แล้วเพลงสามช่า สายย่อพวกนี้ ก็ถือว่าเป็นแรงบันดาลใจให้กับงานเพลงของผมเหมือนกันนะ มันสะท้อนความเป็นพื้นที่ของประเทศเรามากเลยด้วย

Photo Credit: Tanat Teeradakorn

สิ่งที่ได้เรียนรู้ในต่างแดน

ตอนไปถึงสนามบินที่เนเธอร์แลนด์ ผมก็อึ้งเลยว่า ทำไมมันสะอาดจัง แล้วพอไปอยู่ที่โน่น ชีวิตก็เปลี่ยนแปลงไป เราได้ไปเจอคน เจอเพื่อนๆ ก็ทำให้เราได้ซึมซับวัฒนธรรมความเป็นตะวันตกมา ในส่วนของพื้นที่ศิลปะที่นั่น มันก็เกี่ยวข้องกับผู้คน สิ่งที่เขาเอามาเล่ามาแชร์กัน สังคมเป็นอย่างไร สิ่งที่เขาสนใจอยู่คืออะไร แต่ในเนเธอร์แลนด์ กับเบอร์ลิน (เยอรมนี) ก็มีความแตกต่างกันอยู่ คือต้องบอกก่อนว่า ตอนอยู่เนเธอร์แลนด์ ผมอยู่เมืองที่เล็กมาก แล้วมีแต่โรงเรียน มันก็เลยมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย แต่ที่เบอร์ลิน มันเป็นเมืองใหญ่ และมีความหลากหลาย ระบบเศรษฐกิจหลักในเมืองขับเคลื่อนด้วยศิลปะ และดนตรี เพราะฉะนั้น เงินที่เขามาลงกับตรงนี้เลยมีเยอะ เขามีโครงสร้างพื้นฐานเสริมให้ตรงนี้เยอะ 

ผมถามมาหลายคนมาก พูดตรงๆ เลยว่า 75 - 80 เปอร์เซ็นต์ของศิลปิน นักดนตรีในเบอร์ลิน ถ้าจะอยู่รอด แล้วสามารถทำงานศิลปะได้ด้วย ส่วนใหญ่ก็จะมีงานพาร์ทไทม์ ศิลปะควรจะเป็นของทุกคน แต่ในความเป็นจริงแล้วมันไม่ใช่ของทุกคน มันเจ็บปวด เพราะผมไปเจอใคร ผมก็จะถาม ‘How do you make a living?’ เขาก็บอกว่า เขาไปทำงานในบาร์บ้าง ไปทำงานตรงนั้น ตรงนี้ ซึ่งเป็นพวกที่ยังไม่ได้เป็นที่รู้จักนะ พวกที่เป็นที่รู้จักแล้วก็จะอีกแบบหนึ่ง แต่ทั้งนี้ มันก็มีที่ทางมากกว่าที่ไทย เพราะระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ดี เขามีเงินทุนให้นักดนตรี ให้ศิลปะเยอะมาก กลุ่มคนที่ทำงานพาร์ทไทม์ก็อาจจะได้เงินเพิ่ม แต่คนที่ขยันเขียนขอทุน เขาก็ขอได้เรื่อยๆ

“ที่สำคัญคือ เขาตระหนักรู้เรื่องการทำงาน ศิลปิน นักดนตรีก็คือ แรงงาน เขาก็จะมีการให้ค่าจ้างที่สมเหตุสมผล เขาตระหนักว่า เราเองก็เป็นแรงงาน เรามีสิทธิที่จะทักท้วง” 

พื้นที่ศิลปะในสายตาธนัช

ผมทำงานศิลปะในยุคที่อะไรก็เป็นศิลปะได้ คนทำมีมก็เป็นศิลปะ คนแต่งรถมอเตอร์ไซค์ก็โคตรจะศิลปะ หรือถ้ามองกลับมาตอนประท้วง 2021 มันก็เป็นศิลปะ ที่ร้องเพลงแฮมทาโร่แล้วเดินเป็นวงกลม มันโคตรจะศิลปะเลย แต่สังคมไทยไม่ได้รวมสิ่งนี้เข้าไปเป็นศิลปะ 

“คนเหล่านี้ไม่เคยถูกเอามาใส่ในประวัติศาสตร์ศิลปะเลย ไม่เคยถูกเหลียวแล แต่ในพื้นที่ๆ ถูกสถาปนาว่าเป็นศิลปะ มันจะมีแค่คนหน้าเดิมๆ เข้าไปอยู่ตรงนั้น” 

แต่ที่ผ่านมา ศิลปะในไทยก็เข้าไปอยู่ในจุดที่ดีขึ้น แต่มันดีขึ้นเพราะ กลุ่มภาคเอกชนทำกันเอง เราในฐานะประชาชนก็ทำกันเอง แต่รัฐไม่ได้เหลียวแล ไม่มีการสนับสนุน มิหนำซ้ำงานศิลปะส่วนใหญ่ที่เข้าไปอยู่ในแกลอรี่ มันก็ยังไม่สามารถพูดอะไรได้อย่างเต็มปาก เพราะมันมีกฎหมายฝังอยู่ อันนี้คือเรื่องที่ว่า สิทธิในการแสดงความคิดเห็นยังไม่เปิดกว้างให้เราขนาดนั้น แต่ถ้ามองย้อนกลับไปที่เบอร์ลิน มันอยู่คนละขั้วกันเลย กลายเป็นว่า ‘free speech’ มันเกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้า ไม่ว่าจะในชีวิตประจำวัน หรือในศิลปะ แต่มันก็ย่อมมีปัญหาตามมา เช่น การใช้ hate speech, การถกเถียงประเด็นเรื่อง PC และประเด็นนี้เป็นประเด็นละเอียดอ่อน ที่ผมก็คุยกับเพื่อนๆ ว่าในเบอร์ลินยังมีกลุ่มขวาจัด ที่คิดว่าจะพูดอะไรก็ได้ จะเหยียดพวกมึงยังไงก็ได้ ซึ่งมันก็มีอะไรแบบนี้

โครงสร้างที่ซัพพอร์ตศิลปะไทย 

ผมอยากเห็นโครงสร้างพื้นฐานที่สร้างขึ้นเพื่อซัพพอร์ตกลุ่มคนทำงานศิลปะ เพราะถ้าไม่มี แรงงานศิลปะ คนทำงานศิลปะที่เป็นศิลปิน หรือนักดนตรี เขาก็จะรู้สึกไม่ค่อยมั่นคงกับชีวิตของตัวเอง ถ้าเขาไม่รู้สึกมั่นคงในชีวิต เขาก็ไม่มีกะจิตกะใจที่จะมานั่งคิดงานศิลปะ เพราะเขาต้องจัดลำดับว่า จะเอาชีวิตรอดอย่างไร อะไรสำคัญกว่า ซึ่งผมคิดว่า สิ่งเหล่านี้จะเป็นคำถามที่ต้องถามกลับไปที่ระบบของรัฐว่า เขาให้คุณค่าศิลปะอย่างไร ให้คุณค่ากับความหลากหลายของศิลปะไหม หรือเขาให้คุณค่ากับศิลปะจากกลุ่มคนทางความคิด และศิลปะในเชิงอำนาจนิยม เพราะจริงๆ ศิลปินบางกลุ่มในไทยได้เงินเยอะด้วยซ้ำต่อเดือน แต่เป็นกลุ่มศิลปินแห่งชาติที่ทำงานสนับสนุนสถาบันบางอย่าง แล้วระบบพวกนั้นกลืนกินชีวิตเรา มันเอาเงินที่ได้จากการทำงานของเราไปใช้สุรุ่ยสุร่าย แล้วคนที่ต้องแบกคือเรา เราแบกรับระบบอันหนักหน่วงนี้อยู่ 

“ผมเลยอยากถามกลับไปที่ภาครัฐว่า เคยคิดจะปรับเปลี่ยนระบบให้ดีขึ้นไหม เพราะถ้าเขาไม่คิดจะปรับ ความหนักหน่วงก็คือ เราต้องทำกันเอง แล้วเราก็ทำกันมาเยอะแล้ว ศิลปะดีขึ้นไหม ดีขึ้น แต่ประชาชนทำกันเอง แล้วถ้าเป็นแบบนั้น เราจะมีรัฐเอาไว้ทำไม”

ติดตามผลงานของธนัชต่อได้ที่ 

Website: http://tanatteeradakorn.com/
Instagram: @pgm_991
Facebook: Tanat Teeradakorn