Culture

“บ้านแฟนเบส” แฟนคลับที่มีอภิสิทธิ์เหนือกว่าแฟนคลับ

ฟลุ๊คจ์ - พงศภัทร์ กันคำ | Photo credit: NEW 18

ภาพความสนิทสนมที่เกินพอดี การถึงเนื้อถึงตัวศิลปินที่ดูเป็นการคุกคาม อภิสิทธิ์ต่างๆ ที่มากกว่าแฟนคลับธรรมดาทั่วไป หรือแม้แต่การก้าวก่ายในหน้าที่การงานของศิลปิน เหล่านี้คือปัญหาที่แฟนคลับหลายคนได้มองเห็นและตั้งข้อสงสัยว่า ‘บ้านแฟนเบส’ ที่มีขึ้นมานี้ ช่วยให้ศิลปินทำงานได้ง่ายขึ้น หรือทำให้ศิลปินทำงานลำบากขึ้นกันแน่ 

วันนี้เราจึงได้เข้าไปพูดคุยกับกลุ่มคนในแฟนด้อมศิลปินไทยและรวบรวมเอาความคิดเห็นจากแฟนคลับ พร้อมกับบทสรุปที่ว่า ระบบศักดินาในแฟนด้อมนี้ควรจะยังมีอยู่หรือถูกยุบลงไปจะดีกว่า 

บ้านแฟนเบสดาราไทย ไม่เหมือนกับของต่างชาติอย่างไร?

ฟลุ๊คจ์ - พงศภัทร์ กันคำ | Photo credit: NEW 18

‘บ้านแฟนเบส’ (Fanbase) คือกลุ่มแฟนคลับ (ซึ่งบางบ้านก็มีทีมงานเพียงคนเดียว) ที่จะคอยอัปเดตตารางงานและกิจกรรมของศิลปินคนนั้นๆ ลงบนโซเชียลมีเดียให้คนในแฟนด้อมได้รับรู้ จะต่างจากบ้านแฟนไซต์ (Fansite) หรือก็คือแฟนคลับที่คอยตามถ่ายรูปศิลปินในงานอีเวนต์

แต่บทบาทหน้าที่ของบ้านแฟนเบสศิลปินไทยไม่ได้จบลงแค่เพียงเท่านั้น บ้านหนึ่งบ้านเปรียบเสมือนทั้งผู้ช่วยผู้จัดการ ออร์แกไนเซอร์ นักสร้างคอนเทนต์ และนักแปลในที่เดียว เพราะนอกจากจะประกาศตารางงานแล้ว พวกเขาก็ต้องคอยจัดงานอีเวนต์ ดีลสถานที่จัดงาน จัดทำของแจก สร้างคอนเทนต์กับกิจกรรมให้แฟนคลับมีส่วนร่วม ประสานงานกับผู้จัดการและศิลปิน รวมถึงแปลประกาศเกี่ยวกับศิลปินเป็นภาษาต่างๆ สำหรับแฟนคลับชาวต่างชาติ

มาร์ค - ศิวัช จำลองกุล | Photo credit: ข่าวสด

แน่นอนว่าบ้านแฟนเบสเหล่านี้ ไม่ได้ถูกสถาปนาขึ้นโดยค่ายต้นสังกัด แต่เกิดจากการที่แฟนคลับสร้างแอคเคานต์บนโซเชียลมีเดียและประกาศต้นเป็นบ้านแฟนเบส มีบ้างที่ศิลปินจะมีมากกว่าบ้านเดียว โดยส่วนใหญ่แล้วเมื่อเวลาผ่านไปก็จะเหลือแค่บ้านเดียวที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นบ้านแฟนเบสอย่างเป็นทางการ ด้วยความใกล้ชิดระหว่างทีมงานในบ้านกับศิลปินและผู้จัดการ ความสามารถในการทำงาน และระดับของชื่อเสียงของบ้านที่มีในแฟนด้อม

ฟลุ๊คจ์ - พงศภัทร์ กันคำ | Photo credit: NEW 18

เป็นที่รู้กันในหมู่แฟนคลับว่าหลายๆ บ้านแฟนเบสมีอำนาจ อภิสิทธิ์ และอิทธิพลอย่างมากในแฟนด้อม จนในบ้างครั้งตัวศิลปินเองก็ยังแสดงความเกรงใจที่มีต่อทีมงานของบ้านฯ เพราะยังต้องพึ่งพาบ้านฯ ในฐานะของผู้ประชาสัมพันธ์ ถึงขนาดที่บางบ้านฯ สามารถติดต่อกับทางศิลปินและคนในครอบครัวได้โดยตรง จะเรียกเป็นทีมงานขนาดย่อมของผู้จัดการดาราก็ว่าได้

จี - สุภัทร ลอยลาวัลย์ | Photo credit: pxsixr_

ถึงอย่างนั้น บ้านแฟนเบสก็ไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับทุกแฟนด้อม ศิลปินที่ไม่พึ่งพาแฟนเบสอย่างเป็นทางการเองก็มี เช่น ‘จี สุภัทร’ โดยเขามักจะประกาศตารางงานของตัวเองลงในแอคเคานต์โซเชียลมีเดียส่วนตัว

ความคิดเห็นของแฟนคลับที่มีต่อบ้านแฟนเบสดาราไทย

ด้วยความที่ลำดับชั้นในแฟนด้อมระหว่างบ้านแฟนเบสและแฟนคลับจะวกกลับมาเป็นข้อถกเถียงกันบ่อยครั้ง เราจึงเข้าไปทำการสอบถามความคิดเห็นของแฟนๆ ที่ชื่นชอบและติดตามศิลปินไทย ว่าคิดอย่างไรกับการมีอยู่ของบ้านแฟนเบส และมันมีข้อดี-ข้อเสียอย่างไรบ้าง

“เราเองก็รู้สึกขอบคุณที่เขาคอยจัดกิจกรรมหลายๆ อย่าง เช่น จัดงานฉลองวันเกิดศิลปิน และงานอีเวนต์อื่นๆ ให้ แต่ก็ยังรู้สึกแปลกๆ กับระบบนี้อยู่ดี”

“บางครั้งบ้านแฟนเบสก็ทำให้คนเลิกติดตามศิลปินไป เพราะไม่พอใจในระบบศักดินาของแฟนด้อม ว่าทำไมต้องมีคนที่มีอภิสิทธิ์เหนือคนอื่น บ้านแฟนเบสที่นิสัยน่ารักก็มี แต่คนที่มีอำนาจแล้วทำท่าทีข่มแฟนคลับคนอื่นก็มีเหมือนกัน”

ดัง - ณัฎฐ์ฐชัย บุญประเสริฐ | Photo credit: 1ipoeii

“เราเคยเจอบ้านแฟนเบสทั้งที่ดีแล้วก็ไม่ดีนะ แบบที่มาทำบ้านแฟนเบสเพราะอยากสนับสนุนศิลปินจริงๆ กับที่มาทำตรงนี้เพราะอยากมีสิทธิพิเศษเหนือคนอื่น ส่วนตัวคิดว่าการมีบ้านแฟนเบส มันทำให้ติดต่อกับผู้จัดการหรือทางค่ายได้สะดวกขึ้น ในกรณีที่มีปัญหา เราสามารถแจ้งบ้านแฟนเบสให้ช่วยประสานงานกับทางค่ายได้ เคยเห็นกรณีที่มีนัดรวมพลแฟนคลับมาเจอศิลปิน แต่ไม่ได้มีผู้จัดการมาด้วย เพราะเขาไม่คิดว่าแฟนคลับจะมาเยอะ ก็มีแอดมินนี่แหละที่คอยจัดแจง ดูแลของที่แฟนคลับเอามาให้ศิลปิน เราว่ามันก็ทำให้เป็นระเบียบขึ้น แล้วแอดมินก็ไม่น่าจะคุยอะไรกับศิลปินนอกจากเรื่องงาน”

การพูดคุยกับแฟนคลับเหล่านี้ มีทั้งเสียงที่สนับสนุนการมีอยู่ และที่ตั้งคำถามกับระบบนี้ จะเห็นได้ว่าบ้านแฟนเบสเองก็สร้างผลประโยชน์ให้กับศิลปินได้มากมาย เพียงขึ้นอยู่กับว่าจุดประสงค์ในการตั้งตนเป็นบ้านแฟนเบสนั้นคืออะไร เพราะอยากจะสนับสนุนศิลปินด้วยความรัก หรือต้องการความรู้สึกที่อยู่เหนือชั้น

ระบบที่ควรมีการปรับเปลี่ยน

อาย - กมลเนตร เรืองศรี | Photo credit: Kamolned Eyeye (Fanclub)

ส่วนตัวผู้เขียน มองว่าการมีบ้านแฟนเบสไม่ใช่แค่เรื่องของชนชั้นในแฟนด้อม แต่ยังมีเรื่องของการหลับตาข้างเดียวของค่ายต้นสังกัดด้วย ที่ใช้ความรักของแฟนคลับเป็นเครื่องมือในการบริหารงานบางส่วนแทน โดยที่ทางค่ายไม่ต้องเสียเงินค่าจ้างแม้แต่บาทเดียว ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว กลุ่มคนที่คอยจัดการงานอีเวนต์และโปรโมตศิลปินควรจะเป็นทีมงานของค่าย ไม่ใช่แฟนคลับ

หนึ่งในผู้ที่มาร่วมสนทนาในหัวข้อนี้เองก็ได้กล่าวเอาไว้ว่า:

“ควรเป็นค่ายและผู้จัดการมากกว่าที่คอยทำงานพวกนี้ ไม่ใช่บ้านแฟนเบส จะได้ไม่มีปัญหากันระหว่างแฟนคลับ แถมน่าจะสะดวกกับทุกฝ่ายมากกว่าด้วย อีกอย่างคือ คนที่ทำบ้านแฟนเบสไม่ได้เงินค่าจ้างกันสักคน ทั้งที่เขาคอยประสานงานแล้วก็ดูแลในหลายๆ ส่วน บางครั้งถึงขั้นออกเงินจัดงานจนเข้าเนื้อตัวเองก็มี”

ถึงแม้ว่าแฟนคลับเหล่านี้จะเต็มใจทำงานอย่างยากลำบากเพื่อศิลปินที่ตนรัก การไม่ได้รับผลตอบแทนที่สามารถจับต้องได้เองก็ถือเป็นการถูกใช้เพื่อผลประโยชน์เช่นกัน ทั้งนี้ ก็สามารถสรุปใจความได้ว่า บ้านแฟนเบสที่มีเจตนาดี วางตัวเหมาะสม และคอยช่วยเหลือศิลปินในเรื่องต่างๆ จะไม่ได้ถูกคนในแฟนด้อมตำหนิ สิ่งที่ควรเปลี่ยนแปลงจริงๆ ก็คือการทำให้คนเหล่านี้อยู่ในระบบของค่าย และได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม นอกจากนี้การอยู่ภายใต้ค่ายจะยังสามารถคัดกรองได้อีกด้วย ว่าบ้านแฟนเบสนั้นไม่ได้มีจุดประสงค์อื่นใดที่อาจส่งผลเสียต่อตัวศิลปินเอง

ติดตามและอัปเดตเรื่องราวใหม่ๆ เกี่ยวกับ Fandom ได้ที่ Exotic Quixotic