“The Art District86” NFT ความท้ายทายครั้งใหม่ของ บิ๊ก เฉลิมพล

หลายปีที่ผ่านมา ชื่อของ บิ๊ก – เฉลิมพล จั่นระยับ จะเป็นที่รู้จักในฐานะนักวาดคอมมิกล้อเลียนการเมืองไทยที่มีลายเส้นแบบอเมริกันสไตล์อย่างผลงาน The Amazing Thailand แต่ครั้งนี้เราไม่ได้ชวนเจ้าตัวมาพูดคุยเกี่ยวกับการเมืองหรืองานคอมมิกนี้แต่อย่างใด เพราะเขายังมีอีกหนึ่งบทบาทที่น่าสนใจไม่แพ้กันนั่นคือ การเป็นศิลปิน NFT ผู้เชื่อว่า Metaverse จะมาถึงในเร็วๆ นี้ และคริปโทอาร์ตจะเป็นสะพานเชื่อมไปยังโลกเสมือนนั้นได้

ทำกราฟิก วาดคอมมิกอยู่ดีๆ ทำไมถึงก้าวมาทำ NFT

เชื่อว่านี่เป็นคำถามที่ใครหลายคนสงสัยไม่ต่างจากเรา ว่าอะไรที่ทำให้เขามีความคิดที่จะลองทำสิ่งใหม่ จะเป็นเรื่องรายได้ การปรับตัวตามเพื่อนร่วมอาชีพ หรือมองเห็นอะไรที่มากกว่านั้น ซึ่งเขาคลายข้อสงสัยนี้ว่า

“จริงๆ  ผมรู้จัก NFT มาสักพักใหญ่แล้ว แต่ช่วงแรกยังยุ่งกับงานส่วนตัวอยู่ เลยเพิ่งมีโอกาสเข้ามาทำจริงจังเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว เพราะถ้าเริ่มช้ากว่านี้คิดว่ามันอาจจะสายเกินไปและทำให้เสียโอกาสหลายอย่างในอนาคต ความคิดผมในตอนนั้นคือภายในปี 2022 Metaverse จะเริ่มเข้ามา แล้วมันก็เป็นไปตามคาด เพราะไม่นานหลังจากผมทำ NFT มาร์ก ซักเคอร์เบิร์กก็ประกาศเปลี่ยนชื่อ Facebook เป็น Meta ผมเลยคิดว่ามันน่าจะเป็นการสร้างรายได้ของเราในอีกโลกนึงได้ แต่ต้องมาเริ่มจากคริปโทอาร์ตก่อน เพื่อทำให้งานของเราเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก แล้วค่อยต่อยอดไปสู่โลกเสมือน เช่น NFT GAME, VR ในลักษณะไอเทมที่ใช้ได้จริงในโลกเหล่านั้น เป็นต้น เหมือนในหนังเรื่อง Ready player one ที่โลกกำลังเริ่มเปลี่ยนไป”

คอนเซ็ปต์งานครั้งนี้คืออะไร

“การเดินทางของ Scubaboy ในโลก Ethereum ซึ่งเป็นคาแรกเตอร์ที่ผมสร้างขึ้นตั้งแต่เปิดเฟซบุ๊กเพจแรกๆ ตอนที่ยังอยู่ออสเตรเลีย โดยบอกเล่าผ่านลายเส้นที่เป็นซิกเนเจอร์ของตัวเอง คือเป็นแนวศิลปะนีโอคลาสสิก ผสมผสานกับบาโรกและโรโคโค งานก็จะออกมามีความโบราณและลึกลับหน่อย”

สำหรับผลงานชิ้นแรกที่วาดลงไปคือ The Ocean World เป็นสตอรี่เกี่ยวกับแผนที่โลก Ocean Ethereum หรือจุดเริ่มต้นการเดินทางของ Scubaboy โดยได้แรงบันดาลใจมาจากงานไตรภูมิ ที่มีนรก สวรรค์ และโลกมนุษย์ ใช้เวลาวาดประมาณ 6 ชั่วโมง แต่พอลงไปไม่ถึง 24 ชั่วโมง ก็มีนักสะสมชาวไทยและต่างชาติมาประมูลแล้ว ยอมรับว่าเงินอาจจะไม่ได้เยอะ แถมยังต้องเสียค่าแก๊สซ้ำซ้อนด้วยความไม่รู้ แต่ถือเป็นงานที่ทำให้รู้จักโลกคริปโทอาร์ตมากขึ้น และอยากจะเล่าเรื่องคาแรคเตอร์นี้ต่อไปเรื่อยๆ เพื่อให้คนที่มาซื้องานหรือเข้ามาดูงานเราได้ผจญภัยไปพร้อมกัน 

ทำไมไม่ทำคอมมิกล้อเลียนการเมืองเหมือนเดิม

เห็นได้ว่างาน NFT แตกต่างไปจากสไตล์งานที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักอย่างสิ้นเชิง เรื่องนี้บิ๊ก เฉลิมพลเล่าว่า ตอนแรกเขาคิดว่าจะเอางานคอมมิกที่เคยวาดไว้มาลงขายเหมือนกัน แต่มองว่าตลาดนี้เป็นตลาดสากลที่มีคนจากทั่วทุกมุมโลกมาอยู่รวมกัน ชาวต่างชาติอาจจะยังไม่เข้าใจสถานการณ์บ้านเราขนาดนั้น จึงคิดว่างานที่จะขายควรมีความเป็นสากล เลยเป็นโอกาสให้ได้ไปหยิบผลงานภาพประกอบที่เคยทำช่วงอยู่ออสเตรเลียและเคยหยุดพักไประหว่างวาดคอมมิกการเมือง อย่าง “Scubaboy” มาเป็นคาแรกเตอร์หลักของงาน เพื่อทำให้คนรู้จักคาแรกเตอร์นี้มากขึ้นว่ามันเป็นยังไง มีเรื่องราวแบบไหน เพราะโลก NFT มันตอบโจทย์ว่าเราสามารถสร้างงานที่เป็นตัวตนของเราได้อย่างเต็มที่

มองตัวเองเป็นศิลปินธรรมดา

สิ่งหนึ่งที่เรารู้สึกชื่นชอบในงานนี้คือรายละเอียดในภาพที่เรียกได้ว่าจัดเต็ม แต่เมื่อเทียบกับราคาแล้วถือว่าไม่สูงมากนัก อยากรู้ว่ามีหลักเกณฑ์หรือแนวคิดในการตั้งราคาขายอย่างไร 

“ผมคิดว่าศิลปินในตลาด NFT เริ่มมาเหมือนๆ กัน คือแม้จะเป็นที่รู้จักในสังคม แต่เป็น No Name ที่ตลาดสากลไม่รู้จัก ผมเลยจะตั้งราคาไม่สูงมาก เพื่อให้คนจับต้องได้และค่อยๆ รู้จักงานเราไปทีละนิดดีกว่า”

ลูกเล่นของ The Art District86

บิ๊กเป็นศิลปินอีกคนหนึ่งที่ลงงานมากกว่าหนึ่งแพลตฟอร์ม โดยลงทั้งใน Foundation Opensea และ HEN แต่ความน่าสนใจอยู่ที่สองแพลตฟอร์มแรก เพราะผลงานทั้งสองคอลเล็กชันนั้นมีความเชื่อมโยงกัน ไม่ได้ตัดขาดกันไปเลย โดยงานใน Foundation จะมีคาแรคเตอร์หรือไอเทมชิ้นเล็กๆ เป็น Easter Egg ที่เชื่อมโยงกับงานใน Opensea ได้ แต่จะมีอะไรซ่อนอยู่บ้างนั้น คงต้องให้ชาว EQ ไปหาคำตอบด้วยตัวเอง 

ความท้าทายที่ต้องข้ามผ่าน

สำหรับความท้าทายที่สุดสำหรับเขาคือ “การปรับตัวตามความต้องการของตลาด แต่ไม่ทิ้งความเป็นตัวเอง” เขาตอบก่อนจะอธิบายต่อว่า เป็นเรื่องที่เขาได้เรียนรู้ในช่วงที่งานดอย (ขายไม่ออก) อยู่ 3 ชิ้น เลยต้องมานั่งหาข้อบกพร่องของงานอย่างจริงจัง พบว่าถ้าอยากขายงานได้รวดเร็ว ควรทำงานที่ตรงกับความต้องการของนักสะสมในขณะนั้น เพราะเทรนด์จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แต่ต้องยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองไว้ ไม่ว่าจะเป็นลายเส้นหรือสไตล์ 

อย่างช่วงหนึ่งนักสะสมจะฮิตภาพมังงะหรือลายเส้นแบบญี่ปุ่น ซึ่งมันเป็นสิ่งที่เขาวาดไม่เป็นเลย แต่ก็พยายามปรับเปลี่ยนเป็นใส่ความญี่ปุ่นลงในงานบ้าง เช่น คลื่นสึนามิ หรือล่าสุดที่ฮิตกบ PEPE (PEPE THE FROG) กัน เขาก็ใส่เจ้ากบนี้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของงานด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีนักสะสมบางส่วนที่สนใจเก็บงานออริจินัลของศิลปินจริงๆ ด้วย โดยที่ไม่สนเรื่องเทรนด์ ดังนั้นถ้าไม่รีบร้อนที่จะขายงาน ก็สามารถทำงานในแบบเดิมต่อไปได้

สิ่งดีๆ จาก NFT

คลุกคลีกับวงการนี้มาสักพักแล้ว มีทั้งงานที่ขายได้และยังดอยอยู่ แต่ก็ยังสนุกกับมัน เป็นเพราะอะไร?

“NFT ช่วยขุดสกิลบางอย่างในตัวเราที่เรามีอยู่แต่อาจไม่รู้ตัวมาก่อน ซึ่งมันจะทำให้เราพัฒนางานตัวเองให้ดีขึ้น บางคนอาจจะขายงานไม่ได้เลย แต่ถ้าลองลองมองย้อนกลับไปดูก่อนที่จะมาทำ NFT งานตอนนั้นกับปัจจุบันมันก้าวกระโดดเลย ผมคิดว่านี่แหละคือเสน่ห์ของมัน” 

เป้าหมายปลายทางของ The Art District86

อย่างที่เจ้าของผลงานได้บอกไปในตอนต้นแล้วว่า เขาเชื่อว่า NFT จะเป็นสะพานเชื่อมไปโลกเสมือนได้ ดังนั้นเป้าหมายสูงสุดในการทำคอลเล็กชันนี้ คือรวบรวมภาพทั้งหมดไว้เป็นอาร์ตบุ๊คหรือ Graphic Novel เพื่อนำไปใช้ร่วมกับโปรเจกต์ VR ที่เขากำลังพัฒนาอยู่ และต่อยอดไปสู่โลกเสมือนในอนาคต

NFT Disruption จะเกิดขึ้นไหม

ในฐานะศิลปิน NFT ที่เชื่อว่าโลกกำลังเปลี่ยนแปลง มองว่าคริปโทอาร์ตและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่กำลังจะมาถึงในไม่นานนี้ จะเข้ามา Disrupt ชีวิตของคนทำงานศิลปะไหม

“มันอาจ Disrupt กับบางคนที่อาจจะยังไม่ได้ปรับตัว แต่ศิลปิน Traditional Art ที่มีชื่อเสียงอยู่แล้วอาจจะอยู่ต่อไปได้ แต่ผมมองว่าโลกใหม่นี้เป็นโอกาสที่ดี ถ้าไม่ปรับตัวเลยก็อาจจะเสียผลประโยชน์ เมื่อเทคโนโลยีมันเข้ามาแล้ว โอกาสมันมาแล้ว ก็อยากให้ลองดูสักตั้ง ไม่ลองไม่รู้ ถ้าสมมติเราเข้าไปแล้วมีชื่อเสียงอยู่ในนั้นมันก็ดีไม่ใช่หรอ”

ติดตามและอัปเดตผลงานสุดเท่ทั้งหมดได้ที่

Foundation: @theartdistrict86

Facebook: The Art District86

ผลงานอื่นๆ: https://linktr.ee/theartdistrict86