Culture

ของเล่นล้างสมองที่มาพร้อมแนวคิดครอบงำ

Photo credit: Reddit 

‘ของเล่น’ ถือเป็นส่วนสำคัญที่สุดสำหรับการเรียนรู้ของเด็ก เพราะพวกเขาทำความเข้าใจโลกรอบตัวผ่านการเล่นมากกว่าการเรียนในห้อง แต่หากมองจากอีกมุมหนึ่ง ของเล่นก็สะท้อนจินตนาการและอุดมคติที่ผู้ใหญ่วาดหวังไว้เช่นกัน สิ่งที่ควรจะช่วยด้านพัฒนาการเด็กจึงกลับกลายเป็นเครื่องมือชักจูงและปลูกฝังความคิดความเชื่อผิดๆ อย่างแยบยล วันนี้ EQ จะมาตีแผ่หลักการที่อยู่เบื้องหลังของเล่นสุดหรรษาจากอดีตและปัจจุบันกัน

แนวคิดชาตินิยม

Boat With Swastika, A German explains to his son what the toy boat he is holding represents. April 1940. The vessel is equipped with a gun and decorated with the Nazi flag. Germany. (Photo by Galerie Bilderwelt/Getty Images)

เมื่อ ‘อดอล์ฟ ฮิตเลอร์’ (Adolf Hitler) ขึ้นยึดครองอำนาจในปี ค.ศ. 1933 เป้าหมายแรกของเขาคือ การสอนให้ประชาชนภูมิใจกับความเป็นชาติและคิดว่า “ชาติเยอรมันเหนือกว่าชาติใด” ผ่านโฆษณาชวนเชื่อ (propaganda) รูปแบบต่างๆ ซึ่งนอกจากฮิตเลอร์จะเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาทุกระดับแล้ว ของเล่นยังถูกนำมาใช้ป้องกันไม่ให้เยาวชนรุ่นถัดไปตั้งคำถามกับผู้นำและพรรคนาซีอีกด้วย

Photo credit: HISTORY NET 

ม่ว่าจะเป็นโมเดลเรือดำน้ำ บอร์ดเกมที่มีสัญลักษณ์สวัสติกะของพรรคนาซี จิ๊กซอว์บล็อกไม้ที่ต่อออกมาเป็นภาพสงคราม หรือโมเดลฮิตเลอร์ที่ดูองอาจกล้าหาญและเป็นมิตรกับเด็ก ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ถูกออกแบบให้เด็กอายุเพียง 3-4 ขวบเล่น ทำให้คุ้นชินกับความรุนแรง ทั้งยังสมัครใจเข้าเกณฑ์ทหารเองเมื่ออายุครบ 15 ปี และพร้อมพลีชีพเพื่อพรรคนาซีและชาติเยอรมัน

Photo credit: Amazon 

กระทั่งทุกวันนี้ ของเล่นที่สนับสนุนความรุนแรงด้วยแนวคิดชาตินิยมก็มีให้เห็นอยู่ทั่วไป เราจะสังเกตได้ว่า ในอเมริกาเอง โมเดลเครื่องบินรบถูกผลิตออกมามากกว่าของเล่นเกี่ยวกับนักการทูต โดยมีจุดประสงค์เพื่อปลูกฝังว่าการตัดสินใจของกองกำลังทหารเป็นสิ่งที่ถูกต้องเสมอ เด็กๆ จะได้สวมบทบาทเป็น “วีรบุรุษสงคราม” ขับเครื่องบินรบเหนือน่านฟ้า แล้วทิ้งระเบิดลงมากำจัดศัตรู ซึ่งการเล่นเช่นนี้ทำให้การฆ่าดูเป็นเรื่องไกลตัว ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว มันก็ไม่ต่างอะไรจากการกระทำของทหารอเมริกันในสงครามเวียดนามเลย โมเดลเครื่องบินรบจึงยังเป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางว่าเหมาะสมกับการเล่นของเด็กเล็กหรือไม่ 

แนวคิดเหยียดเชื้อชาติและสีผิว

Photo credit: All That's Interesting

ศตวรรษที่ 19-20 เป็นช่วงเวลาที่หลายประเทศในฝั่งตะวันตกกำลังก้าวสู่การเลิกทาส ฝ่ายที่สนับสนุนระบบทาสจึงพยายามสร้างแนวคิดเหยียดเชื้อชาติและสีผิวผ่านของเล่นอย่างกระปุกออมสิน ‘คนดำจอมตะกละ’ (Greedy Nigger Boy) ซึ่งผลิตในอเมริกาและถูกส่งออกไปทั่วยุโรป เด็กๆ สามารถเก็บเงินได้โดยวางเหรียญไว้บนส่วนมือของกระปุก แล้วดันแขนขึ้นให้เหรียญเข้าไปในปาก ตอกย้ำภาพของคนดำที่ในช่วงนั้นมีสถานะเป็นผู้ใช้แรงงาน และป่าเถื่อน ให้มีภาพลักษณ์ของความละโมบโลภมาก แม้ว่าจะมาในรูปแบบของกระปุกออมสินก็ตาม

Photo credit: CNN 

แม้ว่าเวลาจะผ่านไปจนไม่เหลือระบบทาสบนโลกแล้ว แนวคิดเหยียดสีผิวก็ยังไม่หายไป ในปี ค.ศ. 2015 เกิดกรณีหนึ่งที่ ‘ไอด้า ล็อกเก็ตต์’ (Ida Lockett) หญิงอเมริกันผิวสีโพสต์แสดงความกังวลบนเฟซบุ๊ก เมื่อลูกชายวัย 5 ขวบของเธอได้รับเซตเรือโจรสลัดของเล่นแบรนด์ Playmobil เป็นของขวัญวันเกิด หากแต่มีฟิกเกอร์โจรสลัดผิวดำคนหนึ่งถูกโซ่ตรวนล่ามไว้ที่คอเช่นเดียวกับทาสในอดีต 

Photo credit: WorthPoint 

Playmobil อธิบายว่าฟิกเกอร์ดังกล่าวคือโจรสลัดที่เคยเป็นทาสมาก่อน และทางบริษัทเพียงต้องการนำเสนอบุคคลนี้ให้ “ตรงตามประวัติศาสตร์” เท่านั้น ทว่าน่าตกใจที่ผู้คนมากมายออกมาเข้าข้างและปกป้อง Playmobil ด้วยการคอมเมนต์โจมตีไอด้าอย่างรุนแรง และให้เหตุผลว่าโจรสลัดทาสไม่เกี่ยวข้องกับปัญหาการเหยียดเชื้อชาติหรือสีผิวโดยสิ้นเชิง เหตุการณ์นี้สะท้อนว่าคนผิวดำยังถูกผูกติดกับภาพลักษณ์เชิงลบแบบเก่าจนถึงปัจจุบัน

ระบบชายเป็นใหญ่และแนวคิดสองเพศ

Photo credit: Medium 

สองแนวคิดนี้หยั่งรากอยู่ในสังคมมนุษย์ตั้งแต่ค้นพบอารยธรรมเมื่อหลายพันปีก่อน กระทั่งในปัจจุบัน แม้แต่ของเล่นก็ถูกแบ่งเป็นของเพศหญิงและเพศชาย ซึ่งทำให้เด็กติดอยู่ในกรอบเพศกำหนดและบทบาททางเพศของผู้ใหญ่ 

Photo credit: Design You Trust 

เด็กผู้หญิงมักจะถูกจับคู่กับของเล่นน่ารักและการเล่นแต่งหน้าแต่งตัวตุ๊กตา อาทิเช่น ‘มิดจ์ แฮดลีย์’ (Midge Hadley) เพื่อนสมัยเด็กของบาร์บี้ ที่เป็นที่รู้จักกันในอีกชื่อว่า ‘บาร์บี้คนท้อง’ เกือบ 40 ปีหลังจากเข้าสู่ตลาดของเล่นครั้งแรก เธอก็เปิดตัวอีกครั้งหลังแต่งงานกับ ‘อลัน เชอร์วู้ด’ (Alan Sherwood) ในรูปลักษณ์ของหญิงตั้งครรภ์ ที่ผู้เล่นสามารถดึงส่วนท้องออกหรือประกอบกลับคืนได้ แถมภายในท้องยังมีทารกอยู่ด้วย ซึ่งเว็บไซต์ Mattel ที่จัดจำหน่ายได้กล่าวถึงจุดนี้ไว้ว่า ตุ๊กตาถูกออกแบบมาเพื่อตอบสนอง “ความรู้สึกต้องการดูแลผู้อื่น” ในการเล่นพ่อแม่ลูกของเด็กหญิงอายุ 5-8 ปี

Photo credit: All That's Interesting 

ในทางกลับกัน ของเล่นสำหรับเด็กผู้ชายจะเกี่ยวข้องกับความรุนแรงและการต่อสู้ โดยอีกตัวอย่างสำคัญคือ ฟิกเกอร์ตัวละคร Marvel ‘แฟรงก์ แคสเซิล’ (Frank Castle) หรือ ‘พันนิชเชอร์’ (Punisher) ซึ่งเป็นหนึ่งในเซตของเล่น Shape Shifters ที่ถูกปล่อยในปี ค.ศ. 1998 นอกจากใบหน้าท่าทางซึ่งฉายความก้าวร้าวและดิบเถื่อน ลักษณะร่างกายสูงใหญ่แข็งแรง และมีกล้ามเนื้อแน่นจนเกินจริง แต่ตรงตามเฟติช (fetish) ที่ผู้ใหญ่ในสังคมชื่นชอบ และเมื่อเปลี่ยนเป็นโหมดโจมตี แฟรงก์ยังสามารถยิงกระสุนมิสไซล์จาก ‘ท่อนลำ’ ของเขาได้อีกด้วย มันอาจจะฟังดูตลก แต่เหล่าผู้ปกครองก็กังวลกันจริงจัง เพราะท่าทางโจมตีของเขาที่เหมือนกำลังทำกิจกรรมใต้ผ้าห่มตลอดเวลา

Photo credit: INSIDER 

ถึงแม้ว่าทั้งบาร์บี้คนท้องและพันนิชเชอร์จะไม่มีขายแล้ว ก็ยังมีของเล่นอื่นๆ ในตลาดอีกมากมายที่ส่งเสริมความเป็นปิตาธิปไตย กำหนดนิยามความเป็นชายกับความเป็นหญิง และจำกัดความสัมพันธ์ว่าผู้ชายต้องแต่งงานกับผู้หญิงเท่านั้น ทั้งที่ในความเป็นจริง อัตลักษณ์ทางเพศมีความหลากหลายมากเกินกว่าจะวางกรอบได้

Photo credit: Utblick Magazine 

เราอาจไม่สามารถรู้ได้ทั้งหมดว่าของเล่นชิ้นไหนแฝงโฆษณาชวนเชื่อไว้บ้าง แต่อย่างน้อยการตระหนักรู้ถึงปัญหานี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการช่วยระวังให้กับเด็กๆ ผู้ไม่สามารถเลือกหรือหลีกเลี่ยงของเล่นให้ตัวเองได้เลย

อ้างอิง

Bowersox, Jeff (2021). Playing with Diversity: Racial and Ethnic Difference in Playmobil Toys 

Salgam, Didem (2015). The Roles of Toys in Gender and Sexual Identity Construction in Early Childhood 

HISTORYNET 

Jonathan Turley 

Revealing Histories 

New Planet Cybertron 

CBS NEWS